พ้นทุกข์เพราะรู้ความจริง

พอจิตตั้งมั่นและเป็นกลาง ก็จะเกิดปัญญาเห็นความจริงของร่างกายของจิตใจ เมื่อเห็นความจริงของร่างกายของจิตใจอย่างถ่องแท้แล้ว จะรู้เลยขันธ์ 5 มันไม่มีอะไรหรอกขันธ์ 5 ก็มีแต่ทุกข์นั่นล่ะ รูปนาม กายใจนี่มีแต่ทุกข์นั่นล่ะ พอใจมันยอมรับความจริงได้ ความอยากก็ไม่เกิด เมื่อความอยากไม่เกิด ความยึดถือ ความดิ้นรนปรุงแต่งของจิตก็ไม่เกิด ความทุกข์ทางใจก็ไม่เกิด จิตใจมันเป็นอิสระขึ้นมา พ้นทุกข์เพราะพ้นจากความปรุงแต่ง

สติปัฏฐาน

ไปดูตัวเอง ถนัดรู้กาย เราก็รู้กาย ถนัดรู้เวทนา ก็รู้เวทนา ถนัดดูจิตที่เป็นกุศลอกุศล เราก็รู้จิตไป รู้ไปเรื่อยๆ แล้วต่อมาเราก็จะเห็นทุกอย่างที่เรารู้มันเป็นของถูกรู้ถูกดู ร่างกายก็ถูกรู้ เวทนาก็ถูกรู้ จิตที่เป็นกุศลอกุศลก็ถูกรู้ เราเริ่มเดินปัญญาแล้ว แล้วต่อมาเราเห็นความเป็นไตรลักษณ์ ร่ายกายก็อยู่ใต้ไตรลักษณ์ เวทนาก็อยู่ใต้ไตรลักษณ์ จิตก็อยู่ใต้ไตรลักษณ์ อันนี้เราขึ้นวิปัสสนาแล้ว เราเดินไปในเส้นทางอันนี้ เส้นทางของสติปัฏฐาน เรียกว่าเอกายนมรรค คําว่าเอกายนมรรค หรือทางเอก เป็นทางสายเดียวเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้น

เห็นทุกข์ด้วยสติปัฏฐาน

ค่อยภาวนา เริ่มจากกายก็ได้ เวทนาก็ได้ จิตก็ได้ แล้วสุดท้ายมันจะลงมาที่ปฏิจจสมุปบาท ลงมาที่อริยสัจทุกคน เพราะถ้ายังไม่ถึงรู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ ยังไม่จบกิจในพระพุทธศาสนา เรียกว่ายังไม่รู้ทุกข์ ยังไม่ได้รู้ทุกข์ ฉะนั้นเราดูกายก็ได้ แล้วต่อไปเราก็เข้ามาเห็นทุกข์ได้ ดูเวทนา ดูจิตแล้วก็เข้ามาเห็นทุกข์ได้ เห็นทุกข์ก็เห็นธรรมนั่นล่ะ พอเรารู้ความจริงแจ่มแจ้ง กาย เวทนา จิต ธรรมไม่มีอะไร มีแต่ทุกข์ล้วนๆ มีแต่ของไม่เที่ยง มีแต่ของถูกบีบคั้น มีแต่ของที่อยู่นอกเหนืออำนาจบังคับ พอเห็นอย่างนี้จิตมันจะวาง พอจิตมันปล่อยวางได้ รู้ทุกข์จนมันละสมุทัยแล้ว มันก็แจ้งนิโรธ

สัจฉิกิริยา

เวลาเราภาวนารู้ทุกข์เข้าไปเถอะ ถ้ารู้พอแล้วมันละสมุทัยเอง ทันทีที่สมุทัยคือตัณหาคือความอยากถูกละไป จิตจะเข้าถึงนิโรธ อันนี้สัจฉิกิริยา วิธีจะเข้าถึงสัจฉิกิริยาก็ไม่มีอะไร ก็รู้ทุกข์นั่นล่ะ พอรู้ทุกข์ จนละสมุทัย แล้วก็แจ้งนิโรธ ไปสัมผัสพระนิพพาน หน้าที่ของเราก็คือรู้ทุกข์จนกระทั่งละสมุทัยได้ ละสมุทัยได้เราก็แจ้งพระนิพพานได้ เรียกว่ามีสัจฉิกิริยาสำเร็จแล้วตรงที่เรารู้ทุกข์นั่นล่ะ จะรู้ได้ดีก็ต้องเจริญมรรค เจริญมรรคตรงรู้ทุกข์มีสัมมาญาณะนั่นล่ะ ก็มีองค์มรรคทั้ง 8 ทำให้เรารู้ทุกข์ได้แจ่มแจ้ง

รถวินีตสูตร

วิสุทธิ 7 เป็นธรรมะที่น่าฟังมาก ธรรมะบทนี้เกิดจากการสนทนาธรรม ระหว่างท่านพระสารีบุตรกับพระปุณณมันตานีบุตร พระสารีบุตรท่านถามพระปุณณมันตานีบุตร ท่านปฏิบัติธรรมมาบวชเพื่อศีลวิสุทธิใช่ไหม เพื่อทิฏฐิวิสุทธิใช่ไหม เพื่อจิตตวิสุทธิใช่ไหม เพื่อกังขาวิตรณวิสุทธิใช่ไหม เพื่อมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิใช่ไหม มรรคกับอมรรค เขาเรียก มัคคา มัคคะ อันนี้เป็นทาง อันนี้ไม่ใช่ทาง ไม่ใช่ เพื่อปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิใช่ไหม เพื่อเดินในปฏิปทา ไปสู่ความบริสุทธิ์ ให้เกิดปัญญาที่บริสุทธิ์ใช่ไหม ไม่ใช่ เพื่อญาณทัสสนะที่บริสุทธิ์หรือเปล่า ก็ไม่ใช่ๆ รวมแล้วก็คือ ธรรมะทั้ง 7 ประการที่เป็นเส้นทางไปสู่ความบริสุทธิ์ พระปุณณมันตานีบุตรบอกว่าท่านไม่ได้ปฏิบัติเพื่อสิ่งเหล่านี้ ท่านปฏิบัติธรรมเพื่ออนุปาทิเสสนิพพาน ไม่มีเชื้อเหลือ ไม่มีขันธ์เหลือ เพราะฉะนั้นที่ผ่านมาได้เพราะอาศัยรถทั้ง 7 ผลัด คืออาศัยวิสุทธิ 7 นั่นเอง เพราะฉะนั้นไม่ใช่ถึงที่สุดแห่งทุกข์เพราะญาณทัสสนวิสุทธิ ไม่ใช่แค่นั้น เราก็จะรู้คุณงามความดีทั้งหลายที่เราทำมา เป็นไปเพื่อส่งทอดเราไปสู่นิพพาน ถ้าเรายึดคุณงามความดีอันนั้นเอาไว้อย่างเหนี่ยวแน่น เราก็ไปนิพพานไม่ได้

กฎของการปฏิบัติ

เวลาที่เราจะรู้กายรู้ใจ เรามีสติรู้ถึงความมีอยู่ของร่างกาย รู้ถึงความมีอยู่ของจิตใจ มีสติเห็นร่างกายนี้ มันเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง จิตใจก็เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ แล้วก็มีปัญญาเห็นว่าร่างกายและก็จิต ล้วนแต่ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ สติเป็นตัวรู้สภาวะ สภาวะคือรูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย ปัญญาเป็นตัวเห็นไตรลักษณ์ของรูปธรรมนามธรรม ฉะนั้นต้องเดินให้ถูกหลัก คำว่า ทุกข์ให้รู้ สมุทัยให้ละ” นี่เป็นกฎของการปฏิบัติ เป็นแม่บทใหญ่อยู่ในอริยสัจ 4 อริยสัจ 4 ข้อคือทุกข์ให้รู้ สมุทัยให้ละ นิโรธทำให้แจ้ง มรรคทำให้เจริญ ถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้ง สมุทัยก็ถูกละ นิโรธก็ปรากฏขึ้นมา อริยมรรคก็เกิดขึ้น

พระพุทธเจ้าให้รู้ทุกข์

คำสอนของพระพุทธเจ้าจะอยู่ในกฎของคำว่า ให้รู้ทุกข์ รู้กายอย่างที่กายเป็น รู้ใจอย่างที่ใจเป็น รู้ไปเรื่อยๆ จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน คอยรู้สึกตัวไว้ ร่างกายที่ทำไมต้องยืน ต้องเดิน ต้องนั่ง ต้องนอน ต้องเปลี่ยนอิริยาบถ ต้องหายใจเข้า ต้องหายใจออก ทำไมมันต้องกินข้าว ทำไมมันต้องขับถ่าย ทำไมมันต้องดื่มน้ำ ทำไมต้องปัสสาวะ เพื่อหนีทุกข์ไปเรื่อยๆ เพราะในความเป็นจริงแล้ว มันถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราเห็นความจริง กายนี้คือทุกข์ ใจนี้คือทุกข์ ไม่ใช่ของวิเศษหรอก เราอาศัยมันชั่วครั้งชั่วคราว ไม่ยึดถือ เราก็จะไม่ทุกข์เพราะกายเพราะใจ

รู้ทุกข์จะละสมุทัย

ตรงที่เราสามารถเห็นทุกข์ของกาย กายนี้มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย เราเห็นทุกข์ของจิต ว่าจิตมีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย อันนี้เรียกว่าเห็นตามความเป็นจริง จิตจะเบื่อหน่ายคลายความยึดถือ แล้วก็หลุดพ้นของจิตเอง เส้นทางเดินนี้ไม่มีอะไรมาก รู้ทุกข์ไว้ คำว่าทุกข์ก็คือ รูปนามขันธ์ 5 ที่เรามีอยู่นี่ล่ะ คอยรู้สึกไปเรื่อยๆ รู้สึกไปจนปัญญามันแก่รอบ กายนี้มีแต่ทุกข์ ทุกข์มากกับทุกข์น้อย จิตมีแต่ทุกข์ ทุกข์มากกับทุกข์น้อย เห็นอย่างนี้เรียกว่าเรารู้ทุกข์แล้ว ทันทีที่รู้ทุกข์ สมุทัยคือความอยากก็จะหมดไปทันที ถูกทำลายในขณะที่เรารู้ทุกข์นั่นล่ะ

ใช้รูปธรรมนามธรรมเป็นอารมณ์กรรมฐาน

เราจะปฏิบัติธรรมเราต้องรู้หลักให้ดี งานที่เราจะทำ งานหลักคือการทำวิปัสสนากรรมฐาน อารมณ์ของวิปัสสนากรรมฐานคือรูปธรรมนามธรรม อย่างร่างกายเราเป็นรูปธรรม ความรู้สึกนึกคิด ความรับรู้ทั้งหลายเป็นนามธรรม ร่างกายเป็นตัวรูปธรรม เจริญปัญญานี้ก็ต้องรู้รูปธรรมรู้นามธรรม ทีแรกรู้ถึงความมีอยู่ของรูปธรรม ถัดจากนั้นรู้ถึงความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของรูปธรรม หรือเบื้องต้นรู้ความมีอยู่ของนามธรรม ถัดจากนั้นก็รู้ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของนามธรรม ทีแรกรู้ถึงความมีอยู่ของกายของใจ แล้วต่อไปก็เห็นความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของกายของใจ ร่างกายนี้เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไป ถูกความทุกข์บีบคั้น เปลี่ยนไปเรื่อยๆ เปลี่ยนอิริยาบถไปเรื่อยๆ จิตใจมีแต่ความไม่เที่ยง แปรปรวนตลอดเวลา แล้วก็บังคับไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ เห็นความจริงของร่างกาย เห็นความจริงของจิตใจไป อย่างนี้ถึงจะเรียกว่าการเจริญปัญญา

รู้ทุกข์ไว้

รู้ทุกข์ไว้ อะไรคือทุกข์ กาย จิตคือทุกข์ รู้อย่างไร รู้อย่างที่มันเป็น รู้กายอย่างที่กายเป็น คือเป็นอะไร เป็นไตรลักษณ์ รู้จิตอย่างไร รู้จิตอย่างที่จิตเป็น จิตเป็นอย่างไร จิตเป็นไตรลักษณ์ จะรู้กายรู้จิตว่าเป็นไตรลักษณ์ได้ ไม่หลง ไม่ลืมกายลืมใจ ไม่หลงไปอยู่ในโลกของความคิดความฝัน แล้วก็ไม่บังคับแทรกแซงกาย แทรกแซงจิต เรียกว่ารู้กายอย่างที่กายเป็น รู้จิตอย่างที่จิตเป็น ไม่ลืมกาย ไม่ลืมจิต แล้วก็ไม่ไปแทรกแซงให้มันผิดจากความเป็นจริง หัดรู้ไปเรื่อยๆ หัดรู้อย่างไร หัดหมายรู้ ถ้าหมายรู้ถูก ต่อไปความคิดมันก็จะถูก เมื่อความคิดถูก ความเห็นมันก็จะถูก ความเห็นถูกเขาเรียกว่าสัมมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐินั่นล่ะ เกิดขึ้นเมื่อไร อวิชชาตายไปแล้วเมื่อนั้น พออวิชชาตายไปแล้ว อาสวะก็ย้อมจิตไม่ได้ ชาติภพอะไร มันก็ไม่สามารถก่อตัวขึ้นที่จิตได้แล้ว ภพชาติไม่ได้ก่อตัวที่อื่นเลย มันก่อตัวที่จิตนี้ล่ะ เมื่อจิตยังไม่รู้แจ้งเห็นจริง ภพชาติก็ก่อตัวขึ้นได้ ด้วยกำลังของอาสวะ

Page 1 of 4
1 2 3 4