รู้ทุกข์ไว้

รู้ทุกข์ไว้ อะไรคือทุกข์ กาย จิตคือทุกข์ รู้อย่างไร รู้อย่างที่มันเป็น รู้กายอย่างที่กายเป็น คือเป็นอะไร เป็นไตรลักษณ์ รู้จิตอย่างไร รู้จิตอย่างที่จิตเป็น จิตเป็นอย่างไร จิตเป็นไตรลักษณ์ จะรู้กายรู้จิตว่าเป็นไตรลักษณ์ได้ ไม่หลง ไม่ลืมกายลืมใจ ไม่หลงไปอยู่ในโลกของความคิดความฝัน แล้วก็ไม่บังคับแทรกแซงกาย แทรกแซงจิต เรียกว่ารู้กายอย่างที่กายเป็น รู้จิตอย่างที่จิตเป็น ไม่ลืมกาย ไม่ลืมจิต แล้วก็ไม่ไปแทรกแซงให้มันผิดจากความเป็นจริง หัดรู้ไปเรื่อยๆ หัดรู้อย่างไร หัดหมายรู้ ถ้าหมายรู้ถูก ต่อไปความคิดมันก็จะถูก เมื่อความคิดถูก ความเห็นมันก็จะถูก ความเห็นถูกเขาเรียกว่าสัมมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐินั่นล่ะ เกิดขึ้นเมื่อไร อวิชชาตายไปแล้วเมื่อนั้น พออวิชชาตายไปแล้ว อาสวะก็ย้อมจิตไม่ได้ ชาติภพอะไร มันก็ไม่สามารถก่อตัวขึ้นที่จิตได้แล้ว ภพชาติไม่ได้ก่อตัวที่อื่นเลย มันก่อตัวที่จิตนี้ล่ะ เมื่อจิตยังไม่รู้แจ้งเห็นจริง ภพชาติก็ก่อตัวขึ้นได้ ด้วยกำลังของอาสวะ

ทำบุญให้เป็น

พระพุทธเจ้าท่านบอก “จิตที่ไม่ประกอบด้วยกิเลส สุคติก็เป็นอันหวังได้” อย่างการทำทาน การช่วยเหลือคนอื่นอะไรอย่างนี้ เขาทำโดยที่ไม่หวังผลตอบแทน เป็นบุญที่สูง อย่างถ้าเราจะทำบุญสักอย่าง เราก็ยกมือจบเหนือหัว เจ้าประคุณที่บริจาคทรัพย์ครั้งนี้ ขอให้เกิดมาเมื่อไรก็รวยเมื่อนั้น ชาตินี้ก็ขอให้รวยๆๆๆ นี่เจือด้วยกิเลส ทำบุญแบบนี้ได้บุญเล็กน้อยเท่านั้นล่ะ ไม่ได้บุญเยอะหรอก เพราะว่าทำบุญไปด้วยทำบาปไปด้วย เราจะทำบุญ ทำให้มันบริสุทธิ์จริงๆ ทำไปแล้วต้องลดละความเห็นแก่ตัวให้ได้ จับหลักตัวนี้ไว้ เพราะฉะนั้นต่อไปนี้หัดทำบุญให้เป็น ทำบุญให้เป็นไม่ต้องจ่ายเงินก็ได้ อย่างเราเห็นใครเขาดี เราก็ดีใจกับเขาด้วย คนนี้เขาทำความดีเราดีใจกับเขา

รูปนามคือตัวทุกข์

แต่เดิมหลวงพ่อภาวนา หลวงพ่อก็คิดว่าความทุกข์เป็นสิ่งที่แปลกปลอมเข้ามาชั่วครั้งชั่วคราว ถ้าเราไม่ไปยึดไปถือ เราก็ไม่ทุกข์ด้วย มันทุกข์เพราะเราไปยึดขันธ์ 5 ถ้าเราไม่ยึดขันธ์ 5 เราก็ไม่ทุกข์ พอภาวนาละเอียดขึ้นไปพบว่าไม่ใช่ ที่คิดว่าใช่มันไม่ใช่เสียแล้ว เดิมคิดว่าขันธ์ 5 มันเป็นตัวกลางๆ แต่พอจิตเราเข้าไปหยิบฉวยขันธ์ 5 ขึ้นมา จิตเลยทุกข์ พอภาวนาไปเรื่อยๆ ก็เห็นความจริง รูปนั่นล่ะคือตัวทุกข์ ทุกข์โดยตัวของมันเอง เราจะเข้าไปยึดถือหรือไม่ยึดถือ รูปก็คือตัวทุกข์ นามธรรมก็คือจิตเรานี้ เราจะยึดถือหรือไม่ยึดถือ จิตนั้นก็คือตัวทุกข์ พอรู้แจ้งเห็นจริงว่ารูปคือตัวทุกข์ จิตถึงจะปล่อยวางรูป เรียกรู้ทุกข์แจ่มแจ้ง ก็ละสมุทัยได้

กรรมใหม่เป็นตัวชี้ขาด

ตัวชี้ขาดของเราที่ต้องพัฒนาให้ดีเลยคือกรรมใหม่ กรรมเก่ามันแก้อะไรไม่ได้แล้ว มันทำไปแล้ว จบไปแล้ว ถ้ามีกรรมเก่าที่ดีก็รับผลดีไป กรรมเก่าไม่ดีก็รับผลไม่ดีไป ถึงเราได้รับผลที่ไม่ดี บางคนรูปร่างดูไม่ได้เลย แต่ทำไมคนรักใคร่ คนชอบที่จะอยู่ใกล้ๆ ครูบาอาจารย์บางองค์รูปร่างท่านไม่งาม กิริยาท่าทางก็ไม่งาม แต่ทำไมคนอยากอยู่ใกล้ๆ เทวดาก็อยากอยู่ใกล้ๆ เพราะจิตใจท่านงาม ที่จิตใจท่านงามได้ เพราะกรรมใหม่ท่านดี ตั้งอกตั้งใจทำทาน รักษาศีล ภาวนา ทำทุกวันๆ เพราะฉะนั้นระหว่างกรรมใหม่กับกรรมเก่า กรรมใหม่สำคัญที่สุด มันอยู่ในปัจจุบัน กรรมเก่าทำไปแล้ว มันแก้ไม่ได้ แก้ไม่ได้ก็ปล่อยมันไป เพียงแต่ว่าเราอย่าไปทำกรรมชั่ว ซ้ำขึ้นในปัจจุบันนี้เท่านั้นล่ะ แล้วพยายามรักษาศีลของเราไว้ให้ดี เจริญสมาธิ ฝึกของเราทุกวัน บางคนไม่เคยฝึกมาก่อน สงบยาก สงบยากก็ช่างมัน ก็ฝึกทุกวัน

ธัมมวิจยะ

คำว่า “กายในกาย” “เวทนาในเวทนา” “จิตในจิต” “ธรรมในธรรม” เป็นศัพท์เฉพาะ “กายในกาย” “เวทนาในเวทนา” “จิตในจิต” “ธรรมในธรรม” เป็นการเรียนแบบทำงานวิจัย สุ่มตัวอย่างมา สุ่มตัวอย่างของรูปธรรม สุ่มตัวอย่างของนามธรรมบางอย่างมาเรียนรู้ มันคือเหมือนกับงานวิจัยปัจจุบันนี้ล่ะ สุ่มตัวอย่างมาศึกษา ตัวอย่างนั้นพระพุทธเจ้าท่านเลือกไว้ให้แล้วอยู่ในสติปัฏฐาน ไปดูเอา
นี้คือการเรียนแบบทำวิจัย เรียกว่า “ธัมมวิจยะ” ฉะนั้นธรรมะสำหรับคนคนหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องเรียนเยอะๆ อะไร สภาวะอันใดที่เรารู้ได้ชัด รู้ได้บ่อย เอาอันนั้นเป็นอารมณ์กรรมฐานของเรา

ความว่างของธาตุทั้ง 6

เวลาเราจะภาวนา เราก็นั่งปรุงแต่งไป ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมด เวลาภาวนาจะอยากปฏิบัติก็จะไปสร้างภพของนักปฏิบัติขึ้นมา ภพก็คือความปรุงแต่ง ไปแต่งจิตให้มันนิ่งๆ ทื่อๆ อะไร หรือบังคับกาย บังคับใจ นั่นคือความปรุงแต่งทั้งหมดเลย ถ้าตราบใดที่เรายังหลงอยู่ในโลกของความปรุงแต่ง เราจะไม่เห็นความว่างของธาตุทั้ง 6 จะไม่เห็นความว่างของร่างกายซึ่งประกอบด้วยธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ตั้งอยู่ในช่องว่าง คืออากาศธาตุ เราจะไม่เห็นว่าจิตใจมันก็เป็นธาตุ เป็นธาตุรู้ เพราะความปรุงแต่งนั้นเป็นเครื่องพะรุงพะรังออกมาปิดบังความว่างเอาไว้ อย่างอากาศ จักรวาลนี้มันว่าง เมฆมันลอยมา เราก็รู้สึกฟ้ามันมืด วันนี้ฟ้ามันทึบ ฟ้าไม่ได้มืด ฟ้าไม่ได้ทึบ ฟ้าก็เป็นอย่างนั้นล่ะ แต่เมฆมันมาบัง จิตนี้ก็เหมือนกัน โดยตัวมันมันว่างอยู่แล้ว แต่เมฆหมอก คือความคิดนึกปรุงแต่งเข้ามาบดบังญาณทัสสนะของเราเลยเห็นผิดไป เห็นผิด ความปรุงแต่งก็เลยปิดบังความว่างเอาไว้

นิวรณ์ 5

ถ้าเราพยายามอดทนฝึกให้จิตเรามีสมาธิ ทำกรรมฐานไป รู้จักเลือกอารมณ์ที่อยู่ด้วยแล้วมีความสุข อารมณ์นั้นไม่ยั่วให้เกิดกิเลส ทีแรกมันก็ฟุ้งซ่าน แล้วทำทุกวันๆ ต่อไปมันก็สงบลงมา เวลามันสงบมันก็ข่มนิวรณ์ได้ เวลาจิตไม่มีกำลังไม่สงบ ก็ถูกนิวรณ์เข้ามาข่มจิต ก็ยิ่งฟุ้งซ่านมากกว่าเก่าอีก เพราะฉะนั้นต้องอดทน ในช่วงแรกๆ ของการปฏิบัติ ตั้งใจรักษาศีลไว้แล้วก็อดทน เราจะต้องต่อสู้กับนิวรณ์ 5 ตัว นิวรณ์โดยตัวศัพท์ของมัน ก็หมายถึงสิ่งซึ่งคอยมาขัดขวาง การทำคุณงามความดีทั้งหลาย นั่นละเรียกว่านิวรณ์ ฉะนั้นเวลามีสิ่งมาขัดขวางคุณงามความดีในใจเรา ก็เรียกว่ามีนิวรณ์เกิดขึ้นแล้ว ทีแรกเราก็ยังมีนิวรณ์ทุกคน ก็ต้องอดทนภาวนาทำไปเรื่อยๆ มันคงไม่ชั่วตลอดชาติหรอก

อนุสติ 10

กรรมฐานที่ไม่มีโทษไม่มีภัยแล้วก็ไม่ยากเกินไป
เรื่องของสมถกรรมฐาน คือเรื่องของอนุสติ อนุสติ 10 ข้อ
จะทำพุทธานุสติ ก็ต้องคิดถึงคุณของพระพุทธเจ้า ธัมมานุสติ ก็คิดถึงคุณของพระธรรม สังฆานุสติก็คิดถึงคุณของพระสงฆ์
เทวตานุสติ ก็คิดถึงธรรมะที่ทำให้คนเป็นเทวดา

จาคานุสติ อย่างเราได้บริจาคทาน
ถ้าทำทานก็ทำด้วยใจที่บริสุทธิ์ ทำด้วยเสียสละ ทำเพราะเห็นว่าสมควรจะทำ
สีลานุสติ นึกถึงศีลที่เราตั้งใจรักษามาดีแล้ว
มรณานุสติ คิดถึงความตายบ้าง คิดถึงความตายบ่อยๆ วันละหลายๆ รอบยิ่งดี
กายคตาสติ พิจารณาลงในร่างกาย ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ไล่ลงไปทีละส่วนๆ
อีกตัวหนึ่งคืออานาปานสติ
มีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้าเรื่อยๆ ไป

แสวงหาธรรมะ

ตอนนี้คนจีนมาที่นี่เยอะมาก เขามาไกลจากเมืองจีน ถามว่ามาทำอะไร มาแสวงหาธรรมะ แล้วจะเจอไหม ไม่เจอหรอก ธรรมะไม่ได้อยู่เมืองไทย ธรรมะไม่ได้อยู่ที่วัดสวนสันติธรรม ธรรมะไม่ได้อยู่ที่หลวงพ่อ ถ้ามาแสวงหาธรรมะที่หลวงพ่อ ก็ยังแสวงหาออกนอกอยู่ อยากเข้าใจธรรมะจริงๆ ให้ค้นคว้าเข้าไปในกายในใจของตัวเอง อย่าให้เกินร่างกายออกไป เรียนรู้ลงไปเรื่อยๆ เรียนกรรมฐานไม่ใช่เรียนที่อื่น ไม่ใช่มารอรับธรรมะจากหลวงพ่อ ไม่ใช่รอมาวัด ธรรมะไม่ได้อยู่ที่หลวงพ่อ ธรรมะไม่ได้อยู่กระทั่งกับพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า ท่านจะตรัสรู้หรือไม่ตรัสรู้ ธรรมะก็มีอยู่แล้ว ฉะนั้นธรรมะเป็นของประจำโลกอยู่แล้ว ไม่ได้อยู่ที่ใคร อยู่ที่เราจะต้องฝึกจิตใจตัวเองให้เห็นธรรมะ ไม่ใช่ทำให้ธรรมะเกิดขึ้นหรอก ฝึกจนกระทั่งเห็นความจริง สูงสุดนั้นก็คือตัวอริยสัจ 4 ตราบใดที่ไม่รู้อริยสัจ 4 เรายังไม่พ้นการเวียนว่ายตายเกิดหรอก

Page 4 of 43
1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12 13 14 43