จิตคือหัวโจก

ตัวสำคัญคือตัวจิต จิตนี้เดี๋ยวก็โคจรไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เกิดดับทางอายตนะทั้ง 6 จิตก็ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ฉะนั้นถึงจะเริ่มจากการรู้รูป สุดท้ายมันก็เข้ามาที่จิตจนได้
แต่ถ้าเราลัดเข้ามาที่จิตได้ เข้ามาเลย ไม่ต้องเสียเวลาอ้อมค้อม เข้ามาที่จิต ถ้าเราเห็นว่าจิตไม่ใช่เราอันเดียว ขันธ์ 5 ทั้งหมดจะไม่เป็นเราแล้ว อายตนะทั้งหมดจะไม่เป็นเราแล้ว เล่นมันที่หัวโจกตัวเดียวเลย

ทาน ศีล ภาวนาเพื่อพัฒนาจิต

เวลาเราทำทานเรามีความสุข จิตใจที่รู้จักให้มันจะพัฒนา อันแรกเลยมันลดความเห็นแก่ตัว อันที่สอง ใจที่รู้จักเกื้อกูลมันจะอ่อนโยน สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนสุดท้ายมันก็มาลงที่การพัฒนาใจทั้งนั้น เรานึกว่าทำทานไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติ ที่แท้การทำทานเป็นการฝึกจิตขั้นพื้นฐาน ต่อมาเราก็ฝึกให้เข้มข้นขึ้น รักษาศีล การรักษาศีลจะต้องต่อสู้กับกิเลสตัวเอง กิเลสมันจะพาเราผิดศีลตลอดเวลา เราก็พยายามรักษาศีลไว้ ไม่ตามใจกิเลสที่จะทำผิดศีล ศีลเป็นการฝึกลดละความโลภ ความโกรธ ความหลง เห็นไหมว่าทานก็สำคัญ ศีลก็สำคัญ ถัดไปที่ฆราวาสต้องเรียนนั้นคือภาวนา การภาวนามันมี 2 อันคือสมถภาวนากับวิปัสสนาภาวนา มันอยู่ที่ว่าฆราวาสจะเอาแค่ไหน ฆราวาสพอใจที่จะภาวนาให้สงบ ให้จิตมีกำลังเพื่อจะไปสู้กับโลกก็ฝึกไป เป็นสมถภาวนา อีกอันหนึ่งคือวิปัสสนาภาวนา ก็มีหลัก มีสติรู้กายรู้ใจ ตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง เมื่อรู้หลักแล้วก็เดินเอา ช่วยตัวเองพยายามพัฒนาตัวเองไป ฝึกตัวเองอย่างนี้ทุกวัน มันก็จะอยู่ในเรื่องทาน ศีล ภาวนา สุดท้ายมันก็ลดละอกุศลลงไป แล้วก็เจริญกุศลให้ถึงพร้อม

ฉลาดรู้กรรมฐานที่ควรกับตัวเอง

ต้องฉลาดในการรู้ว่าเราควรกับกรรมฐานอะไร แล้วพอเราทำกรรมฐานเราก็ต้องรู้อีกแล้ว ตอนไหนควรทำสมถะ ตอนไหนควรทำวิปัสสนา ก็ต้องรู้ เจริญปัญญาจนจิตฟุ้งซ่านแล้ว ก็ต้องมีปัญญารู้ว่า ตอนนี้ควรทำสมถะ ทำสมถะอยู่นานสงบ สบาย แล้วเพลินๆ ต้องมีปัญญารู้ตอนนี้ควรเจริญวิปัสสนาแล้ว ที่ว่าเจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง ทั้งสมถะและวิปัสสนามันเป็นอย่างนี้

อารัมมณูปนิชฌาน – ลักขณูปนิชฌาน

จะดูไตรลักษณ์ของรูปนามได้ จิตต้องมีลักขณูปนิชฌาน คือมีความตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ผู้เห็น เห็นไตรลักษณ์ของรูปนาม ถ้าลำพังเห็นรูปเห็นนามเรียก อารัมมณูปนิชฌาน เพ่งตัวอารมณ์ ใช้รูปเป็นอารมณ์ ใช้นามเป็นอารมณ์ ใช้บัญญัติเป็นอารมณ์ หรือกระทั่งใช้นิพพานเป็นอารมณ์ อันนั้นเป็นอารัมมณูปนิชฌาน แต่ตรงที่เห็นนิพพานจริงๆ มันเป็นลักขณูปนิชณาน

เนิ่นช้าเพราะภาวนาผิด

จับหลักให้แม่นๆ แล้วลงมือทำ จะได้ไม่พลาด ที่ภาวนาแล้วใช้เวลานานมาก เพราะภาวนาผิด ธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่ใช่ของกระจอก ถ้าทำถูกแล้วทำพอ เราจะได้ผลในเวลาอันสั้น ธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นธรรมะที่ลัดสั้นไปสู่ความพ้นทุกข์ ไม่ใช่ทำกันนาน มองไม่เห็นผล ไม่เห็นฝั่ง ทำไปเรื่อยๆ ไม่รู้เหตุรู้ผล

กรรมฐานที่เหมาะกับตัวเอง

กรรมฐานอะไรที่เหมาะกับเรา ควรจะดูกายหรือดูจิตเป็นหลักไว้ ถ้าเราเป็นพวกตัณหาจริต พวกรักสุข รักสบาย รักสวยรักงามอะไรอย่างนี้ ไปดูกายไว้ ถ้าพวกเจ้าความคิด เจ้าความเห็น พวกทิฏฐิจริตไปดูจิตไว้เป็นหลักเลย ทุกคนเป็นจริตผสม มีทั้งตัณหาจริตและทิฏฐิจริต ที่จะแบ่งแยกเพียวๆ เลยไม่เคยเจอ เพราะทุกคนมีทั้งตัณหาและทิฏฐิ ดูเอาตัวไหนเด่น บางคนเจ้าความคิดเจ้าความเห็นมาก พวกนี้ทิฏฐิเด่น บางคนติดสุขติดสบายแล้วก็เจ้าความคิดเจ้าความเห็นด้วย แต่ระหว่างเอาความสุขความสบายกับเอาความรอบรู้อะไร สนใจความสุขความสบายมากกว่า พวกนี้ไปดูกายเลย

กำลังหัดนั่งสมาธิแบบใจตั้งมั่น ต้องส่งใจวิ่งไปตามร่างกายก่อนจึงจะสามารถรู้สึกทั้งตัวที่กำลังหายใจได้

ส่งการบ้านหลวงพ่อครั้งก่อนหลวงพ่อเตือนว่า ให้ระวังเรื่องรู้ร่างกายแล้วใจถลำลงไป ตอนนี้กำลังหัดนั่งสมาธิแบบใจตั้งมั่น เพราะต้องส่งใจวิ่งไปตามร่างกายก่อนจึงจะสามารถรู้สึกทั้งตัวที่กำลังหายใจได้ นานๆ ครั้งถึงจะรู้สึกได้ว่าร่างกายมันโปร่งๆ มีความรู้สึกเฉพาะตรงจุดที่ร่างกายสัมผัสกับลมหายใจ ฝึกแบบนี้เหมาะสมหรือไม่ หรือควรต้องทำอย่างไรคะ

หลวงพ่อ:

ฝึกอย่างนี้นานๆ ไป เราก็จะได้สมาธิ คือเป็นเรื่องของการทำสมถะ อย่างทีแรกเรารู้ลงไปในร่างกายทีละส่วนๆ เราก็รู้อยู่ทั้งตัว พอรู้ทั้งตัว เราหายใจไปเรื่อยๆ จิตมันก็จะมารวมอยู่ที่ปลายจมูกนี้ มันรวมอยู่ที่นี่ ดูต่อไปมันจะสว่างว่างขึ้นมา จิตก็ได้เข้าฌาน ได้อะไรไป พอจิตเราเข้าสมาธิพอสมควรแล้ว ให้ออกมาดูร่างกายไว้ ร่างกายนี้ไม่สวยไม่งาม ร่างกายนี้มีแต่ทุกข์ มีแต่โทษอย่างนี้ ค่อยๆ ดู ค่อยๆ สังเกตไป อย่างนี้เราก็จะต่อไปได้ เข้าสู่การเจริญปัญญาได้ ต่อไปมันก็จะเห็นกายนี้ไม่ใช่ตัวเราหรอก แล้วทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในกายมีแต่ของไม่ดี ของไม่สวย ของไม่งามเต็มไปด้วยของสกปรกอะไรอย่างนี้ เฝ้ารู้เฝ้าดู ใจมันจะค่อยๆ พัฒนาขึ้น จากสมาธิก็จะเริ่มค่อยๆ ก้าวไปสู่การเจริญปัญญา

เราก็เห็นร่างกายสกปรกไม่ดี ไม่งาม ใจเราไม่ชอบ เรารู้ทันใจที่ไม่ชอบ เราก็ดูกายต่อไป ต่อไปมันก็พัฒนา แทนที่จะเห็นว่าไม่สวยไม่งาม เราเห็นว่าจริงๆ มันเป็นแค่วัตถุเท่านั้นเอง เป็นก้อนธาตุ เป็นธาตุดิน น้ำ ไฟ ลมไป ไม่มีของสกปรก ไม่มีของสะอาดใดๆ ทั้งสิ้น เป็นธาตุเสมอกันไปหมดเลย ฉะนั้นจะทำสมาธิก่อนแล้วก็เดินไปในแนวนี้ก็ได้ ค่อยๆ ทำไป แต่ถ้าสมาธิไม่พอก็ไปดูจิตเอา ก็เห็นเดี๋ยวจิตสุข จิตทุกข์ จิตดี จิตชั่ว แต่ถ้าเด็ดเดี่ยวในทางสายของสมาธิก็ดูลงมาในกายนี้เลย จนเห็นไม่มีตัวเราหรอก แต่ของคุณต้องเริ่มแต่ไม่สวยไม่งามก่อน มันไม่สวย มันไม่งามอะไรอย่างนี้ ใจมันจะมีแรงมากขึ้น แล้วค่อยดู โอ้ มันไม่สวยไม่งาม ทีแรกใจมันรังเกียจ รู้ทันใจที่รังเกียจ ต่อไปใจมันจะเป็นกลาง มันเห็นว่าร่างกายจริงๆ เป็นวัตถุ เป็นวัตถุธาตุเท่านั้นเอง ไม่มีสวย ไม่มีไม่สวย

อย่างดินนี่ไม่มีคำว่าสวย ไม่สวย น้ำ ไฟ ลมอะไรอย่างนี้ ไม่มีสวย ไม่สวย มันก็เป็นแค่ธาตุ แล้วถ้าจิตมันพลิกไปเห็นจิตใจทำงาน เราก็รู้ทันจิตใจที่ทำงานไป ถึงเวลาเราก็กลับมาทำสมาธิไป เดินอย่างนี้ก็ได้ ค่อยๆ ทำเอา ถ้าเดินโดยมีสมาธิประกอบ การภาวนามันจะมีความสุข มันจะมีความสดชื่นเป็นระยะๆ

การปฏิบัติมันเหมือนการเดินทางไกล เดินป่าเดินเขาอะไรอย่างนี้ ถ้าเราเข้าฌาน เข้าสมาธิได้ มันก็คล้ายๆ พอตกค่ำ เราก็มีน้ำให้อาบ มีฟูกให้นอน มีห้องแอร์ให้อยู่อะไรอย่างนี้ แต่ถ้าไม่มีสมาธิใช่ไหม เดินไป ภาวนาไป เหน็ดเหนื่อยลำบาก ตกค่ำก็ซุกหัวนอนอยู่ใต้ต้นไม้ไปแบบลำบากแห้งแล้ง บางคนมันก็ต้องไปแบบนั้นยอมทนเอา คนไหนทำฌานได้ ทำสมาธิได้ก็คล้ายๆ มีที่พักที่สบาย การปฏิบัติ ไม่แห้งแล้ง สบาย แต่คนส่วนใหญ่ต้องไปด้วยความแห้งแล้ง เพราะเข้าฌานไม่เป็น

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
25 กรกฎาคม 2564
Page 3 of 3
1 2 3