ขันธ์ 5 ล้วนตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์

ถ้าเรารู้กายมีจิตเป็นคนรู้ ถ้ารู้เวทนามีจิตเป็นคนรู้ ถ้ารู้สังขารก็มีจิตเป็นคนรู้ เรารู้อย่างนี้ ไม่ว่าจะรู้อะไรก็ต้องมีจิตที่เป็นคนรู้อยู่ อย่างเราฝึกเรื่อยๆ รู้สึกๆๆ พอเราหลงไปปุ๊บแล้วสติเกิด มันรู้สึกเลยร่างกายที่นั่งอยู่ตรงนี้มันไม่ใช่ตัวเรา มันเป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้า ร่างกายกับจิตนี่เป็นคนละอันกัน เราพยายามรู้สึกร่างกายเรื่อยๆ จนกระทั่งจิตมีแรงขึ้นมา หลงแล้วรู้ หลงแล้วรู้ไป ทำกรรมฐานไปที่เราถนัด แล้วจิตมันหลงแล้วรู้ แล้วจิตมันจะมีแรง พอจิตมีแรงขันธ์มันจะแยก พอขันธ์แยกแล้วแต่ละขันธ์ล้วนแต่แสดงไตรลักษณ์ แสดงความไม่ใช่ตัวเราทั้งนั้นเลย

ร่างกายเคลื่อนไหว รู้สึก จับหลักตัวนี้ให้ดี

คำถาม: ภาวนาในรูปเเบบ โดยการเดินจงกรมและยกมือสร้างจังหว …

Read more

หนทางรู้ทุกข์อย่างแจ่มแจ้ง

พวกเราชาวพุทธทั้งหลายฝึกเดินในเส้นทางที่พระพุทธเจ้าสอน รู้ทุกข์คือรู้กายรู้ใจของตัวเอง อย่าละเลย รู้เรื่อยๆ จนวันหนึ่งเห็นความจริง ร่างกายจิตใจของเราเป็นแต่ของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตมันจะเบื่อหน่ายคลายความยึดถือ พอมันไม่ยึดถือมันหลุดพ้น ต่อไปร่างกายจะแก่จิตไม่สะเทือนเลย ร่างกายจะเจ็บจิตไม่หวั่นไหว ร่างกายจะตายจิตบางทีเบิกบานด้วยซ้ำไป ตัวทุกข์มันจะแตกแล้ว จิตที่ฝึกอบรมดีแล้วนำความสุขมาให้เรา แล้วการจะฝึกอบรมให้ดีก็คือการรู้ทุกข์นั่นล่ะ ดีที่สุดเลย หัดรู้สภาวะเรื่อยๆ แล้วสัมมาสติก็เกิด สัมมาสติเกิดเมื่อไร สัมมาสมาธิก็เกิด มีสัมมาสติ มีสัมมาสมาธิ สัมมาญาณะคือการเจริญปัญญาก็จะเกิด ไม่ได้คิดเอา แต่ต้องเห็นสภาวะเอา

เรียนธรรมคู่เพื่อรู้ธรรมหนึ่ง

หัดรู้สภาวะไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ เริ่มต้นเรารู้คู่ใดคู่หนึ่งก็พอแล้ว เช่น จิตโกรธกับจิตไม่โกรธ จิตโลภกับจิตไม่โลภ ตอนนี้อยาก ตอนนี้เฉยๆ อย่างนี้ หัดดูสิ่งที่เป็นคู่ๆ ตอนนี้สุข ตอนนี้ทุกข์ ตอนนี้สุข ตอนนี้เฉยๆ อันนี้ก็เป็นเซ็ตหนึ่งมี 3 ตัว สุข ทุกข์ เฉยๆ หัดเรียนกรรมฐานเรียนเซ็ตเดียวพอ คู่เดียวพอแล้ว อย่างเห็นจิตโกรธกับจิตไม่โกรธ ทั้งวันก็มีแต่จิตโกรธกับจิตไม่โกรธ ถ้าเราดูตัวอยากทั้งวันก็มีแค่ตอนนี้อยากตอนนี้ไม่ได้อยาก ก็มีแค่นี้เอง หัดดูอย่างนี้เรื่อยๆ แล้วเราจะเห็นว่าจิตเราเหวี่ยงไปเหวี่ยงมา เดี๋ยวเหวี่ยงซ้าย เดี๋ยวเหวี่ยงขวา เดี๋ยวอยาก เดี๋ยวไม่อยาก เดี๋ยวโกรธ เดี๋ยวไม่โกรธ ตรงที่มันเหวี่ยงไปเหวี่ยงมา มันกำลังสอนไตรลักษณ์เรา จิตอยากก็ไม่คงที่ จิตไม่อยากก็ไม่คงที่ เห็นไหมจิตโกรธก็ไม่คงที่ จิตไม่โกรธก็ไม่คงที่ ฉะนั้นเวลาเรียนธรรมะ เรียนเป็นคู่ คู่เดียวก็พอแล้ว ไม่ต้องเรียนเยอะหรอก

เรียนรู้กายใจด้วยใจปกติ

รู้ด้วยใจปกติเลย อย่าไปทำใจให้ผิดปกติ จิตใจปกติในการที่เราจะใช้ปฏิบัติธรรม จิตปกติของเราพระพุทธเจ้าท่านเรียกจิตเดิม จิตธรรมดาของเรานี่เอง มันประภัสสรอยู่แล้ว มันผ่องใส แต่มันเศร้าหมองเพราะกิเลสที่จรมา แค่อยากปฏิบัติมีโลภะเกิดขึ้น จิตก็ผิดปกติแล้ว เราจะใช้จิตใจของคนธรรมดานี่ล่ะ ปกติอย่างนี้ เรียนรู้กายเรียนรู้ใจ อย่างร่างกายเราหายใจออกรู้สึก หายใจเข้ารู้สึก รู้ด้วยจิตปกติ ไม่ต้องวางฟอร์มเป็นนักปฏิบัติ ต้องไม่เหมือนคนธรรมดาอะไร นี่เข้าใจผิดอย่างยิ่งเลย เสียเวลา อย่างขณะนี้ร่างกายเรานั่งอยู่ ยากไหมที่จะรู้ว่าตอนนี้นั่งอยู่ ไม่เห็นยากเลย ตอนนี้ขยับส่ายหัวอย่างนี้ ส่ายหน้า รู้สึก รู้สึกด้วยใจปกติใจธรรมดา ฉะนั้นมันจะไม่ใช่เรื่องยาก ที่ยากเพราะเรามีความเห็นที่ว่าการปฏิบัติต้องอย่างนี้ ต้องอย่างนี้ อย่างนี้ถูก อย่างนี้ไม่ถูก สิ่งเหล่านี้เขาเรียกว่าสีลัพพตปรามาส

การเจริญสติในชีวิตประจำวัน

การเจริญสติในชีวิตประจำวันเป็นเรื่องสำคัญมากเลย หลวงปู่มั่นท่านเคยสอนว่าทำสมาธิมากเนิ่นช้า คิดพิจารณามากฟุ้งซ่าน หัวใจสำคัญของการปฏิบัติคือการเจริญสติในชีวิตประจำวัน หัวใจอยู่ตรงนี้ เก่งเฉพาะตอนนั่งสมาธิตอนเดินจงกรมไม่ได้กินหรอก วันหนึ่งจะนั่งเท่าไรจะเดินเท่าไร เวลาส่วนใหญ่ถ้าภาวนาไม่เป็น โอกาสจะได้มรรคผลนิพพานยากเหลือเกิน การปฏิบัติในชีวิตประจำวัน หลักการง่ายๆ มีตาก็ดู มีหูก็ฟัง มีจมูกก็ดมกลิ่น มีลิ้นก็รู้รส มีกายก็กระทบสัมผัส มีใจก็คิดนึกไปตามธรรมชาติธรรมดา ไม่ห้าม ใจเราจะคิดดีคิดร้ายอะไร ห้ามได้ที่ไหน จิตมันเป็นอนัตตา

สัมมาสติเกิดจากการเจริญสติปัฏฐาน

สติที่แท้จริง ความหมายอันนี้คือสัมมาสติ ไม่ใช่สติธรรมดา สัมมาสติเกิดจากการเจริญสติปัฏฐาน ไม่มีวิธีอื่น ขั้นแรกเลยเราต้องมีวิหารธรรม วิหารธรรมแปลว่าเครื่องอยู่ของจิต ไม่ต้องหาว่าอันไหนเป็นวิหารธรรม ไม่ต้องคิดเอง พระพุทธเจ้ากำหนดไว้ให้แล้ว สอนไว้ให้แล้ว ในมหาสติปัฏฐานสูตรก็มี มหาสติปัฏฐาน เป็นชื่อพระสูตร สติปัฏฐานมีหลายสูตร ก็มีสติปัฏฐานย่อยๆ สติปัฏฐานเต็มภูมิเลยก็เรียกมหาสติปัฏฐาน วิธีฝึก เราจะต้องมีเครื่องอยู่ให้จิตอยู่ เครื่องอยู่ที่พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ อันแรกเลยเรื่องกาย อันที่สองเรื่องเวทนา คือความรู้สึกสุขทุกข์ อันที่สามเรื่องจิต อันนี้จิตที่เป็นกุศลอกุศลทั้งหลาย อีกอันหนึ่งคือธัมมานุปัสสนา อันนี้กว้างขวางมากเลย ยังไม่ต้องเรียนก็ได้ เบื้องต้นเอาของง่ายๆ เรียนเรื่องกาย เรื่องเวทนา เรื่องจิต พวกนี้ง่าย

ความเพียรชอบอาศัยสติ

ความเพียรชอบกับความเพียรอย่างที่เราคิดกันมันคนละเรื่องกัน ความเพียรชอบเพียรลดละกิเลสที่มีอยู่ เพียรปิดกั้นอกุศลใหม่ไม่ให้เกิด เพียรทำกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น เพียรทำกุศลที่เกิดแล้วให้เจริญให้มากขึ้น จะทำได้ก็อาศัยสติ ไม่ใช่เรื่องอื่นเลย อย่างเรามีกิเลส เรามีสติปุ๊บ กิเลสดับทันทีเลย กิเลสที่มีอยู่ดับ ในขณะที่มีสติอยู่กิเลสใหม่ก็ไม่เกิด เห็นไหมเรามีสัมมาวายามะแล้ว หรือการที่เรามีสติขึ้นมา กุศลได้เกิดเรียบร้อยแล้ว แล้วถ้าสติของเราถี่ยิบขึ้นมา กุศลเราก็จะพัฒนาขึ้นไปเป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา ถึงจุดหนึ่งวิมุตติก็เกิดขึ้น

ทำอย่างไรจะพ้นจากทุกข์

เราจะปฏิบัติอันแรกเพื่อความพ้นทุกข์ ข้อสอง ต้องการพ้นทุกข์ก็ต้องดับที่เหตุ วิธีที่จะดับเหตุทำอย่างไร รู้ทุกข์ให้แจ่มแจ้ง ถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้งเมื่อไร สมุทัยก็เป็นอันถูกละอัตโนมัติ รู้ทุกข์แจ่มแจ้ง คือรู้อะไร อันที่หนึ่ง รู้ถึงความมีอยู่ของรูปธรรมนามธรรม ที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นตัวเราของเรานี้ล่ะ อันที่สอง รู้ลึกซึ้งลงไป รูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย ที่ประกอบกันเป็นตัวเราของเรานี้ ล้วนแต่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ถ้ารู้แจ้งเห็นจริงตรงนี้ได้ เราจะพ้นจากทุกข์ คือหมดความยึดถือในรูปธรรมนามธรรมนี้ ถ้าหมดความยึดถือในรูปธรรมนามธรรม ก็คือหลุดจากโลกแล้ว

สติทำให้เกิดสมาธิและปัญญา

ต้องฝึกสติให้ถูก ให้เป็นสัมมาสติจริงๆ ร่างกายเคลื่อนไหว รู้สึก จิตใจเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง รู้สึก หัดรู้สึกเรื่อยๆ อย่างจิตเราหลงไปคิด เรามีสติรู้ เฮ้ย หลงคิดแล้ว มีคำว่า “แล้ว” ด้วย เพราะเวลาที่จิตหลงคิด ไม่มีสติอยู่แล้ว สติมาเกิดทีหลัง ตรงที่จิตมันจำสภาวะหลงคิดได้ พอจิตมันหลงคิดไป แล้วจิตมันจำได้ เฮ้ย สภาวะอย่างนี้ จิตที่ไหลๆ ออกไปอย่างนี้ มันหลง นี่มันหลงไปคิดแล้ว จิตมันจำสภาวะได้ สติเกิดปั๊บขึ้นมา สภาวะหลงคิดดับทันทีเลย สภาวะตั้งมั่นคือสัมมาสมาธิ ก็เกิดขึ้นทันที มีสติที่ถูกต้องก็จะมีสมาธิที่ถูกต้อง นี่ล่ะถ้าเราเจริญสติ อันแรกที่เราได้คือสติ อันที่สอง สมาธิ อันที่สาม ของสำคัญคือเราจะได้ปัญญา ปัญญาคือความรู้ถูกความเข้าใจถูก

Page 1 of 8
1 2 3 4 5 6 7 8