เรียนรู้ความจริงของขันธ์ 5

เราฟังแล้ว เราก็ไปลงมือทำ ถ้าเดินอย่างที่หลวงพ่อบอกนี่ เดินครบทุกขั้นทุกตอน ตามลำดับมาเลย ทำสมถะให้จิตมีกำลัง ให้จิตตั้งมั่น แล้วเจริญปัญญาเห็นความจริงของรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ วิญญาณคือจิตนั้นล่ะ มันเกิดดับทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ดูไปเรื่อยๆ ต่อไปก็พบว่า ไม่มีเราตรงไหนเลย รูปไม่ใช่เรา เวทนา สัญญา สังขาร ไม่ใช่เรา จิตก็ไม่ใช่เรา ตรงนั้นล่ะเราจะได้ธรรมะแล้ว ได้โสดาบันแล้ว วันนี้เทศน์ตามลำดับขั้นตอน ครบทั้งหลักสูตรเลย แต่บางคนเรียนข้ามขั้นได้ อย่างหลวงพ่อไม่ได้เริ่มจากรูป หลวงปู่ดูลย์สอนหลวงพ่อตัดเข้าที่จิตเลย แล้วหลวงพ่อดูจิตที่จิต หลวงพ่อเห็นเวทนาทางใจ เห็นสังขาร ความปรุงดีปรุงชั่วทางใจ แล้วเห็นจิตเป็นผู้รู้ เป็นผู้หลง ตัดเข้ามาตรงนี้เลย ก็ย่นย่อหน่อย ถ้าดูเข้ามาตรงนี้ไม่ได้ ก็ดูร่างกายถูกรู้ ไม่ใช่เรา ดูไป เวทนาทางกายถูกรู้ ไม่ใช่เรา ไล่ไปอย่างนี้ เดี๋ยวมันก็เจอจิตจนได้

ฆราวาสธรรม

นักปฏิบัติจริงๆ ไม่ใช่ทิ้งงาน มีงานต้องทำ มีหน้าที่ต้องทำแล้วก็ทิ้ง กะว่าจะปฏิบัติ พอถึงเวลาปฏิบัติ บางคนอยากปฏิบัติต้องไปอยู่วัด ทิ้งงานไปอยู่วัด พอไปอยู่ที่วัดก็คิดถึงงาน เอาดีไม่ได้สักที่หนึ่งเลย งานทางโลกก็ไม่ได้เรื่อง งานทางธรรมก็ไม่ได้เรื่อง เป็นฆราวาสต้องปฏิบัติให้ได้ ไม่ใช่จะมารอออกมาบวชแล้วถึงจะปฏิบัติ ถ้าคิดอย่างนั้นยังต่ำต้อยมากเลย เรียกต่ำต้อยไม่ถูก ต้องเรียกต่ำตม อยู่ใต้ตมเลย ไม่ใช่บัวพ้นน้ำ เป็นบัวต่ำตม ฉะนั้นแยกให้ออก มีหน้าที่ทางโลกอะไรบ้าง หน้าที่ทำมาหากิน หน้าที่ดูแลครอบครัว หน้าที่เลี้ยงดูพ่อแม่ เลี้ยงดูลูก เลี้ยงดูบุตร ภรรยา สามี หน้าที่มี หน้าที่ต่อหน่วยงาน อยู่ที่หน่วยงาน ต้องทำงาน ภักดีต่อองค์กร เลือกงานๆ ที่มันไม่สกปรก แล้วก็ทำหน้าที่ของเราในทางโลกให้เต็มที่ แล้วเวลาในทางธรรม งานทางโลก ถ้าเป็นงานสุจริต จะไม่เบียดบังการปฏิบัติของเราหรอก
ภาวนาไป เราเป็นฆราวาส อย่าทิ้งทั้งทางโลกทั้งทางธรรม เราถึงจะเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี ถ้ามีแต่ทางโลก มันก็เหมือนคนศาสนาอื่น ไม่แปลกอะไร จะเอาแต่ทางธรรม ก็เรียกคนไม่รู้จักหน้าที่

จิตที่เปิดรับธรรมะ

เวลาฟังธรรมะ ฟังซื่อๆ ไม่ต้องตีความมาก ฟังไปคิดไปมันก็เรียนปริยัติล่ะถ้าอย่างนั้น เราจะฟังธรรมะได้แล้วรู้เรื่องดี ถ้าจิตของเราเป็นกุศล มหากุศลจิต ลหุตา เบา มุทุตา นุ่มนวล ปาคุญญตา คล่องแคล่วว่องไว ไม่เซื่องซึม กัมมัญญตา ควรแก่การงาน ไม่ขี้เกียจขี้คร้าน อุชุกตา รู้ซื่อๆ ถ้าใจเราเป็นอย่างนี้ ใจอย่างนี้รับธรรมะง่าย ฉะนั้นเราปรับจิตใจของเรา ให้มันเป็นกุศลไว้ก่อน แล้วฟังธรรม เราจะได้ประโยชน์มาก ถ้าฟังไป แล้วก็ใจก็หนักๆ แน่นๆ เพ่งเอาไว้มากๆ บางคนเพ่ง เพ่งจนเครียด ฟังธรรมะไม่รู้เรื่อง จิตใจเหมือนกับครกหินทั้งลูก เอาน้ำสาดลงไป ไม่ซึมสักนิดเดียวเลย ใจกระด้าง กูก็แน่ กูก็หนึ่ง พวกนี้ก็รับธรรมะไม่ได้ พวกหัวดื้อหัวรั้น เจ้าความคิดเจ้าความเห็น ฉะนั้นเราสังเกตจิตใจเรา ให้จิตใจเราเป็นกุศลที่แท้จริง จิตใจที่เป็นกุศล เป็นจิตใจที่ฉลาด มันพร้อมที่จะรับธรรมะ

อ่านจิตตัวเองได้จะเข้าใจจิต

อ่านจิตตัวเองให้ออก เข้าใจจิตว่าเป็นอย่างไร เข้าใจจิตว่าจิตไม่เที่ยง เข้าใจจิตว่าไม่ใช่ตัวเราหรอก เราบังคับมันไม่ได้ คือเห็นอนิจจัง เห็นอนัตตาไป นั่นล่ะคือการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เพราะฉะนั้นเราอ่านจิตเราอย่างที่จิตเป็นนั่นล่ะ จิตรักก็รู้ จิตโกรธก็รู้ จิตโลภ จิตหลง ก็รู้ไป ในที่สุดปัญญามันจะเกิด จิตแต่ละอย่างไม่เคยเที่ยง โกรธก็ไม่โกรธตลอด รักก็ไม่รักตลอด จิตทุกอย่างเราสั่งไม่ได้ มันทำงานของมันเอง มันโกรธเรา มันก็โกรธได้เอง มันรัก มันก็รักได้เอง นี่เห็นอนัตตา เพราะฉะนั้นการอ่านจิตตนเอง เราก็จะเห็นความจริงของจิตว่า จิตมันไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ถ้าเราเห็นตรงนี้ เราก็ได้ธรรมะแล้ว

อย่าให้นิวรณ์ครอบงำจิต

เราต้องปฏิบัติตลอดชีวิต ไม่มีคำว่ายอมแพ้ บางครั้งเบื่อ เบื่อรู้ว่าเบื่อแล้วก็ภาวนาต่อ ปฏิบัติต่อ บางครั้งขี้เกียจ รู้ว่าขี้เกียจแล้วก็ปฏิบัติต่อ ใจมันจะเบื่อ ห้ามมันไม่ได้ ใจมันจะขี้เกียจ ห้ามมันไม่ได้ ความเบื่อความขี้เกียจอะไรนี่นิวรณ์ทั้งนั้นล่ะ เพราะฉะนั้นตัวนิวรณ์อย่ามองข้ามมัน ที่เราไม่เจริญก็เพราะตัวนิวรณ์นั่นล่ะ ในทางโลกนิวรณ์มาก งานการทางโลกก็เสีย ในทางธรรมนิวรณ์มาขวางกั้น ธรรมะก็ไม่เจริญ ฉะนั้นสังเกตจิตใจตัวเอง อย่าปล่อยให้นิวรณ์ครอบงำจิต

รู้ทุกข์จะละสมุทัย

ตรงที่เราสามารถเห็นทุกข์ของกาย กายนี้มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย เราเห็นทุกข์ของจิต ว่าจิตมีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย อันนี้เรียกว่าเห็นตามความเป็นจริง จิตจะเบื่อหน่ายคลายความยึดถือ แล้วก็หลุดพ้นของจิตเอง เส้นทางเดินนี้ไม่มีอะไรมาก รู้ทุกข์ไว้ คำว่าทุกข์ก็คือ รูปนามขันธ์ 5 ที่เรามีอยู่นี่ล่ะ คอยรู้สึกไปเรื่อยๆ รู้สึกไปจนปัญญามันแก่รอบ กายนี้มีแต่ทุกข์ ทุกข์มากกับทุกข์น้อย จิตมีแต่ทุกข์ ทุกข์มากกับทุกข์น้อย เห็นอย่างนี้เรียกว่าเรารู้ทุกข์แล้ว ทันทีที่รู้ทุกข์ สมุทัยคือความอยากก็จะหมดไปทันที ถูกทำลายในขณะที่เรารู้ทุกข์นั่นล่ะ

เรียนรู้อยู่ที่จิตใจตัวเองให้ได้

การปฏิบัติธรรมไม่ใช่เรื่องลึกลับ มันเป็นการเปลี่ยนจุดที่มอง แทนที่จะมองออกไปข้างนอก ก็มองย้อนกลับเข้ามาที่ตัวเอง เรียนรู้อยู่ที่จิตใจตัวเองให้ได้แล้วมันจะไปได้อย่างรวดเร็ว พอเราเรียนรู้ลงที่จิตใจบ่อยๆ เราจะเริ่มเห็นความจริง จิตใจนี้มันเป็นไตรลักษณ์ จิตใจมันเป็นไตรลักษณ์ เวลามันมีความสุข มันมีความทุกข์ หรือมันเป็นกุศล หรือมันโลภ โกรธ หลงก็ตาม ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ชั่วคราว ความสุข จิตใจมีความสุข ก็สุขชั่วคราว จิตใจมีความทุกข์ ก็ทุกข์ชั่วคราว จิตใจเป็นกุศล ก็เป็นกุศลชั่วคราว จิตใจโลภ โกรธ หลง ก็โลภ โกรธ หลงชั่วคราว เราเห็น อย่างนี้เรียกว่าเห็นอนิจจัง

วิธีเข้าถึงความสงบอย่างแท้จริง

วิธีที่เราจะเข้าถึงความสงบอย่างแท้จริง ก็คือการเห็นความจริงของกายของใจ ไม่ใช่เข้าถึงความสงบด้วยการเข้าฌาน เข้าฌานเก่งแค่ไหนก็ตาม ถึงจุดหนึ่งจิตก็ต้องออกจากสมาธิมา มากระทบอารมณ์ข้างนอกอีก ตอนที่อยู่ในฌานก็มีความสุขดี พอออกมาแล้วกิเลสก็เหมือนเดิม เหตุที่แท้จริงก็คือเราไม่ยอมรับ จิตมันไม่ยอมรับความจริงของกายของใจ ว่ามันล้วนแต่ของไม่เที่ยง ล้วนแต่ของที่ถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ ล้วนแต่เป็นของที่บังคับควบคุมไม่ได้ ถ้าเมื่อไรเราสามารถยอมรับความจริงของกายของใจ ว่ามันไม่เที่ยง มันถูกบีบคั้นให้แตกสลาย มันอยู่นอกเหนืออำนาจบังคับบัญชา ยอมรับความจริงตัวนี้ได้ จิตจะหมดความอยากสิ้นเชิง เมื่อจิตหมดความอยากหรือหมดตัณหา จิตจะหมดความดิ้นรน เมื่อจิตหมดความดิ้นรน จิตก็เข้าถึงสันติสุข เข้าถึงสันติ ความสงบที่แท้จริง สันติตัวนี้ก็คือนิพพาน

การปฏิบัติเริ่มต้นที่จิตจบลงที่จิต

ค่อยภาวนา อย่าทิ้งจิตตัวเอง เรียนรู้จิตตัวเอง เรียนรู้จิตของเราแต่เบื้องต้น เราจะมีศีลอัตโนมัติ เพราะว่ากิเลสใดๆ เกิดขึ้นที่จิตเรารู้ทัน กิเลสครอบงำจิตไม่ได้ ศีลอัตโนมัติจะเกิด เรียนรู้จิตตัวเอง รู้ทันจิตที่ไหลไปไหลมา จิตก็หยุดการไหล ตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา เราก็ได้สมาธิที่ถูกต้อง เห็นไหมเรื่องของจิตทั้งนั้นเลย แล้วในขั้นเจริญปัญญา จะเริ่มจากกาย เวทนา อะไรก็ตาม สุดท้ายมันก็ลงมาที่จิตจนได้

วิธีทดสอบเมื่อคิดว่าได้มรรคผล

ถ้ารู้ทันกิเลสตัวเอง เวลาที่คิดว่าบรรลุมรรคผลอะไร ก็คอยสังเกตกิเลสตัวเองไป กิเลสอะไรยังไม่ละ กิเลสอะไรละแล้ว ละชั่วคราวหรือละถาวร สังเกตเอา ไม่ต้องเที่ยวถามคนโน้นคนนี้ เชื่อถือไม่ได้หรอก
มีจำนวนมากเลยที่ไปเรียนที่โน้นที่นี้ที่โน่น ไปเรียนมาจากที่ต่างๆ แต่ละที่เขารับรองได้โสดาบัน ได้สกทาคามี ได้อนาคามี เขารับรองให้ ไปเรียนอยู่ที่อื่น เขารับรองแล้วมาถามหลวงพ่ออีก จะให้หลวงพ่อรับรอง เรารับรองให้ไม่ได้ ไม่ใช่หน้าที่ แต่หลวงพ่อจะสอนให้ ไปสังเกตกิเลสตัวเองเอา กิเลสอะไรละแล้ว กิเลสอะไรยังไม่ละ ที่ละนั้นละเด็ดขาดหรือว่าละชั่วครั้งชั่วคราว กิเลสไม่ใช่ของเกิดตลอดเวลา มันเกิดเป็นคราวๆ กระทั่งสักกายทิฏฐิ ความเห็นผิดว่ามีตัวมีตน ก็เกิดเป็นคราวๆ ฉะนั้นไม่ใช่นึกๆ เอาว่า เอ๊ะ ตอนนี้ไม่มี ตอนนี้ไม่มีประเดี๋ยวมันมีก็ได้ ฉะนั้นหัดสังเกตกิเลสตัวเองไว้ให้ดีเถอะ หลวงพ่อไม่ได้พยากรณ์ให้ใครหรอก แต่จะชี้ให้ดู ชวนให้ดูกิเลสของตัวเอง

Page 6 of 46
1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12 13 14 15 16 46