เราสามารถปฏิบัติธรรมได้ตลอดเวลา

เราสามารถสร้างความดีขึ้นในจิตใจเราได้ในทุกๆ สถานการณ์ ฉะนั้นที่บอกว่าเราไม่มีเวลาจะสร้างความดี ไม่มีเวลาปฏิบัติอะไร เพราะยังไม่เข้าใจคำว่าปฏิบัติ ไปคิดว่าการปฏิบัติคือการนั่งสมาธิ เดินจงกรม หลวงพ่อบอกเลย หลวงพ่อภาวนามา นั่งสมาธิ เดินจงกรมพอประมาณเท่านั้น ทำทุกวันล่ะแต่ว่าไม่ได้ทำเยอะ ทำพอให้จิตใจมีเครื่องอยู่ มีที่อยู่ที่อาศัย มีกำลังขึ้นมา แล้วก็เจริญปัญญา

ตรงที่เราทำงานอยู่นั้น เราสามารถปฏิบัติธรรมได้ อย่างเวลาจะจัดประชุม เราต้องเตรียมข้อมูล เตรียมอะไรมากมาย หัวหมุนติ้วๆ เลย เราก็ดูใจไป ใจมันเบื่อ ใจมันร้อนรน กลัวจะทำไม่ทันอย่างนี้ ดูลงไปเลย เราได้ปฏิบัติอยู่แล้ว พองานเราเสร็จ เราก็รอเวลาประชุม เมมเบอร์มาไม่ครบเสียที ยืดเยื้อ เย็นนี้เราก็จะต้องมีธุระไปโน่นไปนี่ การประชุมก็ล่าช้า เลท เพราะว่าบางคนมันไม่มาง่ายๆ เถลไถล ไม่เคารพเวลาของคนอื่นอะไรอย่างนี้ ใจเรากลุ้มใจ รู้ ใจเราโมโห รู้ หลวงพ่อปฏิบัติธรรม ปฏิบัติอย่างนี้ ปฏิบัติอยู่ในชีวิตจริงๆ นี้ล่ะ

การได้สมาธิไม่ใช่แค่นั่งสมาธิเดินจงกรมหรอก เรารู้จักวางจิตใจให้ถูกในทุกๆ สถานการณ์ นั้นล่ะ เราสามารถทำกุศลให้เกิดได้

ฝึกให้จิตมีแรงแล้วเดินปัญญา

การฝึกจิตใจมันมี 2 ขั้นตอน ขั้นฝึกให้จิตสงบมีเรี่ยวมีแรง กับฝึกให้จิตตั้งมั่น ฝึกให้จิตสงบก็คือฝึกให้จิตมันรู้จักหยุดเสียบ้าง ธรรมดาจิตเราวิ่งพล่านๆ ทั้งวัน เดี๋ยววิ่งไปคิด เดี๋ยววิ่งไปดู วิ่งไปฟัง วิ่งไปดมกลิ่น วิ่งไปลิ้มรส วิ่งไปรู้สัมผัสทางร่างกาย จิตมันวิ่งตลอดเวลา มันก็เหนื่อย หมดเรี่ยวหมดแรง คล้ายๆ ร่างกาย วิ่งๆ ไปเรื่อยๆ ก็หมดแรง ก็ต้องพัก จิตก็ต้องพักเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเราจะต้องหัดกรรมฐาน ที่เรียกว่าสมถกรรมฐาน พอพักพอสมควรมีเรี่ยวมีแรงแล้ว ก็ต้องออกไปทำมาหากิน

ถ้าร่างกายพักพอสมควรมีแรงแล้ว ออกไปทำมาหากิน หาผลประโยชน์ จิตใจนี้ก็เหมือนกัน เราพักพอสมควรแล้ว ออกไปทำประโยชน์ ออกไปเจริญปัญญา นั่นล่ะหาของดีมาให้จิตใจ ปัญญามันเป็นอาหารชั้นเลิศของใจ

ไม่แน่ใจความหมายของคำว่าภาวนา พยายามรู้สึกตัว ดูข้อเสียเบื้องหลังของตัวเอง พื้นฐานคิดมาก วกวนและคิดร้าย

คำถาม: ไม่แน่ใจความหมายของคำว่า ภาวนา มีศรัทธาต่อศาสนา …

Read more

วิธีปฏิบัติ

การปล่อยวางกาย ปล่อยวางจิตนั้น ไม่มีใครสั่งให้จิตปล่อยวางได้ จิตมันปล่อยวางเอง เมื่อศีล สมาธิ ปัญญาของมันสมบูรณ์ ศีล สมาธิ ปัญญา จะสมบูรณ์ได้ อาศัยสติเป็นเบื้องต้น อาศัยความรู้เนื้อรู้ตัว สติสัมปชัญญะ คอยรู้สึกตัวไว้ อย่าใจลอย ฟุ้งซ่านไปทั้งวัน อาศัยธรรมะคู่นี้ แล้วศีล แล้วสมาธิ แล้วปัญญาของเราจะแก่รอบ พอศีล สมาธิ ปัญญาของเรา แก่กล้าขึ้นมาแล้ว จิตมันจะเห็นทุกข์เห็นโทษ มันยึดอะไรมันก็ทุกข์เพราะอันนั้น อย่างบางคนพระพุทธเจ้าท่านก็เคยสอน มีนาก็ทุกข์เพราะนา ก็ห่วง กลัวคนอื่นเขาจะมารุกที่นาเรา มีบ้านก็ทุกข์เพราะบ้าน เป็นห่วง เดี๋ยวปลวกมันจะกิน เดี๋ยวธนาคารจะมายึด มีรถยนต์ก็เป็นห่วงรถยนต์ มีลูกก็ห่วงลูก มีเมียก็ห่วงเมีย มีพ่อมีแม่ก็ห่วงพ่อห่วงแม่ มีอะไรก็ทุกข์เพราะอันนั้นทั้งหมดเลย

เราค่อยๆ สังเกตตัวเองเรื่อยๆ ไป ปัญญาของเราจะแก่กล้าเลย ยึดอะไรก็ทุกข์เพราะอันนั้น

เราเรียนรู้ความจริง ไม่มีอะไรหรอก มีแต่ทุกข์ทั้งนั้นเลย อย่านึกว่าชีวิตเราไม่ทุกข์ นั่งอยู่นี่ก็ทุกข์ หนาวก็ทุกข์ ร้อนก็ทุกข์ หิวก็ทุกข์ กระหายน้ำก็ทุกข์ ปวดอึ ปวดฉี่ก็ทุกข์ นั่งนานก็ทุกข์ เมื่อย ความทุกข์มันบีบคั้นเราอยู่ตลอดเวลาเลย เฝ้ารู้ลงไป ถ้าเราเห็นว่ากายนี้เป็นทุกข์ มีแต่ทุกข์ล้วนๆ ทุกข์มากกับทุกข์น้อย มันจะปล่อยวางกาย ถ้าเราเห็นว่าจิตมันเป็นทุกข์ เพราะความไม่เที่ยง เพราะถูกบีบคั้นให้แตกสลาย เพราะบังคับไม่ได้ รู้อย่างนี้แจ่มแจ้ง มันจะปล่อยวางจิต ตรงที่มันปล่อยวางจิตได้ ที่สุดของทุกข์อยู่ตรงนั้น

ล้างความเห็นผิด

การที่เราตามรู้ตามเห็น ความเกิดดับของกายของใจ เรียกว่าวิปัสสนากรรมฐาน เราเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของมัน เกิดๆ ดับๆ ไปเรื่อย บังคับไม่ได้ พอเราเข้าใจความจริง จิตจะเบื่อหน่ายคลายความยึดถือ แล้วก็หลุดพ้น ทำไมจิตไม่รู้จักหลุดพ้นเสียที เพราะจิตไม่ยอมวาง จิตยึดอยู่นั่นล่ะ ก็ต้องอบรมฝึกฝนตัวเองไปเรื่อยๆ ด้วยศีล ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา ถึงจุดที่จิตมันมีปัญญา มันฉลาด รู้ความจริงของรูปนามกายใจ มันก็วาง ไม่ใช่ของวิเศษ มีแต่ของเกิดแล้วดับ มีแต่ทุกข์เกิดขึ้น ทุกข์ตั้งอยู่ ทุกข์ดับไป มันเห็นแล้วมันก็วาง

เบื้องต้นตรงที่เราเห็นว่าสิ่งใดเกิด สิ่งนั้นก็ดับ เราวางความเห็นผิด ไม่มีอะไรที่เป็นอมตะ ไม่มีตัวตนถาวร อย่างปุถุชนจะรู้สึกว่า ตัวเรามีอยู่อย่างถาวร ตัวเราตอนนี้ กับตัวเราตอนเด็กๆ มันก็คนเดิม ตัวเราตอนนี้กับตอนแก่ มันก็คนเดิม ตัวเราเดี๋ยวนี้กับตัวเราชาติก่อน มันก็คนเดิม ตัวเราเดี๋ยวนี้กับตัวเราชาติหน้า มันก็คนเดิม ปุถุชนมันจะเห็นอย่างนี้ มันเห็นว่าตัวเรามีจริงๆ เราพาจิตใจให้มาเรียนรู้ความจริง ซ้ำแล้วซ้ำอีกลงไป มันมีแต่ของที่เกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ ไม่มีหรอกอะไรที่เป็นอมตะถาวร

ในขันธ์ 5 นี้ จะเป็นกายหรือจิตใจ เกิดแล้วก็ดับเหมือนๆ กัน เพราะฉะนั้นการที่เราล้างความเห็นผิด ว่ามีตัวมีตนได้ เกิดจากเราเห็นความจริง ว่าสิ่งทั้งหลายเกิดแล้วดับทั้งสิ้น ในขันธ์ 5 นี้ไม่มีอะไรอมตะเลย

ฝึกจิตเพื่ออนาคตที่สดใส

ไปฝึกเอาเพื่อชีวิตที่มีคุณค่า ชีวิตที่มีความสุข ชีวิตที่มีอนาคตที่แจ่มใส ถ้าเราไม่ได้ฝึกกรรมฐาน เราไม่มีชีวิตที่มีอนาคตที่แจ่มใส พวกเรามีความแก่รออยู่ข้างหน้า มีความเจ็บรออยู่ข้างหน้า มีความพลัดพรากรออยู่ข้างหน้า มีความตายรออยู่ข้างหน้า ฉะนั้นในโลกไม่มีชีวิตที่สดใสรออยู่ข้างหน้าหรอก แต่ในทางธรรมมี ฝึกจิตของตัวเองไปเรื่อยๆ ด้วยสมถะด้วยวิปัสสนานี่ล่ะ เรามีความสุขมีความสงบตั้งแต่ปัจจุบัน อนาคตก็มีความสุขความสงบสูงขึ้นๆ ไปเรื่อยๆ จนถึงวันหนึ่งเรามีความสุขความสงบของพระนิพพาน

นิพพานเป็นความสงบอย่างยิ่ง นิพพานมีสันติลักษณะ มันสงบ นิพพานมีความสุขอย่างยิ่ง นิพพานัง ปรมัง สุขัง นั่นล่ะเรามีรางวัลใหญ่รอเราอยู่ข้างหน้าสำหรับชาวพุทธทั้งหลาย ฉะนั้นเราทำ ฝึกของเราทุกวันๆ อย่าทิ้งเวลาให้เปล่าประโยชน์ไป

การปฏิบัติทิ้งจิตไม่ได้

ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งที่เราถนัด แล้วคอยรู้ทันจิตใจของตนเอง จับหลักตรงนี้ให้แม่นๆ แล้วเราจะก้าวหน้าได้ ถ้าเราเอาแต่ทำกรรมฐาน แล้วเราละทิ้งจิตของตนเอง มันจะก้าวมาไม่สู่จุดที่จิตมีสัมมาสติและสัมมาสมาธิเลย ก้าวขึ้นมาไม่ได้ พยายามแทบตาย เหน็ดเหนื่อยแทบตาย แต่ก็ไม่ได้อะไรเท่าไรหรอก เพราะมันทำไม่ถูก ไม่ได้หัวใจของการปฏิบัติ สิ่งที่เป็นต่างหากล่ะ เพราะฉะนั้นทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งแล้วคอยรู้ทันจิตตนเองไปเนืองๆ รู้ไปเรื่อยๆ รู้สบายๆ ถนัดอะไรก็ทำอันนั้นล่ะ แต่ให้ความสำคัญกับการรู้ทันจิตใจตนเอง ภาวนาอย่าทิ้งจิต จิตเป็นใหญ่ เป็นหัวหน้า เป็นประธานของธรรมะทั้งปวง ได้จิตก็ได้ธรรม ไม่ได้จิตก็ไม่ได้ธรรมะ หลวงปู่ดูลย์ก็สอน “จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นอรหัตมรรค” เห็นแจ่มแจ้งก็คือเห็นอะไร เห็นว่าจิตเองก็เป็นตัวทุกข์นั่นล่ะ ทันทีที่เห็นทุกข์ มันก็วาง เรียกเห็นทุกข์ก็ละสมุทัย แจ้งนิโรธ เกิดอริยมรรคขึ้นมา ก็อยู่ที่จิตทั้งหมด

ปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรม

เรามีงานที่ยิ่งใหญ่ที่เราจะต้องทำ เราผ่านความยากลำบากมามากมายแล้ว จนกระทั่งได้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มีศรัทธา ได้เข้าใกล้ครูบาอาจารย์ ได้ฟังธรรม ทำชิ้นสุดท้ายของเราให้ดี ปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรม อย่างที่ว่ามาทั้งวันตั้งแต่เช้านี้ ฟังไม่ทันก็ไปดู YouTube เอา สักประเดี๋ยวเขาก็จะเอาไปขึ้นให้ฟังแล้ว ฟังแล้วฟังอีก ปกติสิ่งที่หลวงพ่อสอนแต่ละครั้ง เกือบทั้งหมด ธรรมะแต่ละกัณฑ์เกือบๆ ทุกๆ กัณฑ์ เกือบ ไม่ทั้งหมดหรอก กัณฑ์เดียวเรื่องเดียว พอจะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ เพราะสิ่งที่สอนไม่ได้มีการเก็บออม ซ่อนเร้น เคล็ดวิชาชั้นสูงเอาไว้ ไม่ได้ซ่อนไว้ ให้หมดแล้ว อยู่ที่เรารับได้แค่ไหนต่างหาก ไปทำเอา ชีวิตจะได้ร่มเย็นเป็นสุข

นั่งสมาธิดูลมหายใจใช้พุทโธกำกับ สังเกตว่านั่งสมาธิและเดินตอนเช้าและเดินเย็น จิตดิ่งไม่บ่อย แต่จะวิ่งพล่านไปคิด แต่ถ้านั่งสมาธิช่วงบ่ายจิตจะดิ่งอย่างรวดเร็ว

คำถาม: นั่งสมาธิดูลมหายใจใช้พุทโธกำกับ เวลาเริ่มสงบ จิต …

Read more

งานพัฒนาจิต

การที่เราทำจิตตสิกขา คือการทำกรรมฐานอย่างหนึ่ง แล้วรู้ทันจิตที่เคลื่อนไป แล้วเราจะได้จิตที่ตั้งมั่นขึ้นมา จิตที่ตั้งมั่นมีทั้งสมาธิที่ถูกต้อง มีทั้งสติที่ถูกต้อง จิตดวงนี้พร้อมที่จะเจริญปัญญาแล้ว บางคนพอมีจิตที่ตั้งมั่นแล้ว ไม่ไปต่อก็ตั้งอยู่อย่างนั้นล่ะ อันนี้ก็น่าเสียดาย เหมือนเราชาร์จแบตเตอรี่เอาไว้เต็มแล้วเราก็ไม่ได้ใช้ วางทิ้งไว้ให้แบตเตอรี่เสื่อม เพราะฉะนั้นเราทำสมาธิเสร็จแล้ว เราก็ต้องมาเดินปัญญาต่อ นี่คืองานที่สอง งานฝึกจิตให้เกิดปัญญา

Page 4 of 6
1 2 3 4 5 6