สิ่งสำคัญที่สุดคือความรู้สึกตัว

ไม่ว่าจะทำกรรมฐานอะไร สิ่งสำคัญที่สุดคือความรู้สึกตัว เพราะพระพุทธเจ้าบอกว่าความรู้สึกตัว เป็นจุดตั้งต้นของการปฏิบัติที่จะล้างอาสวกิเลสทั้งหลายได้ ถ้าปราศจากความรู้สึกตัว โอกาสยากมากที่จะสู้กิเลสได้ ก็หลงทั้งวัน มันก็กลายเป็นเครื่องมือของกิเลสทั้งวัน หลงตลอดเวลา โมหะเอาไปกินเอาไปครอบงำไว้ทั้งวัน ไม่เคยรู้สึกตัว พระพุทธเจ้าถึงบอกว่าท่านไม่เห็นธรรมะใดสำคัญเท่ากับความรู้สึกตัว ธรรมะที่เป็นไปเพื่อจะลดละกิเลส เพื่อจะพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะฉะนั้นความรู้สึกตัวเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

ธรรมะคือความจริง

ธรรมะคือความจริง ความจริงขั้นที่หนึ่งก็คือ ทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาสู่ความรับรู้ของเรา อยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับทั้งสิ้น ความจริงระดับกลางก็คือ ร่างกายนี้ไม่ใช่ของดีหรอก ร่างกายนี้คือทุกข์ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย ความจริงขั้นสูงก็คือ จิตใจนั่นล่ะมีแต่ทุกข์ ทุกข์มากกับทุกข์น้อย ตรงที่เห็นทุกข์เรียกว่าเรารู้ทุกข์ ถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้ง กายนี้ทุกข์ ใจนี้ทุกข์ ความยึดถือในกายในใจก็ไม่มี ความอยากให้กายให้ใจเป็นสุข ความอยากให้กายให้ใจไม่ทุกข์ ก็ไม่มี นี่รู้ทุกข์ก็ละความอยากได้ เรียกรู้ทุกข์แล้วละสมุทัยได้

ใจความทั้งหมดของพระพุทธศาสนา

หัดอ่านใจตัวเองไป หลวงปู่ดูลย์สอนหลวงพ่อประโยคเดียว หลวงพ่อไปบอกท่านว่า “หลวงปู่ผมอยากปฏิบัติ” หลวงปู่สอนง่ายๆ “การปฏิบัตินั้นไม่ยาก ยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้อ่านจิตตนเอง” อ่านจิตตนเอง จิตเป็นกุศลก็รู้ เป็นอกุศลก็รู้ แล้วต่อไปองค์มรรคที่เหลือ จะสมบูรณ์ขึ้นอัตโนมัติ นี่คือใจความทั้งหมดของพระพุทธศาสนา ถ้าเราปฏิบัติได้ สิ่งที่เราจะได้คือเราพ้นทุกข์ตั้งแต่เดี๋ยวนี้ ไม่ต้องรอตายแล้วพ้นทุกข์หรอก พ้นเดี๋ยวนี้เลย

บทเรียนชื่อจิตตสิกขา

ทำกรรมฐานแล้วคอยรู้ทันจิตตัวเอง เรียกว่าจิตตสิกขา บทเรียนชื่อจิตตสิกขาจะทำให้เราได้สมาธิที่ถูกต้อง คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจคำว่า จิตตสิกขา ก็ไปนั่งสมาธิแล้วก็เพ่งๆๆ เคลิ้มๆ ลงไป บอกนี่คือจิตตสิกขา ไม่เห็นได้เรียนรู้เรื่องจิตเลย มีแต่การน้อมจิตให้เซื่องซึมไป หรือเคร่งเครียดไป

ฉะนั้นให้เราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง ทำไปสบายๆ แล้วถ้าจิตมันไหลไปคิด รู้ทัน จิตมันถลำลงไปเพ่งอารมณ์กรรมฐาน รู้ทันไป ตรงที่เรารู้ทันความเคลื่อนไป ความหลงไป สติจะเกิด สติตัวนี้เป็นสัมมาสติ มันรู้เท่าทันจิตตนเอง

ความรู้สึกตัวเป็นจุดตั้งต้นที่สำคัญ

ความรู้สึกตัว เป็นจุดตั้งต้นที่สำคัญที่สุดเลยสำหรับการปฏิบัติ พวกเราต้องรู้สึกตัวให้ได้ หลุดออกจากโลกของความฝัน มาอยู่ในโลกของความจริงให้ได้ มีกายก็ให้รู้สึกว่ามันมีร่างกาย มีจิตใจก็รู้สึกถึงความมีอยู่ของจิตใจ ไม่ใช่มีกายก็ลืม มีใจก็ลืม คิดฝันเพ้อเจ้อตลอดเวลา ถ้าเราสามารถรู้สึกกายรู้สึกใจได้ เราก็จะสามารถเรียนรู้ ความจริงของร่างกายของจิตใจได้ ว่ามันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ มันเป็นอนัตตา

ทำสมาธิด้วยความมีสติ

วิปัสสนาคือการเห็น ปัสสนะ แปลว่าการเห็น ตรงตัวเลย วิ แปลว่าแจ้ง คือเห็นถูกต้องตามความเป็นจริง เราเห็นกายถูกต้องตามความเป็นจริง คือเห็นกายเป็นไตรลักษณ์ เห็นจิตถูกต้องตามความเป็นจริง ก็คือเห็นจิตเป็นไตรลักษณ์ เราจะเห็นตามความเป็นจริงได้ จิตต้องไม่หลงไปอยู่ในโลกของความคิด มิฉะนั้นผิดทันที จิตต้องตื่น ตื่นขึ้นมาให้ได้

เพราะฉะนั้นเรื่องภาวะที่จิตเราตื่นขึ้นมา มีสมาธิที่ถูกต้องขึ้นมา เป็นเรื่องใหญ่ ตรงนี้เป็นสิ่งที่พวกเราขาดมากที่สุดเลย ฆราวาสทั้งหลายขาดสัมมาสมาธิ ขาดสมาธิที่ถูกต้อง มีสมาธิเคลิ้มๆ สมาธิเห็นโน่นเห็นนี่ อันนั้นไม่ได้เรื่องอะไร ไปทำสมาธิแล้วก็มีสติคอยรู้ทันจิตเอาไว้ แล้วเราจะได้สมาธิที่ถูกต้อง สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาๆ ทั้ง 8 ประกอบด้วยสติทั้งสิ้น ขาดสติตัวเดียว สัมมาทั้งหลายหายหมด กลายเป็นมิจฉาหมดเลย ฉะนั้นสติจำเป็น จำเป็นในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ

ความเป็นปกติของจิต

พยายามฝึกตัวเองในทุกที่ทุกสถานการณ์ จะต้องฝึกตัวเองให้จิตใจมันตั้งมั่นอยู่กับเนื้อกับตัวให้ได้

ศัตรูสำคัญที่ทำให้เราภาวนาไม่สำเร็จก็คือความฟุ้งซ่าน ในนิวรณ์ 5 ตัว ตัวฟุ้งซ่านมันเกิดบ่อยที่สุด กามฉันทะ นิวรณ์ ความผูกพัน พออกพอใจ ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ก็มีเป็นคราวๆ ความฟุ้งซ่านมีตลอด นิวรณ์ มันเป็นเครื่องกั้นความเจริญ จะทำสมาธิ มีนิวรณ์ มันก็ไม่เจริญ จะเจริญปัญญา เกิดนิวรณ์ก็ทำไม่ได้

ฉะนั้นพวกเราต้องระมัดระวัง เรื่องเล็กๆ น้อยๆ บางอย่างดูไม่น่าจะมีพิษมีภัย อย่างเรื่องฟุ้งซ่าน คุยไม่เป็นเรื่องเป็นราว ดูแล้วไม่ได้เป็นพิษเป็นภัย ไม่ได้ทำชั่วร้ายอะไร คุยทักทาย ปฏิสันถารไม่รู้จักจบจักสิ้น สิ่งที่เสียไปก็คือความเป็นปกติของจิต จิตที่จะเจริญสมาธิได้ก็ต้องเป็นปกติ ถูกกิเลสย้อมอยู่ ก็ไม่ปกติ จิตจะเจริญปัญญา ก็ต้องปกติ

ความรู้สึกตัวสำคัญที่สุด

พยายามรู้สึกตัวไว้ ความรู้สึกตัวเป็นจุดตั้งต้นของการปฏิบัติ พระพุทธเจ้าท่านก็บอก ท่านไม่เห็นธรรมะอย่างอื่นสำคัญเหมือนความรู้สึกตัว ถ้ารู้สึกตัวได้ก็จะละกิเลสที่มีอยู่ได้ แล้วก็กิเลสใหม่ก็ถูกปิดกั้น เกิดไม่ได้ เวลาที่เรารู้สึกตัวอยู่ กิเลสมันเกิดตอนเผลอเท่านั้นล่ะ แล้วเวลาที่เรารู้สึกตัวอยู่ก็มีสติอยู่ จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว ตัวนั้นคือกุศล ถ้าเรารู้สึกตัวบ่อยๆ กุศลมันก็เจริญขึ้นมา พัฒนาออกมา งอกงามออกมา เป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา เป็นวิมุตติ พัฒนาเป็นลำดับไป

ความรู้สึกตัวเป็นของมีค่ามาก แต่คนส่วนใหญ่ก็ละเลย ไม่ใส่ใจ ไม่สนใจ ไปให้ความสำคัญกับคนอื่น กับสิ่งอื่น ละเลยความสำคัญของความรู้สึกตัว ฉะนั้นเราพยายามรู้สึกตัวไว้ ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็รู้สึกตัวไว้