สติมีหน้าที่รักษาจิต

เรามีสติคุ้มครองรักษาจิตตนเองไปเรื่อยๆ คุ้มครองไม่ใช่ไปเฝ้าไม่ให้จิตกระดุกกระดิก มีสติคอยรู้เท่าทันจิตตัวเองนั่นล่ะ คอยอ่านจิตตัวเองนั่นล่ะ แล้วสติจะเป็นผู้รักษาจิตเอง เราไม่ต้องรักษาจิต รักษาอย่างไรก็ไม่ได้ สติจะทำหน้าที่อารักขา อารักขาคือมันทำหน้าที่คุ้มครองจิตใจไม่ให้ตกไปสู่ที่ชั่ว เพราะฉะนั้นเรามีสติอ่านจิตอ่านใจตัวเองไปเรื่อย จิตก็ได้รับความคุ้มครองได้รับการดูแล ไม่ทำผิดศีล ไม่ฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความตั้งมั่น แล้วการที่เรามีสติ ถ้าจิตเราตั้งมั่น แล้วสติระลึกรู้อะไรก็ตาม อันนั้นจะแสดงไตรลักษณ์ได้

เจริญจิตตสิกขา

การที่เราจะมาฝึก ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วรู้ทันจิตตัวเอง เราจะได้ทั้งสัมมาสติ ได้ทั้งสัมมาสมาธิ คราวนี้พอเรามีสัมมาสติ มีสัมมาสมาธิ จิตมันจะตั้งมั่นเด่นดวง เห็นสภาวะ สักว่ารู้ว่าเห็น แต่แค่นี้ยังไม่พอ บางทีมันก็ไปเห็นทุกอย่างว่างหมดเลย แล้วจิตก็ติดอยู่ในว่าง ต้องมีการหมายรู้ที่ถูกด้วย ต้องมีสัญญาที่ถูกต้องด้วย ปัญญาที่แท้จริงถึงจะเกิดขึ้น ถ้าจิตไม่มีสัญญา จิตเดินปัญญาไม่ได้จริง ฉะนั้นเราจะต้องฝึก ให้เราได้องค์ธรรมเหล่านี้

อนุปุพพิกถา

กามคุณทั้งหลาย รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทั้งหลาย ที่ว่าเราอุตส่าห์ทำบุญทำทาน เราขึ้นสวรรค์มาเพื่อจะได้สิ่งเหล่านี้ สิ่งเหล่านี้ไม่ยั่งยืน ถึงวันหนึ่งเทวดาก็ตกสวรรค์ หรือเราเป็นคนดีแท้ๆ เลย บางทีอกุศลให้ผลมา เราก็เจอสิ่งที่ไม่ดีขึ้นมา ฉะนั้นท่านยังสอนว่ามันมีโทษ สอนให้รู้จักปลีกตัวออกจากสวรรค์บ้าง สวรรค์ก็คือกามคุณอารมณ์ทั้งหลาย ท่านก็สอนบอกสิ่งเหล่านี้ไม่ยั่งยืน ให้มาพัฒนาจิตใจให้สูงขึ้นไป สูงกว่าสวรรค์ขึ้นไปอีก คือการรู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ 4 นี่หลักธรรมที่ท่านสอน จะมาสู่จุดนี้ เรียกว่าอนุปุพพิกถา คนแรกที่ได้ฟังอนุปุพพิกถาคือ

เส้นทางที่ลัดสั้น

เราภาวนา เข้ามาให้ถึงจิตถึงใจตัวเองให้ได้ จะรักษาศีลก็รู้เท่าทันจิต เวลาจิตฟุ้งซ่านให้เรารู้ว่าฟุ้งซ่าน แล้วมันสงบเอง เพราะอะไรฟุ้งซ่านเป็นกิเลส ทันทีที่มีสติกิเลสดับเลย จิตไม่ฟุ้งซ่าน จิตก็ตั้งมั่นจิตก็สงบ อาศัยการที่เรามีสติคอยรู้ทันจิตใจตัวเอง กิเลสครอบงำจิตไม่ได้ก็ไม่ผิดศีล กิเลสครอบงำจิตไม่ได้ก็มีสมาธิขึ้นมา อ่านจิตอ่านใจไปเรื่อย จิตเดี๋ยวก็ดีเดี๋ยวก็เลว เดี๋ยวก็สุขเดี๋ยวก็ทุกข์ รู้เท่าทันไปเรื่อยๆ สุดท้ายมันก็ได้มรรคได้ผล ตั้งแต่ขั้นต้นเห็นเลยจิตไม่ใช่เรา โลกไม่ใช่เรา ขันธ์ 5 ไม่ใช่เรา ในขั้นสุดท้ายที่จะแตกหักข้ามภพข้ามชาติ จะเห็นเลยจิตนั่นล่ะคือตัวทุกข์ ขันธ์ 5 คือทุกข์ โลกทั้งหมดคือตัวทุกข์ เรียกว่าเรารู้ทุกข์แจ่มแจ้ง ก็เป็นอันละสมุทัย เกิดสัมผัส เข้าไปสัมผัส เข้าไปรู้เข้าไปเห็นพระนิพพาน เกิดอริยมรรคขึ้น นี้เป็นเส้นทางที่เราจะเดิน เป็นเส้นทางที่ลัดสั้นมากเลย ตัดตรงเข้ามาที่จิตตัวเอง แล้วบาปอกุศลทั้งหลายเราก็จะไม่ทำ กุศลทั้งหลายมันก็จะเจริญขึ้น

บุพพภาคมรรค

ต้องเจริญสติ เจริญปัญญาให้มาก ศีล สมาธิ ปัญญา ทำให้มาก ทำให้เจริญขึ้น ก็คือการปฏิบัติตามองค์มรรคนั่นล่ะ เมื่อปฏิบัติมากเข้าๆ ต่อไปเราก็รู้ทุกข์ การที่เราคอยรักษาศีลไว้เป็นพื้นฐาน
ฝึกจิตให้ตั้งมั่น ให้จิตมีกำลัง จิตมีกำลัง จิตต้องสงบแล้วก็ตั้งมั่น แล้วก็เจริญปัญญา เรียนรู้ความจริงของกายของใจ ความจริงของกายของใจคือไตรลักษณ์ ไม่ใช่เรื่องอื่น เราเจริญอยู่ในแนวทางของมรรค ตรงนี้ไม่ใช่อริยมรรค การที่เราปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา ยังไม่ใช่อริยมรรค เรียกบุพพภาคมรรค คือเป็นเบื้องต้นของอริยมรรค เป็นจุดตั้งต้นของอริยมรรค ฉะนั้นเราก็พัฒนาศีล สมาธิ ปัญญาไป ปัญญาคือการเรียนรู้ความจริงของตัวทุกข์ เรียนรู้ความจริงของกาย เรียนรู้ความจริงของจิต ก็เรียนรู้ไปเรื่อยๆ จะเห็นความจริงของกายของจิต

ตั้งเป้าให้ถูก

เราทำวิปัสสนาไม่ใช่เพื่อความฉลาดรอบรู้ ทำวิปัสสนาเพื่อจะฉลาดรอบรู้ ธรรมะมากมาย จะได้เอาไปคุยอวดคนอื่น นั่นทำไปเพื่ออกุศลแล้ว เพราะฉะนั้นไม่ว่าเราจะทำทาน รักษาศีล เจริญปัญญา ทำทาน รักษาศีล ทำความสงบและเจริญปัญญา ก็ต้องลดละอกุศล เจริญกุศล ตั้งเป้าไว้ให้ถูก ถ้าเราภาวนาอย่างนี้จิตเราจะเดินเข้าสู่วิสุทธิ วิสุทธิเป็นองค์ธรรมที่ดี แต่เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์ เพื่อลดละกิเลส เพื่อเจริญกุศลทั้งนั้น ค่อยๆ ฝึก ถ้าเราภาวนาแล้วยังไม่ได้มุ่งไปที่ลดกิเลสตัวเอง ไม่ได้มุ่งไปที่เจริญกุศล ยังไม่เข้าร่องเข้ารอย ยังนอกรีตนอกรอยอยู่ ถ้าทำไปเพื่อละอกุศลเพื่อเจริญกุศล อันนั้นเข้าสู่ทางแห่งความบริสุทธิ์แล้ว จิตจะเดินไปในวิสุทธิทั้ง 7

อาสวะที่พระอรหันต์ละได้เด็ดขาด

ถ้าจิตมันพ้นจริงๆ จิตมันวางขันธ์ได้ มันเห็นความจริง ขันธ์ทั้งหลาย รูป เวทนา สัญญา สังขาร แล้วก็จิต ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ มันวาง จิตมันจะมีอาการชนิดหนึ่งขึ้นมา ถัดจากนั้นจิตมันจะพรากจากขันธ์
แยกออกจากขันธ์เลย ไม่เข้าไปคลุกในขันธ์อีกแล้ว ที่จิตมันไม่เข้าไปคลุกในขันธ์แล้ว เพราะว่ามันสิ้นอาสวะแล้ว อาสวะ 4 ตัวนี้พระอรหันต์ละได้เด็ดขาด กามาสวะ ภวาสวะ ทิฏฐาสวะ คือละในเรื่องความคิดความเห็นผิดๆ อย่าว่าแต่ความเห็นผิด กระทั่งความเห็นถูกยังไม่ยึดเลย แล้วก็อวิชชาสวะ อวิชชาสวะนี้เป็นตัวหัวโจกของอาสวะเลย ถ้าล้างตัวนี้ได้อวิชชาก็จะไม่เกิด อวิชชาคือความไม่รู้แจ้งแทงตลอดในอริยสัจ 4

ทุกอย่างเป็นของชั่วคราว

ถ้าเรารู้ความจริงของกายของใจได้ ความทุกข์ในใจจะไม่เกิดขึ้น อย่างพวกเรามีความทุกข์ในใจเยอะแยะเลย อย่างในงานศพ เราพลัดพรากจากคนที่เรารัก การพลัดพรากจากคนที่รักเป็นทุกข์ แต่ถ้าเราภาวนาจนเราชำนาญ เราได้เห็นความจริง ว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเราเป็นของชั่วคราว เพราะฉะนั้นการที่จะแก่จะเจ็บจะตายอะไร เป็นเรื่องปกติเป็นเรื่องธรรมดา

ธรรมะคือธรรมดา คือเรื่องธรรมดาเองไม่ใช่เรื่องพิสดารอะไร เรื่องเห็นผีเห็นนรกเห็นสวรรค์อะไรมันมีก่อนพระพุทธเจ้าแต่มันไม่ใช่ทางแห่งความพ้นทุกข์ มันเป็นทางของคนดีเท่านั้นแหละ ใจมันอยากทำบุญทำกุศลกลัวบาปกลัวกรรมเป็นเรื่องดีไม่ใช่ไม่ดี แต่ถ้าเราอยากพ้นทุกข์จริงๆ เราต้องเรียนให้สูงกว่านั้น

ธาตุกรรมฐาน

การปฏิบัติต้องดูให้ถึงกายถึงใจของตัวเอง ถ้าดูรูปไม่ต้องคำนึงหรอก ว่าเป็นมหาภูตรูปหรือเปล่าอะไรอย่างนี้ ดูรูปที่เราดูได้ พระพุทธเจ้าสอนไว้แล้วในกายานุปัสสนา มีส่วนที่เป็นมหาภูตรูป รูปดิน น้ำ ไฟ ลม คือเรื่องธาตุ รูปหายใจออก รูปหายใจเข้า รู้สึกไว้ แล้วต่อไปเราเห็น รูปที่หายใจออกไม่ใช่เรา รูปที่หายใจเข้าไม่ใช่เรา ร่างกายทั้งหมดนี้จะไม่ใช่เรา มันจะเห็นว่าร่างกายทั้งหมดไม่ใช่เรา ถ้าเห็นรูปมันยืน ไม่ใช่เรา รูปเดิน รูปนั่ง รูปนอน ไม่ใช่เรา ต่อไปปัญญาความรู้รวบยอดมันก็เกิด รูปทั้งหมดไม่ใช่เรา ตัวนี้ไม่เป็นเรา ที่เรามาหัดดูรูป ดูนาม ดูกาย ดูใจ เพื่อจะได้เห็นความจริงว่ามันไม่ใช่เรา มันก็แค่รูปธรรมที่ประกอบด้วยธาตุ 4 ธาตุ 4 เป็นสมบัติของโลก ร่างกายเราที่มีดินอยู่นี้ ก็ดินของโลก น้ำที่เรามีอยู่นี้ ก็เป็นน้ำของโลก ฉะนั้นตัวธาตุจริงๆ ไม่ใช่ของเรา

เรียนเข้ามาให้ถึงจิต

เรียนเข้ามาให้ถึงจิตเลยตั้งแต่เริ่มต้น ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งแล้วคอยรู้ทันจิตตัวเอง จิตหลงไปคิดรู้ทัน จิตหลงไปเพ่งอารมณ์กรรมฐานรู้ทัน ทำกรรมฐานไปขี้เกียจขึ้นมารู้ทัน ทำกรรมฐานแล้วรู้สึกมีความสุขรู้ทัน นี่คอยรู้ทันจิตตัวเองเรื่อยๆ ไป ถ้าต้องการความสงบ เวลามีความสุขก็อย่าไปเพลินมาก รู้ยินดีพอใจมัน จิตเราจะประณีตจะสงบยิ่งกว่าเก่าอีก เวลาที่เราภาวนาจิตสงบนี่จะเป็นระดับของฌาน ในเบื้องต้นจิตจะมีปีติมีความสุข แล้วเราภาวนาไป เราเห็นจิตมีปีติ ปีติดับ จิตมีแต่ความสุข ดูไปอีก ความสุขดับ จิตเป็นอุเบกขา ถ้าจิตยังมีปีติมีความสุขอะไรนี้ เป็นสมาธิขั้นต้นเท่านั้นเอง แต่ถ้าจิตเป็นอุเบกขาคือเป็นกลาง ตั้งมั่นเด่นดวงเป็นกลาง ไม่หลงไปในความยินดี ไม่หลงในความยินร้าย นั่นคือจิตที่มีสมาธิเต็มที่แล้ว ถ้าเราทำได้ขนาดนั้นเวลาเรามาเจริญปัญญา ตาหูจมูกลิ้นกายใจกระทบอารมณ์ จะเห็นจิตเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เราจะใช้เวลาในการเจริญปัญญาไม่มากหรอก ถ้าเราตัดตรงเข้ามาที่จิตได้ก็เข้ามาที่จิตเลย แต่บางคนเข้าที่จิตตรงๆ ไม่ได้ ก็รู้สึกร่างกายไปก่อน เดินอ้อมหน่อยดีกว่าไม่เดิน

Page 9 of 46
1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12 13 14 15 16 17 18 19 46