จะออกจากวัฏสงสารต้องเด็ดเดี่ยวอดทน

พยายามยกระดับจิตใจของเราให้สูงขึ้นๆๆ ไป อดทนๆ ไม่อดทนทำไม่ได้หรอก เส้นทางนี้ มันน่าเบื่อ ให้มันเด็ดเดี่ยวๆ อดทน ล้มลุกคลุกคลานไม่เป็นไร ล้มแล้วลุกขึ้นมา เดินต่อ ลงไปคลุกฝุ่น ลุกไม่ไหว เราคลานไป อย่าอยู่กับที่ แล้ววันหนึ่งเราก็จะพ้นจากความทุกข์อันมหาศาล ค่อยทุกข์น้อยลงๆ อดทน จำเป็น ต้องอดทนอดกลั้น อย่าตามใจกิเลสตัวเอง ถ้าตามใจกิเลสตัวเอง มันมีแต่ต่ำลงๆ แล้วบางคนมันตามใจกิเลสตัวเอง แต่ว่ามันฉลาด มันแก้ตัวให้กิเลส หาเหตุผลว่าอันนี้ดีๆ อันนี้ต้องทำๆ เถลไถลไปเรื่อยๆ อันนั้นแก้ตัวให้กิเลส ลืมไปว่าชีวิตของคนไม่ได้ยั่งยืนอะไร คนที่อายุถึงร้อยปีมีสักกี่คน แล้วอายุมากๆ ร่างกายเสื่อม สมองเสื่อมอะไรอย่างนี้ มันภาวนาลำบาก ตอนที่ยังแข็งแรง รีบภาวนา เหมือนตอนที่แข็งแรงอยู่ รีบหาทางออกจากป่าให้ได้ ป่านี้ก็คือวัฏสงสารนั่นเอง มีเสี้ยนหนามอยู่รอบตัว ก็คือมีความทุกข์ตลอด หันซ้ายก็ทุกข์ หันขวาก็ทุกข์

ฆราวาสมีหน้าที่ทั้งทางโลกทางธรรม

เรายังเกิดมาได้ทันที่พระสัจธรรมยังดำรงอยู่ ขวนขวายพากเพียรปฏิบัติเข้า เป็นฆราวาสหน้าที่ทางโลกต้องทำ หน้าที่ทำมาหากิน เลี้ยงครอบครัว หน้าที่รับผิดชอบต่อสังคม อย่างไปเลือกตั้งเป็นหน้าที่รับผิดชอบต่อสังคม ต่อชาติบ้านเมือง ส่วนหน้าที่ต่อตนเอง คือการปฏิบัติธรรม เรียกว่าทางโลกเราก็ต้องทำ ทางธรรมเราก็ต้องทำ พยายามฝึกตัวเองไป ชีวิตเราก็จะสะอาดหมดจด ด้วยอำนาจของศีล ด้วยอำนาจของสมาธิ ด้วยปัญญา พอปัญญาคือความรู้ถูก ความเข้าใจถูกเกิดขึ้น มันจะทำลายกิเลสอย่างละเอียด

การเจริญสติปัฏฐาน

สติเป็นตัวรู้เท่าทันความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของกายของใจเรา ฉะนั้นสติที่รู้กายรู้ใจ เรียกว่าสติปัฏฐาน สติอย่างอื่นไม่เรียกว่าสติปัฏฐาน เขาเรียกว่าเป็นสติเฉยๆ ไม่ใช่สัมมาสติ สิ่งที่เป็นสัมมาสติ คือสติปัฏฐาน จำไว้เลย พระพุทธเจ้าบอกเลยว่าสัมมาสติ อธิบายด้วยสติปัฏฐาน 4 ก็คือให้เราคอยรู้สึกกายในกายเนืองๆ รู้สึกเวทนาในเวทนาเนืองๆ รู้สึกจิตในจิตเนืองๆ รู้สึกธรรมในธรรมเนืองๆ

ฝึกให้จิตมีแรงแล้วเดินปัญญา

การฝึกจิตใจมันมี 2 ขั้นตอน ขั้นฝึกให้จิตสงบมีเรี่ยวมีแรง กับฝึกให้จิตตั้งมั่น ฝึกให้จิตสงบก็คือฝึกให้จิตมันรู้จักหยุดเสียบ้าง ธรรมดาจิตเราวิ่งพล่านๆ ทั้งวัน เดี๋ยววิ่งไปคิด เดี๋ยววิ่งไปดู วิ่งไปฟัง วิ่งไปดมกลิ่น วิ่งไปลิ้มรส วิ่งไปรู้สัมผัสทางร่างกาย จิตมันวิ่งตลอดเวลา มันก็เหนื่อย หมดเรี่ยวหมดแรง คล้ายๆ ร่างกาย วิ่งๆ ไปเรื่อยๆ ก็หมดแรง ก็ต้องพัก จิตก็ต้องพักเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเราจะต้องหัดกรรมฐาน ที่เรียกว่าสมถกรรมฐาน พอพักพอสมควรมีเรี่ยวมีแรงแล้ว ก็ต้องออกไปทำมาหากิน

ถ้าร่างกายพักพอสมควรมีแรงแล้ว ออกไปทำมาหากิน หาผลประโยชน์ จิตใจนี้ก็เหมือนกัน เราพักพอสมควรแล้ว ออกไปทำประโยชน์ ออกไปเจริญปัญญา นั่นล่ะหาของดีมาให้จิตใจ ปัญญามันเป็นอาหารชั้นเลิศของใจ

ฝึกจิตเพื่ออนาคตที่สดใส

ไปฝึกเอาเพื่อชีวิตที่มีคุณค่า ชีวิตที่มีความสุข ชีวิตที่มีอนาคตที่แจ่มใส ถ้าเราไม่ได้ฝึกกรรมฐาน เราไม่มีชีวิตที่มีอนาคตที่แจ่มใส พวกเรามีความแก่รออยู่ข้างหน้า มีความเจ็บรออยู่ข้างหน้า มีความพลัดพรากรออยู่ข้างหน้า มีความตายรออยู่ข้างหน้า ฉะนั้นในโลกไม่มีชีวิตที่สดใสรออยู่ข้างหน้าหรอก แต่ในทางธรรมมี ฝึกจิตของตัวเองไปเรื่อยๆ ด้วยสมถะด้วยวิปัสสนานี่ล่ะ เรามีความสุขมีความสงบตั้งแต่ปัจจุบัน อนาคตก็มีความสุขความสงบสูงขึ้นๆ ไปเรื่อยๆ จนถึงวันหนึ่งเรามีความสุขความสงบของพระนิพพาน

นิพพานเป็นความสงบอย่างยิ่ง นิพพานมีสันติลักษณะ มันสงบ นิพพานมีความสุขอย่างยิ่ง นิพพานัง ปรมัง สุขัง นั่นล่ะเรามีรางวัลใหญ่รอเราอยู่ข้างหน้าสำหรับชาวพุทธทั้งหลาย ฉะนั้นเราทำ ฝึกของเราทุกวันๆ อย่าทิ้งเวลาให้เปล่าประโยชน์ไป

สติ สมาธิ ปัญญาอัตโนมัติ

กระบวนการทั้งหมดเบื้องต้นต้องตั้งใจฝึก เบื้องปลายทุกอย่างจะอัตโนมัติ เบื้องต้นเราฝึกสติ เราก็ตั้งใจฝึกไป มีกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง ทำไปแล้วจิตหนีไป เรารู้ ไปเพ่งอะไร เรารู้ รู้ทันจิตไปเรื่อยๆ สติเราก็จะดี หรือดูตรงนี้ไม่ออก ก็เห็นร่างกายหายใจออกก็รู้ ร่างกายหายใจเข้าก็รู้ ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอนก็รู้อะไรอย่างนี้ สติมันก็จะดีขึ้นๆ สติปัฏฐานทำให้สติเกิดในเบื้องต้น ทำให้ปัญญาเกิดในเบื้องปลาย ฉะนั้นเราทำสติปัฏฐาน รู้ไปเรื่อยๆ ต่อไปไม่เจตนาจะรู้มันรู้ได้เอง ตรงนี้อัตโนมัติแล้ว

ความสุขในโลกเป็นน้ำตาลเคลือบยาพิษ

ยาพิษร้ายแรง คือทำให้เราต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ไม่รอด น้ำตาลหวานๆ คืออะไร คือกามคุณอารมณ์ทั้งหลาย รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสอะไรที่น่าเพลิดเพลินทั้งหลาย ความสุขจอมปลอมทั้งหลายเอาไว้หลอกคนโง่ให้หลงอยู่ แต่ผู้รู้ไม่ติดข้อง สิ่งเหล่านั้นเป็นเครื่องมือของมาร เป็นอาวุธของมารในการที่จะจับพวกเราเอาไว้ในอำนาจ คือกามนี่ล่ะ เครื่องมือของมาร จะจับเราเอาไว้ แล้วสัตว์โลกก็ถูกมารนี้ล่ะจับเอาไว้ ดิ้นรนแสวงหาความสุขทางรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทั้งหลาย ดิ้นแสวงหากันไป สุดท้ายทุกอย่างก็ว่างเปล่า มีเงิน สุดท้ายเงินก็เป็นของคนอื่น มีบ้านสุดท้ายบ้านก็เป็นของคนอื่น มีลูกมีเมีย สุดท้ายก็เป็นของคนอื่น ไม่ใช่ของเราอยู่ดี กระทั่งร่างกายนี้ ของเราๆ สุดท้ายก็ต้องถูกคนเอาไปเผาทิ้ง มันว่างเปล่าไปหมด เรื่องของโลกหาสาระไม่ได้ เมื่อเรามีโอกาสได้ยินได้ฟังธรรมะของพระพุทธเจ้าแล้ว ลงมือแสวงหาความสุขที่ยิ่งใหญ่ขึ้นไปเป็นลำดับๆ ไป ความสุขจากการฝึกจิตให้สงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว ความสุขของสมาธิ ความสุขจากการที่จิตมันเกิดความรู้ถูกเข้าใจถูกอะไรพวกนี้ มีความสุขผุดขึ้นมา เป็นความสุขจากการเจริญปัญญา ถ้าความสุขจากการสัมผัสพระนิพพาน อันนั้นเป็นบรมสุข เป็นความสุขที่ไม่มีเครื่องเสียดแทง

การพัฒนาองค์มรรค

พัฒนาองค์มรรคทั้งหลาย เพื่อวันหนึ่งเราจะได้รู้ทันสภาวะทั้งหลายตามความเป็นจริง เราจะเห็นเลยว่ารูปธรรมทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับบังคับไม่ได้ นามธรรมทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับบังคับไม่ได้เหมือนกัน เฝ้ารู้เฝ้าดูลงไปเรื่อยๆ ในที่สุดจิตจะค่อยๆ พัฒนาเข้าไปสู่ความเป็นกลาง พอเราตามรู้ตามเห็นเนืองๆ ไป ความรู้ถูกความเข้าใจถูกก็จะมากขึ้นๆ สุดท้ายมันจะเข้าสู่ความเป็นกลาง จิตจะไม่กระเพื่อมหวั่นไหว ไม่แกว่งขึ้นแกว่งลง เดี๋ยวชอบใจ เดี๋ยวไม่ชอบใจ พอจิตมันเป็นกลางจิตก็จะหมดความดิ้นรน ตรงที่จิตมันเข้าสู่ความเป็นกลางด้วยปัญญานี้ เป็นประตูของอริยมรรค ถ้าที่เราสะสมของเรามา ศีล สมาธิ ปัญญามันแก่กล้าพอแล้ว อริยมรรคจะเกิดขึ้นเอง

มาดูความจริงของขันธ์ 5

การเรียนรู้ความจริงของรูปนามกายใจ เรามีสติระลึกรู้รูปธรรมนามธรรม มีปัญญาเข้าใจความเป็นจริงของรูปธรรมนามธรรม ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จะเข้าใจได้จิตต้องตั้งมั่น มีสมาธิที่ถูกต้อง จิตเป็นแค่คนดู ร่างกายนี้ถูกดูจิตเป็นคนดู อย่างนี้เรียกเรามีจิตตั้งมั่น พอเห็นความจริง กายนี้คือทุกข์ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเป็นทุกข์ มันจะค่อยๆ ปล่อย ปล่อยเป็นลำดับๆ ไป ปล่อยกายก่อนเพราะมันหยาบมันดูง่าย แล้วสุดท้ายมันก็ไปปล่อยจิตอีกทีหนึ่ง

ภาวนาอย่างไรก็ไม่สงบ

คำถาม:

ผมเป็นคนฟุ้งซ่าน ช่างคิด ขี้สงสัย จิตออกนอก หลงบ่อย ทำให้ทำจิตให้ตั้งมั่นได้ยาก ไม่สามารถดูสบายๆ ดูซื่อๆ ได้เลยครับ ต้องตั้งใจดู ซึ่งก็กลายเป็นเพ่งไป พอเพ่งก็อึดอัด ปวดหัว ถ้าไม่เพ่งจิตก็หลงไป กรรมฐานที่ทำอยู่ประจำคืออานาปานสติครับ โดยดูลมพร้อมนับเลขแบบซับซ้อนนิดหนึ่งไปด้วย เพราะบริกรรมพุทโธก็เอาไม่อยู่ อยากเรียนถามหลวงพ่อว่าควรปฏิบัติอย่างไรดีครับ

หลวงพ่อ:

จิตมันเป็นอนัตตา สั่งให้สงบ สั่งไม่ได้ สั่งให้ดี สั่งไม่ได้ สั่งให้สุข ก็สั่งไม่ได้ เราทำเหตุไปเรื่อยๆ ทำกรรมฐาน อย่างหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ยังไม่ไหว นับไป หรือ พุทโธเร็วๆ พุทโธๆๆๆ อะไรอย่างนี้ก็ได้ ให้จิตมันมีเครื่องอยู่ไป แล้วจิตมันก็สงบของมันเองล่ะ อยู่ๆ จะไปสั่งจิตให้สงบ อย่าไปตั้งเป้าผิด ถ้าตั้งเป้าว่าทำสมาธิเพื่อให้จิตสงบ มันไม่สงบหรอก ตั้งเป้าว่าเราทำสมาธิเพื่อจะทำ เช่น หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ นี่เราปฏิบัติเป็นพุทธบูชาไป ไม่หวังผลว่าจะต้องสุข ต้องสงบ ต้องดี ถ้ายังหวังผลอยู่ ไม่สงบหรอก เพราะใจมันโลภ ฉะนั้นเราทำนี่ ไม่ได้หวังผลอะไร ลองไปปรับตัวนี้เสีย อย่าหวังผล ปฏิบัติเป็นพุทธบูชาไป แล้วจิตจะสงบก็ช่างมัน จิตไม่สงบก็ช่างมัน ขอให้ได้ปฏิบัติเท่านั้น

ทำไปเรื่อยๆ แล้วไม่ได้หวังผล จิตมันจะสงบอย่างรวดเร็วเลย นี้เป็นเคล็ดวิชา ถ้าเราหวังผล จิตจะไม่มีความสุข จิตไม่มีความสุข สมาธิจะไม่เกิด เพราะฉะนั้นเราไม่ได้หวังผล เราถือว่า ทุกลมหายใจเข้าออกเหมือนดอกไม้บูชาพระ เคารพพระพุทธเจ้า หายใจนี่เพื่อบูชาพระพุทธเจ้าไปเรื่อยๆ ทำโดยไม่ได้หวังผล แล้วจะได้ผลดี แต่ถ้าทำแล้วหวังว่าจะสงบ เมื่อไหร่จะสงบๆ ไม่สงบสักทีเลยโว้ยอะไรอย่างนี้ ไม่สงบหรอก ไปปรับทัศนคติเสียตรงนี้ ไม่ได้ทำเอาดี เอาสุข เอาสงบหรอก แต่ทำเพื่อบูชาพระพุทธเจ้า เดี๋ยวก็สงบเอง ง่ายๆ

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
18 กรกฎาคม 2564