สมบัติ 4 – วิบัติ 4

ฝึกตัวเอง อย่าเกี่ยง อย่าอ้างโน่นอ้างนี่ มีธรรมะอยู่หมวดหนึ่ง ที่ว่ากฎแห่งกรรมมันจะทำงานได้ดีไม่ดี คือ เรื่องของสมบัติ 4 ข้อ และก็วิบัติ 4 ข้อ พวกเราทั้งหมด เกิดในภูมิมนุษย์ ก็ถือว่าเป็นสุคติ ขณะนี้เราก็มีคติสมบัติ อันแรกเราได้เกิดเป็นมนุษย์ อันที่ 2 เรายังอยู่ในสภาพแวดล้อม ที่เราสามารถภาวนาได้ เรามีอุปธิสมบัติ คือสภาพร่างกายเราแข็งแรง ยังมีสุขภาพที่พอไปได้ อีกอันหนึ่งเขาเรียกกาลสมบัติ หรือกาลวิบัติ คือเวลา ช่วงเวลา อย่างบางช่วงบ้านเมืองสงบเรียบร้อย ภาวนาดี ภาวนาง่าย ก็มีกาลสมบัติ เกิดในยุคที่บ้านเมืองวุ่นวาย เป็นกาลวิบัติ สมบัติอีกอันหนึ่งเรียกว่า ปโยคสมบัติหรือปโยควิบัติ มีความเพียรพยายาม มุ่งมั่นจะทำในสิ่งที่ดีแค่ไหน ตัวนี้เป็นตัวที่พวกเราขาดเยอะ อย่างคติสมบัติของเรามี เราเป็นมนุษย์ อุปธิสมบัติของเรามี ร่างกายเรายังแข็งแรง เวลาของเรายังมี ยังไม่ตาย ยังมีเวลาเหลืออยู่ มันอยู่ที่ปโยคสมบัติของเรามีไหม มีความเพียรไหม มีความพากเพียรที่จะภาวนาไหม ถ้าเรามีความเพียรที่จะภาวนา ตัวอื่นๆ สำคัญน้อย อยู่ตรงไหนก็ภาวนาได้ ไม่เลือกเวลา ไม่เลือกสถานที่

ธรรมะเป็นของตรงไปตรงมา

ท่านสอนง่ายๆ ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตมีราคะรู้ว่ามีราคะ จิตไม่มีราคะรู้ว่าไม่มีราคะ เห็นไหม คำพูดนี้ตรงไปตรงมา ไม่ได้มีอะไรที่พิสดาร จิตเรามีราคะเราก็รู้ จิตไม่มีราคะเราก็รู้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตมีโทสะรู้ว่ามีโทสะ จิตไม่มีโทสะรู้ว่าไม่มีโทสะ ไม่เห็นจะมีอะไรยุ่งยากเลย ของง่ายๆ ธรรมะเป็นของง่ายๆ เรียบง่าย เปิดเผยตรงไปตรงมา กิเลสของเราทำให้เราคิดว่าธรรมะพิสดารผิดธรรมชาติธรรมดา การภาวนาจริงๆ ไม่ใช่เรื่องลึกลับอะไรเลย ให้จิตใจอยู่ที่ตัวเอง รู้เนื้อรู้ตัวอยู่ ศัตรูมี 2 อัน ไม่หย่อนก็ตึง หย่อนไปนี่ภาษาพระเรียกว่า กามสุขัลลิกานุโยค ตึงนี่เรียก อัตตกิลมถานุโยค ทำตัวเองให้ลำบาก ทางสายกลางคือรู้อย่างที่กายมันเป็น รู้อย่างที่ใจมันเป็นไป นี่เป็นหลักของการปฏิบัติ

รถวินีตสูตร

วิสุทธิ 7 เป็นธรรมะที่น่าฟังมาก ธรรมะบทนี้เกิดจากการสนทนาธรรม ระหว่างท่านพระสารีบุตรกับพระปุณณมันตานีบุตร พระสารีบุตรท่านถามพระปุณณมันตานีบุตร ท่านปฏิบัติธรรมมาบวชเพื่อศีลวิสุทธิใช่ไหม เพื่อทิฏฐิวิสุทธิใช่ไหม เพื่อจิตตวิสุทธิใช่ไหม เพื่อกังขาวิตรณวิสุทธิใช่ไหม เพื่อมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิใช่ไหม มรรคกับอมรรค เขาเรียก มัคคา มัคคะ อันนี้เป็นทาง อันนี้ไม่ใช่ทาง ไม่ใช่ เพื่อปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิใช่ไหม เพื่อเดินในปฏิปทา ไปสู่ความบริสุทธิ์ ให้เกิดปัญญาที่บริสุทธิ์ใช่ไหม ไม่ใช่ เพื่อญาณทัสสนะที่บริสุทธิ์หรือเปล่า ก็ไม่ใช่ๆ รวมแล้วก็คือ ธรรมะทั้ง 7 ประการที่เป็นเส้นทางไปสู่ความบริสุทธิ์ พระปุณณมันตานีบุตรบอกว่าท่านไม่ได้ปฏิบัติเพื่อสิ่งเหล่านี้ ท่านปฏิบัติธรรมเพื่ออนุปาทิเสสนิพพาน ไม่มีเชื้อเหลือ ไม่มีขันธ์เหลือ เพราะฉะนั้นที่ผ่านมาได้เพราะอาศัยรถทั้ง 7 ผลัด คืออาศัยวิสุทธิ 7 นั่นเอง เพราะฉะนั้นไม่ใช่ถึงที่สุดแห่งทุกข์เพราะญาณทัสสนวิสุทธิ ไม่ใช่แค่นั้น เราก็จะรู้คุณงามความดีทั้งหลายที่เราทำมา เป็นไปเพื่อส่งทอดเราไปสู่นิพพาน ถ้าเรายึดคุณงามความดีอันนั้นเอาไว้อย่างเหนี่ยวแน่น เราก็ไปนิพพานไม่ได้

สัมมาทิฏฐิ

เราเรียนธรรมะ สิ่งที่เราจะได้มาก็คือตัวสัมมาทิฏฐิ ความรู้ถูก ความเข้าใจถูก ไม่ได้อย่างอื่น สิ่งที่ได้จริงๆ แค่สัมมาทิฏฐิ ถ้าเรารู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ เรียกเรารู้จักสัมมาทิฏฐิแล้ว ใจเราก็จะหมดตัณหา หมดความยึดถือ หมดความอยาก หมดความยึด หมดความดิ้นรน ความอยากคือตัณหา ความยึดถือคืออุปาทาน ความดิ้นรนของจิตคือภพ ถ้าหมดสิ่งเหล่านี้ จิตก็จะไม่ไปหยิบฉวยขันธ์ 5 ขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งมันจะไม่ไปหยิบฉวยจิตขึ้นมา ขันธ์ 5 เป็นตัวทุกข์ ถ้าจิตเราไม่ไปหยิบฉวยขันธ์ 5 ขึ้นมา จิตมันก็พ้นทุกข์ คือพ้นจากขันธ์ 5

ชาวพุทธต้องศึกษาปฏิบัติ

ชาวพุทธเราร่อยหรอเต็มทีแล้ว ชาวพุทธเราไม่ได้เชื่อฟังพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่ได้ใส่ใจในการศึกษา ชาวพุทธเรายังตกอยู่ในความประมาท ใช้ชีวิตร่อนเร่ไปวันๆ หนึ่ง แล้วก็หวังพึ่งคนอื่น หวังพึ่งสิ่งอื่น ไม่เชื่อกรรม ไม่เชื่อผลของกรรม ไม่ใช่ชาวพุทธหรอก มันเป็นพุทธแต่ชื่อหรอก ไม่มีการศึกษาอย่างยิ่งเลย เชื่องมงาย หวังแต่จะพึ่งปาฏิหาริย์ ไม่ใช่ชาวพุทธหรอก ชาวพุทธเชื่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เชื่อในการศึกษาปฏิบัติ ไม่ประมาทในการดำรงชีวิตของเรา ถ้าทำอย่างนี้ได้ เราก็จะเป็นชาวพุทธที่แท้จริงได้ ถ้าหวังพึ่งปาฏิหาริย์ หวังพึ่งคนอื่นให้มาช่วยเรา ต้องรู้ว่ามันเป็นไปไม่ได้หรอก

รู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ

ถ้าเรารู้แจ้งแทงตลอดว่าจิตเป็นตัวทุกข์ เรียกว่ารู้ทุกข์แจ่มแจ้ง เราก็ละสมุทัย ละความอยาก เมื่อละความอยากได้ เราก็ละความยึดถือจิตได้ เมื่อเราละความยึดถือจิตได้ ภพคือความดิ้นรนที่จะแสวงหาจิต หรือที่จะปล่อยวางจิต หรือที่จะรักษาจิต มันก็ไม่มี พอเราหมดความยึดถือจิต มันก็ไม่มีการที่จะต้องเที่ยวแสวงหาจิต ไม่มีการรักษาจิต ไม่มีความพยายามจะต้องปล่อยวางจิต เมื่อเราไม่มีความดิ้นรนของจิต คือไม่มีภพ จิตก็จะไม่หยิบฉวยจิตขึ้นมา คือไม่มีชาติ ทันทีที่ไม่มีชาติ ความทุกข์ก็ไม่เกิดขึ้น สิ้นชาติก็สิ้นทุกข์กันตรงนั้นล่ะ เพราะชาติคือการหยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจไม่ใช่ของดีของวิเศษ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจคือตัวทุกข์ ถ้าเราภาวนาจนเราแจ้งตรงนี้ เรียกว่าเราล้างอวิชชาได้แล้ว รู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจแล้ว

เราไม่ได้ภาวนาเพื่อสนองกิเลส

พยายามฝึก มีเครื่องอยู่ให้จิตอยู่เสียก่อน กาย เวทนา จิต ธรรม อะไรก็ได้ที่เราถนัด มีเครื่องอยู่แล้ว มีสติอยู่ แล้วเราก็รู้ว่า เราปฏิบัติธรรมเพื่อสู้กิเลส ไม่ใช่เพื่อเอาดีอะไรหรอก ปฏิบัติธรรมที่เราทำอยู่นี้ มันจะสู้กิเลสหรือมันตามใจกิเลส ไปดูตัวนี้ด้วย ตัวนี้เรียกว่า อาตาปี มีกาเย กายานุปัสสี วิหะระติ ใช้กายในกายเป็นเครื่องอยู่ อาตาปี เป็นเครื่องอยู่เพื่อแผดเผากิเลส ทำให้กิเลสทนอยู่ไม่ได้ ไม่ใช่ภาวนาเพื่อสนองกิเลส ไปภาวนาแล้วเราสังเกตดู ที่เราภาวนานี้สนองกิเลสหรือคิดจะสู้กิเลส ส่วนใหญ่มันก็ภาวนาสนองกิเลส อยากดี อยากเป็นพระอริยะ

อุปาทาน 4

สำหรับคนที่ภาวนาที่จะไปมรรคผลนิพพาน จะมีอุปาทาน 4 ข้อ กามุปาทาน ความยึดในกาม ทิฏฐุปาทาน ความยึดในมิจฉาทิฏฐิ อัตตวาทุปาทาน ความยึดในวาทะ ในความเห็น ในความเชื่อ ว่าตัวตนมีอยู่จริงๆ อีกอันหนึ่งคือสีลัพพตุปาทาน ยึดในข้อประพฤติข้อปฏิบัติ ต้องทำอย่างนี้ ถึงจะดี อย่างอื่นไม่ดี อันนี้สำหรับคนที่จะไปนิพพาน เขาเลยต้องพิจารณาอันนั้น

ความอดทนในการภาวนา

เราเวียนว่ายตายเกิดมายาวนานขนาดนี้ ผ่านพระพุทธเจ้ามานับจำนวนไม่ถ้วน ก็เพราะนิสัยเหลวไหลนี่ล่ะ นิสัยไม่สู้ ยอมให้กิเลสมันลากมันจูงเราไป มันต้องสู้ ต้องสู้ ยอมลำบากเสียก่อนแล้วสบายทีหลัง บอกเลยว่าภาวนาแล้ว ผลลัพธ์ที่ได้มันมหาศาล มันมีความสุขที่ไม่มีอะไรเหมือน ความสุข มันมีความสงัดอยู่ภายใน ไม่ใช่สงบนะ มันสงัดอยู่ข้างใน จิตมันทรงสมาธิอัตโนมัติอยู่ มันสงัดอยู่ภายใน แล้วมันก็สงบ สงบ ความสุขมันล้นเอ่อขึ้นมา โดยจิตไม่ติดมัน ถ้าจิตยินดีพอใจเมื่อไร ก็แสดงว่ายังไม่ใช่ ยังบรรลุมรรคผลไม่พอ ต้องทำอีก ก็ต้องฝึก ของฟรีไม่มี ธรรมะก็อยู่ใต้กฎแห่งกรรม ทำอย่างไรก็ได้ผลอย่างนั้น ของฟรีไม่มี ของฟลุกไม่มี

เลิกหาความสุขแบบหมาขี้เรื้อน

พระนิพพานเป็นบรมสุข สุขอื่นเสมอด้วยความสงบไม่มี แล้วสิ่งที่เรียกว่าสงบคือพระนิพพาน พระนิพพานคือสุดยอดของความสงบ ถ้าเราต้องการมีชีวิตที่มีความสุข อย่าทำตัวเหมือนหมาขี้เรื้อน หมาขี้เรื้อนอยู่ตรงนี้ก็คัน ต้องวิ่งไปอยู่ที่อื่น แล้วก็ประเดี๋ยวก็คันอีกก็วิ่งอีก การที่เราต้องวิ่งพล่านๆ เที่ยวหาความสุขจากโลกภายนอก มันคือกิริยาอาการแบบเดียวกับหมาขี้เรื้อนนั่นล่ะ คนในโลกไม่มีโอกาสได้ฟังธรรม ไม่มีโอกาสได้ปฏิบัติธรรม ไม่มีโอกาสได้สัมผัสพระธรรม เขายังจำเป็นต้องวิ่งพล่านไป เพราะคิดว่านั่นดีที่สุดสำหรับเขาแล้ว เราก็อย่าว่าเขา เพราะเมื่อก่อนเราก็เป็นแบบนั้นล่ะ พวกเราสะสมบุญบารมี เราได้ฟังธรรม เราได้ลงมือปฏิบัติธรรม เราได้เข้าใจธรรมะ ชีวิตเราก็เข้าถึงสันติสุขที่แท้จริงมากขึ้นๆ

Page 3 of 46
1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12 13 46