ลงมือปฏิบัติเสียแต่วันนี้

ธรรมะที่พระศรีอาริย์สอนกับที่พระพุทธโคดมสอนก็อันเดียวกัน ถ้ายุคนี้เหลวไหลก็สะสมนิสัยเหลวไหลไปจนถึงยุคข้างหน้า ไปเจอพระศรีอาริย์มันก็เหลวไหลต่อไปอีก มันผ่านพระพุทธเจ้าเป็นจำนวนมาก ก็ไม่หายเหลวไหล ถ้าเราไม่อยากเหลวไหล โอกาสที่จะเจอศาสนาพุทธจริงๆ หายากมาก วันเวลาที่มีพระพุทธศาสนาสั้นนิดเดียวเทียบกับเวลาที่ไม่มี เพราะฉะนั้นในขณะนี้ถือว่าเราเป็นพวกมีบุญพอสมควร รีบมาต่อยอดตัวเองศึกษาปฏิบัติธรรมให้มาก จะศึกษาปฏิบัติธรรมต้องรู้ก่อนว่าเราปฎิบัติไปเพื่ออะไร ปฏิบัติธรรมะเพื่อความดับสนิทแห่งทุกข์ เพื่อจะพ้นทุกข์ ไม่ใช่เพื่อความร่ำรวย

สติทำให้เกิดสมาธิและปัญญา

ต้องฝึกสติให้ถูก ให้เป็นสัมมาสติจริงๆ ร่างกายเคลื่อนไหว รู้สึก จิตใจเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง รู้สึก หัดรู้สึกเรื่อยๆ อย่างจิตเราหลงไปคิด เรามีสติรู้ เฮ้ย หลงคิดแล้ว มีคำว่า “แล้ว” ด้วย เพราะเวลาที่จิตหลงคิด ไม่มีสติอยู่แล้ว สติมาเกิดทีหลัง ตรงที่จิตมันจำสภาวะหลงคิดได้ พอจิตมันหลงคิดไป แล้วจิตมันจำได้ เฮ้ย สภาวะอย่างนี้ จิตที่ไหลๆ ออกไปอย่างนี้ มันหลง นี่มันหลงไปคิดแล้ว จิตมันจำสภาวะได้ สติเกิดปั๊บขึ้นมา สภาวะหลงคิดดับทันทีเลย สภาวะตั้งมั่นคือสัมมาสมาธิ ก็เกิดขึ้นทันที มีสติที่ถูกต้องก็จะมีสมาธิที่ถูกต้อง นี่ล่ะถ้าเราเจริญสติ อันแรกที่เราได้คือสติ อันที่สอง สมาธิ อันที่สาม ของสำคัญคือเราจะได้ปัญญา ปัญญาคือความรู้ถูกความเข้าใจถูก

ของถูกรู้ถูกดูไม่ใช่ตัวเรา

จุดสำคัญก็คือ เราจะต้องฝึกจิตให้ตั้งมั่นขึ้นมาให้ได้ ถ้าจิตเราตั้งมั่นแล้ว สติระลึกรู้ร่างกาย ก็จะเห็นว่าร่างกายถูกรู้ถูกดูไม่ใช่ตัวเรา ถ้าจิตเราตั้งมั่นแล้วสติระลึกรู้เวทนาคือความรู้สึกสุขทุกข์ ก็จะเห็นว่าความสุขความทุกข์ไม่ใช่ตัวเราของเรา ถ้าจิตเราตั้งมั่นอยู่ สติระลึกรู้กุศลอกุศล อย่างโลภโกรธหลง มันก็จะเห็น กุศลอกุศลโลภโกรธหลงอะไรไม่ใช่ตัวเรา นี่เราฝึกมากเข้ามากเข้า เราก็จะเห็นว่าบางครั้งจิตก็เป็นผู้รู้ บางครั้งจิตก็เป็นผู้หลง จิตที่เป็นผู้รู้มันก็ถูกรู้ จิตที่เป็นผู้หลงมันก็ถูกรู้ สุดท้ายกระทั่งจิตก็ไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเรา

อุปาทาน 4

สำหรับคนที่ภาวนาที่จะไปมรรคผลนิพพาน จะมีอุปาทาน 4 ข้อ กามุปาทาน ความยึดในกาม ทิฏฐุปาทาน ความยึดในมิจฉาทิฏฐิ อัตตวาทุปาทาน ความยึดในวาทะ ในความเห็น ในความเชื่อ ว่าตัวตนมีอยู่จริงๆ อีกอันหนึ่งคือสีลัพพตุปาทาน ยึดในข้อประพฤติข้อปฏิบัติ ต้องทำอย่างนี้ ถึงจะดี อย่างอื่นไม่ดี อันนี้สำหรับคนที่จะไปนิพพาน เขาเลยต้องพิจารณาอันนั้น

วิธีปล่อยวาง

พอเราเดินปัญญาจริงๆ จิตเราก็จะเป็นกลางต่อสุขและทุกข์ ต่อดีและชั่ว สุดท้ายเราก็ปล่อยวาง เห็นความไม่ได้สาระแก่นสารก็วาง เพราะฉะนั้นการที่เราจะปล่อยวางรูปธรรมนามธรรมได้ เราต้องเดินวิปัสสนา ดูไตรลักษณ์ของรูปธรรมของนามธรรม ดูแล้วดูอีก ไม่ใช่คิดเอาเองว่ามันเป็นไตรลักษณ์ ต้องรู้สึกเอา ต้องดูจนซาบซึ้งถึงอกถึงใจ ถึงจะปล่อยวางได้

ธรรมะคือความจริง

ธรรมะคือความจริง ความจริงขั้นที่หนึ่งก็คือ ทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาสู่ความรับรู้ของเรา อยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับทั้งสิ้น ความจริงระดับกลางก็คือ ร่างกายนี้ไม่ใช่ของดีหรอก ร่างกายนี้คือทุกข์ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย ความจริงขั้นสูงก็คือ จิตใจนั่นล่ะมีแต่ทุกข์ ทุกข์มากกับทุกข์น้อย ตรงที่เห็นทุกข์เรียกว่าเรารู้ทุกข์ ถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้ง กายนี้ทุกข์ ใจนี้ทุกข์ ความยึดถือในกายในใจก็ไม่มี ความอยากให้กายให้ใจเป็นสุข ความอยากให้กายให้ใจไม่ทุกข์ ก็ไม่มี นี่รู้ทุกข์ก็ละความอยากได้ เรียกรู้ทุกข์แล้วละสมุทัยได้

พระพุทธเจ้าให้รู้ทุกข์

คำสอนของพระพุทธเจ้าจะอยู่ในกฎของคำว่า ให้รู้ทุกข์ รู้กายอย่างที่กายเป็น รู้ใจอย่างที่ใจเป็น รู้ไปเรื่อยๆ จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน คอยรู้สึกตัวไว้ ร่างกายที่ทำไมต้องยืน ต้องเดิน ต้องนั่ง ต้องนอน ต้องเปลี่ยนอิริยาบถ ต้องหายใจเข้า ต้องหายใจออก ทำไมมันต้องกินข้าว ทำไมมันต้องขับถ่าย ทำไมมันต้องดื่มน้ำ ทำไมต้องปัสสาวะ เพื่อหนีทุกข์ไปเรื่อยๆ เพราะในความเป็นจริงแล้ว มันถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราเห็นความจริง กายนี้คือทุกข์ ใจนี้คือทุกข์ ไม่ใช่ของวิเศษหรอก เราอาศัยมันชั่วครั้งชั่วคราว ไม่ยึดถือ เราก็จะไม่ทุกข์เพราะกายเพราะใจ

จุดตั้งต้นของการปฏิบัติ

จุดตั้งต้นของการปฏิบัติต้องรู้สึกตัวให้ได้ก่อน ถ้าไม่รู้สึกตัวปฏิบัติไม่ได้จริง ได้อย่างมากก็ได้สมาธิชนิดสงบอยู่เฉยๆ เผลอๆ เพลินๆ ความรู้สึกตัวเป็นธรรมะสำคัญ ขนาดพระพุทธเจ้าท่านบอก ท่านไม่เห็นธรรมะอะไรสำคัญเท่าความรู้สึกตัวเลยในการที่จะเอาชนะกิเลส มันประหลาด เราทุกคนรักตัวเองที่สุด แต่เราลืมตัวเองบ่อยที่สุด เราสนใจคนอื่น สนใจสิ่งอื่น ตลอดเวลา ไม่ได้สนใจตัวเอง ทั้งๆ ที่รักที่สุด พอเราไม่สนใจตัวเอง จิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ไม่มีความรู้สึกตัว เราก็ไม่สามารถเรียนรู้กายรู้ใจของตัวเองได้ ถ้าไม่สามารถเรียนรู้กายรู้ใจของตัวเองได้ โอกาสที่จะปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในกายในใจก็ไม่มี ปล่อยไม่ได้ก็ไม่พ้นทุกข์ เพราะกายกับใจนั้นคือตัวทุกข์

เส้นทางที่ลัดสั้น

เราภาวนา เข้ามาให้ถึงจิตถึงใจตัวเองให้ได้ จะรักษาศีลก็รู้เท่าทันจิต เวลาจิตฟุ้งซ่านให้เรารู้ว่าฟุ้งซ่าน แล้วมันสงบเอง เพราะอะไรฟุ้งซ่านเป็นกิเลส ทันทีที่มีสติกิเลสดับเลย จิตไม่ฟุ้งซ่าน จิตก็ตั้งมั่นจิตก็สงบ อาศัยการที่เรามีสติคอยรู้ทันจิตใจตัวเอง กิเลสครอบงำจิตไม่ได้ก็ไม่ผิดศีล กิเลสครอบงำจิตไม่ได้ก็มีสมาธิขึ้นมา อ่านจิตอ่านใจไปเรื่อย จิตเดี๋ยวก็ดีเดี๋ยวก็เลว เดี๋ยวก็สุขเดี๋ยวก็ทุกข์ รู้เท่าทันไปเรื่อยๆ สุดท้ายมันก็ได้มรรคได้ผล ตั้งแต่ขั้นต้นเห็นเลยจิตไม่ใช่เรา โลกไม่ใช่เรา ขันธ์ 5 ไม่ใช่เรา ในขั้นสุดท้ายที่จะแตกหักข้ามภพข้ามชาติ จะเห็นเลยจิตนั่นล่ะคือตัวทุกข์ ขันธ์ 5 คือทุกข์ โลกทั้งหมดคือตัวทุกข์ เรียกว่าเรารู้ทุกข์แจ่มแจ้ง ก็เป็นอันละสมุทัย เกิดสัมผัส เข้าไปสัมผัส เข้าไปรู้เข้าไปเห็นพระนิพพาน เกิดอริยมรรคขึ้น นี้เป็นเส้นทางที่เราจะเดิน เป็นเส้นทางที่ลัดสั้นมากเลย ตัดตรงเข้ามาที่จิตตัวเอง แล้วบาปอกุศลทั้งหลายเราก็จะไม่ทำ กุศลทั้งหลายมันก็จะเจริญขึ้น

บุพพภาคมรรค

ต้องเจริญสติ เจริญปัญญาให้มาก ศีล สมาธิ ปัญญา ทำให้มาก ทำให้เจริญขึ้น ก็คือการปฏิบัติตามองค์มรรคนั่นล่ะ เมื่อปฏิบัติมากเข้าๆ ต่อไปเราก็รู้ทุกข์ การที่เราคอยรักษาศีลไว้เป็นพื้นฐาน
ฝึกจิตให้ตั้งมั่น ให้จิตมีกำลัง จิตมีกำลัง จิตต้องสงบแล้วก็ตั้งมั่น แล้วก็เจริญปัญญา เรียนรู้ความจริงของกายของใจ ความจริงของกายของใจคือไตรลักษณ์ ไม่ใช่เรื่องอื่น เราเจริญอยู่ในแนวทางของมรรค ตรงนี้ไม่ใช่อริยมรรค การที่เราปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา ยังไม่ใช่อริยมรรค เรียกบุพพภาคมรรค คือเป็นเบื้องต้นของอริยมรรค เป็นจุดตั้งต้นของอริยมรรค ฉะนั้นเราก็พัฒนาศีล สมาธิ ปัญญาไป ปัญญาคือการเรียนรู้ความจริงของตัวทุกข์ เรียนรู้ความจริงของกาย เรียนรู้ความจริงของจิต ก็เรียนรู้ไปเรื่อยๆ จะเห็นความจริงของกายของจิต

Page 1 of 3
1 2 3