อย่ามัวแต่เถลไถล

พรหมจรรย์คือการประพฤติปฏิบัติธรรมจบแล้ว เรียนหนังสือจบแล้ว จบลงที่ไหน จบลงที่จิตมันหลุดพ้นแล้ว มันพ้นแล้ว มันไม่มีงานที่จะต้องทำต่อ เพื่อจะให้จิตหลุดพ้นอะไรอย่างนี้ ไม่ต้องทำแล้ว หลุดแล้วหลุดเลย ฉะนั้นชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้นไม่มีอีกแล้ว มันรู้สึกอย่างนั้น นั่นล่ะที่สุดของทุกข์

ที่สุดของทุกข์มันอยู่ตรงธรรมนั้นเอง ธรรมะ สิ่งที่เรียกว่าธรรมะ ตัวนี้มันเป็นธรรมะเหนือโลก เหนือขันธ์ เหนือวัฏสงสาร ไม่อย่างนั้นยังไม่มีจุดสิ้นสุด ก็ยังเวียนว่ายไปเรื่อยๆ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ยังไม่เห็นจุดสิ้นสุด แค่เข้าใกล้ แล้วปุถุชนอย่างพวกเรา มันจะเห็นไหม ไม่เห็นหรอก ต้องฝึกตัวเองให้มาก อย่าวุ่นวายเถลไถล ที่น่าห่วงเลยก็คือพวกเราชอบเถลไถล ตั้งใจภาวนาเอาจริงเอาจัง ยังไม่ค่อยจะรอดเลย แล้วเถลไถล แล้วมันจะรอดหรือ มันไปไม่รอดหรอก นี่ล่ะกฎแห่งกรรม ใครทำคนนั้นก็ได้ ไม่ทำก็ไม่ได้ หรือทำในทางที่ไม่ดีมันก็ไม่ได้

อยากเป็นพระโสดาบัน

อยากเป็นพระโสดาบัน ขั้นแรกเลยจิตต้องตั้งมั่นขึ้นมาก่อน พอจิตตั้งมั่นแล้ว สติระลึกรู้กาย มันจะเห็นกายนี้ถูกรู้ ไม่ใช่เรา จิตตั้งมั่นแล้วสติระลึกรู้เวทนา มันก็เห็นเวทนาถูกรู้ ไม่ใช่เรา จิตตั้งมั่น สติระลึกรู้สังขารทั้งหลาย ความดีชั่วทั้งหลายที่ปรุงขึ้นมา ก็จะเห็นสังขารทั้งหลายไม่ใช่เรา จิตตั้งมั่นแล้วก็ดับ เกิดจิตไม่ตั้งมั่น หลงไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ บางทีมีจิตตั้งมั่น แล้วก็หลงไปเกิดราคะ มีความสุข บางทีจิตตั้งมั่นแล้วก็ดับ หลงไป เกิดโทสะ มีความทุกข์ในใจ บางทีจิตตั้งมั่นอยู่ จิตก็มีความสุขอยู่ทั้งๆ ที่ตั้งมั่น บางทีจิตตั้งมั่นอยู่ แล้วก็เป็นอุเบกขาอยู่ก็มี

จับหลักให้แม่น

ถ้าเรารู้หลักของการปฏิบัติ การปฏิบัติไม่ว่าสมถะหรือวิปัสสนาจะไม่ใช่เรื่องยาก สมถะเราเลือกอารมณ์ที่เราอยู่ด้วยแล้วมีความสุข แล้วก็ต้องมีสติกำกับตลอด สงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง แต่ต้องมีสติไว้ แล้วก็ทำกรรมฐานไปเรื่อยๆ ไม่นานจิตจะสงบ แล้วก็มีเรี่ยวมีแรง แล้วก็ไม่ขาดสติ สะสมไปเรื่อยๆ ทุกครั้งที่สติที่แท้จริงเกิดขึ้นมา สัมมาสมาธิก็จะเกิดด้วย

พอสะสมไปเรื่อยๆ พลังของสมาธิมันจะเพิ่ม จิตมันจะรู้ ตื่น เบิกบานขึ้นมา มีแรง มันจะรู้ด้วยตัวเองเลยว่าจิตมันตื่นแล้ว จิตมันมีแรงแล้ว ถึงจุดนั้นเราถึงจะเดินปัญญาได้ดี ก่อนหน้านั้นยังไม่ได้จริงหรอก ทำวิปัสสนาไม่ได้จริง ถ้าจิตไม่มีกำลัง ไม่ตั้งมั่น

ความไม่ทุกข์คือรางวัลอันยิ่งใหญ่

คนซึ่งภาวนากับคนที่ไม่ได้ภาวนามันจะต่างกัน มีส่วนที่เหมือนกันแล้วก็มีส่วนที่ต่างกัน ระหว่างผู้ปฏิบัติกับผู้ไม่ปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติและผู้ไม่ปฏิบัติเหมือนกัน ร่างกายนี้เกิดมาแล้วต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย เหมือนกัน ทางจิตใจ บางทีก็สมหวัง บางทีก็ผิดหวัง บางทีก็พลัดพรากจากคนที่เรารักอะไรอย่างนี้ บางทีก็เจอกับสิ่งที่ไม่ชอบใจ หมุนเวียนตลอดเวลา เปลี่ยนแปลง เหมือนๆ กัน

ฉะนั้นที่เราพยายามมาฝึกตัวเอง มาภาวนาเพื่อวันหนึ่งจิตใจเราจะเกิดความมั่นคงขึ้นมา ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในร่างกาย จิตใจเราจะไม่ทุกข์ ไม่ว่าเราจะต้องประสบกับอารมณ์ที่ดีหรืออารมณ์ที่เลว จิตใจของเราก็ไม่กระเพื่อมหวั่นไหว ไม่ทุกข์ นี่คือรางวัลอันยิ่งใหญ่ที่เราจะได้

ธรรมะมีหลายระดับ

ธรรมะมีหลายระดับ ระดับต้นๆ ทำให้เราอยู่กับโลกอย่างมีความสุข ระดับสูงขึ้นไปเป็นเรื่องธรรมะเพื่อการพ้นจากโลก เพราะฉะนั้นเราตั้งอกตั้งใจ มีทาน มีศีล มีภาวนา ทำไว้สำหรับฆราวาส สำหรับฆราวาสและพระที่ต้องการพ้นทุกข์ ก็มีศีล มีสมาธิ และเจริญปัญญาด้วย เจริญปัญญาคือการเห็นกายอย่างที่กายเป็น เห็นจิตอย่างที่จิตเป็น มันเป็นอย่างไร มันเป็นไตรลักษณ์ นี่เรียกว่าเจริญปัญญา ไปเลือกเอา ชีวิตเรา อยากสุข อยากสบาย ก็ทาน ศีล ภาวนา อยากพ้นทุกข์ อยากมีความสุขก็ทาน ศีล ภาวนา อยากพ้นทุกข์ก็ ศีล สมาธิ ปัญญา ตัวที่ทำให้พ้นทุกข์ คือปัญญา

เห็นจิตเป็นไตรลักษณ์จึงปล่อยวางจิต

เราจะปล่อยวางจิตได้ ก็ต้องเห็นจิตเป็นไตรลักษณ์ ถ้าเราไม่ได้เห็นจิตเป็นไตรลักษณ์ มันไม่วางหรอก มันเหมือนที่เราปล่อยวางกาย เราเห็นกายมันตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา มันก็วาง จิตนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราไม่เห็นว่ามันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา มันก็ไม่วาง ถ้าเราเห็นแล้วมันถึงจะวาง เพราะฉะนั้นอย่างที่เรามาหัดดูจิตๆ เราก็จะมาเห็น จิตดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงหนึ่งดับไปทั้งวันทั้งคืน จิตสุขเกิดแล้วก็ดับ จิตทุกข์เกิดแล้วก็ดับ จิตดีเกิดแล้วก็ดับ จิตชั่วเกิดแล้วก็ดับ จิตทุกชนิดเกิดแล้วดับ จิตที่ไปดูเกิดแล้วก็ดับ จิตที่ไปฟังเกิดแล้วก็ดับ จิตที่ไปดมกลิ่น จิตที่ไปลิ้มรส จิตที่ไปรู้สัมผัสทางกาย เกิดแล้วก็ดับ จิตที่ไปคิดนึกทางใจ เกิดแล้วก็ดับ ตรงที่มันไปคิดนึกทางใจ ก็จะเกิดเป็นจิตสุขบ้าง จิตทุกข์บ้าง จิตดีบ้าง จิตโลภ โกรธ หลงบ้าง แต่จิตทุกชนิดนั้นเกิดแล้วดับ ถ้าเราเห็นอย่างนี้ถึงจุดหนึ่งมันจะวาง มันจะปล่อยวางจิตได้ ถ้าปล่อยวางจิตได้ มันก็ไม่มีอะไรให้ยึดอีกแล้ว

มีปัญญารู้ทุกข์จะละกามได้

ถ้าเราเห็นกายนี้มีแต่ทุกข์แต่โทษ ความหลงใหลในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส มันก็จะลดลง ไม่รู้จะเสพไปทำไม เสพแล้วหวังว่าจะมีความสุข แต่เสพแล้วจริงๆ มันก็หนีความทุกข์ไม่พ้น เพราะฉะนั้นทางพ้นทุกข์ของพระพุทธเจ้า ไม่ได้สนองกิเลส ไม่ได้ว่าเสพกามเยอะๆ แล้วจะพ้น แล้วก็ไม่ใช่กดข่มบังคับตัวเอง อยากกินไม่กิน อยากนอนไม่นอน อยากสบายก็นอนบนตะปูมันเสียเลย แต่ท่านให้ใช้ปัญญา มีสติ มีปัญญา มีสมาธิคือภาวะที่จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว แล้วก็มีสติระลึกลงไปในร่างกาย พอสติระลึกลงในกายด้วยจิตที่ตั้งมั่นเป็นกลาง มันจะเห็นความจริงของกาย กายนี้ไม่ใช่ของดี กายนี้เต็มไปด้วยทุกข์ กายนี้เต็มไปด้วยโทษ ไม่น่าปรารถนา เพราะฉะนั้นความหลงใหลในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัสทางกาย มันจะลดลงเอง เพราะมันรู้ตัวที่เสพรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสอะไรพวกนี้ ตัวมันเองนั่นล่ะทุกข์แสนทุกข์ เพราะฉะนั้นถ้าเรามีปัญญารู้ทุกข์ เราก็จะละกามทั้งหลายได้ ละความหลงโลกได้

ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น

เราไม่ยึดเพราะเห็นทุกข์ ไม่เห็นทุกข์ก็ยังยึดอยู่นั่นล่ะ จะเห็นทุกข์ก็ต้องดูกาย มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง รู้ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง คือมีสมาธิที่ดี ตั้งมั่นและเป็นกลาง นี่เรื่องของสมาธิ สติเป็นตัวรู้ทันว่ามีอะไรเกิดขึ้นในกายในใจ แต่รู้ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง คือจิตที่ทรงสมาธิที่ถูกต้องอยู่ ปัญญามันถึงจะเกิด มีปัญญาก็ไม่ใช่เพื่อจะมีปัญญา มีปัญญาเพื่อจะได้เห็นทุกข์ แล้วจิตมันถึงจะปล่อยวางของมันเอง

เรียนรู้ความจริงของโลก

เรียนรู้ความจริงของร่างกาย เรียนรู้ความจริงของจิตใจไป วันหนึ่งก็จะรู้ว่า ในโลกนี้อะไรมีคุณค่าบ้าง ในโลกมีแต่ของชั่วคราว สิ่งที่มีคุณค่าคือธรรมะ แล้วยิ่งเราเข้าใกล้ธรรมะเท่าไร จิตใจเรายิ่งเป็นอิสระมากขึ้น ไม่ใช่เป็นทาส
อยู่กับโลกเป็นทาสมันหนักขึ้นทุกที เป็นทาสของเงินทอง ของทรัพย์สิน เป็นทาสของครอบครัว เป็นทาสของหน้าที่การงาน เป็นทาสของชื่อเสียงเกียรติยศ เป็นทาสของความโลภต่างๆ เป็นทาสของกาม หิวตลอดเวลา เราเข้าใจความจริง ร่างกายนี้หาสาระไม่ได้ การที่จะเอาตัวเองให้เป็นทาสมันจะลดลง

เป้าหมายสูงสุดคือความดับทุกข์

เราจะทำอะไร เราก็ต้องรู้วัตถุประสงค์ว่าเราต้องการทำอะไรเพื่ออะไร ต้องชัดเจน ไม่ใช่เห็นคนอื่นเขาอยากปฏิบัติก็อยากปฏิบัติตามเขาอะไรอย่างนี้ มันไม่ได้เรื่องหรอก เราต้องรู้ว่าการปฏิบัติธรรม วัตถุประสงค์จริงๆ เพื่อถอดถอนความทุกข์ออกจากใจเราให้ได้ จุดหมายสูงสุดก็คือความดับทุกข์ มี 2 ตัว ความดับทุกข์อันนี้เป็นวัตถุประสงค์สูงสุด เป้าหมายของเราอันแรกเลยก็คือต้องพ้นทุกข์ก่อน

Page 3 of 4
1 2 3 4