ขันธ์ทั้ง 5 ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์

ถนัดดูกาย เราก็ดูกาย ถนัดดูเวทนา เราก็ดูเวทนา ดูกาย เราก็เห็นกายกับจิตเป็นคนละอัน ดูเบื้องต้น ต่อไปก็เห็นร่างกายนี้ก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ถนัดดูเวทนาทางกาย เราก็ดูไป เราก็เห็นไตรลักษณ์ ถนัดดูเวทนาทางใจก็ดูไป แล้วสุดท้ายก็เห็นว่ามันก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ กุศล อกุศลทั้งหลาย ดูไปก็เห็นตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์อีก สุดท้ายตัวจิตเองก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ สุดท้ายเราก็เห็นขันธ์ 5 ทั้งหมดนั่นล่ะตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์

อย่าถนอมรักษากิเลส

ถ้าตามใจกิเลสแล้ว ไม่ว่าจะไปเจริญสติปัฏฐาน ไปนั่งสมาธิ ไปทำวิปัสสนา ไม่ได้เรื่องๆ ไม่สำเร็จหรอก ฉะนั้นถ้าใครก็ตามจะมาถามหลวงพ่อว่าจะปฏิบัติอย่างไร สำรวจตัวเองก่อนจะถาม กิเลสนั้นเราสู้กับมันไหม หรือเรายอมแพ้มัน ถูกมันลากจูงจมูกทั้งวันอย่างนั้น ถ้าแบบนั้นยังไม่ต้องมาถามว่าเจริญสติ เจริญปัญญาอย่างไร มันทำไม่ได้

งานภาวนา 3 ขั้น

งานแรก คือตื่นขึ้นมา หลุดออกจากโลกของความคิดความฝันโดยที่ไม่เผลอไม่เพ่ง อันที่สอง คือ แยกขันธ์ออกมาให้ได้ งานที่สามของเรา คืองานเจริญวิปัสสนา พอเราแยกขันธ์ได้ เราก็จะเห็นรูปแต่ละรูป นามแต่ละนามเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มีแต่ความไม่เที่ยง มีแต่การทนอยู่ไม่ได้ ถูกบีบคั้นให้แตกสลายอยู่ตลอดเวลา แล้วบังคับไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ ไม่เป็นไปตามใจอยาก นี่คือเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

อารัมมณูปนิชฌาน – ลักขณูปนิชฌาน

จะดูไตรลักษณ์ของรูปนามได้ จิตต้องมีลักขณูปนิชฌาน คือมีความตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ผู้เห็น เห็นไตรลักษณ์ของรูปนาม ถ้าลำพังเห็นรูปเห็นนามเรียก อารัมมณูปนิชฌาน เพ่งตัวอารมณ์ ใช้รูปเป็นอารมณ์ ใช้นามเป็นอารมณ์ ใช้บัญญัติเป็นอารมณ์ หรือกระทั่งใช้นิพพานเป็นอารมณ์ อันนั้นเป็นอารัมมณูปนิชฌาน แต่ตรงที่เห็นนิพพานจริงๆ มันเป็นลักขณูปนิชณาน

วิธียกระดับจิตใจ

ความชั่วอะไรที่ยังไม่ละก็ละเสีย อย่าไปทำชั่วซ้ำขึ้นมาอีก ความดีอะไรยังไม่ทำก็ทำเสีย ความดีอะไรที่ทำแล้วก็รักษาเอาไว้ ไม่หลงโลก แบ่งเวลาไว้ภาวนาทุกวันๆ เจริญสติ สมาธิ ปัญญาไป ใจเราก็สูงๆๆ ขึ้นไปเรื่อยเป็นลำดับไป จนถึงโลกุตตระ

กรรมฐานไม่เลือกกาลและสถานที่

การทำกรรมฐาน ไม่เลือกสถานที่ ไม่เลือกเวลา เมื่อไรมีสติระลึกรู้รูปธรรมนามธรรมที่กำลังปรากฏ ด้วยจิตที่ตั้งมั่น คือมีสัมมาสมาธิ แล้วก็เป็นกลาง เมื่อนั้นเราเดินปัญญาอยู่ เมื่อไรเรามีสติระลึกรู้อารมณ์อันเดียวอยู่ อันนั้นก็ภาวนาเหมือนกัน แต่เป็นระดับสมถกรรมฐาน ไม่ถึงวิปัสสนา

รักษาศีล ฝึกสมาธิ เจริญปัญญา

ลงมือปฏิบัติจริงๆ ทิ้งไม่ได้เรื่องศีล เรื่องสมาธิ เรื่องปัญญา ศีลต้องรักษา สมาธิต้องฝึก ปัญญาต้องเจริญ ถ้าเราทำอย่างนี้เราก็จะค่อยๆ มีปัญญา เห็นความจริงของธาตุของขันธ์เป็นลำดับๆ ไป พอเราฝึกรักษาศีลให้ดี สมาธิมันก็ฝึกง่าย ศีลเสียสมาธิก็ไม่มี แตกหมด

เริ่มต้นจนถึงสัมมาวิมุตติ

เราต้องฝึกมีความคิดก็ถูก มีความเห็นถูก มีความคิดถูก มีคำพูดถูก มีการกระทำถูก มีการเลี้ยงชีวิตถูก แล้วก็ลงมือภาวนา มีเป้าหมายที่ถูก ลดละกิเลสเจริญกุศล จะลดละกิเลสเจริญกุศลได้ ต้องมีสติ ระลึกรู้กาย ระลึกรู้ใจไป พอมีสติถูกต้อง สมาธิที่ถูกต้องหรือตัวผู้รู้ จิตที่เป็นผู้รู้คือจิตที่มีสมาธิที่ถูกต้องมันจะเกิดขึ้นเอง อาศัยสติที่บริบูรณ์ จะทำให้สัมมาสมาธิเจริญขึ้นมาบริบูรณ์ได้ พอจิตเราตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้ว สติระลึกรู้รูป รู้นาม จะเห็นแต่ไตรลักษณ์ พอเห็นอย่างแท้จริง เรียกว่าเราเจริญในญาณทัศนะที่ถูกแล้ว ทำวิปัสสนาญาณอยู่ถูกต้องเรียกสัมมาญาณะ ตัววิปัสสนาญาณนั่นล่ะ สุดท้ายอริยมรรคอริยผลมันก็เกิด สัมมาวิมุตติเกิดขึ้น นี่คือเส้นทาง

มีสติอยู่กับปัจจุบัน

จิตไม่อยู่กับปัจจุบัน จิตมัวแต่ระลึกชาติ คิดถึงเรื่องเก่าๆ ที่เคยผ่านมาแล้ว หรือจิตคำนึงไปถึงอนาคต กังวลในอนาคตจะทำอย่างไรๆ กลัวความทุกข์ในอนาคต หรืออยากมีความสุขในอนาคต จนลืมกลัวความทุกข์ในปัจจุบัน ลืมที่จะรู้จักความสุขในปัจจุบัน ห่วงอนาคตจนทิ้งปัจจุบัน อนาคตมันเหมือนความฝัน ปัจจุบันมันเป็นความจริง มัวแต่ห่วงความฝันแล้วทิ้งความจริง ไม่จัดว่าฉลาด

มีสติรู้เท่าทันจิตใจตัวเอง

อาศัยมีสติรู้พฤติกรรมของจิตตัวเองเรื่อยๆ ไป เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวดี เดี๋ยวชั่ว รู้ไป จิตไม่เป็นกลาง ยินดียินร้ายขึ้นมา ยินดีต่อความสุข ยินร้ายต่อความทุกข์ ยินดีต่อกุศล ยินร้ายกับอกุศล รู้ทัน จิตจะเป็นกลางด้วยสติ พอรู้เรื่อยๆ ไป ต่อไปก็เป็นกลางด้วยปัญญา รู้ว่าสุขหรือทุกข์ ดีหรือชั่ว เสมอภาคกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ พอเป็นกลางด้วยปัญญา จิตจะหมดความดิ้นรนปรุงแต่ง จิตจะพ้นจากภพ แล้วสัมผัสพระนิพพาน

Page 28 of 45
1 18 19 20 21 22 23 24 25 26 27 28 29 30 31 32 33 34 35 36 37 38 45