ปัญญานำสมาธิ

จะทำกรรมฐานอะไรก็ได้ที่เราถนัด เคยทำอะไรแล้วมีความสุขก็ทำอันนั้น แล้วแทนที่มุ่งไปที่ความสุขความสงบ คอยรู้ทันจิตตัวเองไป เราจะเดินปัญญา อย่างนี้เรียกปัญญานำสมาธิ ใช้สมาธิชนิดขณิกสมาธิ สมาธิทีละขณะๆ อย่างนี้ อย่างเรารู้ทันว่าจิตไหลไปปุ๊บ ตรงนี้สมาธิก็เกิดขึ้นชั่วขณะ เดี๋ยวก็ไหลไปอีกทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หมุนไปทุกหนทุกแห่งใน 6 ช่องทาง ตรงที่เรามีสติรู้มันจะมีจิตผู้รู้แทรกขึ้นมากั้นกลาง

จิตตั้งมั่น

พอจิตมันตั้งมั่นขึ้นมาแล้ว มันจะเห็นทุกข์ได้ ถ้าจิตไปว่างอยู่ข้างนอก ไม่มีวันเห็นทุกข์หรอก มันมีแต่สุข มันมีแต่สบาย มีแต่ว่าง ถ้าจิตใจอยู่กับเนื้อกับตัวจริงๆ ระลึกลงในกายก็เห็นทุกข์ในกาย ระลึกลงที่จิตก็เห็นทุกข์ที่จิต ตรงนี้จิตมันเดินปัญญาได้ แล้วขันธ์มันแยก มันแยกตั้งแต่จิตเราตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูแล้ว

สีลัพพตปรามาส

ปุถุชนอย่างไรก็ปฏิบัติผิด เพราะปุถุชนยังมีสีลัพพรตปรามาสอยู่ ยังมีการถือศีลบำเพ็ญพรตแบบลูบๆ คลำๆ งมงาย ลูบๆ คลำๆ ก็คือยังไปหลงมุ่งเอาดี เอาสุข เอาสงบเป็นเป้าหมายอยู่ ฉะนั้นเราค่อยๆ สังเกตตัวเอง วันหนึ่งมันก็จะค่อยเข้าใจมากขึ้น ถือศีล ทำสมาธิ เจริญปัญญา ไม่ใช่เพื่อดี เพื่อสุข เพื่อสงบหรอก แต่เพื่อจะสามารถเห็นรูปนามกายใจตามความเป็นจริง เห็นตามความเป็นจริงก็เบื่อหน่าย คลายความยึดถือแล้วก็หลุดพ้นได้

การดูจิตดูใจ

การภาวนาเราตัดตรงเข้ามาเรียนรู้ที่จิตเป็นหนทางปฏิบัติที่ลัดสั้น แต่บางคนไม่มีกำลังที่จะตัดตรงเข้ามาเรียนจิต ก็เรียนทางกายไปก่อน หัดรู้กายไปก่อน รู้กายถูกต้อง ชำนิชำนาญต่อไปจิตก็มีกำลังขึ้นมา ตั้งมั่นขึ้นมา มันก็จะค่อยมาดูจิตได้ทีหลัง ฉะนั้นดูกายต่อไปก็เห็นจิต แต่ถ้าดูจิตได้ก็ดูไปเลย มิฉะนั้นเสียเวลา อันนี้ไม่ใช่หลวงพ่อคิดเอาเอง เป็นคำสอนที่ครูบาอาจารย์ท่านสอนมา หลวงปู่มั่นบอกว่าดูจิตได้ให้ดูจิต ดูจิตไม่ได้ให้ดูกาย ถ้าดูจิตไม่ได้ ดูกายไม่ได้ทำสมถะ ท่านสอนอย่างนี้ หลวงปู่ดูลย์ท่านก็บอกว่าการดูจิตเป็นการปฏิบัติที่ลัดสั้นที่สุด คือตัดตรงเข้ามาที่นี่เลย คนเราจะดี จะชั่ว จะสุข จะทุกข์ก็เพราะจิต จะเกิดในภพภูมิอะไรก็เพราะจิต ฉะนั้นตัดตรงเข้ามาที่จิต ตรงนี้ก็เร็ว ไปได้เร็ว

วัฏฏะไม่มีความแน่นอน

เวลาที่เราเดินทางไกลในสังสารวัฏเราก็มีพ่อ มีแม่ มีสามี มีภรรยา มีลูก มีหลาน แต่ละภพแต่ละชาติก็มีเยอะแยะไปหมด ชาตินี้คนนี้มาเป็นสามี ชาติหน้าคนอื่นก็มาเป็นอะไรอย่างนี้ วัฏฏะไม่มีความแน่นอน หรือมาเป็นพ่อแม่เป็นลูกหลานกัน วัฏฏะที่ยาวนานนั้น พระพุทธเจ้าท่านถึงขนาดบอกว่า คนในโลกที่มาเจอกัน ที่ไม่เคยเป็นพ่อแม่พี่น้องกัน ไม่เคยเป็นลูกเป็นอะไรอย่างนี้ หาแทบไม่ได้เลย สังสารวัฏไม่ได้มีอะไรน่าชื่นใจเลย แล้วก็ไม่มีอะไรยั่งยืนมั่นคงเลย มันเป็นอย่างนี้มาตลอด ถ้าเราเข้าใจเราก็ไม่ยึดถือมันมาก

การเรียนรู้จิตทำได้ 2 แบบ

การเรียนรู้จิต รู้เท่าทันจิต ดูได้ 2 แบบ อันหนึ่งรู้จิตซึ่งประกอบด้วยเจตสิกต่างๆ อย่างเช่น จิตโลภเกิดแล้วก็ดับ จิตโกรธเกิดแล้วก็ดับ ความโลภ ความโกรธมันเป็นเจตสิก ไม่ใช่จิต เป็นสิ่งที่มาประกอบจิต จิตสุขเกิดแล้วดับ จิตทุกข์เกิดแล้วดับ เราเห็นจิตและความรู้สึกต่างๆ มันเกิดขึ้น มันเกิดอยู่ด้วยกัน เห็นจิตมันเกิดดับผ่านเจตสิก อีกอย่างหนึ่ง เราเห็นพฤติกรรมของจิต จิตเดี๋ยวก็มีพฤติกรรมไปดู เป็นผู้ดู เดี๋ยวก็เป็นผู้ฟัง เดี๋ยวเป็นผู้ดมกลิ่น เดี๋ยวเป็นผู้ลิ้มรส เดี๋ยวเป็นผู้รู้สัมผัสทางร่างกาย เดี๋ยวเป็นผู้คิดนึกทางใจ เดี๋ยวเป็นผู้เพ่งทางใจ หรือบางทีก็เป็นผู้รู้ขึ้นมา เราจะเห็นจิตมันทำงานอยู่ทางอายตนะทั้ง 6

ธรรมะเป็นเรื่องของเหตุกับผล

เริ่มจากอินทรียสังวร ถ้าอินทรียสังวรดี สุจริต 3 จะเกิด สุจริต 3 ดี การเจริญสติปัฏฐานจะสมบูรณ์ขึ้นมา การเจริญสติปัฏฐานที่สมบูรณ์จะทำให้โพชฌงค์ 7 สมบูรณ์ขึ้นมา แล้วโพชฌงค์ 7 บริบูรณ์ขึ้นมา มรรคผลจะเกิดนิพพานจะปรากฏ เป็นเรื่องของเหตุกับผล ถ้าทำเหตุอย่างนี้จะมีผลอย่างนี้ ทำเหตุอย่างนี้จึงมีผลอย่างนี้ ธรรมะทั้งหลายของพระพุทธเจ้ามีลักษณะอย่างนี้ เป็นเหตุกับผลที่สืบเนื่องกันไป เป็นขั้นๆๆ สืบเนื่องกันไป เราค่อยๆ ภาวนาเดี๋ยวเราก็เข้าใจ

เหนือโลกไม่ใช่หนีโลก

ระหว่างหนีโลกกับเหนือโลกไม่เหมือนกัน หนีโลกนี่เหมือนคนอ่อนแอ แพ้ผัสสะ แสวงหาแต่ความสุขความสบายอะไรอย่างนี้ ไม่อยากกระทบอารมณ์ พวกหนีโลกนี่ไม่สามารถพ้นโลกได้ มันเอาแต่หนี มันก็จะหนีจากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่ง ในขณะที่พวกที่เรียนรู้โลก สิ่งที่เรียกว่าโลกก็คือกายกับใจเรานี่ล่ะ เรียนรู้มากๆ เห็นความจริงของกาย เห็นความจริงของใจ จิตมันคลายความยึดถือในกายในใจ จิตไม่ยึดถือกาย ไม่ยึดถือใจ ก็เรียกจิตมันพ้นโลก

อริยมรรคมีองค์ 8

ถ้าเรามีความเห็นถูก มีความคิดถูก มีคำพูดถูก มีการกระทำถูก มีการเลี้ยงชีวิตถูก มีความเพียรถูก มีสติถูก มีสมาธิถูก มันก็เกิดขึ้น พอถึงจุดที่สมาธิถูก จิตมันถึงสัมมาสมาธิแล้ว สัมมาญาณะคือปัญญาที่ถูกต้องมันจะเกิด แล้วจิตรวมลงไปเราจะเห็นสภาวะเกิดดับอยู่ภายใน ตรงนี้ญาณทัสสนะที่แท้จริงมันเกิดแล้ว แล้วถัดจากนั้นมรรคผลก็เกิด ตรงที่มรรคผลเกิดก็เป็นสัมมาวิมุตติเกิดขึ้น

มีชีวิตอยู่กับความจริงในปัจจุบัน

เรามีชีวิตอยู่ชั่วขณะจิตเท่านั้นเอง เรามีสติมีปัญญาระลึกรู้ลงตรงนี้ได้ จิตไม่หลงไปอดีต จิตไม่หลงไปอนาคต เพราะฉะนั้นถ้าเราอยู่กับปัจจุบันได้จริงๆ เราจะไม่คร่ำครวญถึงอดีต เราจะไม่เพ้อฝันกังวลถึงอนาคต บางทีก็ใฝ่ฝันปลื้ม บางทีก็กังวลถึงอนาคต เราอยู่กับปัจจุบันซึ่งเป็นความจริง ไม่ใช่ความจำในอดีต ไม่ใช่ความคิดในอนาคต ชีวิตที่อยู่กับความจริงในปัจจุบัน เป็นชีวิตที่ทุกข์ไม่ได้หรอก

Page 31 of 45
1 21 22 23 24 25 26 27 28 29 30 31 32 33 34 35 36 37 38 39 40 41 45