ธรรมะภาคปฏิบัติ

เราตั้งอกตั้งใจฝึกตัวเอง ถือศีล 5 ทุกวันทำในรูปแบบ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วก็คอยรู้ทันจิตตนเอง อย่าเพ่ง อย่าจ้อง แค่รู้ทันจิต จิตหนีไปคิด รู้ จิตถลำไปเพ่ง รู้ เวลาที่เหลือเจริญสติในชีวิตประจำวัน เจริญสติในชีวิตประจำวันก็คือ มีตาก็ดู มีหูก็ฟัง มีจมูกก็ดมกลิ่น มีลิ้นก็รู้รส มีกายก็รู้สัมผัส มีใจก็คิดนึกได้ ไม่ใช่ห้ามคิด แต่เมื่อกระทบอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้ว จิตใจเรามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เกิดสุขให้รู้ เกิดทุกข์ให้รู้ เกิดกุศลให้รู้ เกิดอกุศลให้รู้ หรือจิตไปทำงานทางตาให้รู้ ไปทำงานทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ให้รู้ รู้เท่าที่รู้ได้ ไม่ต้องรู้เยอะอย่างที่หลวงพ่อบอก เอาเท่าที่เรารู้ได้ นี่ล่ะงาน 3 ตัว ถือศีล 5 ทำในรูปแบบ แล้วคอยสังเกตจิตตนเอง งานที่ 3 คือเจริญสติในชีวิตประจำวัน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์ แล้วมีความเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้นที่จิตให้รู้ทัน ถ้าทำ 3 ประการนี้ได้ มรรคผลนิพพานไม่อยู่ไกลเราหรอก ไม่ได้อยู่ไกลแล้ว ไม่เกินเอื้อม ขอให้ทำให้ต่อเนื่อง อดทน ฟังธรรมะพอเข้าใจ พอรู้หลักแล้ว สิ่งสำคัญมากคืออดทน

อย่ามัวแต่เถลไถล

พรหมจรรย์คือการประพฤติปฏิบัติธรรมจบแล้ว เรียนหนังสือจบแล้ว จบลงที่ไหน จบลงที่จิตมันหลุดพ้นแล้ว มันพ้นแล้ว มันไม่มีงานที่จะต้องทำต่อ เพื่อจะให้จิตหลุดพ้นอะไรอย่างนี้ ไม่ต้องทำแล้ว หลุดแล้วหลุดเลย ฉะนั้นชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้นไม่มีอีกแล้ว มันรู้สึกอย่างนั้น นั่นล่ะที่สุดของทุกข์

ที่สุดของทุกข์มันอยู่ตรงธรรมนั้นเอง ธรรมะ สิ่งที่เรียกว่าธรรมะ ตัวนี้มันเป็นธรรมะเหนือโลก เหนือขันธ์ เหนือวัฏสงสาร ไม่อย่างนั้นยังไม่มีจุดสิ้นสุด ก็ยังเวียนว่ายไปเรื่อยๆ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ยังไม่เห็นจุดสิ้นสุด แค่เข้าใกล้ แล้วปุถุชนอย่างพวกเรา มันจะเห็นไหม ไม่เห็นหรอก ต้องฝึกตัวเองให้มาก อย่าวุ่นวายเถลไถล ที่น่าห่วงเลยก็คือพวกเราชอบเถลไถล ตั้งใจภาวนาเอาจริงเอาจัง ยังไม่ค่อยจะรอดเลย แล้วเถลไถล แล้วมันจะรอดหรือ มันไปไม่รอดหรอก นี่ล่ะกฎแห่งกรรม ใครทำคนนั้นก็ได้ ไม่ทำก็ไม่ได้ หรือทำในทางที่ไม่ดีมันก็ไม่ได้

วิธีทำความรู้สึกตัว

การทำความรู้สึกตัว ไม่ต้องทำอะไร รู้สึกเข้าไปเลย ร่างกายนั่ง รู้ว่านั่ง ร่างกายเดิน รู้ว่าเดิน ไปดูในสติปัฏฐาน ท่านไม่ได้บอกให้ทำอะไร “ดูกร พระภิกษุทั้งหลาย ให้เธอคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า หายใจออกยาว รู้ว่าหายใจออกยาว หายใจเข้ายาว รู้ว่าหายใจเข้ายาว” ให้ทำอะไร ให้รู้ รู้อะไร รู้ร่างกายที่หายใจออก หายใจเข้า เรารู้ร่างกายอยู่ ถ้ารู้กายรู้ใจอยู่ก็เรียกว่ารู้สึกตัวอยู่ แต่ถ้าหายใจไปด้วยความเคร่งเครียด ไม่เรียกว่ารู้สึกตัว แต่เรียกว่าทรมานตัวเองอยู่

“ดูกร พระภิกษุทั้งหลาย เมื่อยืนอยู่ให้รู้ชัดว่ายืนอยู่ เมื่อเดินอยู่ก็รู้ชัดว่าเดินอยู่ เมื่อนั่งอยู่ก็รู้ชัดว่านั่งอยู่ เมื่อนอนอยู่ก็รู้ชัดว่านอนอยู่” ขณะนี้นั่งอยู่ก็รู้ว่านั่งอยู่ ไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องดัดแปลงจิตใจ รู้สึกไป ขณะนี้นั่ง สังเกตไหมได้ฟังหลวงพ่อบอกอย่างนี้ เรารู้สึกร่างกายนั่ง ใจเราไม่หนัก ใจเราไม่เครียด ถ้าเราจะรู้สึกร่างกายนั่งแล้วใจเราเครียดขึ้นมา แสดงว่าเราแอบไปปรุงแต่งเรียบร้อยแล้ว เราไปปรุงจิตให้มันแข็งๆ ทื่อๆ คิดว่าอย่างนี้คือการปฏิบัติ การปฏิบัติก็คอยรู้สึกตัวไว้ แล้วก็คอยรู้ทันความเปลี่ยนแปลงของกายของใจไป

อดทนให้เด็ดเดี่ยวลงไป

เรียนธรรมะต้องสู้ ต้องอดทน ต้องเด็ดเดี่ยว ทนอะไรบ้าง อันแรกเลยทนต่อการสั่งสอนของครูบาอาจารย์ บางทีสิ่งที่ท่านสอนมันกระเทือนกิเลสเรา มันทรมานใจของเรา สิ่งที่ท่านบอกแต่ละอย่าง คือท่านไม่มาประคบประหงมเชียร์ไปเรื่อยๆ ให้เราสบายใจ อย่างนั้นไม่ใช่ ครูบาอาจารย์จริงๆ จะขัดเรา ถ้ากิเลสเราหยาบหนามาก ก็ลงตะไบ รู้จักตะไบไหม อย่างนี้ หรือถ้าหนากว่านั้นก็เอาขวานถากๆ มันหนามาก พอภาวนาไปเรื่อย จิตใจละเอียดประณีต ครูบาอาจารย์ก็เอาตะไบ เอากระดาษทรายแต่งนิดๆ หน่อยๆ แต่งๆ นิดหนึ่ง ตรงนี้นิดหนึ่งๆ มันอยู่ที่เรานั่นล่ะจะได้ธรรมะระดับไหน อยู่ที่ตัวเราเอง แต่ว่าสิ่งที่ได้จากครูบาอาจารย์มีประโยชน์ทั้งนั้นล่ะ อย่ามัวแต่น้อยอกน้อยใจ มาขอกำลังใจขออะไร เสียเวลา หลวงพ่อไม่ชอบคนขี้อ้อน เพราะหลวงพ่อไม่เคยอ้อนครูบาอาจารย์ มีแต่สู้เอา ฉะนั้นเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อก็ต้องต่อสู้ ความอ่อนแอท้อถอยอะไร ไม่มีใครห้ามได้หรอกถ้ามันจะท้อ แต่ท้อแล้วก็ไม่เลิก สู้มัน ขี้เกียจก็ได้ แต่ขี้เกียจแล้วก็สู้มัน ไม่มาคร่ำครวญ

ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นเรื่องใหญ่

เราชาวพุทธ ขั้นต่ำสุดต้องรักษาศีลให้ได้ เอะอะจะเจริญปัญญา แต่ศีลไม่มีสมาธิมันก็ไม่มี สมาธิไม่มีปัญญามันก็ไม่มี ศีล สมาธิ ปัญญาเป็นเรื่องใหญ่ ต้องเรียน ต้องลงมือปฏิบัติจริงๆ ปฏิบัติอะไรบ้าง ปฏิบัติศีล ต้องตั้งใจรักษา แล้วก็ต้องปฏิบัติสมาธิ สมาธิมี 2 อย่าง สมาธิที่จิตสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว กับสมาธิที่จิตตั้งมั่นเห็นสภาวะทั้งหลายแสดงไตรลักษณ์ รูปธรรมก็แสดงไตรลักษณ์ นามธรรมก็แสดงไตรลักษณ์ ต้องเห็น อันนี้สมาธิชนิดตั้งมั่นจะทำให้เราเห็น สมาธิสงบก็ไม่มีการเห็นอะไร ก็นิ่งๆ อยู่เฉยๆ มันก็มี 2 อย่าง แต่ก็มีประโยชน์ทั้ง 2 อย่าง มีสมาธิชนิดตั้งมั่นแล้วเจริญปัญญารวดไปเลย จิตจะหมดแรง ถ้าจิตจะหมดกำลัง วิปัสสนูปกิเลสจะแทรก เพราะฉะนั้นเราจะต้องมีสมาธิชนิดสงบด้วย แบ่งเวลาไว้เลยทุกวันๆ ต้องทำในรูปแบบ จะนั่งสมาธิ จะเดินจงกรมอะไรก็ได้ ทำไปแล้วก็ให้จิตใจมันอยู่กับเนื้อกับตัวไว้ ถัดจากนั้นเราก็ทำกรรมฐานอย่างเดิมล่ะ แต่ไม่ได้มุ่งไปที่ความสงบ เรามุ่งไปที่จิต อย่างเราหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จิตหนีไป เรารู้ทัน หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จิตหนีไปเพ่งลมหายใจ เรารู้ทัน ตรงที่เรารู้ทันสภาวะ ที่จริงสภาวะอะไรก็ได้ สมาธิชนิดตั้งมั่นจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ แล้วต่อไปปัญญามันก็ตามมา มันจะเห็นจิตรู้ก็ไม่เที่ยง จิตที่ไหลไปทางตาก็ไม่เที่ยง จิตที่ไหลไปทางหูก็ไม่เที่ยง จิตที่ไหลไปทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจก็ไม่เที่ยงอะไรอย่างนี้ เห็น หรือจิตที่ตั้งมั่นเป็นผู้รู้อยู่ก็เป็นอนัตตา ควบคุมไม่ได้ บังคับไม่ได้ จิตที่จะไปดูรูป ไปฟังเสียง ไปดมกลิ่น ลิ้มรส รู้สัมผัสทางกาย คิดนึกทางใจ ก็ห้ามไม่ได้ บังคับไม่ได้ นี่เห็นอนัตตา