อยู่กับโลกให้เป็นจะภาวนาง่าย

อยู่กับโลก ต้องรู้จักมัน ต้องเข้าใจมัน ถ้าเราอยู่กับโลก จิตใจเราสงบสุข สบายตามสมควรกับอัตภาพแล้ว การที่เราจะมาถือศีลมาภาวนามันจะไม่มีเครื่องกังวลใจ การประพฤติตัวให้สะอาดหมดจดสำคัญ จะทำให้เรามีความสุข ถ้าเมื่อไรเราย้อนมาดูตัวเองแล้วเราไม่เห็นข้อบกพร่อง ผิดศีลผิดธรรม หรือบางทีมองตัวเองไม่ออก พรรคพวกเพื่อนฝูงที่ดีเขาก็เห็นว่าเราดีจริง หรือครูบาอาจารย์เห็นว่าเราดีจริง คนอย่างนี้ใจมันสงบสุข ถ้าเราใช้ชีวิตอย่างสะอาดหมดจด เวลาเราลงมือภาวนาจิตมันจะรวมง่าย หายใจไม่กี่รอบก็จิตรวมแล้ว ถ้าฝึกจนชนิชํานาญ นึกอยากให้จิตรวมก็รวมทันทีเลย แต่ถ้าใจเราเศร้าหมอง มีแต่เรื่องชั่วๆ มีแต่ความหวาดระแวง นั่งให้ตายมันก็ไม่รวมหรอก จิตมันภาวนาไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าเป็นฆราวาสอยู่กับโลกอยู่อย่างฉลาด

รู้ทันความเปลี่ยนแปลงของจิต

ความรู้สึกเปลี่ยนจากการกระทบอารมณ์ แล้วมีการให้ค่า กระทบเฉยๆ ยังไม่เท่าไร กระทบแล้วมันมีการให้ค่า เป็นธรรมชาติก็ต้องมีการตีความ อันนี้ดี อันนี้ไม่ดี แล้วจิตก็จะปรุงต่อ เพราะฉะนั้นเวลาที่จิตมันจะเปลี่ยนแปลง มันเปลี่ยนแปลงตามหลังการกระทบอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย กระทบอารมณ์ เป็นอารมณ์ข้างนอก กระทบแล้วจิตมีความเปลี่ยนแปลง ตีค่า แล้วก็เกิดยินดียินร้าย เกิดพอใจไม่พอใจขึ้นมา แต่ว่าการกระทบอารมณ์มันมีอีกแบบหนึ่ง คือกระทบด้วยใจโดยตรง ไม่ได้กระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่กระทบด้วยจิตโดยตรงก็มี อย่างเวลาเรานั่งอยู่ดีๆ เราไปนึกถึงคนที่เราเกลียด พอนึกถึงปุ๊บโทสะขึ้นเลย เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะมีการกระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วจิตเปลี่ยนแปลง เราก็รู้ทัน มีการกระทบทางใจขึ้นโดยตรง ไม่ผ่านตา หู จมูก ลิ้น กาย จิตก็เกิดการความเปลี่ยนแปลง ให้เรามีสติรู้ทัน ใจมันปรุงต่อ ให้เราตามรู้ความเปลี่ยนแปลงของจิตใจตัวเองไป

อนุปุพพิกถา

กามคุณทั้งหลาย รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทั้งหลาย ที่ว่าเราอุตส่าห์ทำบุญทำทาน เราขึ้นสวรรค์มาเพื่อจะได้สิ่งเหล่านี้ สิ่งเหล่านี้ไม่ยั่งยืน ถึงวันหนึ่งเทวดาก็ตกสวรรค์ หรือเราเป็นคนดีแท้ๆ เลย บางทีอกุศลให้ผลมา เราก็เจอสิ่งที่ไม่ดีขึ้นมา ฉะนั้นท่านยังสอนว่ามันมีโทษ สอนให้รู้จักปลีกตัวออกจากสวรรค์บ้าง สวรรค์ก็คือกามคุณอารมณ์ทั้งหลาย ท่านก็สอนบอกสิ่งเหล่านี้ไม่ยั่งยืน ให้มาพัฒนาจิตใจให้สูงขึ้นไป สูงกว่าสวรรค์ขึ้นไปอีก คือการรู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ 4 นี่หลักธรรมที่ท่านสอน จะมาสู่จุดนี้ เรียกว่าอนุปุพพิกถา คนแรกที่ได้ฟังอนุปุพพิกถาคือ

อย่ามัวแต่เถลไถล

พรหมจรรย์คือการประพฤติปฏิบัติธรรมจบแล้ว เรียนหนังสือจบแล้ว จบลงที่ไหน จบลงที่จิตมันหลุดพ้นแล้ว มันพ้นแล้ว มันไม่มีงานที่จะต้องทำต่อ เพื่อจะให้จิตหลุดพ้นอะไรอย่างนี้ ไม่ต้องทำแล้ว หลุดแล้วหลุดเลย ฉะนั้นชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้นไม่มีอีกแล้ว มันรู้สึกอย่างนั้น นั่นล่ะที่สุดของทุกข์

ที่สุดของทุกข์มันอยู่ตรงธรรมนั้นเอง ธรรมะ สิ่งที่เรียกว่าธรรมะ ตัวนี้มันเป็นธรรมะเหนือโลก เหนือขันธ์ เหนือวัฏสงสาร ไม่อย่างนั้นยังไม่มีจุดสิ้นสุด ก็ยังเวียนว่ายไปเรื่อยๆ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ยังไม่เห็นจุดสิ้นสุด แค่เข้าใกล้ แล้วปุถุชนอย่างพวกเรา มันจะเห็นไหม ไม่เห็นหรอก ต้องฝึกตัวเองให้มาก อย่าวุ่นวายเถลไถล ที่น่าห่วงเลยก็คือพวกเราชอบเถลไถล ตั้งใจภาวนาเอาจริงเอาจัง ยังไม่ค่อยจะรอดเลย แล้วเถลไถล แล้วมันจะรอดหรือ มันไปไม่รอดหรอก นี่ล่ะกฎแห่งกรรม ใครทำคนนั้นก็ได้ ไม่ทำก็ไม่ได้ หรือทำในทางที่ไม่ดีมันก็ไม่ได้

รู้แจ้งแทงตลอดในขันธ์ 5

ถ้าเรารู้ลงไป กิเลสเกิดหรือกุศลเกิดก็ตามเถอะ หรือร่างกายเคลื่อนไหวอยู่ รู้สึก สุข ทุกข์เกิด รู้สึก ดี ชั่วเกิด รู้สึก ถ้าเรามีสติรู้ทัน มันจะไม่ปรุงตัณหาขึ้นมาหรอก เมื่อไม่ปรุงความอยากขึ้น ตามอำนาจของกิเลส จิตใจก็จะไม่ดิ้นรนปรุงแต่ง จิตใจเราไม่ดิ้นรนปรุงแต่ง จิตใจเราก็พ้นจากความปรุงแต่ง บางทีพ้นชั่วคราว ถ้าอย่างเรายังทำอยู่อย่างนี้ ก็พ้นชั่วคราว แต่มันจะพ้นถาวรได้ ถ้ารู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ รู้แจ้งแทงตลอดในขันธ์ 5 ถ้ารู้แจ้งแทงตลอดแล้ว ขันธ์ 5 ทั้งหมดตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ตัณหาจะไม่เกิดอีก ความปรุงของจิตจะไม่มี จิตก็จะพ้นจากความปรุงแต่งไป

จับหลักให้แม่น

ถ้าเรารู้หลักของการปฏิบัติ การปฏิบัติไม่ว่าสมถะหรือวิปัสสนาจะไม่ใช่เรื่องยาก สมถะเราเลือกอารมณ์ที่เราอยู่ด้วยแล้วมีความสุข แล้วก็ต้องมีสติกำกับตลอด สงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง แต่ต้องมีสติไว้ แล้วก็ทำกรรมฐานไปเรื่อยๆ ไม่นานจิตจะสงบ แล้วก็มีเรี่ยวมีแรง แล้วก็ไม่ขาดสติ สะสมไปเรื่อยๆ ทุกครั้งที่สติที่แท้จริงเกิดขึ้นมา สัมมาสมาธิก็จะเกิดด้วย

พอสะสมไปเรื่อยๆ พลังของสมาธิมันจะเพิ่ม จิตมันจะรู้ ตื่น เบิกบานขึ้นมา มีแรง มันจะรู้ด้วยตัวเองเลยว่าจิตมันตื่นแล้ว จิตมันมีแรงแล้ว ถึงจุดนั้นเราถึงจะเดินปัญญาได้ดี ก่อนหน้านั้นยังไม่ได้จริงหรอก ทำวิปัสสนาไม่ได้จริง ถ้าจิตไม่มีกำลัง ไม่ตั้งมั่น

เราสามารถปฏิบัติธรรมได้ตลอดเวลา

เราสามารถสร้างความดีขึ้นในจิตใจเราได้ในทุกๆ สถานการณ์ ฉะนั้นที่บอกว่าเราไม่มีเวลาจะสร้างความดี ไม่มีเวลาปฏิบัติอะไร เพราะยังไม่เข้าใจคำว่าปฏิบัติ ไปคิดว่าการปฏิบัติคือการนั่งสมาธิ เดินจงกรม หลวงพ่อบอกเลย หลวงพ่อภาวนามา นั่งสมาธิ เดินจงกรมพอประมาณเท่านั้น ทำทุกวันล่ะแต่ว่าไม่ได้ทำเยอะ ทำพอให้จิตใจมีเครื่องอยู่ มีที่อยู่ที่อาศัย มีกำลังขึ้นมา แล้วก็เจริญปัญญา

ตรงที่เราทำงานอยู่นั้น เราสามารถปฏิบัติธรรมได้ อย่างเวลาจะจัดประชุม เราต้องเตรียมข้อมูล เตรียมอะไรมากมาย หัวหมุนติ้วๆ เลย เราก็ดูใจไป ใจมันเบื่อ ใจมันร้อนรน กลัวจะทำไม่ทันอย่างนี้ ดูลงไปเลย เราได้ปฏิบัติอยู่แล้ว พองานเราเสร็จ เราก็รอเวลาประชุม เมมเบอร์มาไม่ครบเสียที ยืดเยื้อ เย็นนี้เราก็จะต้องมีธุระไปโน่นไปนี่ การประชุมก็ล่าช้า เลท เพราะว่าบางคนมันไม่มาง่ายๆ เถลไถล ไม่เคารพเวลาของคนอื่นอะไรอย่างนี้ ใจเรากลุ้มใจ รู้ ใจเราโมโห รู้ หลวงพ่อปฏิบัติธรรม ปฏิบัติอย่างนี้ ปฏิบัติอยู่ในชีวิตจริงๆ นี้ล่ะ

การได้สมาธิไม่ใช่แค่นั่งสมาธิเดินจงกรมหรอก เรารู้จักวางจิตใจให้ถูกในทุกๆ สถานการณ์ นั้นล่ะ เราสามารถทำกุศลให้เกิดได้

ทำบุญให้เกิดกุศล

บุญอะไรหลวงพ่อก็ไม่ได้ขวาง พวกเราจะทอดกฐิน ทำบุญทำทานอะไร ทำไปเถอะ มันเป็นเครื่องอาศัยเวลาเราอยู่กับโลก บางคนร้องขอโดยตัวเองไม่มีต้นทุน ไม่มีใครช่วยได้หรอก นี่ก็คือเหตุผลว่าทำไมจัดทอดกฐิน ไม่ทอดได้ไหม ไม่ทอดก็ได้ๆ ไม่ได้อยากได้เงินได้ทองอะไร แต่ทอดแล้วพวกเราได้ประโยชน์ คนจำนวนมากได้ประโยชน์ แล้วเวลาที่เข้ามาที่วัดที่นี่ ไม่ใช่ทอดกฐินอย่างเดียว หลวงพ่อฉวยโอกาสที่พวกเรามาทอดกฐิน พูดธรรมะให้ฟัง ก็เป็นประโยชน์อันที่สองที่พวกเราจะได้ คือนอกจากได้บุญแล้วยังจะได้ปัญญาไปด้วย รู้จักดำรงชีวิตอย่างมีเหตุมีผล พอเหมาะพอควร รู้จักการพัฒนาจิตใจตัวเองให้สูงขึ้นๆ ทำสิ่งที่เป็นบุญไว้ แล้วทำให้มันเกิดเป็นกุศลเข้ามา อยากเป็นกุศลก็ต้องฉลาด ลดละตัวตนลงไปเรื่อยๆ มีสติมีปัญญา นั่นล่ะถึงจะเป็นกุศล ลำพังการทำความดีเขาเรียกว่าบุญ ทำแล้วสบายใจ แต่ทำกุศล ทำแล้วพ้นทุกข์ สะสมความรู้ถูกความเข้าใจถูกไป

บุญกิริยาวัตถุ 10

ไม่ว่าเราทำอะไร ทำบุญ ไปดูบุญกิริยาวัตถุ 10 ประการ แล้วก็ไปสำรวจใจลงไปอีกชั้นหนึ่ง สิ่งที่เราทำบุญนั้น เราทำไปแล้วสติเราดีไหม ทำไปแล้วกุศลเราเจริญขึ้นหรือเปล่า ลดละกิเลสไหม หรือว่าทำไปแล้วพอกพูนกิเลส พอกพูนความเห็นแก่ตัว อย่างนั้นไม่ทำเสียดีกว่า เพราะฉะนั้นสำรวจตัวเอง เราจะทำบุญ ทำทาน ทำด้วยความฉลาด ทำแล้วก็จิตใจต้องเจริญขึ้น ต้องมีสติ ต้องมีจิตใจที่มั่นคง มีสมาธิ รู้เหตุรู้ผล อะไรควร อะไรไม่ควร เราถึงจะเป็นชาวพุทธที่แท้จริง ไม่อย่างนั้นเราก็เป็นพุทธแต่เปลือก เอาสิ่งที่หลวงพ่อสอนนี้ไปดำรงชีวิตจริงๆ เถอะ ความดีมีตั้งเยอะตั้งแยะ ไปทำเสีย แล้วทำอย่างฉลาด ทำแล้วยกระดับจิตใจให้สูงขึ้น

กรรมวาที กิริยวาที วิริยวาที

ธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นเรื่องเรียก กรรมวาที เน้นย้ำเรื่องกรรม การกระทำก็มีผลเป็นกิริยวาที เป็น วิริยวาที วิริยวาทีก็คือต้องมีความเพียร ต้องมีความเพียรต่อสู้กับกิเลส ต่อสู้กับความไม่รู้ของเรา
รู้ ต่อสู้ความอยาก ก็เจริญกุศลให้ถึงพร้อมทั้งศีล ทั้งสมาธิ ทั้งปัญญา ต้องเจริญขึ้นมา เพียร เพียรลดละอกุศลทั้งหลายที่เรามีอยู่ เพียรเจริญกุศลให้ถึงพร้อม ต้องมีความเพียร ต้องอดทน แล้วต้องมีความเชื่อมั่นในเรื่องกรรม เรื่องผลของกรรม ชาวพุทธถ้าไม่เชื่อเรื่องกรรมกับเรื่องผลของกรรม ก็เป็นชาวพุทธไม่ได้ ชาวพุทธเราเชื่อเรื่องกรรม “เราทำกรรมอันใดไว้จะเป็นบุญหรือเป็นบาป เราก็จะต้องรับผลของกรรมนั้นสืบไป” จะเชื่ออย่างนี้ ฉะนั้นอะไรที่งมงายไม่ใช่ชาวพุทธหรอก

Page 1 of 2
1 2