ธรรมะของพระพุทธเจ้าชัดเจนแจ่มแจ้ง

ธรรมะของพระพุทธเจ้าชัดเจน เช่น ถ้าเรามีตัณหาเราจะต้องทุกข์ทางใจ ถ้ามีตัณหาเมื่อไรต้องทุกข์ทันที อันนี้ไม่มีใครเถียงได้ ถ้าเรามีศีล สมาธิ ปัญญาถึงจุดหนึ่ง โลกุตตรธรรมก็ปรากฏขึ้น เกิดมรรคเกิดผลขึ้นมา อันนี้คนที่มันยังไม่ถึงมันก็เถียง ฉะนั้นท่อนหลังของอริยสัจจ์นี่เอาไว้ให้คนที่รู้เรื่องฟังกันคุยกัน อย่างพระคุยกัน ไปหาครูบาอาจารย์คุยธรรมะกันมันมากเลย บางทีท่านออกปากเลยว่าไม่ได้คุยสนุกอย่างนี้มาเป็น 10 ปีแล้วไม่มีใครคุยด้วย คุยธรรมะกัน นอกนั้นก็มาเรื่องโลกๆ เรื่องโลกๆ คุยแล้วจืดๆ

แต่พวกเรายังเป็นชาวโลกอยู่ เราดูให้ดีเถอะทุกครั้งที่มีความอยาก ใจจะมีความทุกข์จริงหรือไม่จริง ไปพิสูจน์ด้วยตัวเองเลย ถ้าไม่ใช่ก็แสดงว่าพระพุทธเจ้าไม่ใช่สัพพัญญูแล้ว พระพุทธเจ้าสอนผิดแน่นอนแล้ว แต่เรากล้าท้า ไปทำให้ถูกเถอะ แล้วอย่างไรเถียงพระพุทธเจ้าไม่ออกหรอก ศิโรราบกับพระพุทธเจ้าเลย

สร้าง New Normalให้เคยชินที่จะรู้สึกตัว

จิตของเราในขณะนี้เป็นอย่างไรคอยรู้สึกไปเรื่อยๆ หัดรู้สึก หัดที่จะรู้สึก ไม่ใช่หัดที่จะหลง มาฝึกความเคยชินใหม่ที่จะรู้สึก จิตใจเรามีความสุขก็รู้ จิตใจเรามีความทุกข์ก็รู้ จิตใจจะดีก็รู้ จิตใจจะโลภ จะโกรธ จะหลงอะไรอย่างนี้ก็รู้ อย่างเวลาอยากฟังเทศน์ อยากมาวัด เห็นเขาเปิดจองลงทะเบียนก็ลงบ้าง ตอนนั้นจิตเป็นกุศล อยากมาฟังธรรม พอถึงเวลาจะมาวัดจริง มันขี้เกียจตื่น นี่อกุศลมันเกิดแล้วถ้าเราเคยฝึกของเราดี จิตเราเป็นกุศลเราก็รู้ จิตมันขี้เกียจขี้คร้านขึ้นมาเราก็รู้ หัดรู้มันไปเรื่อยๆ สุดท้ายมันจะเห็นว่าความรู้สึกทุกชนิดมันไม่ใช่จิต จิตเป็นคนรู้สึก แต่ความรู้สึกไม่ใช่จิต คนละอันกัน เพราะฉะนั้นเราฝึกมากๆ เราก็จะเห็นว่าจิตก็อันหนึ่งความรู้สึกก็อันหนึ่ง จิตเป็นแค่คนรู้ ส่วนความรู้สึกนั้นมันเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไป จิตทำหน้าที่ธรรมชาติรู้เท่านั้นเอง

ชาวพุทธที่แท้จริง ต้องดูจากของจริง

ขนาดพระพุทธเจ้าท่านยังไม่ให้เชื่อท่านเลย ท่านให้พิสูจน์ด้วยตัวเราเอง เราก็พร้อมที่จะไปเชื่อคนอื่น มันไม่ใช่ความฉลาดเลย ไม่ใช่ชาวพุทธที่แท้จริงเลย เราค่อยๆ ดู เครื่องมือของเรา คือสติกับสัมปชัญญะ สติเป็นตัวรู้ทันว่ามีอะไรเกิดขึ้นในกาย มีอะไรเกิดขึ้นในใจ สติตัวนี้ไม่ใช่สติธรรมดา แต่เป็นสติปัฏฐาน สัมปชัญญะเป็นตัวปัญญา ตัวที่รู้ว่าอะไรมีสาระแก่นสาร อะไรสมควรแก่เรา สมถะกับวิปัสสนานี่มีสาระแก่นสาร แล้วอันไหนสมควรแก่เรา

ความขี้เกียจไม่เคยพาใครให้ได้ดี

หลายคนก็ฉวยโอกาสตอนที่มีโรคระบาดช่วงเก็บตัวภาวนา อย่างก็มีพระอาคันตุกะองค์หนึ่งท่านมาเล่าให้ฟัง ท่านก็ภาวนา จิตใจท่านก็ก้าวกระโดดไปอีกขั้นหนึ่ง ก็ดี แต่เดิมนี่เปิดประเทศท่านก็รับนิมนต์เยอะ เวลาภาวนาก็คอยคิดอย่างเดียว จะเอาอะไรไปเทศน์รายการถัดไปไม่ได้ภาวนาจริง หลวงพ่อก็กราบเรียนท่านบอกว่าท่านอาจารย์ขาดสมาธิ ถ้าไม่เพิ่มสมาธิไปต่อไม่ได้ นี้พอมีโควิดระบาดท่านไม่ได้ต้องคิดงานแล้ว ท่านก็นั่งดูจิตดูใจของท่านไปก็ดีขึ้น

ทีนี้โยมก็เหมือนกัน ถ้าหากเอาเวลาที่เราอยู่ตามลำพังมาภาวนา มันก็ต้องดีบ้างล่ะ ถ้าเราเอาเวลาไปวุ่นวายกับคนอื่นตลอดเวลา ไม่มีทางดี บางทีไม่ไปเจอตัวเขาก็เจอกันทางอินเทอร์เน็ต เล่นเฟส เล่นไลน์ อะไรอย่างนี้ ก็คือการคลุกคลี ตราบใดที่ยังคลุกคลีอยู่อย่ามาพูดเรื่องสมาธิเลยไม่มีหรอก

หลวงพ่อถึงบอกพวกเราอย่าเล่นเยอะอินเทอร์เน็ต สมัยก่อนหลวงตามหาบัว กระทั่งมือถือ มือถือมันยังไม่ Smart เหมือนรุ่นนี้ท่านยังว่าเลย ท่านเรียกเทวทัต ถ้าท่านมาเจอรุ่น Smartphone นี่ไม่รู้ท่านจะเรียกว่าอะไรแล้วเรียกเทวทัตไปแล้ว ยิ่งกว่านี้ก็หาคำมากกว่านี้ไม่ได้ ต้องบอกเทวทัตกำลัง 2 ต้องอย่างนั้น เพราะมันขวางการปฏิบัติของเรามากเลย

คำสอนหลวงปู่ – อย่าส่งจิตออกนอก

ถ้าเราไม่ส่งจิตออกนอก เราจะได้สมาธิที่ถูกต้อง แล้วทำอย่างไรจะไม่ส่งจิตออกนอก หลวงปู่ดูลย์บอกว่าธรรมชาติของจิตย่อมส่งออกนอก เพราะฉะนั้นอย่าไปพยายามทำให้มันไม่ส่งออกนอกเลย แต่ว่าเมื่อมันส่งออกนอกแล้วให้มีสติ

หลวงปู่ก็สอนเหมือนกันอันนี้ จิตที่ส่งออกนอกเป็นสมุทัย ผลที่จิตส่งออกนอกเป็นทุกข์ จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นมรรค ผลที่จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นนิโรธ อนึ่ง ธรรมชาติของจิตย่อมส่งออกนอก แต่เมื่อจิตส่งออกนอกแล้วมีสติ มีความตั้งมั่นอยู่ อันนี้เป็นมรรค มีผลเป็นความพ้นทุกข์ แต่ถ้าส่งออกนอกแล้วไม่มีสติ ไม่มีสมาธิที่ถูกต้อง ก็จะเป็นสมุทัย ไปก่อทุกข์ ไปก่อภพ ก่อชาติ ก่อทุกข์ขึ้นมา

เพราะฉะนั้นวิธีปฏิบัติไม่ใช่ไม่คิด ไม่ใช่ไม่คิดไม่นึก หลวงปู่ดูลย์บอกว่าคิดเท่าไหร่ก็ไม่รู้ หยุดคิดถึงรู้ แต่ก็ต้องอาศัยคิด เพราะจิตมีธรรมชาติคิด ทีนี้พอมันคิดปุ๊บ จิตเราหลงไปอยู่ในโลกของของความคิด เรามีสติรู้ทัน จิตคิดดับจิตรู้จะเกิด เพราะฉะนั้นท่านบอก คิดเท่าไหร่ก็ไม่รู้ หยุดคิดถึงรู้ แต่ที่หยุดคิดได้เพราะรู้ทันจิตที่หยุดคิด นี่คือคำสอนที่หลวงปู่ดูลย์ท่านสอนหลวงพ่อไว้ ทีนี้พอจิตเราตั้งมั่นถูกต้องดีแล้ว ท่านก็จะสอนการเจริญปัญญา ท่านสอนประโยคเดียวเหมือนเดิม สอนสมาธิก็สอนประโยคเดียว อย่าส่งจิตออกนอก สอนปัญญาก็สอนประโยคเดียว จงทำญาณเห็นจิตให้เหมือนตาเห็นรูป ท่านสอนอย่างนี้

วิธีเรียนธรรมะทำอย่างไร

ธรรมะอยู่ที่ตัวเอง คือรูปธรรมกับนามธรรม อยากเห็นธรรมะก็เห็นรูปธรรม นามธรรม เห็นกาย เห็นใจของตัวเองไป มันก็เห็นธรรมะ เพราะธรรมะมันอยู่ตรงนี้ อยู่ที่ตัวเองนี้ คอยมีสติ ระลึกรู้รูปธรรม ระลึกรู้นามธรรม ร่างกายมันเคลื่อนไหว รู้สึก มันคันแล้ว เกา รู้สึก พยักหน้า รู้สึก คอยรู้สึกไป อย่าให้จิตใจมันล่องลอย ลืมตัวเอง ถ้ามันลืมตัวเอง มันก็ลืมธรรมะ จิตใจมันหนีไป ถ้าจิตใจมันตั้งมั่นอยู่กับเนื้อกับตัว จิตใจก็อยู่กับธรรมะ เพราะธรรมะมันอยู่ที่ตัวเองนี่เอง รูปธรรมของเราก็มี นามธรรมของเราก็มี ทุกคนมีเท่าๆ กัน เราก็มีรูปเท่าๆ กัน มีนามเท่าๆ กันทุกคน ก็พยายามใช้ต้นทุนที่เรามีมาพัฒนาตัวเอง เราอยากรู้ธรรมะ เราก็คอยระลึกรู้กายระลึกรู้ใจ รู้ของตัวเอง อย่าไปรู้ของคนอื่น รู้ของตัวเองแล้วลดละกิเลสได้ ไปรู้กายรู้ใจคนอื่น มันเพิ่มกิเลส ฉะนั้นพยายามรู้สึกๆ ของเราไป

วิธีการปฏิบัติสำหรับผู้ดูจิต

ที่ว่าดูจิตดูจิตแล้วเคลิ้มๆ นั้นใช้ไม่ได้ ดูจิตแล้วว่างๆ ใช้ไม่ได้ ดูจิตเราต้องเห็นอะไร ดูจิตแล้วต้องเห็นความจริงของจิต ความจริงของจิตคืออะไร ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์เป็นอนัตตา เพราะฉะนั้นการดูจิตถ้าดูแล้วว่างดูแล้วนิ่งดูแล้วเคลิ้ม ดูแล้วไม่เอาอะไรเลย เป็นสมถะ ถ้าดูแล้วเห็นความจริงของจิตนี้ หลวงปู่ดูลย์บอกให้ทำญาณเห็นจิตเหมือนตาเห็นรูป ทำญาณคือปัญญาเห็นจิต ไม่ใช่ทำสติเห็นจิต สมถะทำสติเห็นจิต แล้วมันก็ว่างลงไป ถ้าเจริญวิปัสสนามีสติรู้จิต มีจิตตั้งมั่นก็เกิดปัญญา เห็นความจริงของจิตว่าเป็นไตรลักษณ์ ฉะนั้นเวลาดูจิตนี่อย่าไปดูให้มันว่างๆ ดูให้มันเห็นความจริง ยกเว้นเวลาเราต้องการพักผ่อน จิตเราเหนื่อยแล้ว เราต้องการพัก เราก็จับเข้ากับความว่าง

มีต้นทุนแล้ว ต้องต่อยอดด้วยความพากเพียร

ถ้าเรามีต้นทุนเดิมดีส่งผลมาได้เจอครูบาอาจารย์ เจอครูบาอาจารย์แล้วตั้งใจฟังธรรมเพื่อการปฏิบัติ แบบนี้ถึงจะเรียกว่าเราคุ้ม พอรู้วิธีปฏิบัติแล้ว ถึงตัวสุดท้ายเลย ทำความเพียรให้เต็มที่ ไม่ใช่นานๆ ทำที อย่างพวกเรามาเรียนกับหลวงพ่อ บางคนตั้งเป็น 10 ปี 20 ปี มันไม่ได้อะไรเลย ได้แต่ทำบุญทำทาน ก็มีไม่ใช่ไม่มี ปฏิบัติธรรมให้เต็มที่เป็นอย่างไร ถ้าคิดแต่ว่าวันหนึ่งเราจะแบ่งเวลาไว้ปฏิบัติสักหนึ่งชั่วโมงก่อนนอน บางคนขอ 15 นาทีก่อนนอน แล้วทั้งวันหลงทั้งวัน ทั้งวันหลงทั้งวันแล้วก็กะไปทำกรรมฐานก่อนนอนนิดๆ หน่อยๆ ก็สะสมกิเลสมาตั้ง 10 กว่าชั่วโมง ไปทำกุศลจะล้างกิเลส ทำครึ่งชั่วโมง ทำชั่วโมงหนึ่ง ไม่ได้กินหรอก มันเหมือนตักน้ำใส่ตุ่มรั่ว ตักลงไปแล้วก็รั่วไปหมด ไม่ได้กินหรอก

ถ้าทำให้มันเด็ดเดี่ยว ปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรม ตื่นขึ้นมาก็ด้วยความรู้สึกตัว จะพลิกซ้ายพลิกขวาก็รู้สึกตัว ลุกขึ้นนั่งก็รู้สึกตัว จะไปกินข้าว จะไปอาบน้ำก็รู้สึกตัว นั่งรถไปทำงานก็รู้สึกตัว ถึงที่ทำงานแล้ว ตอนนี้ยังซดกาแฟอยู่ ยังขยับเปิดคอมพิวเตอร์อยู่อะไรแบบนี่ รู้สึกตัวไป ถึงตอนทำงานที่ต้องคิด ค่อยจดจ่ออยู่กับงาน

การทำงานบ้านเป็นกรรมฐานที่ดีมาก

จริงๆ การกวาดเป็นการปฏิบัติธรรม อย่าไปกลุ้มใจ ตัวที่ทำให้ทำความสะอาดบ้านแล้วกลุ้มใจ คือความคิดของเราเอง ทำไมคนอื่นไม่ทำ ทำไมคนอื่นเอาเปรียบเรา ความคิดตัวนี้ที่ทำให้เราเศร้าหมอง ไม่ใช่การทำงานกวาดบ้านถูบ้านทำให้เราเศร้าหมอง ความคิดของเราเองทำให้เราเศร้าหมอง ฉะนั้นเราต้องระวัง คอยรู้ทันใจของเราไว้ พอเราชำนาญ เราจะเหมือนหลวงตาที่หลวงพ่อเล่าเมื่อกี้ กวาดจนไม่รู้จะกวาดอะไรก็กวาดอีก กวาดจนสะอาดแล้วสะอาดอีกก็กวาดไปเรื่อย ที่จริงคือการทำกรรมฐาน กรรมฐานที่นั่งก็อย่างนั้น ใครๆ เขาก็ทำ กรรมฐานที่เคลื่อนไหว ทำงานได้นี่สิเก่งจริง

Page 38 of 45
1 28 29 30 31 32 33 34 35 36 37 38 39 40 41 42 43 44 45