ตั้งเป้าให้ถูก

เราทำวิปัสสนาไม่ใช่เพื่อความฉลาดรอบรู้ ทำวิปัสสนาเพื่อจะฉลาดรอบรู้ ธรรมะมากมาย จะได้เอาไปคุยอวดคนอื่น นั่นทำไปเพื่ออกุศลแล้ว เพราะฉะนั้นไม่ว่าเราจะทำทาน รักษาศีล เจริญปัญญา ทำทาน รักษาศีล ทำความสงบและเจริญปัญญา ก็ต้องลดละอกุศล เจริญกุศล ตั้งเป้าไว้ให้ถูก ถ้าเราภาวนาอย่างนี้จิตเราจะเดินเข้าสู่วิสุทธิ วิสุทธิเป็นองค์ธรรมที่ดี แต่เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์ เพื่อลดละกิเลส เพื่อเจริญกุศลทั้งนั้น ค่อยๆ ฝึก ถ้าเราภาวนาแล้วยังไม่ได้มุ่งไปที่ลดกิเลสตัวเอง ไม่ได้มุ่งไปที่เจริญกุศล ยังไม่เข้าร่องเข้ารอย ยังนอกรีตนอกรอยอยู่ ถ้าทำไปเพื่อละอกุศลเพื่อเจริญกุศล อันนั้นเข้าสู่ทางแห่งความบริสุทธิ์แล้ว จิตจะเดินไปในวิสุทธิทั้ง 7

เรียนเข้ามาให้ถึงจิต

เรียนเข้ามาให้ถึงจิตเลยตั้งแต่เริ่มต้น ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งแล้วคอยรู้ทันจิตตัวเอง จิตหลงไปคิดรู้ทัน จิตหลงไปเพ่งอารมณ์กรรมฐานรู้ทัน ทำกรรมฐานไปขี้เกียจขึ้นมารู้ทัน ทำกรรมฐานแล้วรู้สึกมีความสุขรู้ทัน นี่คอยรู้ทันจิตตัวเองเรื่อยๆ ไป ถ้าต้องการความสงบ เวลามีความสุขก็อย่าไปเพลินมาก รู้ยินดีพอใจมัน จิตเราจะประณีตจะสงบยิ่งกว่าเก่าอีก เวลาที่เราภาวนาจิตสงบนี่จะเป็นระดับของฌาน ในเบื้องต้นจิตจะมีปีติมีความสุข แล้วเราภาวนาไป เราเห็นจิตมีปีติ ปีติดับ จิตมีแต่ความสุข ดูไปอีก ความสุขดับ จิตเป็นอุเบกขา ถ้าจิตยังมีปีติมีความสุขอะไรนี้ เป็นสมาธิขั้นต้นเท่านั้นเอง แต่ถ้าจิตเป็นอุเบกขาคือเป็นกลาง ตั้งมั่นเด่นดวงเป็นกลาง ไม่หลงไปในความยินดี ไม่หลงในความยินร้าย นั่นคือจิตที่มีสมาธิเต็มที่แล้ว ถ้าเราทำได้ขนาดนั้นเวลาเรามาเจริญปัญญา ตาหูจมูกลิ้นกายใจกระทบอารมณ์ จะเห็นจิตเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เราจะใช้เวลาในการเจริญปัญญาไม่มากหรอก ถ้าเราตัดตรงเข้ามาที่จิตได้ก็เข้ามาที่จิตเลย แต่บางคนเข้าที่จิตตรงๆ ไม่ได้ ก็รู้สึกร่างกายไปก่อน เดินอ้อมหน่อยดีกว่าไม่เดิน

ความรู้สึกตัวเป็นเรื่องสำคัญ

จุดสำคัญคือทำไปด้วยความรู้เนื้อรู้ตัว มีสติไว้ แล้วเวลาจิตมันรวม มันก็จะรวมลงไปด้วยความมีสติ กระทั่งโลกธาตุดับ ร่างกายหายไป ร่างกายกับโลกนี้จะหายไปพร้อมๆ กัน แล้วก็จิตไปอยู่ในความว่างๆ ก็ยังมีสติ ไม่ขาดสติตลอดสายของการปฏิบัติ นี่วิธีฝึก

ฉะนั้นความรู้สึกตัวเป็นเรื่องสำคัญ จะทำความสงบ ก็ต้องสงบแบบมีสติ ไม่ลืมเนื้อลืมตัว ถ้าจะเจริญปัญญา ก็ต้องไม่ลืมเนื้อลืมตัว ต้องรู้ตัวไว้ รู้สึก รู้ถึงความมีอยู่ของกายของใจตัวเอง อย่างเวลาเรานั่งสมาธิ บางทีร่างกายหายไป เหลือแต่จิตดวงเดียว ไม่คิดไม่นึกอะไร อันนั้นเอาไว้พักผ่อน ไม่ได้เดินปัญญา เดินปัญญา เรามีจิตที่ตั้งมั่นรู้เนื้อรู้ตัวแล้ว ให้จิตมันทำงานไป อย่าไปให้จิตติดนิ่งติดว่างอยู่ ให้จิตมันทำงานไปตามธรรมชาติ

รู้ว่ากายใจเป็นทุกข์จึงหมดความยึดมั่น

ถ้ามีสติอยู่กับร่างกาย รู้สึกไป ไม่นานเราก็จะเห็นความทุกข์ ร่างกายมีแต่ทุกข์ มีสติรู้สึกจิตไปเรื่อยๆ ไม่นานเราก็จะรู้สึกว่าจิตนั้นก็เป็นตัวทุกข์ มีความทุกข์อยู่ตลอดเวลา เฝ้ารู้เฝ้าดู ถ้ารู้ทุกข์เมื่อไร ก็เป็นอันละสมุทัยเมื่อนั้น เรายึดกายมากเพราะเราเห็นว่ากายเป็นตัวสุข เป็นตัวดี พอเรามีสติรู้สึกอยู่ในกายเนืองๆ กายนี้เป็นตัวทุกข์ ความรักใคร่หวงแหนในร่างกาย ก็จะลดลงจนกระทั่งวันหนึ่งมันไม่ยึดถือในร่างกาย ต่อไปก็ดูจิตใจไป เห็นจิตใจเป็นตัวทุกข์ เรียกรู้ทุกข์ มันก็ละสมุทัย ละความรักใคร่หวงแหนในจิตใจ ก็วางตรงที่วางนั่นล่ะคือตัวนิโรธ ปล่อยวางได้

อ่านจิตตนเอง

การที่เราอ่านจิตตนเอง ไม่ใช่แค่จะได้สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ ไม่ได้แค่สัมมาวายามะ แต่สติของเราจะเข้มแข็งมากขึ้นๆ ทีแรกต้องโกรธแรงๆ ถึงจะรู้ ต่อไปขัดใจเล็กๆ ก็เห็นแล้ว สติเราพัฒนาแล้ว ทีแรกต้องมีราคะรุนแรงถึงจะรู้ ต่อไปใจโลภนิดเดียว แค่อยากเห็นรูป ก็เห็นแล้ว อย่างเรานั่งอยู่ ได้ยินเสียงอะไรแว่วๆ เราอยากฟัง อยากหันหน้าไปดู เราก็รู้ทัน เรารู้ได้ละเอียดขึ้นๆ สติเราเร็วขึ้นๆ นั่นล่ะเป็นสัมมาสติ สามารถระลึกได้โดยที่ไม่ได้เจตนาระลึก

หลวงพ่อเริ่มที่เข้าใจสิ่งต่างๆ ขึ้นมานี้ เริ่มมาจากประโยคเดียว “อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้อ่านจิตตนเอง” เห็นไหม การอ่านจิตตนเองครอบคลุมองค์มรรคทั้ง 8 ได้ การอ่านจิตตนเองนั้น คือการเรียนรู้ทุกข์นั่นเอง รู้ทุกข์แจ่มแจ้งเมื่อไรก็ละสมุทัย แจ้งนิโรธ เกิดอริยมรรคอัตโนมัติ ไปฝึกเอา ไปทำเอา ไม่มีใครช่วยใครได้หรอก

ใช้จิตประภัสสรไปเจริญปัญญา

จิตที่มีสติก็ประภัสสร เพราะขณะนั้นไม่มีกิเลส จิตเป็นกุศล ผ่องใส ประภัสสร พอได้จิตที่ผ่องใสประภัสสร มีสติอยู่ ก็เอาสตินั้นล่ะ เอาจิตอันนั้นล่ะไปเจริญปัญญา ไปเรียนรู้ความจริงของรูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย จิตผู้รู้ก็คือจิตประภัสสรนั่นเอง เป็นจิตที่ไม่เจือปนด้วยกิเลส มีสติอยู่ เป็นกุศลจิต เราจะต้องพัฒนาจิตดวงนี้ขึ้นมาให้ได้ ถ้าเราพัฒนาจิตดวงนี้ขึ้นมาไม่ได้ เราไปเจริญปัญญาไม่ได้จริง เราเอาจิตที่ปนเปื้อนด้วยกิเลสไปเจริญปัญญา ความรู้ความเห็นนั้นจะเจือปนด้วยอคติ จะมีอคติ เพราะว่ามันมีกิเลสในการมอง ฉะนั้นผลลัพธ์ที่ออกมาเลยไม่ใช่ของจริง ปนเปื้อนด้วยอคติ

ศีลและสมาธิเพื่อการเจริญปัญญา

เราเดินตามแผนผังที่พระพุทธเจ้าวางไว้ให้เรา อย่ากระโดดข้ามขั้น ไม่ใช่ไม่มีศีล ก็โดดขึ้นไปทำสมาธิ ไม่มีศีลแล้วไปทำสมาธิได้ไหม ก็ได้ แต่มันก็จะเกเรแบบเทวทัต เทวทัตทำสมาธิได้แต่เทวทัตไม่มีศีล สุดท้ายเทวทัตก็ลงอเวจี เจริญปัญญาโดยไม่มีสมาธิ ก็เป็นไปไม่ได้ แบบเรียนที่พระพุทธเจ้าท่านสอนเรา มีขั้นมีตอน มีลำดับที่ชัดเจน ก่อนเจริญปัญญานั้นต้องมาฝึกจิตให้ตั้งมั่นก่อน ก่อนที่จะลงมือฝึกจิตนั้น ต้องตั้งใจรักษาศีล 5 ให้ได้ก่อน ให้เด็ดเดี่ยวลงไป ถ้าเรารักษาศีลของเราไว้ได้ดี เราจะไม่ทำชั่วทางกาย ทางวาจา เราจะเหลือความชั่วทางใจ ซึ่งอันนี้ล่ะเราจะล้างมันด้วยสมาธิและปัญญา ศีลเป็นเครื่องขัดเกลากายวาจาเราให้สะอาดหมดจด ไม่ทำผิดทางกาย ทางวาจา สมาธิและปัญญาเป็นเครื่องขัดเกลาจิตใจให้สะอาดหมดจด

ธรรมะภาคปฏิบัติ

เราตั้งอกตั้งใจฝึกตัวเอง ถือศีล 5 ทุกวันทำในรูปแบบ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วก็คอยรู้ทันจิตตนเอง อย่าเพ่ง อย่าจ้อง แค่รู้ทันจิต จิตหนีไปคิด รู้ จิตถลำไปเพ่ง รู้ เวลาที่เหลือเจริญสติในชีวิตประจำวัน เจริญสติในชีวิตประจำวันก็คือ มีตาก็ดู มีหูก็ฟัง มีจมูกก็ดมกลิ่น มีลิ้นก็รู้รส มีกายก็รู้สัมผัส มีใจก็คิดนึกได้ ไม่ใช่ห้ามคิด แต่เมื่อกระทบอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้ว จิตใจเรามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เกิดสุขให้รู้ เกิดทุกข์ให้รู้ เกิดกุศลให้รู้ เกิดอกุศลให้รู้ หรือจิตไปทำงานทางตาให้รู้ ไปทำงานทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ให้รู้ รู้เท่าที่รู้ได้ ไม่ต้องรู้เยอะอย่างที่หลวงพ่อบอก เอาเท่าที่เรารู้ได้ นี่ล่ะงาน 3 ตัว ถือศีล 5 ทำในรูปแบบ แล้วคอยสังเกตจิตตนเอง งานที่ 3 คือเจริญสติในชีวิตประจำวัน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์ แล้วมีความเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้นที่จิตให้รู้ทัน ถ้าทำ 3 ประการนี้ได้ มรรคผลนิพพานไม่อยู่ไกลเราหรอก ไม่ได้อยู่ไกลแล้ว ไม่เกินเอื้อม ขอให้ทำให้ต่อเนื่อง อดทน ฟังธรรมะพอเข้าใจ พอรู้หลักแล้ว สิ่งสำคัญมากคืออดทน

จริตเพื่อการทำวิปัสสนา

เวลาจะทำวิปัสสนามี 2 จริต เพราะฉะนั้นอย่างบางคนถาม บอกว่าหนูเป็นโทสจริต หนูจะทำวิปัสสนาอย่างไร อันนั้นถามผิดเรื่อง ถ้าโทสจริต อันนั้นเป็นเรื่องของการแก้ ทำให้จิตสงบ ไม่ตกอยู่ในอำนาจโทสะ เป็นเรื่องของสมถะ จริตเพื่อการทำวิปัสสนานั้นมี 2 จริต คือตัณหาจริตกับทิฏฐิจริต ตัณหาจริตคือพวกรักสุขรักสบาย รักสวยรักงาม ทิฏฐิจริตคือพวกช่างคิด ชอบวิเคราะห์ วิจัย วิจารณ์ มีอะไรหน่อยหนึ่งก็คิดแล้วคิดอีกอยู่นั่น

ค่อยๆ ดู กรรมฐานมันมีเยอะแยะไปหมด ดู เลือกเอาที่เหมาะกับตัวเรา มี 2 กลุ่มใหญ่ๆ ในการทำวิปัสสนา ถ้าเป็นพวกตัณหาจริต พวกรักสุขรักสบาย รักสวยรักงาม ดูกายหรือเวทนาทางกายไป ถ้าเป็นพวกเจ้าความคิดเจ้าความเห็นอะไรนี่ ก็ดูจิตตานุปัสสนา ดูจิตกับเจริญธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน 2 อันนี้เหมาะกับพวกทิฏฐิจริต

วิ่งหาความสุข

ความสุขเหมือนภาพลวงตาเหมือนเหยื่อที่อยู่ข้างหน้า หลอกให้เราวิ่งไปหาตลอดเวลา แล้วก็ไม่เจอ พระพุทธเจ้าท่านมีสติมีปัญญาสูง ท่านไม่ได้สอนให้เราวิ่งหาความสุขซึ่งมันเหมือนภาพลวงตา หาเท่าไรก็ไม่เจอเสียที ท่านบอกว่าเป้าหมายสูงสุดในชีวิตเรา ต้องพ้นจากความทุกข์ให้ได้ คือท่านมีสติมีปัญญาสูง

Page 2 of 6
1 2 3 4 5 6