มิจฉาสมาธิ

ถ้าสมาธิไม่ถูก สมาธิไม่พอ ไปทำสมถะโอกาสพลาดก็สูง หลงนิมิตเอา สมาธิไม่ถูก สมาธิไม่พอ ไปเดินวิปัสสนา ก็ถูกวิปัสสนูปกิเลสเอาไปกิน หลอก คิดว่าบรรลุธรรมแล้ว บางทีคิดถึงขนาดว่าเป็นพระอรหันต์แล้ว ฉะนั้นเลยต้องเรียนกันให้มากหน่อย เรื่องของสมาธิ คนที่ภาวนาแล้วพลาด ก็เรื่องพวกนี้ทั้งนั้น ภาวนาแล้วเพี้ยนบ้างอะไรบ้าง ไม่ได้เรียนถึงบทเรียนที่ชื่อจิตตสิกขา ถ้าเรียนรู้จิตตัวเองไม่ได้ สมาธิที่ดีที่สมบูรณ์เกิดไม่ได้หรอก

เราไม่ได้ภาวนาเพื่อสนองกิเลส

พยายามฝึก มีเครื่องอยู่ให้จิตอยู่เสียก่อน กาย เวทนา จิต ธรรม อะไรก็ได้ที่เราถนัด มีเครื่องอยู่แล้ว มีสติอยู่ แล้วเราก็รู้ว่า เราปฏิบัติธรรมเพื่อสู้กิเลส ไม่ใช่เพื่อเอาดีอะไรหรอก ปฏิบัติธรรมที่เราทำอยู่นี้ มันจะสู้กิเลสหรือมันตามใจกิเลส ไปดูตัวนี้ด้วย ตัวนี้เรียกว่า อาตาปี มีกาเย กายานุปัสสี วิหะระติ ใช้กายในกายเป็นเครื่องอยู่ อาตาปี เป็นเครื่องอยู่เพื่อแผดเผากิเลส ทำให้กิเลสทนอยู่ไม่ได้ ไม่ใช่ภาวนาเพื่อสนองกิเลส ไปภาวนาแล้วเราสังเกตดู ที่เราภาวนานี้สนองกิเลสหรือคิดจะสู้กิเลส ส่วนใหญ่มันก็ภาวนาสนองกิเลส อยากดี อยากเป็นพระอริยะ

สติมีหน้าที่รักษาจิต

เรามีสติคุ้มครองรักษาจิตตนเองไปเรื่อยๆ คุ้มครองไม่ใช่ไปเฝ้าไม่ให้จิตกระดุกกระดิก มีสติคอยรู้เท่าทันจิตตัวเองนั่นล่ะ คอยอ่านจิตตัวเองนั่นล่ะ แล้วสติจะเป็นผู้รักษาจิตเอง เราไม่ต้องรักษาจิต รักษาอย่างไรก็ไม่ได้ สติจะทำหน้าที่อารักขา อารักขาคือมันทำหน้าที่คุ้มครองจิตใจไม่ให้ตกไปสู่ที่ชั่ว เพราะฉะนั้นเรามีสติอ่านจิตอ่านใจตัวเองไปเรื่อย จิตก็ได้รับความคุ้มครองได้รับการดูแล ไม่ทำผิดศีล ไม่ฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความตั้งมั่น แล้วการที่เรามีสติ ถ้าจิตเราตั้งมั่น แล้วสติระลึกรู้อะไรก็ตาม อันนั้นจะแสดงไตรลักษณ์ได้

ลงมือปฏิบัติจนเห็นของจริง

หัดดูในขันธ์ 5 ดูไปเรื่อย ล้วนแต่ของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา อย่างนี้ถึงจะเรียกว่าการปฏิบัติ ไม่ใช่นั่งคิดเอา นั่งคิดเอาว่าร่างกายไม่ใช่เรา คิดเอาแล้วก็อิ่มอกอิ่มใจว่ากูรู้ธรรมะ มันรู้ด้วยการคิด มันยังไม่ได้เห็นของจริง ต้องลงมือปฏิบัติไปจนเห็นของจริง ขันธ์ 5 ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ถ้าเราเห็นด้วยจิตใจที่แท้จริง มันจะไม่กลับมาหลงผิดอีก อย่างคนไหนเป็นพระโสดาบันแล้ว รู้ความจริงแล้ว ขันธ์ 5 ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ไม่มีตัวเรา ไม่มีของเราในขันธ์ 5 ไม่มีตัวเราของเราที่ไหนเลย ไม่มี พระโสดาบันภาวนาไปจนจิตเห็นความจริงอันนี้แล้ว ความรู้อันนี้ฝังลึกเข้าไปในจิตใจ ตายไปแล้วข้ามภพข้ามชาติไปแล้ว ความรู้อันนี้ก็ไม่หายไป มันฝังลงไปในจิตใจ แต่ถ้าเป็นความรู้จากการคิด การอ่าน การฟัง ไม่ทันจะแก่ก็ลืมหมดแล้ว

จิตเกิดดับสืบเนื่องกันอย่างรวดเร็ว

เรามีสติเห็นตัวสภาวะ เห็นจิต แต่เราไม่มีปัญญา ที่จะแยกว่าจิตที่เกิดขึ้นนี้ มันเกิดดับสืบเนื่องกันอย่างรวดเร็ว สันตติขาด เราก็จะรู้ว่าจริงๆ จิตดวงหนึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ดวงใหม่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ดวงที่ใหม่กว่าเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เราจะเห็นมันเกิดดับๆๆ สืบเนื่องกัน ตัวนี้เรียกว่าเห็นอนิจจังของจิต แล้วมันก็ทำลายภาพลวงตา ที่เดิมเราคิดว่า โอ๊ย จิตมีดวงเดียว จิตคือตัวเราวิ่งไปวิ่งมา ออกไปเสพอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คราวนี้พอมันขาดออกเป็นตัวๆ ไป เป็นดวงๆ ไป เราจะพบว่ามันไม่ใช่ตัวเรา มันมีแต่ของที่เกิดแล้วดับ ไม่มีอะไรที่เป็นตัวตน เป็นอมตะ ถาวร ตรงนี้เป็นปัญญาชั้นละเอียดของเราชาวพุทธ

เคล็ดวิชาการฝึกดูจิตดูใจตนเอง

ถ้าเราภาวนาดูจิตดูใจก็ดูได้ 2 ระดับ ถ้าอย่างง่ายเราก็ดูจิตที่มันเกิดดับ ด้วยการเห็นเกิดดับร่วมกับเจตสิก จิตสุขเกิดพร้อมกับความสุข ดับพร้อมกับความสุข จิตทุกข์เกิดพร้อมกับความทุกข์ ดับพร้อมกับความทุกข์จิตกับเจตสิกนั้นเกิดดับด้วยกัน พร้อมๆ กัน ถ้าเราหัดดูจิตโดยการเห็นเกิดดับทางอายตนะ เราดูที่ตัวจิตไปเลย เดี๋ยวก็เป็นจิตรู้ เดี๋ยวก็เป็นจิตคิด เดี๋ยวก็เป็นจิตเพ่ง เดี๋ยวก็จิตหลง เราเห็นอย่างนี้ก็ได้ แต่อันนี้ละเอียดมันจะดูยาก เพราะฉะนั้นหลวงพ่อแนะนำ ถ้าหัดใหม่ ไปดูจิตสุข จิตทุกข์ จิตดี จิตชั่ว อันนั้นดูง่าย แต่ถ้าจะดูละเอียดขึ้นมา จนเห็นจิตเกิดดับทางอายตนะ ดูยากกว่า เพราะมันเร็วมาก

การจะเห็นจิตเกิดดับทางอายตนะอะไรนั้น มันอยู่ในธัมมานุปัสสนาแล้ว สูงขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง สติ สมาธิ ปัญญาของเรา ต้องแข็งแรงพอ เราถึงจะเห็น ถ้าไม่แข็งแรงพอ ดูแวบเดียวหลงไปนานเลย

คำสอนหลวงปู่ดูลย์ อตุโล

ที่จริงคำสอนของหลวงปู่ดูลย์ ส่วนหนึ่งก็จะเหมือนๆ กับคำสอนของครูบาอาจารย์ทั่วๆ ไป แต่ส่วนที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของท่าน โดดเด่น ไม่มีองค์ไหนเหมือนก็คือเรื่องของจิต ท่านสอนตัดตรงเข้ามาที่จิตเลย แต่ก็ไม่ได้สอนทุกคนให้เข้ามาที่จิต ไม่ใช่ทุกคนจะเข้ามาได้หรอก จิตมันต้องมีกำลังมากพอ ถึงจะเข้ามาดูจิตได้ ถ้ากำลังยังไม่พอ ท่านก็ให้เริ่มไป บางคนก็พุทโธ บางคนก็พิจารณากาย พอจิตมีกำลังแล้วถึงจะขึ้นมาที่จิตได้

ท่านสอน “จิตส่งออกนอกเป็นสมุทัย ผลที่จิตส่งออกนอกเป็นทุกข์ จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นมรรค ผลที่จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นนิโรธ ธรรมดาของจิตย่อมส่งออกนอก เมื่อส่งออกนอกแล้วกระเพื่อมหวั่นไหว ก็เป็นสมุทัย ผลที่จิตส่งออกนอก แล้วกระเพื่อมหวั่นไหวไม่มีสติอยู่ก็เป็นทุกข์ จิตส่งออกนอกแล้วมีสติอยู่ ก็เป็นการเจริญมรรค ผลก็คือนิโรธ” แล้ววรรคสุดท้ายที่หลวงปู่สอนก็คือ “อนึ่งพระอริยเจ้าทั้งหลาย มีจิตไม่ส่งออกนอก มีจิตไม่กระเพื่อมหวั่นไหว มีสติสมบูรณ์เป็นวิหารธรรมอยู่” พอได้อ่านธรรมะตรงนี้ มันสะเทือนเข้าถึงใจ มันเห็นว่าถ้าจิตมันไม่ทุกข์แล้วใครมันจะทุกข์ เพราะฉะนั้นถ้าเราแก้ปัญหาที่จิตของเราได้ ความทุกข์มันก็ตั้งอยู่ไม่ได้

มีศีลเป็นเครื่องป้องกันตัว

ถ้าตั้งใจรักษาพระวินัย ธรรมวินัยก็จะรักษาเรา ถ้าไม่รักษาตัวเองก็เอาตัวไม่รอด แล้วจะไปรักษาพระศาสนาได้อย่างไร ตัวเองยังรักษาไม่ได้เลย เรื่องของเรื่องทั้งหมดนั้นก็คือเรื่องของกิเลสนั่นล่ะ ถ้ายังไม่เห็นโทษไม่เห็นภัยของกิเลส ยังลดละกิเลสไม่ได้ มันก็พร้อมจะพลาด ถึงเราเป็นฆราวาสก็เหมือนกัน ต้องรักษาศีล 5 ไว้ ถ้าศีล 5 เรายังรักษาไม่ได้ เราก็เริ่มเบียดเบียนคนอื่น เบียดเบียนตัวเราเองเพราะไม่มีศีล รักษาศีล 5 ไว้ก็ช่วยตัวเองได้เยอะเลย ฉะนั้นศีลเป็นเครื่องป้องกันตัวทั้งพระทั้งโยม ต้องรักษาศีลเอาไว้ ถ้าศีลเราไม่ดีสมาธิเราก็เสื่อม สมาธิเสื่อมปัญญาก็ไม่เกิด

เข้าใจจิตแล้วเข้าใจธรรมทั้งหมด

ถ้าเราตัดตรงเข้ามา เห็นความจริงของจิตได้ เวลาที่มันรู้แจ้งแทงตลอดในตัวจิตว่าจิตไม่ใช่ตัวเรา เจตสิกทั้งหลายก็พลอยไม่ใช่เราด้วย เป็นแค่ของถูกรู้ถูกดู รูปทั้งหลายมันก็ไม่ใช่ตัวเรา มันเป็นแค่ของถูกรู้ถูกดูเท่านั้น ตัวนี้มันก็ถูกรู้ รูปภายในหรือรูปภายนอก รูปคนอื่น รูปสัตว์อื่น มันก็อาการเดียวกัน มีลักษณะอันเดียวกัน คือมันเป็นวัตถุ เป็นก้อนธาตุ เหมือนๆ กัน สุดท้าย มันก็ตายก็เน่าไป กลับไปเป็นธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม เหมือนเดิม เพราะฉะนั้นเข้าใจที่จิตตัวเดียวจะเข้าใจธรรมทั้งหมด

การดูจิตดูใจ

การภาวนาเราตัดตรงเข้ามาเรียนรู้ที่จิตเป็นหนทางปฏิบัติที่ลัดสั้น แต่บางคนไม่มีกำลังที่จะตัดตรงเข้ามาเรียนจิต ก็เรียนทางกายไปก่อน หัดรู้กายไปก่อน รู้กายถูกต้อง ชำนิชำนาญต่อไปจิตก็มีกำลังขึ้นมา ตั้งมั่นขึ้นมา มันก็จะค่อยมาดูจิตได้ทีหลัง ฉะนั้นดูกายต่อไปก็เห็นจิต แต่ถ้าดูจิตได้ก็ดูไปเลย มิฉะนั้นเสียเวลา อันนี้ไม่ใช่หลวงพ่อคิดเอาเอง เป็นคำสอนที่ครูบาอาจารย์ท่านสอนมา หลวงปู่มั่นบอกว่าดูจิตได้ให้ดูจิต ดูจิตไม่ได้ให้ดูกาย ถ้าดูจิตไม่ได้ ดูกายไม่ได้ทำสมถะ ท่านสอนอย่างนี้ หลวงปู่ดูลย์ท่านก็บอกว่าการดูจิตเป็นการปฏิบัติที่ลัดสั้นที่สุด คือตัดตรงเข้ามาที่นี่เลย คนเราจะดี จะชั่ว จะสุข จะทุกข์ก็เพราะจิต จะเกิดในภพภูมิอะไรก็เพราะจิต ฉะนั้นตัดตรงเข้ามาที่จิต ตรงนี้ก็เร็ว ไปได้เร็ว