จิตต้องมีกำลังของสมาธิ

การที่เราจะเกิดปัญญาแยกรูปแยกนามได้ จิตต้องมีกำลังของสมาธิ แล้วพอสติระลึกรู้กาย จะเห็นกายกับจิตมันคนละอันกัน ถ้าจิตเรามีกำลังตั้งมั่น มีสัมมาสมาธิอยู่ สติระลึกรู้เวทนา ก็เห็นเวทนากับจิตก็คนละอันกัน แต่จิตตั้งมั่นมีกำลังอยู่ สติระลึกรู้กุศล อกุศล โลภ โกรธ หลง เป็นต้น ก็จะเห็นกุศล อกุศล โลภ โกรธ หลง เป็นต้นนั้นกับจิต คนละอันกัน นี่เรียกว่าเราแยกขันธ์ได้ ไม่ได้แยกด้วยใช้กำลังของจิตเข้าไปแยก แต่ถ้าจิตเรามีสติที่ถูกต้อง มีสมาธิที่ถูกต้อง การแยกขันธ์เป็นเรื่องเบสิกมากเลย มันแยกเองเลย ไม่ต้องทำอะไรหรอก

สิ่งที่เรียกว่าทุกข์ก็คือขันธ์ 5

พอมีจิตที่ตั้งมั่นมากพอแล้วก็เดินปัญญา เดินปัญญาขั้นแรกก็คือการแยกขันธ์ เห็นร่างกายมันนั่งอยู่ จิตเป็นคนรู้ เห็นสุขทุกข์เกิดขึ้น จิตเป็นคนรู้ เห็นดีชั่วเกิดขึ้น จิตเป็นคนรู้ หัดแยกไป พอแยกขันธ์ชำนาญแล้ว ต่อไปมันจะเห็นแต่ละขันธ์นั้น ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ เห็นซ้ำแล้วซ้ำอีก ถึงวันหนึ่งก็แจ่มแจ้ง ขันธ์ทั้งหมดเกิดแล้วดับทั้งสิ้น นี่คือภูมิธรรมของพระโสดาบัน และพระสกทาคามี

ขันธ์ทั้งหลายในส่วนของรูปนี้เป็นตัวทุกข์ เอาเป็นที่พึ่งที่อาศัยไม่ได้ มีแต่จิตเท่านั้น ยังเป็นที่พึ่งที่อาศัยได้ นี่เป็นภูมิธรรมของพระอนาคามี แล้วขั้นสุดท้าย ขันธ์ทั้งหมดนั่นล่ะคือตัวทุกข์ พอภาวนามาถึงจุดนี้ มันจะตรงกับที่พระพุทธเจ้าสอนแล้ว สิ่งที่เรียกว่าทุกข์ก็คือขันธ์ 5 นั่นล่ะคือตัวทุกข์ ฉะนั้นค่อยๆ เรียน ค่อยๆ ฝึกไปจนกระทั่งวางขันธ์ได้

ล้างความเห็นผิด

การที่เราตามรู้ตามเห็น ความเกิดดับของกายของใจ เรียกว่าวิปัสสนากรรมฐาน เราเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของมัน เกิดๆ ดับๆ ไปเรื่อย บังคับไม่ได้ พอเราเข้าใจความจริง จิตจะเบื่อหน่ายคลายความยึดถือ แล้วก็หลุดพ้น ทำไมจิตไม่รู้จักหลุดพ้นเสียที เพราะจิตไม่ยอมวาง จิตยึดอยู่นั่นล่ะ ก็ต้องอบรมฝึกฝนตัวเองไปเรื่อยๆ ด้วยศีล ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา ถึงจุดที่จิตมันมีปัญญา มันฉลาด รู้ความจริงของรูปนามกายใจ มันก็วาง ไม่ใช่ของวิเศษ มีแต่ของเกิดแล้วดับ มีแต่ทุกข์เกิดขึ้น ทุกข์ตั้งอยู่ ทุกข์ดับไป มันเห็นแล้วมันก็วาง

เบื้องต้นตรงที่เราเห็นว่าสิ่งใดเกิด สิ่งนั้นก็ดับ เราวางความเห็นผิด ไม่มีอะไรที่เป็นอมตะ ไม่มีตัวตนถาวร อย่างปุถุชนจะรู้สึกว่า ตัวเรามีอยู่อย่างถาวร ตัวเราตอนนี้ กับตัวเราตอนเด็กๆ มันก็คนเดิม ตัวเราตอนนี้กับตอนแก่ มันก็คนเดิม ตัวเราเดี๋ยวนี้กับตัวเราชาติก่อน มันก็คนเดิม ตัวเราเดี๋ยวนี้กับตัวเราชาติหน้า มันก็คนเดิม ปุถุชนมันจะเห็นอย่างนี้ มันเห็นว่าตัวเรามีจริงๆ เราพาจิตใจให้มาเรียนรู้ความจริง ซ้ำแล้วซ้ำอีกลงไป มันมีแต่ของที่เกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ ไม่มีหรอกอะไรที่เป็นอมตะถาวร

ในขันธ์ 5 นี้ จะเป็นกายหรือจิตใจ เกิดแล้วก็ดับเหมือนๆ กัน เพราะฉะนั้นการที่เราล้างความเห็นผิด ว่ามีตัวมีตนได้ เกิดจากเราเห็นความจริง ว่าสิ่งทั้งหลายเกิดแล้วดับทั้งสิ้น ในขันธ์ 5 นี้ไม่มีอะไรอมตะเลย

คำสอนหลวงปู่ดูลย์ อตุโล

ที่จริงคำสอนของหลวงปู่ดูลย์ ส่วนหนึ่งก็จะเหมือนๆ กับคำสอนของครูบาอาจารย์ทั่วๆ ไป แต่ส่วนที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของท่าน โดดเด่น ไม่มีองค์ไหนเหมือนก็คือเรื่องของจิต ท่านสอนตัดตรงเข้ามาที่จิตเลย แต่ก็ไม่ได้สอนทุกคนให้เข้ามาที่จิต ไม่ใช่ทุกคนจะเข้ามาได้หรอก จิตมันต้องมีกำลังมากพอ ถึงจะเข้ามาดูจิตได้ ถ้ากำลังยังไม่พอ ท่านก็ให้เริ่มไป บางคนก็พุทโธ บางคนก็พิจารณากาย พอจิตมีกำลังแล้วถึงจะขึ้นมาที่จิตได้

ท่านสอน “จิตส่งออกนอกเป็นสมุทัย ผลที่จิตส่งออกนอกเป็นทุกข์ จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นมรรค ผลที่จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นนิโรธ ธรรมดาของจิตย่อมส่งออกนอก เมื่อส่งออกนอกแล้วกระเพื่อมหวั่นไหว ก็เป็นสมุทัย ผลที่จิตส่งออกนอก แล้วกระเพื่อมหวั่นไหวไม่มีสติอยู่ก็เป็นทุกข์ จิตส่งออกนอกแล้วมีสติอยู่ ก็เป็นการเจริญมรรค ผลก็คือนิโรธ” แล้ววรรคสุดท้ายที่หลวงปู่สอนก็คือ “อนึ่งพระอริยเจ้าทั้งหลาย มีจิตไม่ส่งออกนอก มีจิตไม่กระเพื่อมหวั่นไหว มีสติสมบูรณ์เป็นวิหารธรรมอยู่” พอได้อ่านธรรมะตรงนี้ มันสะเทือนเข้าถึงใจ มันเห็นว่าถ้าจิตมันไม่ทุกข์แล้วใครมันจะทุกข์ เพราะฉะนั้นถ้าเราแก้ปัญหาที่จิตของเราได้ ความทุกข์มันก็ตั้งอยู่ไม่ได้

ขันธ์ 5 เป็นที่รองรับความทุกข์

ถ้าตัวเราไม่มี ก็ไม่มีที่รองรับความทุกข์อีกต่อไป เพราะสิ่งที่รองรับความทุกข์ไว้คือตัวขันธ์ 5 นั้น ย่อๆ ลงมาก็คือรูป นาม กาย ใจของเรา สังเกตดูความทุกข์ไม่อยู่ที่กายก็อยู่ที่ใจ ถ้ามันเห็นความจริง กายก็ไม่ใช่เรา ใจมันก็ไม่ใช่เรา ความทุกข์มันก็ไม่มีที่ตั้ง สุดท้ายภาวนาแล้วก็จะเข้าถึงสุญญตา คือเห็นมันว่าง ร่างกายนี้ก็ว่าง โลกข้างนอกก็ว่าง จิตก็ว่างเสมอกันหมด มันก็เข้าถึงความสงบสุข ยิ่งเราปล่อยวางความยึดถือในตัวในตนได้ ก็ยิ่งสบายยิ่งเบา ค่อยๆ ภาวนาไปเรื่อยๆ ทีแรกมันก็ละความเห็นผิดว่าขันธ์ 5 เป็นเรา สุดท้ายมันเห็นความจริงอย่างแจ่มแจ้งแล้ว มันก็หมดความยึดถือในขันธ์ 5

เรียนลงที่กายที่ใจ

เรียนธรรมะ เราเรียนลงที่กายที่ใจ ไม่ได้ไปเรียนที่อื่นหรอก ธรรมะไม่ได้อยู่กับคนอื่นด้วย ไม่ได้อยู่ที่ครูบาอาจารย์ ไม่ได้อยู่ในวัด อยากเรียนธรรมะก็เรียนลงที่กายที่ใจ ร่างกายเราดูลงไปตั้งแต่หัวถึงเท้า ตั้งแต่ผมลงไปถึงพื้นเท้า ร่างกายนี้ถ้าเราจับแยกเป็นชิ้นๆ จะแยกเป็น 32 ส่วนหรือแยกเป็นร้อยเป็นพันส่วน ทุกส่วนมันก็แสดงธรรมะอันเดียวกัน มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาเหมือนๆ กัน นามธรรม หรือเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แยกเป็น 4 ส่วน ถ้าเราแยกได้เราก็จะเห็นเวทนาคือความรู้สึกสุขทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา สัญญาความนึกได้ ความจำได้ การหมายรู้ สังขารความปรุงดีปรุงชั่ว วิญญาณเป็นตัวรับรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ค่อยๆ แยก แยกออกมาแล้วก็ดูละเอียดลงไป ทุกสิ่งทุกส่วนที่เราแยกออกไป ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา เฝ้าดูลงไป แยกๆๆ สิ่งที่เรียกว่าเรานี้ สุดท้ายจะพบว่าเราไม่มี มันมีแต่ขันธ์ มีแต่รูปธรรมนามธรรมที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป

จิตที่พ้นจากอุปาทานขันธ์

บางคนก็มองพระภาวนาดีทำไม สมองเสื่อมขาดสติ มองไปเลยไม่ใช่พระแท้ สมองเสื่อมได้ ขาดสติได้ พวกนี้ไม่แยกแยะ สมองมันเป็นตัวรูปอยู่ในรูปธรรม รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง รูปไม่เที่ยง สัญญาเที่ยงไหม จำไม่ได้ สัญญาไม่เที่ยง สังขาร ความปรุงดีปรุงชั่ว สังเกตไหมว่าคนไปโวยวายใส่ท่าน ท่านยังไม่ปรุงชั่วเลย ไม่ได้เป็นอะไรเลย พระพุทธเจ้าท่านแก่ไหม ท่านเจ็บไหม ท่านตายไหม นั่นพระพุทธเจ้านะ ท่านก็แก่ ท่านก็เจ็บ ก็ตาย มันเรื่องของขันธ์ แยกไม่ออกว่าจิตที่มันพ้นขันธ์ไปแล้ว กับขันธ์มันคนละเรื่องกัน สิ่งที่สมบูรณ์คือท่านภาวนา สมมติว่าท่านจบ ท่านรู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ จิตท่านไม่เข้าไปยึดไปถืออะไรอีกแล้ว โดยไม่ต้องระวังไม่ต้องรักษา สติอะไรพวกนี้มันอัตโนมัติ แต่มันไม่ใช่สติ ไม่ใช่ความจำสัญญาอย่างโลกๆ นั่นเป็นเรื่องของขันธ์ สังเกตไหมคนโวยวายตั้งเยอะแยะ มาล้อมหน้าล้อมหลังจะมาเล่นงานท่าน ยืนค้ำศีรษะท่านตวาดแว้ดๆ ด่าหยาบคาย ท่านเฉยท่านไม่ต้องรักษาจิตของท่าน ธรรมะมันรักษาจิตของท่านเอาไว้เอง ส่วนเรื่องความจำเรื่องอะไรอันนี้ บางทีแก่มากๆ ก็จำไม่ได้ สมองมันเสื่อม

มาดูความจริงของขันธ์ 5

การเรียนรู้ความจริงของรูปนามกายใจ เรามีสติระลึกรู้รูปธรรมนามธรรม มีปัญญาเข้าใจความเป็นจริงของรูปธรรมนามธรรม ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จะเข้าใจได้จิตต้องตั้งมั่น มีสมาธิที่ถูกต้อง จิตเป็นแค่คนดู ร่างกายนี้ถูกดูจิตเป็นคนดู อย่างนี้เรียกเรามีจิตตั้งมั่น พอเห็นความจริง กายนี้คือทุกข์ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเป็นทุกข์ มันจะค่อยๆ ปล่อย ปล่อยเป็นลำดับๆ ไป ปล่อยกายก่อนเพราะมันหยาบมันดูง่าย แล้วสุดท้ายมันก็ไปปล่อยจิตอีกทีหนึ่ง

ต้องมีวิหารธรรม

เราก็ต้องดูว่าวิหารธรรมอันไหนพอเหมาะพอควรกับเราเอง ถ้าใช้ร่างกายที่หายใจเป็นวิหารธรรม คืออานาปานสติมันละเอียดเกินไป มันหายใจตลอดเวลารู้สึกละเอียดไป จิตมันก็ทรงอยู่ไม่ได้ เลยหลงไปง่าย จะใช้อิริยาบถ 4 เป็นวิหารธรรมก็หยาบเกินไป ก็เลยใช้อิริยาบถย่อย อิริยาบถย่อย ร่างกายจะขยับท่าไหนก็ได้ หันซ้ายหันขวาคอยรู้สึก เรียกว่าเรามีบ้านให้จิตอยู่แล้ว จิตมันก็จะมีเรี่ยวมีแรง เหมือนอย่างคนเรามีบ้านอยู่ก็ได้พักผ่อนสบาย ไม่วอกแวกจรจัด เดี๋ยวมันก็จรไปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จรไปหารูป หาเสียง หากลิ่น หารส หาโผฏฐัพพะ จรไปแสวงหาธรรมารมณ์ต่างๆ จิตที่จรจัดไปเรื่อยๆ ไม่มีแรงหรอก เหนื่อย

วางขันธ์ 5 เป็นลำดับไป

ถ้าเราภาวนาเป็น เราจะรู้เลยการเรียงลำดับของพระพุทธเจ้านี้มีขั้นมีตอน เรียงขันธ์ 5 ของที่หยาบที่สุดคือรูปแล้วก็ถึงนามธรรม นามธรรมก็มีส่วนที่หยาบ ส่วนที่ละเอียด เวทนาหยาบที่สุดเลย ดูง่าย ในนามธรรมทั้งหลาย เราค่อยๆ เรียนจากของหยาบที่สุดคือรูป มาเวทนา สัญญา สังขาร เราก็ค่อยแยกๆๆๆ ไปจนถึงตัวจิต เห็นรูปเห็นนามเป็นไตรลักษณ์นั่นล่ะ แล้วก็วางเป็นลำดับๆ ไป มันวางรูปได้ก่อน ตรงที่เห็นรูปไม่ใช่เรายังเป็นปุถุชนอยู่ ตรงที่เห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไม่ใช่เรา นั่นล่ะเป็นพระโสดาบัน ตรงที่เห็นความจริงว่ารูปไม่ควรยึดถือเพราะมันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นั้นล่ะได้พระอนาคามี ตรงที่วางจิตได้ หมดความยึดถือจิต มันก็เห็นจิตเองก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ตรงนั้นล่ะเป็นพระอรหันต์ วางขันธ์ 5 ได้สิ้นเชิง

Page 2 of 2
1 2