เรียนลงที่กายที่ใจ

เรียนธรรมะ เราเรียนลงที่กายที่ใจ ไม่ได้ไปเรียนที่อื่นหรอก ธรรมะไม่ได้อยู่กับคนอื่นด้วย ไม่ได้อยู่ที่ครูบาอาจารย์ ไม่ได้อยู่ในวัด อยากเรียนธรรมะก็เรียนลงที่กายที่ใจ ร่างกายเราดูลงไปตั้งแต่หัวถึงเท้า ตั้งแต่ผมลงไปถึงพื้นเท้า ร่างกายนี้ถ้าเราจับแยกเป็นชิ้นๆ จะแยกเป็น 32 ส่วนหรือแยกเป็นร้อยเป็นพันส่วน ทุกส่วนมันก็แสดงธรรมะอันเดียวกัน มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาเหมือนๆ กัน นามธรรม หรือเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แยกเป็น 4 ส่วน ถ้าเราแยกได้เราก็จะเห็นเวทนาคือความรู้สึกสุขทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา สัญญาความนึกได้ ความจำได้ การหมายรู้ สังขารความปรุงดีปรุงชั่ว วิญญาณเป็นตัวรับรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ค่อยๆ แยก แยกออกมาแล้วก็ดูละเอียดลงไป ทุกสิ่งทุกส่วนที่เราแยกออกไป ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา เฝ้าดูลงไป แยกๆๆ สิ่งที่เรียกว่าเรานี้ สุดท้ายจะพบว่าเราไม่มี มันมีแต่ขันธ์ มีแต่รูปธรรมนามธรรมที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป

นิโรธ 5

ความดับทุกข์เขาเรียกตัวนิโรธมี 5 ระดับ เป็นความดับด้วยสมถกรรมฐาน ดับด้วยวิปัสสนากรรมฐาน ดับด้วยอริยมรรค ดับด้วยอริยผล แล้วก็นิพพาน สมถกรรมฐานดับตัวนิวรณ์ นิวรณ์เป็นตัวกั้นความเจริญทางจิตใจของเรา จิตมันทรงสมาธิขึ้นมา ก็ข่มนิวรณ์ไว้ชั่วคราว วิปัสสนาต้องเห็นไตรลักษณ์ เราเห็นไตรลักษณ์ของรูปของนามไปอย่างนี้ มันก็จะดับความเห็นผิด วิปัสสนามันสร้างให้เกิดตัวปัญญา พอเราเจริญวิปัสสนามากๆ ในที่สุดจิตมีกำลังขึ้นมา เกิดอริยมรรคขึ้นมา มันเกิดเองเมื่อศีล สมาธิ ปัญญาของเราสมบูรณ์ อริยมรรคมันขึ้นมาเพื่อดับกิเลส ถ้าล้างด้วยอริยมรรคจะล้างเด็ดขาด ไม่กลับมาอีกแล้วกิเลสตัวนั้นละสังโยชน์ 3 ตัว สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ตัวที่สี่คืออริยผล อริยผลไม่มีการดับอะไรแล้ว มันดับที่ตัวมรรค อันนี้ตรงที่ดับคือการไม่เกิดขึ้น ไม่ใช่ว่ามันมีขึ้นมาแล้วไปดับมัน มันไม่มีงานอะไรต้องทำ แล้วนิโรธตัวที่ห้าจริงๆ คือนิพพาน จิตที่เราเข้าไปสัมผัส เข้าไปทรงพระนิพพาน มันดับ มันดับความไม่รู้ ความไม่เข้าใจอริยสัจ คือดับอวิชชา ดับตัณหา ดับอุปาทาน ดับภพ ดับชาติ ดับทุกข์ไป สิ่งเหล่านี้เดี๋ยวพวกเราก็เจอ ตอนนี้เรียน 2 ตัวแรกให้แตกฉาน

เตรียมกองทัพของเราให้พร้อม

การเจริญปัญญาคือการทำลายล้างกิเลส ศีลเป็นแค่หนีเข้าป้อม กิเลสมันเข้มแข็งเราสู้ไม่ไหว ช่วงไหนมีสมาธิเราก็ผลักกิเลสถอยไป ช่วงไหนสมาธิเราตกกิเลสก็รุกเข้ามาอีก ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ แต่ช่วงที่จะเผด็จศึกนี่คืองานเจริญปัญญา ฉะนั้นเราเตรียมกองทัพของเราให้พร้อม คือเตรียมจิตใจของเราให้มีสติให้มีสมาธิให้มากๆ แล้วเราถึงจะเจริญปัญญาได้

รู้โลกแจ่มแจ้งจิตก็วางโลก

โลกข้างนอกมันก็ทุกข์อย่างนี้ เจริญแล้วเสื่อมๆ โลกภายในก็เจริญแล้วเสื่อมเหมือนกัน สุดท้ายจะเห็นความจริง ภายนอกหรือภายในมันก็อันเดียวกัน ก็โลกเหมือนกัน พอรู้โลกแจ่มแจ้งจิตก็วางโลก ไม่มีอะไรโลกนี้ จะโลกภายในก็คือกายนี้ใจนี้ หรือโลกภายนอกกายคนอื่นใจคนอื่น หรือสิ่งแวดล้อมทั้งหลายทั้งปวง มันก็เป็นอันเดียวกัน ไม่ใช่ของเรา เกิดแล้วก็ดับไป มีแล้วก็หายไป แล้วใจเข้าใจโลก ใจก็อยู่เหนือโลก

ความสุขในโลกไม่ยั่งยืน

ความสุขในโลกธรรมดาอย่างที่พวกเรารู้จัก ความสุขจากการดูรูป จากการฟังเสียง จากการดมกลิ่น จากการลิ้มรส จากการสัมผัสทางกาย ความสุขอย่างนี้เร่าร้อนไม่ยั่งยืน ได้มายากเสียไปง่าย รักษาไว้ยาก ความสุขที่สูงขึ้นไป ความสุขในสมาธิได้มาก็ยาก ฝึกกันแรมปีเลยกว่าจะเข้าสมาธิเป็น แล้วก็เสื่อมง่าย สูญเสียง่าย เราเพลินในกามนิดเดียวเท่านั้นเสื่อมหมดเลย ฉะนั้นความสุขของโลก ไม่ว่าจะเป็นกามโลก รูปโลก อรูปโลก ไม่ยั่งยืนหรอก

เรามีสิทธิ์เลือกความสุขของตัวเอง

เรามีอิสระที่จะทำกรรม เราพอใจที่จะหาความสุขในโลกิยธรรม ความสุขอย่างโลกๆ ก็หาไปเถอะ หลวงพ่อไม่ว่าอะไรหรอก หลวงพ่อแค่บอกว่า มันมีความสุขที่เหนือกว่านี้อีก 2 อย่าง คือความสุขของสมาธิ กับความสุขของการเจริญปัญญาจนเกิดมรรคเกิดผลนิพพานขึ้นมา เป็นความสุขที่ยิ่งใหญ่ เป็นลำดับไป

อารัมมณูปนิชฌาน – ลักขณูปนิชฌาน

จะดูไตรลักษณ์ของรูปนามได้ จิตต้องมีลักขณูปนิชฌาน คือมีความตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ผู้เห็น เห็นไตรลักษณ์ของรูปนาม ถ้าลำพังเห็นรูปเห็นนามเรียก อารัมมณูปนิชฌาน เพ่งตัวอารมณ์ ใช้รูปเป็นอารมณ์ ใช้นามเป็นอารมณ์ ใช้บัญญัติเป็นอารมณ์ หรือกระทั่งใช้นิพพานเป็นอารมณ์ อันนั้นเป็นอารัมมณูปนิชฌาน แต่ตรงที่เห็นนิพพานจริงๆ มันเป็นลักขณูปนิชณาน

Page 5 of 5
1 2 3 4 5