เรามีสิทธิ์เลือกความสุขของตัวเอง

เรามีอิสระที่จะทำกรรม เราพอใจที่จะหาความสุขในโลกิยธรรม ความสุขอย่างโลกๆ ก็หาไปเถอะ หลวงพ่อไม่ว่าอะไรหรอก หลวงพ่อแค่บอกว่า มันมีความสุขที่เหนือกว่านี้อีก 2 อย่าง คือความสุขของสมาธิ กับความสุขของการเจริญปัญญาจนเกิดมรรคเกิดผลนิพพานขึ้นมา เป็นความสุขที่ยิ่งใหญ่ เป็นลำดับไป

ภาวนารู้สภาวะ เห็นความคิดก็ยังแฝงด้วยกิเลส แต่ในใจนั้นมีความเฉยๆ กลับไม่ทุกข์

ผมภาวนาในรูปแบบด้วยการเดินจงกรม สวดมนต์เป็นประจำและนั่งสมาธิภาวนาเป็นบางครั้ง การเดินมีเวทนามากทำให้เดินได้น้อยลง การภาวนาระหว่างวันใช้ภาวนาพุทโธเป็นหลัก เห็นจิตหลงไปคิดบ่อยๆ บางครั้งเห็นความคิดลอยมาเอง แวบเดียว และในความคิดเหล่านั้นก็ยังแฝงด้วยกิเลส แต่ภาวะภายในใจนั้นมีความเฉยๆ กลับไม่ทุกข์ ไม่ทราบว่าที่ภาวนาอยู่มีข้อผิดพลาดประการใดครับ

 

หลวงพ่อ:

เวลาที่เรารู้สภาวะแล้วไม่ทุกข์นี่มีหลายแบบ อันหนึ่งจิตตั้งมั่นเป็นกลางจริงๆ เห็นทุกอย่างมาแล้วก็ไป ใจไม่ทุกข์ อีกอย่างหนึ่งคือใจมันซื่อบื้อ ใจมันเฉยๆ มันไปค้างอยู่ในอารมณ์เฉยๆ อย่าให้ค้างอยู่ในความเฉยๆ อย่างขณะนี้จิตมันนิ่งๆ อยู่ในความเฉยๆ รู้สึกไหม นี่ถ้าเราเห็น เราทำอย่างนี้ คนด่าเรา เราก็เฉยๆ เกิดอะไรขึ้น เราก็เฉยๆ เราไปทำจิตให้มันเฉยๆ อย่าไปบังคับจิตให้มันนิ่ง ให้จิตมันเคลื่อน ให้มันเป็นธรรมชาติจริงๆ

ฉะนั้นถ้าเราประคองจิตไว้อย่างนี้ มันเฉยๆ ตรงที่เราแต่งจิตขึ้นมาให้เฉยๆ ตรงนี้บางทีมันเกิดจากการหนีทุกข์ ชีวิตอาจจะทุกข์เยอะแล้วก็มาแต่งให้มันเฉยๆ อย่างนี้ รู้สึกว่ามันไม่ทุกข์ดี มันเฉยๆ มันไม่ทุกข์ สู้มัน ถอยออกมา พระพุทธเจ้าไม่ได้บอกให้เราหนีทุกข์ พระพุทธเจ้าสอนให้เรารู้ทุกข์ แต่ก็ไม่ใช่ตะบี้ตะบันรู้ บางช่วงเราเหนื่อยเกินไป เราก็พักผ่อน ไหว้พระสวดมนต์อะไรต่ออะไรไป นั่งสมาธิ เดินจงกรม เพื่อให้จิตผ่อนคลาย ไม่ใช่เพื่อหนีทุกข์ ฝึกไปอยู่เฉยๆ ทั้งวัน ถอยออกมา กลับมาอยู่กับโลกนี้ พอเราพักผ่อน สงบ พักผ่อนพอแล้ว เรากลับเข้ามารู้กายรู้ใจ แล้วก็เดินปัญญาต่อ อย่างนี้เราจะพ้นทุกข์ ไม่ใช่หนีทุกข์

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
25 กรกฎาคม 2564

เห็นทุกข์จึงละได้

กิเลสอะไรเกิดขึ้นเรารู้ทัน ตัวที่ทำให้ใจเราขาดตัวหิวนั่นเอง มันไม่เต็มมันอยากได้เยอะๆ แต่ได้ไม่เต็มมันขาดตลอดชีวิต เราภาวนาไปเรื่อยๆ ค่อยๆ เห็นไปมีกิเลสทีไรก็มีทุกข์ มีกิเลสทีไรก็เห็นโทษ มีกิเลสขึ้นมาก็เกิดภาระทางใจ เพราะมีกิเลสก็เกิดการกระทำกรรม กรรมนั่นล่ะคือภาระของจิต… ไปดูให้ดีกิเลสเกิดทีไรจิตก็ดิ้นรนทุกที ราคะเกิดจิตก็อยากได้ดิ้นรนอยากได้ อยากรักษาเอาไว้ โทสะเกิดจิตอยากผลักออกไป ส่วนโมหะยังดูยากใจมันหลงอะไรอย่างนี้ดูยากหน่อย เรียนราคะ โทสะให้แตกฉานก่อน เรียนของง่ายก่อน ของยากเดี๋ยวค่อยตามมา ดูลงไปมีราคะเกิดก็มีทุกข์มีภาระ มีโทสะเกิดก็มีทุกข์มีภาระของใจ เฝ้ารู้เฝ้าดูไป แล้วจะเหมือนอย่างที่หลวงปู่เทสก์ท่านบอกว่ามันละได้เพราะว่าเห็นโทษ เหมือนอย่างหลวงปู่ดูลย์บอกมันละได้เพราะมันเห็นทุกข์

Page 4 of 4
1 2 3 4