วิปัสสนาปัญญา

ไปทำให้นิ่งๆ เฉยๆ อยู่ ไม่ล้างกิเลสหรอก ตกเป็นเครื่องมือของกิเลสอีก ตัวที่จะสู้กิเลสล้างกิเลสได้จริงคือตัวปัญญา ตัวความรู้ถูกความเข้าใจถูก พระพุทธเจ้าบอกบุคคลถึงความบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา ปัญญาก็คือเห็นไตรลักษณ์นั่นล่ะ ถึงจะเป็นปัญญาระดับที่สู้กิเลสได้ เรียกว่าวิปัสสนาปัญญา ถึงจะสู้กิเลสได้จริง วิปัสสนะ แปลว่า การเห็น เห็นอย่างถูกต้อง วิ แปลว่าเห็นแจ้ง แปลว่าแจ่มแจ้ง ปัสสนะ แปลว่าการเห็น เห็นอย่างแจ่มแจ้ง เห็นกายเป็นไตรลักษณ์ เห็นจิตใจเป็นไตรลักษณ์ นั่นล่ะเรียกว่าเห็นแจ่มแจ้ง อันนั้นล่ะถึงจะเป็นวิปัสสนา

มรรค คือศีล สมาธิ ปัญญา

งานกรรมฐานเป็นงานฝึกจิตใจ เบื้องต้นก็ฝึกจิตใจให้มันอยู่ …

Read more

ไม่ต้องแสวงหาความว่าง

เราได้ยินคำว่า “ว่างๆ” อย่ามาว่าง พยายามรู้ พยายามดูกายอย่างที่กายเป็น ดูจิตอย่างที่จิตเป็นไป เดี๋ยววันหนึ่งก็จะเห็น กายก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ จิตก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ สิ่งที่มันไม่เที่ยง มันก็เป็นทุกข์ สิ่งที่มันเป็นทุกข์ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรยึดถือ จิตมันก็หมดความยึดถือ มันก็เป็นอิสระขึ้นมา ไม่ต้องโหยหาความว่าง ไม่ต้องแสวงหาความว่าง ยิ่งแสวงหา ยิ่งไม่เจอ เรียนรู้กาย เรียนรู้ใจ ให้เห็นความเป็นไตรลักษณ์ของกายของใจไป ถึงวันที่วัฏฏะมันถล่มลงไป เดี๋ยวมันว่างเอง กายใจก็คือตัวโลก ว่าง ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา เป็นปรากฏการณ์เกิดดับ หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย มีเกิด มีดับ

ทุกสิ่งเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

ถ้าใจเราเข้าใจความจริงตรงนี้ ใจจะค่อยๆ คลายออกจากโลก อย่างร่างกายเรามันก็เปลี่ยนแปลงทุกวัน จิตใจเราเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เฝ้ารู้เฝ้าดู โลกข้างนอกก็เหมือนกัน ก็เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เดี๋ยวก็ปีหนึ่งๆ หนึ่งปีผ่านไป โลกข้างนอกก็เปลี่ยนไป ร่างกายเราก็เปลี่ยนไป จิตใจเราก็เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ วุ่นวายไปเรื่อยๆ ถ้าคนไหนทำกรรมฐาน 1 ปีผ่านไป จิตใจเราก็สงบ ตั้งมั่น แข็งแรงมากขึ้น ถ้าตามใจกิเลส 1 ปีผ่านไป จิตใจก็ยิ่งลำบากมากขึ้น ไม่มีอะไรคงที่ ชั่วหรือดีก็ไม่คงที่เหมือนกัน

เรียนรู้ให้เห็นความจริง เราไม่ได้มุ่งไปที่ความดี ความสุข ความสงบอะไรหรอก เพราะความดีไม่เที่ยง ความสุขไม่เที่ยง ความสงบไม่เที่ยง เราทำกรรมฐานเพื่อให้จิตมันเห็นความจริง ป้อนความจริงไว้ให้จิตดู ความจริงของร่างกายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ความจริงของจิตใจก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แม้แต่โลกภายนอกก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ป้อนข้อมูลที่ดีๆ อย่างนี้ ข้อมูลที่ประกอบด้วยไตรลักษณ์ ป้อนเข้าไปให้จิตมันเรียนรู้ไป พอมันรู้ความจริง เดี๋ยวมันก็วางโลกเอง โลกไม่มีอะไรนอกจากทุกข์

วิธีปฏิบัติ

การปล่อยวางกาย ปล่อยวางจิตนั้น ไม่มีใครสั่งให้จิตปล่อยวางได้ จิตมันปล่อยวางเอง เมื่อศีล สมาธิ ปัญญาของมันสมบูรณ์ ศีล สมาธิ ปัญญา จะสมบูรณ์ได้ อาศัยสติเป็นเบื้องต้น อาศัยความรู้เนื้อรู้ตัว สติสัมปชัญญะ คอยรู้สึกตัวไว้ อย่าใจลอย ฟุ้งซ่านไปทั้งวัน อาศัยธรรมะคู่นี้ แล้วศีล แล้วสมาธิ แล้วปัญญาของเราจะแก่รอบ พอศีล สมาธิ ปัญญาของเรา แก่กล้าขึ้นมาแล้ว จิตมันจะเห็นทุกข์เห็นโทษ มันยึดอะไรมันก็ทุกข์เพราะอันนั้น อย่างบางคนพระพุทธเจ้าท่านก็เคยสอน มีนาก็ทุกข์เพราะนา ก็ห่วง กลัวคนอื่นเขาจะมารุกที่นาเรา มีบ้านก็ทุกข์เพราะบ้าน เป็นห่วง เดี๋ยวปลวกมันจะกิน เดี๋ยวธนาคารจะมายึด มีรถยนต์ก็เป็นห่วงรถยนต์ มีลูกก็ห่วงลูก มีเมียก็ห่วงเมีย มีพ่อมีแม่ก็ห่วงพ่อห่วงแม่ มีอะไรก็ทุกข์เพราะอันนั้นทั้งหมดเลย

เราค่อยๆ สังเกตตัวเองเรื่อยๆ ไป ปัญญาของเราจะแก่กล้าเลย ยึดอะไรก็ทุกข์เพราะอันนั้น

เราเรียนรู้ความจริง ไม่มีอะไรหรอก มีแต่ทุกข์ทั้งนั้นเลย อย่านึกว่าชีวิตเราไม่ทุกข์ นั่งอยู่นี่ก็ทุกข์ หนาวก็ทุกข์ ร้อนก็ทุกข์ หิวก็ทุกข์ กระหายน้ำก็ทุกข์ ปวดอึ ปวดฉี่ก็ทุกข์ นั่งนานก็ทุกข์ เมื่อย ความทุกข์มันบีบคั้นเราอยู่ตลอดเวลาเลย เฝ้ารู้ลงไป ถ้าเราเห็นว่ากายนี้เป็นทุกข์ มีแต่ทุกข์ล้วนๆ ทุกข์มากกับทุกข์น้อย มันจะปล่อยวางกาย ถ้าเราเห็นว่าจิตมันเป็นทุกข์ เพราะความไม่เที่ยง เพราะถูกบีบคั้นให้แตกสลาย เพราะบังคับไม่ได้ รู้อย่างนี้แจ่มแจ้ง มันจะปล่อยวางจิต ตรงที่มันปล่อยวางจิตได้ ที่สุดของทุกข์อยู่ตรงนั้น

ปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรม

เรามีงานที่ยิ่งใหญ่ที่เราจะต้องทำ เราผ่านความยากลำบากมามากมายแล้ว จนกระทั่งได้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มีศรัทธา ได้เข้าใกล้ครูบาอาจารย์ ได้ฟังธรรม ทำชิ้นสุดท้ายของเราให้ดี ปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรม อย่างที่ว่ามาทั้งวันตั้งแต่เช้านี้ ฟังไม่ทันก็ไปดู YouTube เอา สักประเดี๋ยวเขาก็จะเอาไปขึ้นให้ฟังแล้ว ฟังแล้วฟังอีก ปกติสิ่งที่หลวงพ่อสอนแต่ละครั้ง เกือบทั้งหมด ธรรมะแต่ละกัณฑ์เกือบๆ ทุกๆ กัณฑ์ เกือบ ไม่ทั้งหมดหรอก กัณฑ์เดียวเรื่องเดียว พอจะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ เพราะสิ่งที่สอนไม่ได้มีการเก็บออม ซ่อนเร้น เคล็ดวิชาชั้นสูงเอาไว้ ไม่ได้ซ่อนไว้ ให้หมดแล้ว อยู่ที่เรารับได้แค่ไหนต่างหาก ไปทำเอา ชีวิตจะได้ร่มเย็นเป็นสุข

ขันธ์ 5 เป็นที่รองรับความทุกข์

ถ้าตัวเราไม่มี ก็ไม่มีที่รองรับความทุกข์อีกต่อไป เพราะสิ่งที่รองรับความทุกข์ไว้คือตัวขันธ์ 5 นั้น ย่อๆ ลงมาก็คือรูป นาม กาย ใจของเรา สังเกตดูความทุกข์ไม่อยู่ที่กายก็อยู่ที่ใจ ถ้ามันเห็นความจริง กายก็ไม่ใช่เรา ใจมันก็ไม่ใช่เรา ความทุกข์มันก็ไม่มีที่ตั้ง สุดท้ายภาวนาแล้วก็จะเข้าถึงสุญญตา คือเห็นมันว่าง ร่างกายนี้ก็ว่าง โลกข้างนอกก็ว่าง จิตก็ว่างเสมอกันหมด มันก็เข้าถึงความสงบสุข ยิ่งเราปล่อยวางความยึดถือในตัวในตนได้ ก็ยิ่งสบายยิ่งเบา ค่อยๆ ภาวนาไปเรื่อยๆ ทีแรกมันก็ละความเห็นผิดว่าขันธ์ 5 เป็นเรา สุดท้ายมันเห็นความจริงอย่างแจ่มแจ้งแล้ว มันก็หมดความยึดถือในขันธ์ 5

เห็นจิตเป็นไตรลักษณ์จึงปล่อยวางจิต

เราจะปล่อยวางจิตได้ ก็ต้องเห็นจิตเป็นไตรลักษณ์ ถ้าเราไม่ได้เห็นจิตเป็นไตรลักษณ์ มันไม่วางหรอก มันเหมือนที่เราปล่อยวางกาย เราเห็นกายมันตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา มันก็วาง จิตนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราไม่เห็นว่ามันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา มันก็ไม่วาง ถ้าเราเห็นแล้วมันถึงจะวาง เพราะฉะนั้นอย่างที่เรามาหัดดูจิตๆ เราก็จะมาเห็น จิตดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงหนึ่งดับไปทั้งวันทั้งคืน จิตสุขเกิดแล้วก็ดับ จิตทุกข์เกิดแล้วก็ดับ จิตดีเกิดแล้วก็ดับ จิตชั่วเกิดแล้วก็ดับ จิตทุกชนิดเกิดแล้วดับ จิตที่ไปดูเกิดแล้วก็ดับ จิตที่ไปฟังเกิดแล้วก็ดับ จิตที่ไปดมกลิ่น จิตที่ไปลิ้มรส จิตที่ไปรู้สัมผัสทางกาย เกิดแล้วก็ดับ จิตที่ไปคิดนึกทางใจ เกิดแล้วก็ดับ ตรงที่มันไปคิดนึกทางใจ ก็จะเกิดเป็นจิตสุขบ้าง จิตทุกข์บ้าง จิตดีบ้าง จิตโลภ โกรธ หลงบ้าง แต่จิตทุกชนิดนั้นเกิดแล้วดับ ถ้าเราเห็นอย่างนี้ถึงจุดหนึ่งมันจะวาง มันจะปล่อยวางจิตได้ ถ้าปล่อยวางจิตได้ มันก็ไม่มีอะไรให้ยึดอีกแล้ว

ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น

เราไม่ยึดเพราะเห็นทุกข์ ไม่เห็นทุกข์ก็ยังยึดอยู่นั่นล่ะ จะเห็นทุกข์ก็ต้องดูกาย มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง รู้ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง คือมีสมาธิที่ดี ตั้งมั่นและเป็นกลาง นี่เรื่องของสมาธิ สติเป็นตัวรู้ทันว่ามีอะไรเกิดขึ้นในกายในใจ แต่รู้ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง คือจิตที่ทรงสมาธิที่ถูกต้องอยู่ ปัญญามันถึงจะเกิด มีปัญญาก็ไม่ใช่เพื่อจะมีปัญญา มีปัญญาเพื่อจะได้เห็นทุกข์ แล้วจิตมันถึงจะปล่อยวางของมันเอง

Page 2 of 2
1 2