ขึ้นภูเขาได้หลายทาง

บางคนก็เริ่มต้นดูกาย บางคนก็เริ่มต้นดูเวทนา บางคนก็เริ่มต้นดูจิต ทางใครทางมัน แต่ในสุดท้ายไม่ว่าจะดูกาย เวทนา หรือจิต หรือธรรม สุดท้ายมันก็ลงไปที่เดียวกัน เข้าไปสู่วิมุตติอันเดียวกัน เข้าไปสู่ความบริสุทธิ์หลุดพ้นอันเดียวกัน เข้าไปสู่พระนิพพานก็อันเดียวกันนั่นล่ะ มันเป็นสภาวะที่เหมือนกัน

ดูตัวเองดีกว่าคอยจับผิดคนอื่น

วันๆ หนึ่งเรามองคนอื่นมากกว่ามองตัวเอง ฉะนั้นก็เห็นแต่คนอื่น มันไม่เห็นตัวเอง เห็นคนอื่นแล้วใจของเรามันมีกิเลส มันก็เห็นคนอื่นในมุมที่ตัวเองอยากเห็น ชอบขึ้นมาก็มองว่าเขาดี ไม่ชอบขึ้นมาก็เขาเลว มองอย่างที่ตัวเองอยากมอง ลองย้อนกลับมาทำตัวเองให้มันดีเสียก่อน ย้อนกลับมาฝึกตัวเองให้มันดีเสียก่อน ค่อยวิจารณ์คนอื่นก็ได้ ไม่สายไปหรอก ย้อนมาดูตัวเอง

สมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน

การภาวนามันมี 2 ส่วน ส่วนของสมถกรรมฐานกับส่วนของวิปัสสนากรรมฐาน สมถกรรมฐาน เราเลือกอารมณ์ที่เราอยู่ด้วยแล้วมีความสุข มีความสงบ สบายใจอยู่กับอารมณ์อันไหน เราก็อยู่กับอารมณ์อันนั้น พอมันอยู่กับอารมณ์ที่ชอบใจ มันก็ไม่วิ่งไปหาอารมณ์อื่นๆ การทำวิปัสสนากรรมฐาน ทีแรกหัดรู้ตัวสภาวะไป พอเห็นสภาวะทั้งหลายมันแยกออกไปจากจิตที่เป็นคนรู้เรียกว่า เราเริ่มแยกขันธ์ เห็นทุกๆ ตัวนั้นถูกรู้ถูกดู ทุกๆ ตัวนั้นตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์

ความสุขมีหลายระดับ

มีสติรู้กายรู้ใจ ตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่น และเป็นกลาง” คำว่าตามความเป็นจริงคือเห็นไตรลักษณ์ เพราะความจริงของรูปนามคือไตรลักษณ์ ถ้าไม่เห็นไตรลักษณ์ก็เรียกว่ายังไม่ได้ทำวิปัสสนา ฉะนั้นประโยคสั้นๆ นี้ล่ะที่หลวงพ่อรวมมาจาก หลักการปฏิบัติที่กว้างขวางมากมาย ถ้าพวกเราตีความตรงนี้แตก พวกเราทำวิปัสสนาได้แน่นอน

ไม่สนใจตัวเองคือไม่ได้ปฏิบัติ

คนที่ไม่ปฏิบัติพอมันเกิดสุข เกิดทุกข์ เกิดดี เกิดชั่ว มันไปสนใจของข้างนอก สนใจรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ สนใจเรื่องราวที่คิดนึกเอา มันไม่สนใจตัวเอง ไม่สนใจที่จะอ่านตัวเอง อ่านว่าจิตใจตอนนี้เป็นอย่างไร พอไม่สนใจก็คือไม่ได้ปฏิบัติแล้ว ไม่ได้เรียนรู้กาย ไม่ได้เรียนรู้ใจ

อยากมีความสุขต้องรู้จักพอ

วิธีที่จะฝึกให้พอก็คือคอยรู้เท่าทันใจของตัวเอง ตรงที่ไม่พอเพราะความอยากมันมาก ความอยากมันครอบงำเรา ฉะนั้นเราหัดรู้เท่าทันใจของเราไว้ ใจมันมีความอยากอะไรเกิดขึ้น รู้ทันมัน ถ้าเรารู้ทันตัณหาคือความอยากที่เกิดขึ้นในจิตใจเรา พอเรารู้ทัน ตัณหามันเป็นโลภะ มันเป็นกิเลส ตรงที่เรารู้ทันคือเรามีสติ ตัณหามันจะดับ พอความอยากมันดับแล้วจิตมันจะมีสติมีปัญญาขึ้นมา จิตมันเป็นกุศลแล้ว มันก็จะรู้อะไรควรอะไรไม่ควร

ใจดิ้นรนเพราะยึดถือ

ยึดทีไรก็ทุกข์ทุกที จะให้เลิกยึด ให้หายยึด ไม่ใช่ไปสั่งจิตให้เลิก ไม่มีใครสั่งจิตให้เลิกยึดได้หรอก ต้องจิตได้รับการอบรมให้มีปัญญา รู้แจ้งแทงตลอดว่าขันธ์ 5 มันเป็นทุกข์ รูปนามทั้งหลายเป็นทุกข์ เห็นอย่างนี้แล้วมันเลิกยึดไปเอง มันจะยึดทำไมมันมีแต่ตัวทุกข์ ทุกวันนี้ที่ยึดอยู่เพราะไม่เห็นว่ามันเป็นทุกข์ การเห็นทุกข์นี่ล่ะทำให้เราเข้าใจธรรมะ

ยิ่งเห็นทุกข์ยิ่งมีความสุข

ฝึกไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็ถึงจุดที่มันเข้าใจมันก็วาง แล้วจะทุกข์น้อยลงๆ ตรงที่มันทุกข์น้อยลงนั่นล่ะที่เรารู้สึกว่ามันมีความสุขมากขึ้นๆ มันเป็นความรู้สึกที่สัมพัทธ์ ที่จริงก็คือมันทุกข์น้อยลงเรื่อยๆ มันทุกข์สั้นลง ทุกข์น้อยลง มันก็เลยรู้สึกมีความสุขมากขึ้นๆ ตรงจุดที่มันไม่ทุกข์ ตรงที่ภาวนาถึงพระนิพพาน มันไม่ทุกข์แล้ว เพราะมันไม่มีตัณหาอีกต่อไปแล้ว มันก็ถึงเป็นบรมสุข

เห็นจิตเป็นทุกข์จึงปล่อยวางจิต

มีโยมมาถามหลวงพ่อว่า ภาวนาต้องปล่อยวางจิตใช่ไหม? ใช่ แต่ไม่ใช่ตอนนี้ เบื้องต้นเรายังไม่ต้องพูดเรื่องปล่อยวางจิตหรอก ล้างความเห็นผิดก่อน เบื้องต้นยังไม่ต้องไปทำลายจิต ต้องมีจิตก่อน มีจิตที่เป็นผู้รู้ผู้ดูก่อน การทำลายผู้รู้ ทำลายจิต มันขั้นสุดท้ายของการปฏิบัติ

Page 34 of 44
1 24 25 26 27 28 29 30 31 32 33 34 35 36 37 38 39 40 41 42 43 44