จิตวางความปรุงแต่งเพราะปัญญา

เราภาวนา เรียนรู้ความจริงของจิตใจตัวเองไปเลย ใจเราสุขขึ้นมารู้ทัน ถ้ารู้ไม่ทันก็จะเกิดรักเกิดโลภ ใจเราทุกข์ขึ้นมารู้ทัน ถ้ารู้ไม่ทันจะเกิดโกรธ คอยรู้ทันไปเรื่อยๆ สุดท้ายเราจะเห็น ปัญญามันจะเกิด เราจะเห็นว่าทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในใจเราเกิดแล้วดับทั้งสิ้น ดูให้เห็นอย่างนี้ ใจจะหมดความยึดถือในความปรุงแต่งทั้งหลายทั้งปวง ฉะนั้นคอยอ่านจิตอ่านใจตัวเอง ใจโลภขึ้นมาก็รู้ ใจไม่โลภแล้วก็รู้ ใจโกรธเราก็รู้ ใจไม่โกรธก็รู้ ใจหลงไปก็รู้ ฟุ้งซ่านใจหดหู่ รู้ทันไปเรื่อยๆ จนเห็นว่าทุกอย่างคือความปรุงแต่งทุกอย่าง เกิดแล้วดับหมด ปรุงดีเกิดแล้วก็ดับ ปรุงชั่วเกิดแล้วก็ดับ เพราะฉะนั้นเราจะไม่ต้องพยายามไม่ปรุง จิตมันไม่ปรุงเอง ถ้าพยายามไม่ปรุงก็คือความปรุงแต่ง ใช้ไม่ได้หรอก เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องพยายามไม่ปรุงแต่ง ให้เห็นความปรุงแต่งทุกอย่างเกิดแล้วดับทั้งสิ้น ถึงจุดหนึ่งจิตมันวางความปรุงแต่ง ก็เข้าถึงสุญญตา เข้าถึงพระนิพพาน

ปรุงทีไรก็ทุกข์ทุกที

ถ้าสติปัญญาเราแข็งแรงพอ เราก็จะเห็นไม่ว่าปรุงอะไรก็ทุกข์ทั้งนั้น คำว่าปรุงแต่ง สังขาร คำว่าภพ คำว่าการกระทำกรรมของจิต ก็คืออันเดียวกันนั่นล่ะ เรียกชื่อแตกต่างกันไป มีภพครั้งใด พระพุทธเจ้าท่านบอก มีภพเกิดขึ้นคราวใดก็มีทุกข์ทุกที สังขารความปรุงแต่งเกิดขึ้นทีไรก็เป็นทุกข์ทุกที ทีนี้เราอยู่กับความปรุงแต่งจนเคยชิน เราไม่เคยเห็นว่าจิตปรุงแต่ง เรามาหัดให้รู้เท่าทันความปรุงแต่งของจิตดู แล้ววันหนึ่งเราจะเห็น ความปรุงแต่งเกิดขึ้นทีไรความทุกข์เกิดขึ้นทุกที กระทั่งปรุงสุข ปรุงสุขจิตก็มีความกระเพื่อมหวั่นไหวขึ้นมา สั่นสะเทือนขึ้นมา มันก็ทุกข์

วิมุตติเกิดเมื่อเห็นไตรลักษณ์มากพอ

พอมันยอมรับว่าทุกอย่างเสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ จิตจะยุติการดิ้นรนทันทีเลย เรียกยุติสังขารหรือยุติการสร้างภพ สังขารในใจเราคือภพ เรียกว่าภพ เรียกว่ากรรมภพ พอไม่มีความดิ้นรนอันนี้ จิตก็หมดภาระ จิตก็เป็นอิสระต่อสังขาร จิตที่เป็นอิสระต่อสังขาร เรียกว่าวิสังขาร จิตที่ไม่หลงตามกิเลสตัณหาทั้งหลาย เรียกว่าวิราคะ ตัวตัณหา ตัวราคะ

วิราคะก็ชื่อของนิพพาน วิสังขารก็ชื่อของนิพพาน วิมุตติ จิตหมดความยึดถือในรูปนาม ก็เป็นความหมายของนิพพานนั่นเอง ฉะนั้นเมื่อไรจิตเราสิ้นตัณหาเมื่อนั้นเราก็สัมผัสพระนิพพาน เมื่อไรจิตเราพ้นจากความปรุงแต่ง จิตเราก็สัมผัสพระนิพพาน เมื่อไรจิตปล่อยวางรูปนามขันธ์ 5 ได้หมด ปล่อยวางจิตได้ จิตก็สัมผัสพระนิพพาน ฉะนั้นค่อยๆ ภาวนา เบื้องต้นก็เป็นกลางด้วยสติ ได้สมาธิเกิดขึ้น เบื้องปลายเป็นกลางด้วยปัญญา ก็จะได้วิมุตติ ได้ความหลุดพ้น

วิธีจัดการกับความฟุ้งซ่าน

เวลาเราภาวนาแล้วจิตเราไม่สงบ เราพยายามจะให้สงบ ทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้ มันยิ่งฟุ้งซ่าน ตรงที่อยากทำแล้วก็ดิ้นรนทำนั่นล่ะ มันทำให้ฟุ้งซ่านมากขึ้น แต่ถ้าเราตัดที่ต้นตอของมัน เรารู้ จิตฟุ้งซ่านเราไม่ชอบ รู้ว่าไม่ชอบ ความไม่ชอบดับ จิตเป็นกลาง พอจิตเป็นกลาง ความฟุ้งซ่านมันทนอยู่ไม่ได้ มันดับขาดสะบั้นทันทีเลย พอจิตมันเป็นกลางได้ มันตั้งมั่นอัตโนมัติอยู่แล้ว มันตั้งมั่น มันเป็นกลางขึ้นมา ก็เอื้อให้เกิดปัญญา ปัญญาทำหน้าที่ตัดสิ่งที่ไม่ดีออกไป

ฉะนั้นอาศัยสติรู้ทันลงไป จิตฟุ้งซ่าน รู้ทัน จิตยินร้ายต่อความฟุ้งซ่าน รู้ทัน แล้วจิตจะสงบเอง ตั้งมั่นเอง อันนี้คือการใช้ปัญญานำสมาธิ

ใจความทั้งหมดของพระพุทธศาสนา

หัดอ่านใจตัวเองไป หลวงปู่ดูลย์สอนหลวงพ่อประโยคเดียว หลวงพ่อไปบอกท่านว่า “หลวงปู่ผมอยากปฏิบัติ” หลวงปู่สอนง่ายๆ “การปฏิบัตินั้นไม่ยาก ยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้อ่านจิตตนเอง” อ่านจิตตนเอง จิตเป็นกุศลก็รู้ เป็นอกุศลก็รู้ แล้วต่อไปองค์มรรคที่เหลือ จะสมบูรณ์ขึ้นอัตโนมัติ นี่คือใจความทั้งหมดของพระพุทธศาสนา ถ้าเราปฏิบัติได้ สิ่งที่เราจะได้คือเราพ้นทุกข์ตั้งแต่เดี๋ยวนี้ ไม่ต้องรอตายแล้วพ้นทุกข์หรอก พ้นเดี๋ยวนี้เลย

อสุรกายเป็นที่พึ่งของเราไม่ได้

พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้สอนให้เราไปดูถูกคนอื่น ดูถูกเทวดา พรหม หรือภูติผีปีศาจอะไร ท่านสอนให้เรามองเขาในฐานะเป็นเพื่อน เพื่อนร่วมทุกข์ คือยังทุกข์อยู่ด้วยกัน เหมือนเพื่อนเรายังลำบากมาก เราก็ยังพยายามไปเรียก ให้เขาช่วยโน่นช่วยนี่อีก มันไม่ใช่เรื่องที่ฉลาดเลย อย่างพวกอสุรกายมันลำบากมาก เราก็จะไปไหว้ จะเอาตัวอะไรไปบูชายัญอะไรอย่างนี้ หวังจะให้ช่วยเรา มันยังช่วยตัวเองไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นเลิก ชาวพุทธเราต้องเลิกที่จะเอาสิ่งอื่นมาเป็นที่พึ่งของเรา

เราต้องเอาธรรมะเป็นที่พึ่ง เรียนรู้ธรรมะไป เข้าใจวิธีปฏิบัติแล้วลงมือปฏิบัติ ปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรม แค่ไหนสมควร ก็ปฏิบัติเต็มสติเต็มกำลังของเรานั่นล่ะ เรียกว่าปฏิบัติโดยสมควร ถ้าเราปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ธรรมะนั้นจะคุ้มครองเรา

ธรรมะภาคปฏิบัติ

เราตั้งอกตั้งใจฝึกตัวเอง ถือศีล 5 ทุกวันทำในรูปแบบ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วก็คอยรู้ทันจิตตนเอง อย่าเพ่ง อย่าจ้อง แค่รู้ทันจิต จิตหนีไปคิด รู้ จิตถลำไปเพ่ง รู้ เวลาที่เหลือเจริญสติในชีวิตประจำวัน เจริญสติในชีวิตประจำวันก็คือ มีตาก็ดู มีหูก็ฟัง มีจมูกก็ดมกลิ่น มีลิ้นก็รู้รส มีกายก็รู้สัมผัส มีใจก็คิดนึกได้ ไม่ใช่ห้ามคิด แต่เมื่อกระทบอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้ว จิตใจเรามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เกิดสุขให้รู้ เกิดทุกข์ให้รู้ เกิดกุศลให้รู้ เกิดอกุศลให้รู้ หรือจิตไปทำงานทางตาให้รู้ ไปทำงานทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ให้รู้ รู้เท่าที่รู้ได้ ไม่ต้องรู้เยอะอย่างที่หลวงพ่อบอก เอาเท่าที่เรารู้ได้ นี่ล่ะงาน 3 ตัว ถือศีล 5 ทำในรูปแบบ แล้วคอยสังเกตจิตตนเอง งานที่ 3 คือเจริญสติในชีวิตประจำวัน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์ แล้วมีความเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้นที่จิตให้รู้ทัน ถ้าทำ 3 ประการนี้ได้ มรรคผลนิพพานไม่อยู่ไกลเราหรอก ไม่ได้อยู่ไกลแล้ว ไม่เกินเอื้อม ขอให้ทำให้ต่อเนื่อง อดทน ฟังธรรมะพอเข้าใจ พอรู้หลักแล้ว สิ่งสำคัญมากคืออดทน

ปฏิจจสมุปบาท

ในปฏิจจสมุปบาทนั้นจะมีสภาวธรรม 3 ลักษณะ อันแรกเป็นส่วนของกิเลส ต่อมาเป็นส่วนของกรรม คือพฤติกรรมของจิตนั่นล่ะ อีกส่วนหนึ่งก็เป็นตัววิบาก เป็นผล มีกิเลส มีกรรม มีวิบาก ในปฏิจจสมุปบาทนั้น ก็คือวนเวียนอยู่ในเรื่องเหล่านี้ ลึกที่สุดอะไรเป็นกิเลส อวิชชาเป็นกิเลส อวิชชาเป็นหัวโจก เป็นหัวหน้าของกิเลส คือความไม่รู้แจ้งอริยสัจเป็นหัวโจก แล้วอวิชชาก็ทำให้ผลักดัน มันเป็นกิเลส ก็ผลักดันให้เกิดการกระทำกรรม การกระทำกรรมตัวนี้เรียกว่าสังขาร

“อวิชชา ปัจจยา สังขารา” อวิชชาเป็นปัจจัยของสังขาร สังขารเป็นการกระทำกรรมของจิตแล้ว เพราะมีสังขารก็เกิดวิบาก มีการกระทำกรรมแล้วก็เกิดวิบาก อะไรบ้างที่เป็นวิบาก ตัวจิต ตัววิญญาณ ที่หยั่งลงสู่ความรับรู้อารมณ์เป็นวิบาก ตัวอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเป็นวิบาก ตัวผัสสะ การกระทบอารมณ์เป็นวิบาก เราเลือกไม่ได้ว่าจะกระทบอารมณ์ดี หรืออารมณ์ไม่ดี ถ้าอกุศลวิบากให้ผลมา เรากระทบอารมณ์ไม่ดี กุศลวิบากให้ผลมา เราก็กระทบอารมณ์ดี มันเป็นวิบาก ผัสสะเป็นวิบาก ถัดจากนั้นก็เกิดเวทนาขึ้นอัตโนมัติ เวทนาก็เป็นวิบาก

วิ่งหาความสุข

ความสุขเหมือนภาพลวงตาเหมือนเหยื่อที่อยู่ข้างหน้า หลอกให้เราวิ่งไปหาตลอดเวลา แล้วก็ไม่เจอ พระพุทธเจ้าท่านมีสติมีปัญญาสูง ท่านไม่ได้สอนให้เราวิ่งหาความสุขซึ่งมันเหมือนภาพลวงตา หาเท่าไรก็ไม่เจอเสียที ท่านบอกว่าเป้าหมายสูงสุดในชีวิตเรา ต้องพ้นจากความทุกข์ให้ได้ คือท่านมีสติมีปัญญาสูง

รู้เข้ามาที่กายที่ใจของเรา

มีคนจำนวนมากบอกปฏิบัติมาหลายสิบปีเลย มันก็ได้แค่นั้น พอมาฟังหลวงพ่อพูด เรื่องเจริญสติเรื่องอะไร จิตใจก็พัฒนาอย่างรวดเร็ว ธรรมะของพระพุทธเจ้า ถ้าทำถูกจะไม่เนิ่นช้า เพราะธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นธรรมะที่ไม่เนิ่นช้า ถ้าเนิ่นช้า แสดงว่าต้องมีอะไรพลาดแล้ว อันแรกเลย ปฏิบัติไม่ถูก อันที่สอง ปฏิบัติไม่ต่อเนื่อง ทำแล้วก็หยุดๆ พวกตุ่มรั่ว ที่หลวงพ่อเรียก พวกตุ่มรั่ว

พอเขารู้จักการเจริญสติ จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน จะกินอาหาร จะขับถ่าย จะทำอะไร ก็รู้สึกกาย รู้สึกใจไปเรื่อยๆ สติก็ไวขึ้นๆ พอสติมันเกิด สมาธิที่แท้จริงมันก็เกิด เพราะสัมมาสติที่ทำให้มาก เจริญให้มาก จะทำให้สัมมาสมาธิบริบูรณ์ ฉะนั้นเราจะต้องพัฒนาสัมมาสติให้ได้ด้วยการทำสติปัฏฐานนั่นล่ะ มิฉะนั้นเราจะเดินจงกรม นั่งสมาธิ คนอื่นเขาก็เดินจงกรม เขานั่งสมาธิ แต่เขาเดินเพื่อความสุข เพื่อความสงบ เพื่อความดี เราจะเดินจงกรม จะนั่งสมาธิ เพื่อพัฒนาสติและสัมมาสมาธิ

Page 2 of 5
1 2 3 4 5