เจริญจิตตสิกขา

การที่เราจะมาฝึก ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วรู้ทันจิตตัวเอง เราจะได้ทั้งสัมมาสติ ได้ทั้งสัมมาสมาธิ คราวนี้พอเรามีสัมมาสติ มีสัมมาสมาธิ จิตมันจะตั้งมั่นเด่นดวง เห็นสภาวะ สักว่ารู้ว่าเห็น แต่แค่นี้ยังไม่พอ บางทีมันก็ไปเห็นทุกอย่างว่างหมดเลย แล้วจิตก็ติดอยู่ในว่าง ต้องมีการหมายรู้ที่ถูกด้วย ต้องมีสัญญาที่ถูกต้องด้วย ปัญญาที่แท้จริงถึงจะเกิดขึ้น ถ้าจิตไม่มีสัญญา จิตเดินปัญญาไม่ได้จริง ฉะนั้นเราจะต้องฝึก ให้เราได้องค์ธรรมเหล่านี้

ตั้งเป้าให้ถูก

เราทำวิปัสสนาไม่ใช่เพื่อความฉลาดรอบรู้ ทำวิปัสสนาเพื่อจะฉลาดรอบรู้ ธรรมะมากมาย จะได้เอาไปคุยอวดคนอื่น นั่นทำไปเพื่ออกุศลแล้ว เพราะฉะนั้นไม่ว่าเราจะทำทาน รักษาศีล เจริญปัญญา ทำทาน รักษาศีล ทำความสงบและเจริญปัญญา ก็ต้องลดละอกุศล เจริญกุศล ตั้งเป้าไว้ให้ถูก ถ้าเราภาวนาอย่างนี้จิตเราจะเดินเข้าสู่วิสุทธิ วิสุทธิเป็นองค์ธรรมที่ดี แต่เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์ เพื่อลดละกิเลส เพื่อเจริญกุศลทั้งนั้น ค่อยๆ ฝึก ถ้าเราภาวนาแล้วยังไม่ได้มุ่งไปที่ลดกิเลสตัวเอง ไม่ได้มุ่งไปที่เจริญกุศล ยังไม่เข้าร่องเข้ารอย ยังนอกรีตนอกรอยอยู่ ถ้าทำไปเพื่อละอกุศลเพื่อเจริญกุศล อันนั้นเข้าสู่ทางแห่งความบริสุทธิ์แล้ว จิตจะเดินไปในวิสุทธิทั้ง 7

หลักการปฏิบัติ

ถ้าจะทำสมถะ จะให้จิตได้พักผ่อน จะให้จิตมีเรี่ยวมีแรง เราก็ดูเราอยู่กับอารมณ์กรรมฐานอะไรแล้วมีความสุข เราก็อยู่กับอารมณ์อันนั้นล่ะ สงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง แต่ระลึกถึงอารมณ์อันนั้นไป ให้จิตใจเคล้าเคลียอยู่กับอารมณ์อันนั้นไป เดี๋ยวเดียวจิตก็จะสงบตั้งมั่น มีเรี่ยวมีแรงขึ้นมาได้ ค่อยๆ ฝึก หรือถ้าจะทำวิปัสสนาให้จิตรู้ความจริงเพื่อจะได้ปล่อยวางได้ ก็หลักมีนิดเดียวนั่นล่ะ มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง (ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง) ไม่หนีหลักนี้หรอก ใช้วิธีไหนก็เหมือนกัน

ละความเห็นผิดแล้วจึงละความยึดถือ

จุดแรกก็คือละความเห็นผิดว่ามีตัวมีตนได้ ถัดจากนั้นก็ฝึกปฏิบัติของเราไปเรื่อยๆ จนกระทั่งหมดความยึดถือในตัวในตน ทีแรกละความเห็นผิด ต่อไปก็ละความยึดถือได้ คนละชั้นกัน ละความเห็นผิดได้ก็เป็นพระโสดาบัน ละความยึดถือในกายได้ก็เป็นพระอนาคามี ละความยึดถือในจิตได้ก็เป็นพระอรหันต์ ที่สุดแห่งทุกข์ก็อยู่ตรงนั้น หมดความยึดถือกาย หมดความยึดถือจิต เพราะเห็นแจ้งแล้ว กายคือตัวทุกข์ จิตคือตัวทุกข์

ความรู้สึกตัวเป็นเรื่องสำคัญ

จุดสำคัญคือทำไปด้วยความรู้เนื้อรู้ตัว มีสติไว้ แล้วเวลาจิตมันรวม มันก็จะรวมลงไปด้วยความมีสติ กระทั่งโลกธาตุดับ ร่างกายหายไป ร่างกายกับโลกนี้จะหายไปพร้อมๆ กัน แล้วก็จิตไปอยู่ในความว่างๆ ก็ยังมีสติ ไม่ขาดสติตลอดสายของการปฏิบัติ นี่วิธีฝึก

ฉะนั้นความรู้สึกตัวเป็นเรื่องสำคัญ จะทำความสงบ ก็ต้องสงบแบบมีสติ ไม่ลืมเนื้อลืมตัว ถ้าจะเจริญปัญญา ก็ต้องไม่ลืมเนื้อลืมตัว ต้องรู้ตัวไว้ รู้สึก รู้ถึงความมีอยู่ของกายของใจตัวเอง อย่างเวลาเรานั่งสมาธิ บางทีร่างกายหายไป เหลือแต่จิตดวงเดียว ไม่คิดไม่นึกอะไร อันนั้นเอาไว้พักผ่อน ไม่ได้เดินปัญญา เดินปัญญา เรามีจิตที่ตั้งมั่นรู้เนื้อรู้ตัวแล้ว ให้จิตมันทำงานไป อย่าไปให้จิตติดนิ่งติดว่างอยู่ ให้จิตมันทำงานไปตามธรรมชาติ

จิตเกิดดับสืบเนื่องกันอย่างรวดเร็ว

เรามีสติเห็นตัวสภาวะ เห็นจิต แต่เราไม่มีปัญญา ที่จะแยกว่าจิตที่เกิดขึ้นนี้ มันเกิดดับสืบเนื่องกันอย่างรวดเร็ว สันตติขาด เราก็จะรู้ว่าจริงๆ จิตดวงหนึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ดวงใหม่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ดวงที่ใหม่กว่าเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เราจะเห็นมันเกิดดับๆๆ สืบเนื่องกัน ตัวนี้เรียกว่าเห็นอนิจจังของจิต แล้วมันก็ทำลายภาพลวงตา ที่เดิมเราคิดว่า โอ๊ย จิตมีดวงเดียว จิตคือตัวเราวิ่งไปวิ่งมา ออกไปเสพอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คราวนี้พอมันขาดออกเป็นตัวๆ ไป เป็นดวงๆ ไป เราจะพบว่ามันไม่ใช่ตัวเรา มันมีแต่ของที่เกิดแล้วดับ ไม่มีอะไรที่เป็นตัวตน เป็นอมตะ ถาวร ตรงนี้เป็นปัญญาชั้นละเอียดของเราชาวพุทธ

ธาตุ 6

ธาตุไม่ได้มีแค่ดิน น้ำ ไฟ ลม และอากาศธาตุ ยังมีวิญญาณธาตุอีกตัวหนึ่ง วิญญาณธาตุของสัตว์ทั้งหลาย มันไม่ได้สะอาดเหมือนดิน น้ำ ไฟ ลม แต่มันปนเปื้อนด้วยความปรุงแต่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มันปนเปื้อนด้วยกิเลส ฉะนั้นเราก็จะค่อยภาวนา เพื่อซักฟอกจนกระทั่งธาตุวิญญาณธาตุนี้ เข้าถึงความบริสุทธิ์หลุดพ้น หลุดพ้นจากอะไร หลุดพ้นจากความยึดมั่น ถือมั่นในสังขารทั้งปวง หลุดพ้นจากความยึดมั่นถือมั่นในสังขารทั้งปวง

วิปัสสนาไม่ดัดแปลงจิต

เราค่อยๆ ฝึก ฝึกตัวเอง ในขั้นวิปัสสนาไม่ต้องแก้ไขอะไร รู้ทุกอย่าง อย่างที่มันมี อย่างที่มันเป็น ยกเว้นตอนเริ่มต้น ถ้ามันไม่ยอมเดินปัญญา ต้องช่วยมันแก้ แก้ไขที่จิตติดนิ่ง ติดเฉย ก็พิจารณา พิจารณากาย พิจารณาจิตอะไรไป สมถะต้องทำ ต้องแก้ไข ส่วนมากอารมณ์กรรมฐานที่ใช้ทำสมถะ ก็จะเป็นอารมณ์ตรงข้าม เป็นปฏิปักษ์กับกิเลสหลักของเรา อย่างเราพวกโทสะเยอะ เจริญเมตตาไป ให้ใจร่มๆ ใจเย็นๆ ใจก็สงบ มีราคะพิจารณาปฏิกูลอสุภะไป ก็เห็นราคะไม่มี วัตถุกามไม่มีสาระแก่นสาร ราคะก็สงบ ใจก็ร่มเย็น

ปฏิบัติบูชา

การปฏิบัติบูชานั้น ไม่ใช่อยู่ที่กิริยาอาการภายนอก ที่สำคัญคือใจเราเคารพรักบูชาพระพุทธเจ้า หรือพระธรรม พระอริยสงฆ์จริงแค่ไหน รูปแบบภายนอกใครๆ ก็เดินได้ ถือดอกไม้ธูปเทียนเดินๆ ไป ก็บอกว่าเวียนเทียน แต่พวกเราเป็นนักปฏิบัติ เราไม่ได้เวียนเทียนโดยใช้แค่ดอกไม้ธูปเทียน อันนั้นมันเป็นอามิสบูชา มีก็ได้ ไม่มีก็ไม่สำคัญ

การปฏิบัติบูชาก็คือ พยายามฝึกจิตของเราให้ดี จิตเราระลึกถึงคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ไว้ แต่ไม่ว่าเราจะคิดถึงพระพุทธเจ้า หรือพระธรรม หรือพระสงฆ์ ในความเป็นจริงแล้ว พระรัตนตรัยก็เป็นหนึ่งเดียวกัน ให้ใจของเราผูกพันอยู่กับพระ ทุกก้าวที่เดิน ก็เดินด้วยจิตใจที่ระลึกถึงพระเอาไว้ นั่นล่ะเป็นการปฏิบัติ ไม่ใช่กราบไหว้วัตถุ อย่างพระพุทธรูปไม่ใช่พระพุทธเจ้า เป็นแค่สัญลักษณ์ให้เรานึกถึงพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจริงๆ ก็คือองค์ธรรม ธรรมะนั่นเอง ฉะนั้นเวลาเราเวียนเทียน ทุกก้าวที่เดิน เดินด้วยความรู้เนื้อรู้ตัว ไม่ได้เดินตามใจกิเลส ก็เรียกว่าเราเดินไป ก็ขัดเกลาตัวเองให้สะอาด ให้หมดจดมากขึ้นๆ ไม่ได้เดินเอาเฮง ไม่ได้เดินเอาสวยอะไร เดินระลึกถึงคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ไป ใจเราจะค่อยๆ สะอาด

ฝึกจิตให้มีกำลังเพื่อเดินปัญญา

ตรงที่เราสามารถเห็นรูปธรรมร่างกายนี้เป็นไตรลักษณ์ เราก็ขึ้นวิปัสสนาแล้ว ตรงที่เราสามารถเห็นได้ว่าสุขทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เราก็ขึ้นวิปัสสนาแล้ว ตรงที่เห็นกุศลอกุศลทั้งหลายเกิดขึ้น อย่างความโกรธเกิดขึ้น เราก็เห็นมันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อันนั้นเราก็ขึ้นวิปัสสนาแล้ว ลำพังเห็นตัวสภาวธรรมก็เป็นปัญญาขั้นต้น ยังไม่ได้ขึ้นวิปัสสนา จะขึ้นวิปัสสนาต่อเมื่อเห็นความจริงของสภาวธรรมทั้งหลายทั้งปวงว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ทั้งรูปธรรมทั้งนามธรรม เราจะเห็นได้จิตเราต้องมีกำลัง ที่หลวงพ่อจ้ำจี้จ้ำไชพวกเรา สังเกตให้ดีเถอะ สิ่งที่หลวงพ่อสอนเป็นเรื่องของการฝึกจิตให้มีกำลังในเบื้องต้น จิตเรามีกำลังตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมาแล้ว ขั้นต่อไปก็คือเดินปัญญา

Page 2 of 5
1 2 3 4 5