กรรมฐานที่เหมาะกับเรา

การภาวนามีหลากหลาย จริตนิสัยคน พื้นฐานดั้งเดิมมันไม่เหมือนกันแต่ละคน วิธีปฏิบัติของแต่ละคนจะใช้อารมณ์กรรมฐานอะไร จะใช้วิธีแบบไหน ก็แล้วแต่ แต่ละคนไม่เหมือนกัน ไม่จําเป็นต้องเลียนแบบกัน หัดเลือก ไม่จําเป็นต้องเอาอย่างกันแต่มีปัญญาวิเคราะห์ตัวเอง อะไรที่เหมาะกับเรา ปัญญาที่วิเคราะห์ตัวเองออก ตัวนี้เรียกว่าสัมปชัญญะ ไปสํารวจตัวเองว่าเราควรจะภาวนาแค่ไหน ตอนนี้ควรจะทำความสงบ หรือควรจะฝึกความตั้งมั่น หรือควรเจริญปัญญา ดูตัวเอง สํารวจใจ วันไหนฟุ้งซ่านมากทำความสงบ วันไหนจิตมีกําลังพอ รู้ทันจิตที่ไหลไปมา จิตก็ตั้งมั่น ถ้าจิตตั้งมั่นแล้วก็เจริญปัญญา จะเจริญด้วยการดูกาย ดูเวทนา หรือดูจิต ดูธรรมก็ได้ แล้วแต่จริตนิสัย จะเจริญปัญญาในสมาธิก็ได้ เข้าสมาธิแล้วออกมาเจริญปัญญาก็ได้ เจริญปัญญาด้วยจิตที่ตั้งมั่น แล้วมันเกิดอัปปนาสมาธิเข้าฌานทีหลัง ลีลาแต่ละคนไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นไม่มีกรรมฐานอะไรดีกว่ากรรมฐานอะไร แต่เราต้องมีปัญญามีสัมปชัญญะรู้ว่ากรรมฐานอะไรที่เหมาะกับเรา ไปดูตัวเอง ช่วยตัวเอง สํารวจตัวเอง

การปฏิบัติสู่อริยมรรคอริยผล

การที่เราทำกรรมฐานแล้วเราคอยรู้เท่าทันจิตตัวเองด้วย นอกจากจะสงบ เรายังจะได้สมาธิอีกชนิดหนึ่งแถมมาด้วย คือจิตจะตั้งมั่นอัตโนมัติ พอตั้งมั่นแล้วก็มีแรงแล้วก็ต้องเดินปัญญา ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส ใจกระทบความคิดนึกปรุงแต่ง แล้วจิตเราเกิดปฏิกิริยาขึ้นมา เกิดสุขให้รู้ เกิดทุกข์ก็ให้รู้ เกิดกุศลก็ให้รู้ เกิดโลภก็ให้รู้ เกิดโกรธก็ให้รู้ เกิดหลงก็ให้รู้ ฟุ้งซ่านก็รู้ หดหู่ก็รู้ ตามรู้ตามเห็นไปเรื่อยๆ แล้วต่อไปปัญญามันก็พอกพูนขึ้น ถึงจุดหนึ่งก็จะเข้าสู่สังขารุเปกขาญาณ มันรู้จริงแล้วว่าทุกสิ่งทุกอย่างเกิดแล้วดับ มันก็เลยเป็นกลาง ไม่หลงยินดีกับสุข ไม่หลงยินร้ายกับทุกข์ ไม่หลงยินดีกับกุศล ไม่หลงยินร้ายกับอกุศล ถ้าเดินปัญญาถึงจุดนี้ เราเข้ามาสู่ประตูของอริยมรรคอริยผลแล้ว ถ้าบุญบารมีเราสะสมมาเพียงพอ อริยมรรคอริยผลจะเกิดขึ้นไม่มีใครสั่งจิตให้เกิดอริยมรรคอริยผลได้ จิตเกิดอริยมรรคอริยผลของจิตเอง เมื่อศีล สมาธิ ปัญญานั้นสมบูรณ์แก่รอบแล้ว

วิธีเจริญสติในชีวิตประจำวัน

ถ้าเราฝึก นอกจากเราจะรู้ทันว่าตอนนี้มีความรู้สึกสุขหรือทุกข์ ดีหรือชั่วแล้ว เรายังได้เห็นพฤติกรรมของจิตด้วย จะเห็นอารมณ์ที่เกิดขึ้น ความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับจิตก็ใช้ได้จะเห็นพฤติกรรมของจิตที่เกิดดับทางทวารทั้ง 6 ก็ใช้ได้ เราดูจิต เราจะดูกันอย่างนี้

ปฏิจจสมุปบาท

ในปฏิจจสมุปบาทนั้นจะมีสภาวธรรม 3 ลักษณะ อันแรกเป็นส่วนของกิเลส ต่อมาเป็นส่วนของกรรม คือพฤติกรรมของจิตนั่นล่ะ อีกส่วนหนึ่งก็เป็นตัววิบาก เป็นผล มีกิเลส มีกรรม มีวิบาก ในปฏิจจสมุปบาทนั้น ก็คือวนเวียนอยู่ในเรื่องเหล่านี้ ลึกที่สุดอะไรเป็นกิเลส อวิชชาเป็นกิเลส อวิชชาเป็นหัวโจก เป็นหัวหน้าของกิเลส คือความไม่รู้แจ้งอริยสัจเป็นหัวโจก แล้วอวิชชาก็ทำให้ผลักดัน มันเป็นกิเลส ก็ผลักดันให้เกิดการกระทำกรรม การกระทำกรรมตัวนี้เรียกว่าสังขาร

“อวิชชา ปัจจยา สังขารา” อวิชชาเป็นปัจจัยของสังขาร สังขารเป็นการกระทำกรรมของจิตแล้ว เพราะมีสังขารก็เกิดวิบาก มีการกระทำกรรมแล้วก็เกิดวิบาก อะไรบ้างที่เป็นวิบาก ตัวจิต ตัววิญญาณ ที่หยั่งลงสู่ความรับรู้อารมณ์เป็นวิบาก ตัวอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเป็นวิบาก ตัวผัสสะ การกระทบอารมณ์เป็นวิบาก เราเลือกไม่ได้ว่าจะกระทบอารมณ์ดี หรืออารมณ์ไม่ดี ถ้าอกุศลวิบากให้ผลมา เรากระทบอารมณ์ไม่ดี กุศลวิบากให้ผลมา เราก็กระทบอารมณ์ดี มันเป็นวิบาก ผัสสะเป็นวิบาก ถัดจากนั้นก็เกิดเวทนาขึ้นอัตโนมัติ เวทนาก็เป็นวิบาก

มรรค คือศีล สมาธิ ปัญญา

งานกรรมฐานเป็นงานฝึกจิตใจ เบื้องต้นก็ฝึกจิตใจให้มันอยู่ …

Read more

อย่าเป็นตุ่มรั่ว

เราพยายามพัฒนาสติของเราตั้งแต่ตื่นจนหลับ คอยเอาสตินี้ล่ะอ่านจิตอ่านใจตัวเองไป ศีลเราจะดี สมาธิเราจะพัฒนา มันจะไม่มีลักษณะของตุ่มรั่ว เรามีสติอยู่เรื่อยๆ อย่างนี้ ถึงเวลานั่งสมาธิแป๊บเดียวก็สงบแล้ว ไม่ยาก แต่ถ้าฟุ้งซ่านทั้งวัน ไปนั่งสมาธิก็นั่งฟุ้งๆ แป๊บเดียวก็หลับ ทำไมมันหลับเก่ง จิตมันเหนื่อยเต็มทีแล้ว มันฟุ้งซ่านมาทั้งวันแล้ว มันต้องการพักแล้ว แต่ถ้าเรามีสติอยู่ทั้งวัน จิตมันไม่เหนื่อย ร่างกายอาจจะเหนื่อย พักผ่อนเสียหน่อยหนึ่งก็หาย แต่จิตมันไม่เหนื่อย สมมติร่างกายเราเหนื่อยมากจริงๆ ก็นอน นอนไปหายใจเข้าพุท หายใจออกโธไป จิตใจกลับไปคิดเรื่องงาน คิดเรื่องคนอื่น วุ่นวายขึ้นมา มีสติรู้ทัน

ฉะนั้นการปฏิบัติ พยายามมีสติรู้ทันจิตใจตัวเองไป ศีลมันก็จะเกิดขึ้น สมาธิมันก็จะเกิดง่าย พอเรามีสติ เรามีศีล เรามีสมาธิแล้ว มันเกื้อกูลให้เกิดปัญญา

การเจริญสติปัฏฐาน

สติเป็นตัวรู้เท่าทันความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของกายของใจเรา ฉะนั้นสติที่รู้กายรู้ใจ เรียกว่าสติปัฏฐาน สติอย่างอื่นไม่เรียกว่าสติปัฏฐาน เขาเรียกว่าเป็นสติเฉยๆ ไม่ใช่สัมมาสติ สิ่งที่เป็นสัมมาสติ คือสติปัฏฐาน จำไว้เลย พระพุทธเจ้าบอกเลยว่าสัมมาสติ อธิบายด้วยสติปัฏฐาน 4 ก็คือให้เราคอยรู้สึกกายในกายเนืองๆ รู้สึกเวทนาในเวทนาเนืองๆ รู้สึกจิตในจิตเนืองๆ รู้สึกธรรมในธรรมเนืองๆ

ทำสัมมาวายามะให้บริบูรณ์

สัมมาวายามะ คือมีความเพียรชอบ อกุศลเกิดขึ้นรู้ทัน อกุศลก็ดับไป ในขณะที่มีสติอยู่ อกุศลใหม่ก็ไม่เกิด ในขณะที่มีสตินั้น กุศลได้เกิดขึ้นแล้ว ในขณะที่สติเกิดบ่อยๆ กุศลก็จะเจริญขึ้น เพราะฉะนั้นเราจะทำสัมมาสติได้บริบูรณ์ ต้องทำสัมมาวายามะให้บริบูรณ์ มีสติรู้ทันจิตตัวเองไป แล้วอกุศลที่มีอยู่จะดับ อกุศลใหม่จะไม่เกิด กุศลที่ยังไม่เกิดก็จะเกิด ที่เกิดแล้วก็จะงอกงามพัฒนาขึ้นไป จนถึงกุศลสูงสุด สิ่งที่เรียกว่ากุศลขั้นสูงสุด คือปัญญา ในบรรดากุศลทั้งหลาย ปัญญาเป็นกุศลสูงสุด พอมีปัญญา เมื่อกี้บอกแล้ว เห็นตามความเป็นจริงจึงเบื่อหน่าย คลายความยึดถือ หลุดพ้น

บางคนไม่สามารถดูจิตดูใจได้ ยังไม่สามารถทำสัมมาวายามะให้บริบูรณ์ได้ อย่างไปนั่งสมาธิ ทำความสงบไป จมอยู่กับกิเลส เผลอเพลิน มีความสุข อันนั้นไม่มีสัมมาวายามะ กิเลสไม่เร่าร้อน เลยไม่ได้แผดเผากิเลส ไม่มีอาตาปี ไม่ได้แผดเผากิเลส แต่เบื้องต้นบางคนก็ต้องดูกาย ดูเวทนาไปก่อน พอทำมากๆ เข้า ชำนิชำนาญขึ้น สติดีขึ้น มันก็เริ่มสังเกตจิตใจออก ตรงที่สังเกตจิตใจออก สัมมาวายามะก็จะเจริญขึ้น สัมมาสติก็จะเจริญ สัมมาสมาธิก็จะเจริญขึ้น

วิธีปฏิบัติ

การปล่อยวางกาย ปล่อยวางจิตนั้น ไม่มีใครสั่งให้จิตปล่อยวางได้ จิตมันปล่อยวางเอง เมื่อศีล สมาธิ ปัญญาของมันสมบูรณ์ ศีล สมาธิ ปัญญา จะสมบูรณ์ได้ อาศัยสติเป็นเบื้องต้น อาศัยความรู้เนื้อรู้ตัว สติสัมปชัญญะ คอยรู้สึกตัวไว้ อย่าใจลอย ฟุ้งซ่านไปทั้งวัน อาศัยธรรมะคู่นี้ แล้วศีล แล้วสมาธิ แล้วปัญญาของเราจะแก่รอบ พอศีล สมาธิ ปัญญาของเรา แก่กล้าขึ้นมาแล้ว จิตมันจะเห็นทุกข์เห็นโทษ มันยึดอะไรมันก็ทุกข์เพราะอันนั้น อย่างบางคนพระพุทธเจ้าท่านก็เคยสอน มีนาก็ทุกข์เพราะนา ก็ห่วง กลัวคนอื่นเขาจะมารุกที่นาเรา มีบ้านก็ทุกข์เพราะบ้าน เป็นห่วง เดี๋ยวปลวกมันจะกิน เดี๋ยวธนาคารจะมายึด มีรถยนต์ก็เป็นห่วงรถยนต์ มีลูกก็ห่วงลูก มีเมียก็ห่วงเมีย มีพ่อมีแม่ก็ห่วงพ่อห่วงแม่ มีอะไรก็ทุกข์เพราะอันนั้นทั้งหมดเลย

เราค่อยๆ สังเกตตัวเองเรื่อยๆ ไป ปัญญาของเราจะแก่กล้าเลย ยึดอะไรก็ทุกข์เพราะอันนั้น

เราเรียนรู้ความจริง ไม่มีอะไรหรอก มีแต่ทุกข์ทั้งนั้นเลย อย่านึกว่าชีวิตเราไม่ทุกข์ นั่งอยู่นี่ก็ทุกข์ หนาวก็ทุกข์ ร้อนก็ทุกข์ หิวก็ทุกข์ กระหายน้ำก็ทุกข์ ปวดอึ ปวดฉี่ก็ทุกข์ นั่งนานก็ทุกข์ เมื่อย ความทุกข์มันบีบคั้นเราอยู่ตลอดเวลาเลย เฝ้ารู้ลงไป ถ้าเราเห็นว่ากายนี้เป็นทุกข์ มีแต่ทุกข์ล้วนๆ ทุกข์มากกับทุกข์น้อย มันจะปล่อยวางกาย ถ้าเราเห็นว่าจิตมันเป็นทุกข์ เพราะความไม่เที่ยง เพราะถูกบีบคั้นให้แตกสลาย เพราะบังคับไม่ได้ รู้อย่างนี้แจ่มแจ้ง มันจะปล่อยวางจิต ตรงที่มันปล่อยวางจิตได้ ที่สุดของทุกข์อยู่ตรงนั้น