คอยรู้ทันความปรุงแต่ง

จุดสำคัญ เราจะต้องคอยรู้เท่าทันความปรุงแต่งที่เกิดขึ้นในจิตใจเรา มันไม่ยากหรอก อย่างขณะนี้ใจเราสุขหรือใจเราทุกข์ ยากไหมที่จะรู้ ส่วนใหญ่พอมีความสุขมันก็เผลอเพลิน มีความทุกข์ก็มัวแต่เศร้าโศก หดหู่ ท้อแท้ แทนที่มีความสุขก็รู้ว่ามีความสุข เห็นว่าความสุขเป็นของที่แปลกปลอมผ่านเข้ามาแล้วก็ผ่านออกไป ความทุกข์เกิดขึ้นมาก็ไม่ต้องไปหดหู่ท้อแท้ ก็เห็นว่าความทุกข์ทั้งหลายผ่านมาแล้วก็ผ่านไป เหมือนกันหมด จะสุขหรือจะทุกข์ก็คือมาแล้วก็ไป กุศลหรืออกุศลก็เหมือนกัน ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ถ้าเราไม่รู้ทันความปรุงแต่ง จิตจะหลงในความปรุงแต่ง แล้วจิตเรามันจะยึดถือ ยึดถือจิตขึ้นมา ถ้ามีความปรุงแต่งเกิดขึ้น เรามีสติมีปัญญา จิตไม่เข้าไปยึดถือความปรุงแต่ง จิตก็ไม่เข้าไปยึดถือจิต

จิตเกิดดับสืบเนื่องกันอย่างรวดเร็ว

เรามีสติเห็นตัวสภาวะ เห็นจิต แต่เราไม่มีปัญญา ที่จะแยกว่าจิตที่เกิดขึ้นนี้ มันเกิดดับสืบเนื่องกันอย่างรวดเร็ว สันตติขาด เราก็จะรู้ว่าจริงๆ จิตดวงหนึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ดวงใหม่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ดวงที่ใหม่กว่าเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เราจะเห็นมันเกิดดับๆๆ สืบเนื่องกัน ตัวนี้เรียกว่าเห็นอนิจจังของจิต แล้วมันก็ทำลายภาพลวงตา ที่เดิมเราคิดว่า โอ๊ย จิตมีดวงเดียว จิตคือตัวเราวิ่งไปวิ่งมา ออกไปเสพอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คราวนี้พอมันขาดออกเป็นตัวๆ ไป เป็นดวงๆ ไป เราจะพบว่ามันไม่ใช่ตัวเรา มันมีแต่ของที่เกิดแล้วดับ ไม่มีอะไรที่เป็นตัวตน เป็นอมตะ ถาวร ตรงนี้เป็นปัญญาชั้นละเอียดของเราชาวพุทธ

อย่าเป็นเด็กอ่อนตลอดกาล

พวกเราต้องไปทำเอาเอง ต่อไปหลวงพ่อคงจะไม่จ้ำจี้จำไชพวกเรามากเกินไปแล้ว ที่ผ่านมาหลวงพ่ออยากให้พวกเราภาวนาเก่ง ภาวนาดี ไม่เถลไถล หลวงพ่อเข้าไปควบคุมเยอะ เมื่อคืนวันพฤหัสนั่งสมาธิอยู่ ก็ได้ยินเสียงครูบาอาจารย์ ท่านบอกให้หลวงพ่ออุเบกขาได้แล้ว กรรมใคร กรรมมัน ถ้าหลวงพ่อไปจู้จี้กับพวกเรา อยากให้พวกเราดี อยากให้ได้ธรรมะอะไรอย่างนี้ จู้จี้มากไป บางคนเข้าใจก็ดี บางคนไม่เข้าใจ โกรธ บาปกรรมเปล่าๆ ท่านว่าอย่างนั้น

เพราะฉะนั้นต่อไปนี้ดูแลตัวเองให้ดีหน่อย คนไหนใจเปิดรับธรรมะ ก็ไม่ยากอะไรหรอก ถ้าใจไม่รับก็ปล่อยแล้วนะ ปล่อยแล้ว แบกพวกเราไม่ไหวแล้ว ชรามากแล้ว ถ้าเป็นฆราวาสนี้เกษียณไปนานแล้ว ช่วยตัวเองให้ได้ เดินด้วยตัวเองให้ได้ อย่าเป็นเด็กอ่อนตลอดกาล ยังเดินไม่ได้ ยังยืนไม่ได้ คลาน คลานไป แล้ววันหนึ่งต้องยืนขึ้นให้ได้ ยืนแล้วต้องเดินให้ได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องให้ครูบาอาจารย์ คอยประคับประคองอีกต่อไป ต้องช่วยตัวเองให้ได้

รู้เข้ามาที่กายที่ใจของเรา

มีคนจำนวนมากบอกปฏิบัติมาหลายสิบปีเลย มันก็ได้แค่นั้น พอมาฟังหลวงพ่อพูด เรื่องเจริญสติเรื่องอะไร จิตใจก็พัฒนาอย่างรวดเร็ว ธรรมะของพระพุทธเจ้า ถ้าทำถูกจะไม่เนิ่นช้า เพราะธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นธรรมะที่ไม่เนิ่นช้า ถ้าเนิ่นช้า แสดงว่าต้องมีอะไรพลาดแล้ว อันแรกเลย ปฏิบัติไม่ถูก อันที่สอง ปฏิบัติไม่ต่อเนื่อง ทำแล้วก็หยุดๆ พวกตุ่มรั่ว ที่หลวงพ่อเรียก พวกตุ่มรั่ว

พอเขารู้จักการเจริญสติ จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน จะกินอาหาร จะขับถ่าย จะทำอะไร ก็รู้สึกกาย รู้สึกใจไปเรื่อยๆ สติก็ไวขึ้นๆ พอสติมันเกิด สมาธิที่แท้จริงมันก็เกิด เพราะสัมมาสติที่ทำให้มาก เจริญให้มาก จะทำให้สัมมาสมาธิบริบูรณ์ ฉะนั้นเราจะต้องพัฒนาสัมมาสติให้ได้ด้วยการทำสติปัฏฐานนั่นล่ะ มิฉะนั้นเราจะเดินจงกรม นั่งสมาธิ คนอื่นเขาก็เดินจงกรม เขานั่งสมาธิ แต่เขาเดินเพื่อความสุข เพื่อความสงบ เพื่อความดี เราจะเดินจงกรม จะนั่งสมาธิ เพื่อพัฒนาสติและสัมมาสมาธิ

อย่ามัวแต่เถลไถล

พรหมจรรย์คือการประพฤติปฏิบัติธรรมจบแล้ว เรียนหนังสือจบแล้ว จบลงที่ไหน จบลงที่จิตมันหลุดพ้นแล้ว มันพ้นแล้ว มันไม่มีงานที่จะต้องทำต่อ เพื่อจะให้จิตหลุดพ้นอะไรอย่างนี้ ไม่ต้องทำแล้ว หลุดแล้วหลุดเลย ฉะนั้นชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้นไม่มีอีกแล้ว มันรู้สึกอย่างนั้น นั่นล่ะที่สุดของทุกข์

ที่สุดของทุกข์มันอยู่ตรงธรรมนั้นเอง ธรรมะ สิ่งที่เรียกว่าธรรมะ ตัวนี้มันเป็นธรรมะเหนือโลก เหนือขันธ์ เหนือวัฏสงสาร ไม่อย่างนั้นยังไม่มีจุดสิ้นสุด ก็ยังเวียนว่ายไปเรื่อยๆ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ยังไม่เห็นจุดสิ้นสุด แค่เข้าใกล้ แล้วปุถุชนอย่างพวกเรา มันจะเห็นไหม ไม่เห็นหรอก ต้องฝึกตัวเองให้มาก อย่าวุ่นวายเถลไถล ที่น่าห่วงเลยก็คือพวกเราชอบเถลไถล ตั้งใจภาวนาเอาจริงเอาจัง ยังไม่ค่อยจะรอดเลย แล้วเถลไถล แล้วมันจะรอดหรือ มันไปไม่รอดหรอก นี่ล่ะกฎแห่งกรรม ใครทำคนนั้นก็ได้ ไม่ทำก็ไม่ได้ หรือทำในทางที่ไม่ดีมันก็ไม่ได้

เคล็ดวิชาการฝึกดูจิตดูใจตนเอง

ถ้าเราภาวนาดูจิตดูใจก็ดูได้ 2 ระดับ ถ้าอย่างง่ายเราก็ดูจิตที่มันเกิดดับ ด้วยการเห็นเกิดดับร่วมกับเจตสิก จิตสุขเกิดพร้อมกับความสุข ดับพร้อมกับความสุข จิตทุกข์เกิดพร้อมกับความทุกข์ ดับพร้อมกับความทุกข์จิตกับเจตสิกนั้นเกิดดับด้วยกัน พร้อมๆ กัน ถ้าเราหัดดูจิตโดยการเห็นเกิดดับทางอายตนะ เราดูที่ตัวจิตไปเลย เดี๋ยวก็เป็นจิตรู้ เดี๋ยวก็เป็นจิตคิด เดี๋ยวก็เป็นจิตเพ่ง เดี๋ยวก็จิตหลง เราเห็นอย่างนี้ก็ได้ แต่อันนี้ละเอียดมันจะดูยาก เพราะฉะนั้นหลวงพ่อแนะนำ ถ้าหัดใหม่ ไปดูจิตสุข จิตทุกข์ จิตดี จิตชั่ว อันนั้นดูง่าย แต่ถ้าจะดูละเอียดขึ้นมา จนเห็นจิตเกิดดับทางอายตนะ ดูยากกว่า เพราะมันเร็วมาก

การจะเห็นจิตเกิดดับทางอายตนะอะไรนั้น มันอยู่ในธัมมานุปัสสนาแล้ว สูงขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง สติ สมาธิ ปัญญาของเรา ต้องแข็งแรงพอ เราถึงจะเห็น ถ้าไม่แข็งแรงพอ ดูแวบเดียวหลงไปนานเลย

จิตไม่ใช่เรา

จิตมันทำงานได้เอง เวลาจะสุขเราสั่งไม่ได้ เวลาจะทุกข์เราห้ามไม่ได้ เวลาจะดีเราก็สั่งให้เกิดไม่ได้ เกิดแล้วรักษาให้ตลอดไปก็ไม่ได้ เวลาจะชั่วห้ามมันก็ไม่ได้ ไล่มันก็ไม่ไป แล้วจิตเองเดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้หลง หลงทางทวารทั้ง 6 เห็นไปเรื่อยๆ สุดท้ายปัญญามันก็แทงตลอด จิตนี้ไม่ใช่ตัวเรา จิตเป็นแค่สภาพธรรมอันหนึ่งเท่านั้นเอง ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา จิตไม่ใช่เรา ขันธ์ 5 เป็นผลผลิตของจิต มันก็ไม่ใช่เรา โลกซึ่งมันปรากฏขึ้นมาได้ก็เพราะเรามีจิต มันก็เลยพลอยไม่ใช่เราไปด้วย

กายมีแต่ทุกข์ จิตมีแต่ภาระ

มีร่างกาย มันก็มีภาระ มีผมก็มีภาระ มีขนก็มีภาระ อย่างต้องโกนหนวดโกนเครา โกนขนรักแร้ โกนขนหน้าแข้ง ผิวหนังมีรูพรุนๆ อยู่ทั้งตัวเลย ผิวหนังมีของโสโครกไหลออกมาตลอดเวลา สวยแค่ไหน ไม่อาบน้ำสัก 2 – 3 วัน ก็ไม่มีใครเขาเข้าใกล้แล้ว เหงื่อไคลสกปรกโสโครก เป็นขี้กลากขี้เกลื้อนอะไรขึ้นมา ไม่ได้สวยไม่ได้งาม ถ้าเราดูลงไป เราก็จะเห็นร่างกายไม่ใช่ของดีของวิเศษหรอก มีร่างกายก็มีภาระอันมากมายเกิดขึ้น ใจมันก็จะค่อยๆ คลายความรัก ความหวงแหนในร่างกายออกไป สุดท้ายมันก็รู้สึกร่างกาย มันแค่ของอาศัย แล้ววันหนึ่งก็แตกสลายไป ระหว่างที่ยังไม่แตกสลายก็เป็นภาระวุ่นวายไม่เลิก พอเห็นอย่างนี้มันจะค่อยคลายความยึดถือในร่างกายออกไป ถ้าเราดูจิตดูใจเราก็จะเห็น ความรู้สึกทุกชนิดที่เกิดขึ้นกับจิต จะสุขหรือทุกข์ จะดีหรือชั่ว ก็เป็นภาระกับจิตทั้งสิ้น เป็นภาระในการแสวงหาอารมณ์ที่ดี เป็นภาระในการผลักไสอารมณ์ที่ไม่ดี เป็นภาระในการรักษาอารมณ์ที่ดีอะไรอย่างนี้ มันมีภาระเกิดขึ้นทั้งหมดเลย ถ้าจิตมันไปหลงในความรู้สึกทั้งหลาย สุข ทุกข์ ดี ชั่วทั้งหลาย ก็เป็นภาระของจิต เห็นแล้วก็วางได้

มีศีลเป็นเครื่องป้องกันตัว

ถ้าตั้งใจรักษาพระวินัย ธรรมวินัยก็จะรักษาเรา ถ้าไม่รักษาตัวเองก็เอาตัวไม่รอด แล้วจะไปรักษาพระศาสนาได้อย่างไร ตัวเองยังรักษาไม่ได้เลย เรื่องของเรื่องทั้งหมดนั้นก็คือเรื่องของกิเลสนั่นล่ะ ถ้ายังไม่เห็นโทษไม่เห็นภัยของกิเลส ยังลดละกิเลสไม่ได้ มันก็พร้อมจะพลาด ถึงเราเป็นฆราวาสก็เหมือนกัน ต้องรักษาศีล 5 ไว้ ถ้าศีล 5 เรายังรักษาไม่ได้ เราก็เริ่มเบียดเบียนคนอื่น เบียดเบียนตัวเราเองเพราะไม่มีศีล รักษาศีล 5 ไว้ก็ช่วยตัวเองได้เยอะเลย ฉะนั้นศีลเป็นเครื่องป้องกันตัวทั้งพระทั้งโยม ต้องรักษาศีลเอาไว้ ถ้าศีลเราไม่ดีสมาธิเราก็เสื่อม สมาธิเสื่อมปัญญาก็ไม่เกิด