ความกตัญญูทำให้มนุษย์ต่างจากสัตว์

มนุษย์ไม่ใช่สัตว์เดรัจฉาน มนุษย์ต่างกับเดรัจฉานตรงมีวัฒนธรรมนี่ล่ะ วัฒนธรรมก็เกิดขึ้นมาด้วยเหตุผล ความจำเป็นของสังคม เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม เราก็มีวัฒนธรรมเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีผู้ให้ มีผู้รับ ผู้ที่เขาให้เราก่อนเรียกบุพการี เป็นคนที่หาได้ยาก คนที่ให้เราก่อนโดยไม่หวังผลอะไร เราต้องนึกถึง อย่าไปเชื่อความเห็นของมาร อย่างยุคนี้ไม่มีศีล ไม่มีธรรม ไม่มีวัฒนธรรม อันนั้นมันหมาแล้ว หมามันยังกตัญญู มันคล้ายๆ สัตว์ ในนี้สัตว์เยอะ ลูกสัตว์พอมันโต มันก็แยกตัวออกไปทำมาหากิน มีครอบครัวของมัน มันไม่มีพ่อ ไม่มีแม่ ไม่เป็นเรื่องแปลก เพราะว่าเขาเป็นเดรัจฉาน ถ้าเราไม่ใช่เดรัจฉาน เราก็นึกถึงพ่อถึงแม่เราบ้าง นึกถึงผู้มีพระคุณของเราบ้าง มันเป็นสิ่งที่ดีงาม

สิ่งสำคัญที่สุดคือความรู้สึกตัว

ไม่ว่าจะทำกรรมฐานอะไร สิ่งสำคัญที่สุดคือความรู้สึกตัว เพราะพระพุทธเจ้าบอกว่าความรู้สึกตัว เป็นจุดตั้งต้นของการปฏิบัติที่จะล้างอาสวกิเลสทั้งหลายได้ ถ้าปราศจากความรู้สึกตัว โอกาสยากมากที่จะสู้กิเลสได้ ก็หลงทั้งวัน มันก็กลายเป็นเครื่องมือของกิเลสทั้งวัน หลงตลอดเวลา โมหะเอาไปกินเอาไปครอบงำไว้ทั้งวัน ไม่เคยรู้สึกตัว พระพุทธเจ้าถึงบอกว่าท่านไม่เห็นธรรมะใดสำคัญเท่ากับความรู้สึกตัว ธรรมะที่เป็นไปเพื่อจะลดละกิเลส เพื่อจะพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะฉะนั้นความรู้สึกตัวเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

เตรียมตัวตายอย่างคนมีปัญญา

มางานศพทั้งที คนตายเขาได้แสดงธรรมะให้เราดู ว่าเกิดแล้วตายแน่นอน พวกเรายังไม่ทันจะตาย เรามาฟังธรรมะเพื่อเตรียมตัวตายอย่างมีศักดิ์ศรี เตรียมตัวตายอย่างคนมีปัญญา แบบลูกศิษย์มีครู ไม่ใช่ตายแบบอนาถา ตายแล้วก็ต้องมาวิ่งตะกาย ขอให้คนแผ่ส่วนบุญให้ หวังพึ่งอะไรอย่างนั้น พวกผีพวกเปรต อายุมันยืนกว่าคน สมมุติว่าเราไปเป็นเปรต ลูกหลานเราทำบุญให้เรา เหลนเราตายแล้ว เรายังไม่ตายเลย ไม่มีใครทำบุญให้แล้ว ต่อไปก็เป็นผีไร้ญาติจนได้ พูดง่ายๆ อายุยืนกว่ามนุษย์ เพราะฉะนั้นทำไว้ด้วยตัวเองปลอดภัยที่สุด

รู้แจ้งในกองทุกข์จึงสิ้นตัณหา

ขันธ์ 5 ทั้งหมดไม่ใช่แค่ว่าไม่ใช่ตัวเรา เอาเข้าจริงๆ มันคือตัวทุกข์ มันทุกข์เพราะมันไม่เที่ยง มันทุกข์เพราะมันถูกบีบคั้นให้แตกสลาย มันทุกข์เพราะมันไม่อยู่ในอำนาจบังคับ อันนี้เรียกว่าทุกขสัจ ทุกขสัจจะ เรียกว่าเห็นทุกขสัจ เห็นทุกขสัจแจ่มแจ้งก็คือพระอรหันต์ เพราะทันทีที่เห็นทุกขสัจแจ่มแจ้ง สมุทัยก็ถูกละอัตโนมัติเลย สัจจะอันที่สองคือสมุทัยดับทันที สัจจะอันที่สามคือนิโรธ คือนิพพาน ปรากฏขึ้นทันที ทันทีที่จิตสิ้นตัณหา จิตสิ้นตัณหาเพราะจิตรู้แจ้งในกองทุกข์ พอรู้แจ้งในกองทุกข์ก็สิ้นตัณหา พอสิ้นตัณหาก็สัมผัสพระนิพพานเลย พระนิพพานคือสภาวะที่สิ้นตัณหา และขณะนั้นคือขณะแห่งอริยมรรค

รู้ทันความปรุงแต่งจนหลุดพ้น

หลวงพ่อนั่งดูพวกเรา แต่ละคนก็พยายามภาวนา อยากภาวนากัน ป …

Read more

การยกระดับความสุข

ฝึกแล้วเราจะได้ความสุขที่ประณีตมากขึ้น ความสุขของสมาธิชนิดสงบ มันความสุขของเด็กๆ ได้ของเล่นที่พอใจแล้วก็ไม่ไปซนที่อื่น ความสุขของจิตที่ตั้งมั่น เป็นความสุขแบบผู้ใหญ่ พร้อมที่จะรับสถานการณ์ทั้งหลายทั้งปวง ด้วยจิตที่เข้มแข็ง อะไรก็ได้ที่ผ่านมา จิตมันตั้งมั่นเป็นคนเห็นเท่านั้นเอง ไม่อิน นี่ก็เป็นความสุขของสมาธิ 2 ชนิด ความสุขที่ประณีตขึ้นไปอีก คือความสุขจากการเจริญปัญญา เราเกิดความรู้ความเข้าใจ จิตใจมันอิ่มเอิบ มีปัญญา แล้วก็ถัดจากนั้น ถ้ามันเกิดอริยมรรค เกิดอริยผล มันมีความสุขยกระดับขึ้นไปอีก พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง นิพพานัง ปรมัง สุขัง เพราะนิพพานสงบอย่างยิ่ง สงบจากกิเลส สงบจากตัณหา สงบจากความปรุงแต่ง สงบจากความยึดถือทั้งปวง เพราะฉะนั้นมันมีความสุขอย่างยิ่ง ความสุขอย่างนี้พวกเรามีโอกาสเข้าถึง เพราะเราได้ยินได้ฟังธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอนแล้ว คือเรื่องของสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน

กฎแห่งกรรม

โลกมันไม่เคยหยุดความวุ่นวาย ตั้งแต่ระดับอินเตอร์มันก็ยุ …

Read more

วิธีฝึกให้ได้ตัวรู้

อาศัยสติรู้ทันความปรุงแต่งของใจตัวเอง รู้มันไปเรื่อยๆ สภาวะอะไรก็ได้ ถ้าเรารู้ร่างกายหายใจออก ร่างกายหายใจเข้า พอเราลืม หลงไปแล้วก็จังหวะการหายใจเปลี่ยน สติจะเกิดเองเลย จิตจะรู้ตัวขึ้นมา ตื่นขึ้นมา หรือจิตใจเรา เราเคยอ่าน มันสุขบ้าง มันทุกข์บ้าง เฉยๆ บ้าง เรารู้ทันความปรุงแต่งที่มันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ พอเราหลง จิตมีความทุกข์ขึ้นมา ทุกข์ดูง่ายกว่าสุข อย่างดูเวทนา ทุกข์มันดูง่ายกว่าสุข เฉยๆ ดูยากที่สุดเลย ฉะนั้นทีแรกเราจะเห็นทุกข์ก่อน พอใจเราทุกข์ขึ้นมา มันแน่นๆ ขึ้นมา ก็มีสติรู้ทัน
เราเคยดูความทุกข์ความสุขของจิตใจชำนาญ พอโกรธปุ๊บ ใจมันมีความทุกข์ขึ้นมาแล้ว มันก็จะเห็น มีสติรู้ทันขึ้นมา ทันทีที่รู้ว่ามีความทุกข์ จิตจะดีดผางขึ้นมา ตั้งมั่นขึ้นมาเป็นผู้รู้เลย ครูบาอาจารย์สอน ส่วนใหญ่ให้ดูหลง เพราะหลงนั้นเกิดบ่อยที่สุด ค่อยๆ ฝึก เราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง จิตหลงไปคิดรู้ทัน ฝึกเรื่อยๆ จิตถลำลงไปเพ่งไปจ้องภายใน อารมณ์กรรมฐานบ้าง อะไรที่แปลกปลอมไหวๆ ขึ้นข้างในบ้าง จิตไหลไปเพ่งไปจ้อง รู้ทัน ตรงที่เรารู้ทันจิตที่ไหลไปไหลมา รู้ทันหลงแล้ว จิตจะดีดผางขึ้นมาเป็นผู้รู้ พอมีจิตเป็นผู้รู้ คราวนี้การภาวนาจะง่ายแล้ว

วิธีปล่อยวาง

พอเราเดินปัญญาจริงๆ จิตเราก็จะเป็นกลางต่อสุขและทุกข์ ต่อดีและชั่ว สุดท้ายเราก็ปล่อยวาง เห็นความไม่ได้สาระแก่นสารก็วาง เพราะฉะนั้นการที่เราจะปล่อยวางรูปธรรมนามธรรมได้ เราต้องเดินวิปัสสนา ดูไตรลักษณ์ของรูปธรรมของนามธรรม ดูแล้วดูอีก ไม่ใช่คิดเอาเองว่ามันเป็นไตรลักษณ์ ต้องรู้สึกเอา ต้องดูจนซาบซึ้งถึงอกถึงใจ ถึงจะปล่อยวางได้

ภาวนาเหมือนปลูกต้นไม้

การปลูกต้นไม้ ก็ต้องรู้จัก ต้นไม้ชนิดนี้จะรดน้ำแค่ไหน จะใส่ปุ๋ยแค่ไหน เหมือนเราเป็นต้นไม้ชนิดไหน เป็นต้นไม้ที่จะต้องเร่งความเพียรมาก หรือเป็นต้นไม้ที่ภาวนาไปเรียบๆ ง่ายๆ สังเกตตัวเองเอา อย่าทำไปด้วยความอยาก เห็นเขาภาวนาก็อยากอย่างเขา อย่างได้ยินว่าหลวงพ่อดูจิต เราก็อยากดูจิต เรายังไม่มีกำลังจะดูจิต เราก็ดูกายไป มันต้นไม้คนละชนิดกัน ต้นไม้แต่ละต้น เวลาจะใส่น้ำ จะใส่ปุ๋ยก็ต้องดู ต้นไม้ต้นนี้ต้องการน้ำมาก ก็ให้น้ำมาก ต้นนี้ต้องการน้ำน้อย ก็ให้น้ำน้อย ต้นนี้ต้องการปุ๋ยอย่างนี้ เราเอาปุ๋ยอีกอย่างไปใส่ มันก็ไม่โต ดีไม่ดีตาย ฉะนั้นต้นไม้แต่ละชนิดต้องการน้ำ ต้องการปุ๋ยไม่เหมือนกัน เราแต่ละคนก็ดูตัวเอง เราต้องการกรรมฐานชนิดไหนที่เหมาะกับเรา เรารู้จักประเมินตัวเอง ว่าเราเป็นต้นไม้ชนิดไหน ค่อยๆ ฝึกเอา

Page 4 of 46
1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12 13 14 46