กรรมวาที กิริยวาที วิริยวาที

ธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นเรื่องเรียก กรรมวาที เน้นย้ำเรื่องกรรม การกระทำก็มีผลเป็นกิริยวาที เป็น วิริยวาที วิริยวาทีก็คือต้องมีความเพียร ต้องมีความเพียรต่อสู้กับกิเลส ต่อสู้กับความไม่รู้ของเรา
รู้ ต่อสู้ความอยาก ก็เจริญกุศลให้ถึงพร้อมทั้งศีล ทั้งสมาธิ ทั้งปัญญา ต้องเจริญขึ้นมา เพียร เพียรลดละอกุศลทั้งหลายที่เรามีอยู่ เพียรเจริญกุศลให้ถึงพร้อม ต้องมีความเพียร ต้องอดทน แล้วต้องมีความเชื่อมั่นในเรื่องกรรม เรื่องผลของกรรม ชาวพุทธถ้าไม่เชื่อเรื่องกรรมกับเรื่องผลของกรรม ก็เป็นชาวพุทธไม่ได้ ชาวพุทธเราเชื่อเรื่องกรรม “เราทำกรรมอันใดไว้จะเป็นบุญหรือเป็นบาป เราก็จะต้องรับผลของกรรมนั้นสืบไป” จะเชื่ออย่างนี้ ฉะนั้นอะไรที่งมงายไม่ใช่ชาวพุทธหรอก

ใจที่อยากพ้นโลกจะมีความพากเพียร

พระมหากัสสปะท่านเคยตั้งข้อสังเกต ท่านพูดกับพระพุทธเจ้า ตั้งข้อสังเกตว่าทำไมสมัยต้นพุทธกาลที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ๆ สอนธรรมะ พระอรหันต์มีมาก พระวินัยมีน้อย มาช่วงหลังๆ พระวินัยมีมากขึ้นๆ พระอรหันต์มีน้อยลงๆ ฉะนั้นความเป็นโลกของวัด วัดต่างๆ มีมาตั้งแต่พุทธกาลแล้ว พวกอินทรีย์แก่กล้ามาพบพระพุทธเจ้า ฟังธรรมแล้วก็พวกนี้แสวงหาความพ้นทุกข์อยู่แล้ว อย่างพวกปัญจวัคคีย์ เขาอุตส่าห์บำเพ็ญตบะ บำเพ็ญโน้นบำเพ็ญนี้ เป็นนักบวชอยู่แล้ว อยากพ้นทุกข์ แต่ไม่รู้ทาง พอพระพุทธเจ้าชี้ทางให้ แต่ละองค์ก็ไปลิ่วเลย เพราะท่านเหล่านี้ท่านอยากพ้นทุกข์อยู่แล้ว

ความสุขจากการปฏิบัติธรรม

เราปฏิบัติธรรมเราก็จะมีความสุข เราถือศีลเราก็มีความสุข เราทำสมาธิเราก็มีความสุข เราเจริญปัญญาเราก็มีความสุข แต่ความสุขมันของศีล ของสมาธิ ของปัญญา มันก็ยังไม่เหมือนกันทีเดียว อย่างเรารักษาศีลไว้ได้ดี พอเรานึกถึงเรารักษาศีลมาอย่างดี พยายามจะไม่ทำผิดศีล เราจะเกิดความรู้สึกอิ่มอกอิ่มใจขึ้นมา มันก็เป็นความสุขอย่างหนึ่ง ถ้าเราฝึกสมาธิมันก็มีความสุขไปอีกแบบหนึ่ง จิตมันสงบ บางทีรู้สึกตัวอยู่เฉยๆ ความสุขผุดขึ้นมาเอง ถ้าเข้าฌานมันยิ่งสุขมหาศาล มันสุขแบบมันฉ่ำ มันเย็น ความสุขของปัญญามันก็เป็นอีกแบบหนึ่ง
เวลาที่มันเกิดความรู้ถูก ความเข้าใจถูกบางสิ่งบางอย่างขึ้นมา เข้าใจธรรมะเป็นเรื่องๆ ไป ตรงที่มันเข้าใจมันจะมีความสุขเกิดขึ้นด้วย ความสุขของสมาธิมันเป็นคล้ายๆ ความสุขแบบเด็กๆ ส่วนความสุขของการเจริญปัญญานั้น มันคล้ายๆ ความสุขของผู้ใหญ่ที่ทำงานที่ยากๆ สำเร็จ จิตมันก็เบิกบานขึ้นมา มันมีความสุขที่สูงกว่านั้นอีก 2 อัน ความสุขตอนที่เกิดอริยผล ตอนที่เกิดอริยผลจิตมันเบิกบานมหาศาล แล้วก็ความสุขตอนที่เราสัมผัสพระนิพพาน มันมีความสุขที่ไม่รู้จะบอกอย่างไร ความสุขของพระนิพพาน คือความสุขจากการพ้นทุกข์
ไม่ใช่ความสุขจากการสร้างภาวะอันใดอันหนึ่งขึ้นมา ความสุขจากการถือศีล ความสุขจากการทำสมาธิ ความสุขที่เราเกิดปัญญาแต่ละเรื่องๆ เป็นความสุขที่ยังเกิดในภพ อยู่ในภพ
มันเป็นความสุขมหาศาลถ้าเทียบกับชาวโลก ความสุขของศีล ของสมาธิ ของปัญญาเหนือกว่า แต่ยังเป็นโลกียะอยู่ ความสุขของมรรคผลนิพพานเป็นโลกุตตระ โดยเฉพาะความสุขของพระนิพพานนั้นไม่มีอะไรเหมือน

พัฒนาเครื่องมือให้ดี

อันแรกถือศีลไว้ แล้วก็ฝึกสติของเรา คอยระลึกรู้กาย คอยระลึกรู้ใจเนืองๆ ต่อไปไม่ได้เจตนาระลึก พอมีอะไรเกิดขึ้นในกาย สติเกิดเอง มีอะไรเกิดขึ้นในจิตใจ สติเกิดเอง สติตัวนี้เป็นสัมมาสติแล้ว แล้วจิตมันเคลื่อนไปๆ หลงไปที่อื่น รู้ทัน หลงไปในอารมณ์กรรมฐาน รู้ทัน หลงไปแสวงหาอารมณ์ว่าจะดูอะไรดี ควานๆๆ รู้ทัน สติรู้ จิตก็เด่นดวงขึ้นมา เป็นผู้รู้ขึ้นมา มีสัมมาสมาธิขึ้นมา

จิตเป็นผู้สัมผัสธรรมะ

เราก็สามารถเป็นพระอริยบุคคล ทั้งๆ ที่ยังอยู่กับลูกกับเมียอย่างนี้ก็อยู่ได้ อยู่กับสามียังอยู่ได้ อย่างนางวิสาขาหรืออนาถบิณฑิกะ เขาก็เป็นพระอริยบุคคล เขาก็อยู่กับครอบครัวของเขาได้ ทำมาหากินได้ ฉะนั้นความเป็นพระแท้ไม่ได้อยู่ที่เครื่องแบบหรอก แต่อยู่ที่จิตของเรามีศีล มีสมาธิ มีปัญญามากพอไหม มันจะมากพอถ้าเราสะสม ฝึกของเราทุกวันๆ ตั้งอกตั้งใจฝึก แล้ววันหนึ่งเราจะรู้เลยพระสงฆ์อยู่ที่ไหน พระสงฆ์อยู่ที่ใจที่สะอาดนี่เอง สะอาดหมดจดขึ้นมาเป็นลำดับๆ ไป พระธรรมก็ไม่ได้อยู่ที่อื่นเลยอยู่ที่จิตอันนี้เอง เป็นผู้สัมผัสธรรมะ กระทั่งธรรมะสูงสุดคือพระนิพพาน จิตนั่นล่ะเป็นผู้สัมผัส เราจะรู้ว่าพระพุทธเจ้าจริงๆ อยู่ที่ไหน

มีศีลเป็นเครื่องป้องกันตัว

ถ้าตั้งใจรักษาพระวินัย ธรรมวินัยก็จะรักษาเรา ถ้าไม่รักษาตัวเองก็เอาตัวไม่รอด แล้วจะไปรักษาพระศาสนาได้อย่างไร ตัวเองยังรักษาไม่ได้เลย เรื่องของเรื่องทั้งหมดนั้นก็คือเรื่องของกิเลสนั่นล่ะ ถ้ายังไม่เห็นโทษไม่เห็นภัยของกิเลส ยังลดละกิเลสไม่ได้ มันก็พร้อมจะพลาด ถึงเราเป็นฆราวาสก็เหมือนกัน ต้องรักษาศีล 5 ไว้ ถ้าศีล 5 เรายังรักษาไม่ได้ เราก็เริ่มเบียดเบียนคนอื่น เบียดเบียนตัวเราเองเพราะไม่มีศีล รักษาศีล 5 ไว้ก็ช่วยตัวเองได้เยอะเลย ฉะนั้นศีลเป็นเครื่องป้องกันตัวทั้งพระทั้งโยม ต้องรักษาศีลเอาไว้ ถ้าศีลเราไม่ดีสมาธิเราก็เสื่อม สมาธิเสื่อมปัญญาก็ไม่เกิด

การปฏิบัติตั้งแต่ต้นจนจบ

เริ่มต้นก็ถือศีล 5 แล้วค่อยพัฒนาขึ้นมาจนกระทั่งจิตตั้งมั่น ด้วยการมีวิหารธรรมแล้วรู้ทันจิตไป ถัดจากนั้นเวลาสติระลึกรู้ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของรูปของนาม จิตตั้งมั่นเป็นแค่คนรู้คนดูอยู่ มีสมาธิมันก็จะเห็นความจริงของรูปนาม ว่ามันตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ เฝ้าดูเฝ้ารู้ไปเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่งแล้วมรรคผลมันเกิดเองล่ะ ไม่มีใครทำมรรคผลให้เกิดได้ เกิดเองเมื่อศีล สมาธิ ปัญญาของเราสมบูรณ์แล้ว

การปฏิบัตินั้นไม่ยาก

การปฏิบัตินั้นไม่ยาก ยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ ตั้งใจเสียใหม่ แทนที่จะสนใจแต่คนอื่น สนใจแต่สิ่งอื่น หันมาสนใจร่างกาย จิตใจของตัวเองบ้าง สะสมความรู้ถูก ความเข้าใจถูกในร่างกาย ในจิตใจของตัวเองให้มากๆ เราดูของจริง สิ่งที่เกิดล้วนแต่ดับ ดูไป ไม่ใช่เรื่องยาก ในที่สุดปัญญามันก็จะเกิด มันก็จะรู้เลย ทุกสิ่งมันของชั่วคราว สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้น สิ่งนั้นมีความดับเป็นธรรมดา รู้ตรงนี้เป็นพระโสดาบันได้ ไม่ยากหรอก มันยากที่ไม่ยอมรู้

การปฏิบัติ 3 อย่างที่ต้องทำทุกวัน

อันแรกก็ถือศีล 5 อันที่สองทำในรูปแบบให้จิตใจได้พักผ่อน ฝึกตัวเองไป อันที่สามคือการเจริญสติในชีวิตประจำวัน พอใจมีกำลังแล้ว ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์มีสติไว้ เกิดความเปลี่ยนแปลงในจิต รู้ เกิดความเปลี่ยนแปลงในกาย รู้ รู้ไปเรื่อยๆ เห็นกายไป เห็นจิตไปว่ามันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ แล้วจะเห็นไตรลักษณ์ของกาย เห็นไตรลักษณ์ของจิต

ศีล สมาธิ ปัญญาอัตโนมัติ

ภาวนาไปเรื่อยๆ ศีล สมาธิ ปัญญา มันจะสมบูรณ์ในขณะเดียวกันๆ พร้อมๆ กัน ตรงที่ศีล สมาธิ ปัญญาอัตโนมัติเกิดขึ้นในขณะเดียวกัน ถ้าบุญบารมีมากพอ สะสมมามากพอ อริยมรรคจะเกิดขึ้น เพราะในอริยมรรคมีศีลอัตโนมัติ สมาธิอัตโนมัติ ปัญญาอัตโนมัติอยู่ มันเกิดพร้อมกันในขณะจิตเดียวกัน เพราะฉะนั้นฝึกทุกวันๆทำให้ต่อเนื่อง จิตจะได้ทรงสมาธิที่ดีขึ้นมา สามารถเดินปัญญาได้ สุดท้ายศีล สมาธิ ปัญญาก็ประชุมลงที่จิตดวงเดียว ในขณะจิตเดียว มันคือขณะแห่งอริยมรรค.

Page 3 of 4
1 2 3 4