เรียนย่อลงมาที่กายกับใจ

เราเรียนในสิ่งที่พอดีกับเรา ไม่ต้องเรียนเยอะหรอก เรียนเยอะๆ แล้วท่องๆ เอาไว้สอบแล้วก็สอบเสร็จแล้วก็ลืม เรียนจริงๆ ย่อลงมาก็คือกายกับใจเรานี้ ดูกาย ถ้ากายไม่ใช่เรา ใจไม่ใช่เรา มันก็ไม่มีเราที่ไหนอีกแล้ว เฝ้ารู้เฝ้าดูลงไปเรื่อยๆ ปัญญามันเกิดมันก็ล้างความเห็นผิดได้

ประโยชน์ของสมาธิภาวนา

ธรรมะของพระพุทธเจ้าดีเสมอ กี่ยุคกี่สมัย ถ้าเราตั้งใจปฏิบัติ เราก็ได้ประโยชน์ ประโยชน์ 4 ข้อนี้เราได้แน่นอน ถ้าเราฝึกของเรา แต่ถ้าทำบ้าง ไม่ทำบ้าง ขี้เกียจบ้าง โลเลบ้าง วันนี้ทำอันนี้ วันนี้เปลี่ยนอีกแล้ว วันโน้นเปลี่ยนอีกแล้ว เอาดีไม่ได้หรอก กรรมฐานใดดูแล้วเหมาะกับเราแล้วต้องลุยเลย

ตายอย่างไม่ขาดทุน

พวกเราทุกคนวันหนึ่งเราต้องเจอจุดสุดท้ายอันนี้เหมือนกัน แต่ใครจะเจอได้อย่างเข้มแข็งองอาจกล้าหาญ หรือใครจะเจอแบบหวาดกลัว ถ้าเราภาวนาของเราจนดีแล้วใจมันกล้าหาญ เรามีทาน เรามีศีล เราได้ฟังธรรมะเป็นประจำ เราได้เจริญสมาธิ เราได้เจริญปัญญา ใจเรามีความกล้าหาญ กระทั่งความตายมารออยู่ต่อหน้า ใจมันก็กล้าหาญ มันดูร่างกายมันป่วย ใจมันเป็นคนดู ร่างกายมันเจ็บ จิตใจมันเป็นคนดู กระทั่งร่างกายมันจะตาย ตอนที่มันจะตายเราหายใจแขม่วๆ หรือหายใจจะไม่ออกแล้ว เราดูร่างกายมันหายใจไป ถ้าจิตกังวล ดูจิตกังวล รู้ทัน ไม่ต้องแก้ รู้เฉยๆ จิตมันจะไม่กังวล เราก็ดูร่างกายหายใจไป จนลมหายใจมันสิ้นสุดลง

อย่าทิ้งโอกาสให้สูญเปล่าไป

กว่าจะได้เป็นคนที่สมบูรณ์ กว่าจะเจอพุทธศาสนา กว่าจะมีศรัทธา กว่าจะจับกุญแจของการเล่าเรียนได้ กว่าจะปฏิบัติแล้วเอาจริงเอาจังจนพ้นได้ เงื่อนไขมันมีเยอะ มีคำว่า ต้องอย่างนี้ๆๆ มีเงื่อนไขมากมาย กว่าจะพ้นทุกข์ได้คนหนึ่งๆ เพราะฉะนั้นคนที่พ้นทุกข์ได้จริงๆ ก็เลยมีไม่มาก กระทั่งชาวพุทธจริงๆ ยังมีไม่มากเลย ชาวพุทธที่ลงมือจริงๆ ยิ่งน้อยใหญ่

ความสมดุลของอินทรีย์ 5

ใช้ความสังเกตเอา อะไรมากไปอะไรน้อยไป ตัวไหนที่มันมากมันก็ดีอยู่แล้ว เราก็เพิ่มตัวที่น้อยๆ ขึ้นมาให้สมดุลกัน มีสติเป็นตัวสอดส่องตัวเอง ตอนนี้ศรัทธาล้ำหน้าไปแล้ว ตอนนี้วิริยะมากไปแล้วทำให้ฟุ้งซ่าน ตอนนี้สมาธิมากไปแล้วติดในความสุขความสงบ ตอนนี้เจริญปัญญาเยอะเกินไปแล้วจนฟุ้งซ่าน ปัญญาเจริญมากก็ฟุ้งซ่าน แล้วบางทีก็ทำให้เซลฟ์จัด นึกว่ากูรู้ไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่เชื่อใครทั้งสิ้นเชื่อแต่ตัวเอง ขาดศรัทธาแล้ว สังเกตตัวเองไปเรื่อยๆ แค่ไหนพอดี พัฒนาเป็นลำดับๆ ไป อดทนใช้ความสังเกตเอา

อินทรีย์แก่กล้าจึงสักว่ารู้ว่าเห็น

ก่อนที่พวกเราจะสักว่ารู้ว่าเห็นได้ มันไม่เป็นหรอก มันก็ต้องฝึก คอยรู้คอยเห็นไปเรื่อยๆ แล้วมันก็ยินดียินร้ายอะไรอย่างนี้ ไม่ห้ามมัน มันยินดี รู้ทัน มันยินร้าย รู้ทันไปเรื่อย สุดท้ายสติปัญญามันแก่กล้าขึ้นมา มันจะรู้เลยว่า ทุกสิ่งที่จิตไปรู้เข้านี่หาสาระแก่นสารอะไรไม่ได้เลย รูปธรรมนี่ไม่มีสาระแก่นสาร นามธรรมก็ไม่มีสาระแก่นสาร

ใช้กิเลสเป็นอุปกรณ์ทำกรรมฐาน

ถ้าเราเป็นคนขี้โลภ เราใช้ความโลภของเรามาทำกรรมฐาน เหมือนเรามีขยะอยู่ เราเอาขยะมารีไซเคิลทำประโยชน์ได้ กิเลสของเราเหมือนขยะ รู้จักใช้มันก็เป็นประโยชน์ อาศัยกิเลสมาทำวิปัสสนากรรมฐานได้ คนไหนขี้โลภ เราก็คอยดูไป เดี๋ยวจิตโลภ เดี๋ยวจิตไม่โลภ เดี๋ยวจิตโลภ เดี๋ยวจิตไม่โลภ ดูอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ต่อไปก็เห็นจิตโลภก็ไม่เที่ยง จิตไม่โลภก็ไม่เที่ยง จิตโลภเราสั่งห้ามมันว่าอย่าโลภ มันก็ไม่เชื่อ จิตไม่โลภ เราชอบอยากให้มันอยู่นานๆ มันก็ไม่อยู่ เดี๋ยวมันก็โลภอีกแล้ว นี่คือเรียกอนัตตา ฉะนั้นดูจิตดูใจก็จะเห็น เดี๋ยวก็เห็นอนิจจัง เห็นอนัตตา

ฝึกลดละความเห็นแก่ตัว

ฝึกความไม่เห็นแก่ตัวไว้ แล้ววันที่เราเริ่มภาวนา มันจะไม่ยาก การมาภาวนาก็คือมาเรียนรู้ความจริงของกายของใจเพื่อจะปล่อยวางตัวตนลงไป ถ้าเริ่มต้นเราก็เห็นแก่ตัวแล้ว เราจะปล่อยวางตัวตนได้อย่างไร มันยากกว่าการไม่เห็นแก่ตัวอีก ไม่เห็นแก่ตัวแล้ว แล้วต้องมาภาวนาอีกให้เห็นความจริงของรูป นาม กาย ใจ มันถึงจะปล่อยวางตัวตนลงไปได้ ฉะนั้นธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอนมีลำดับ มีขั้น มีตอน

มรรคมีองค์ 8 คือทางสายกลาง

พระพุทธเจ้าท่านสอนปัญจวัคคีย์ กัณฑ์แรกเลย สอนธรรมจักรกัปปวัตนสูตร ท่านสอนเริ่มต้นท่านก็บอกว่า มีสิ่ง 2 สิ่งที่บรรพชิตไม่ควรเอา สิ่ง 2 สิ่งที่ผู้ปฏิบัติไม่ควรเอา อันแรกก็คือการปล่อยกาย ปล่อยใจตามกิเลสไป ตามใจกิเลส เรียกว่าย่อหย่อนไป กามสุขัลลิกานุโยค กับการกดข่มบังคับทำกาย ทำใจตัวเองให้ลำบาก ท่านบอกอย่าทำ 2 อย่างนี้ จิตจะเดินในทางสายกลาง ฉะนั้นเริ่มต้นพระพุทธเจ้าไม่ได้สอนทางสายกลาง แต่เริ่มต้นท่านสอนสิ่งที่ไม่ถูกเสียก่อน สิ่งที่ไม่ถูกมี 2 อย่าง คือย่อหย่อนไป กับตึงเครียดไป พอไม่ย่อหย่อน ไม่ตึงเครียดก็เข้าทางสายกลางง่าย

รูปนามทั้งหมดตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์

ทำอย่างไรก็ผิดหมด จนกว่าจะกลับมาดูรูปธรรม นามธรรมทั้งหลายตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ทั้งนั้น ถ้าเห็นอย่างนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีกๆ สุดท้ายจิตมันก็จะรู้เลย รูปธรรมทั้งหลายเสมอกันหมดเลย จะรูปดี รูปเลว รูปหยาบ รูปละเอียด รูปสวย รูปไม่สวยอะไรนี่เสมอกันหมดเลยด้วยความเป็นไตรลักษณ์ นามธรรมทั้งหลายกระทั่งตัวจิตใจของเรา จะจิตดีหรือจิตเลว จะจิตสุขหรือจิตทุกข์ มันก็เกิดและดับเสมอกัน ตรงที่เราสามารถเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างเสมอกัน รูปธรรมทั้งหลายเสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ นามธรรมทั้งหลายเสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ ถ้าเห็นอย่างนี้ จิตถึงจะหมดการดิ้นรน หมดความหิวโหย จิตตัวนั้นจะหมดแรงดิ้น พอจิตหยุดความปรุงแต่ง หยุดการดิ้นรน จิตจะเริ่มเข้ากระบวนการที่จะตัดสินความรู้ มรรคผลจะเกิดขึ้น มันก็มีกระบวนการของมัน

Page 36 of 45
1 26 27 28 29 30 31 32 33 34 35 36 37 38 39 40 41 42 43 44 45