GPS เส้นทางการปฏิบัติ

หลวงพ่อจะต่างกับครูบาอาจารย์ทั่วไป ส่วนใหญ่ท่านจะสอนให้เดินทีละก้าว เอ้า ไปพุทโธ พอสัก 3 ปีก็ค่อยมาว่ากันต่อ ซึ่งคนรุ่นนี้มันทำไม่ได้ ที่หลวงพ่อสอนมันเลยเป็นภาพทั้งกระดานเลย เหมือนเราดู GPS เราไม่ได้ดูเฉพาะหน้านี้ใช่ไหม เริ่มต้นเราก็ดูภาพรวมก่อน จากกรุงเทพฯ จะไปเชียงใหม่ มันจะไปทางทิศทางไหน มันจะเห็นภาพรวมก่อน แล้วค่อยลงรายละเอียด ฉะนั้นเวลาที่หลวงพ่อสอน หลวงพ่อจะสอนในระบบ GPS เห็นภาพกว้างๆ ก่อน แล้วก็มาลงรายละเอียดเป็นช็อตๆ ไป

ความรู้สึกตัวสำคัญที่สุด

พยายามรู้สึกตัวไว้ ความรู้สึกตัวเป็นจุดตั้งต้นของการปฏิบัติ พระพุทธเจ้าท่านก็บอก ท่านไม่เห็นธรรมะอย่างอื่นสำคัญเหมือนความรู้สึกตัว ถ้ารู้สึกตัวได้ก็จะละกิเลสที่มีอยู่ได้ แล้วก็กิเลสใหม่ก็ถูกปิดกั้น เกิดไม่ได้ เวลาที่เรารู้สึกตัวอยู่ กิเลสมันเกิดตอนเผลอเท่านั้นล่ะ แล้วเวลาที่เรารู้สึกตัวอยู่ก็มีสติอยู่ จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว ตัวนั้นคือกุศล ถ้าเรารู้สึกตัวบ่อยๆ กุศลมันก็เจริญขึ้นมา พัฒนาออกมา งอกงามออกมา เป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา เป็นวิมุตติ พัฒนาเป็นลำดับไป

ความรู้สึกตัวเป็นของมีค่ามาก แต่คนส่วนใหญ่ก็ละเลย ไม่ใส่ใจ ไม่สนใจ ไปให้ความสำคัญกับคนอื่น กับสิ่งอื่น ละเลยความสำคัญของความรู้สึกตัว ฉะนั้นเราพยายามรู้สึกตัวไว้ ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็รู้สึกตัวไว้

คำสอนหลวงปู่ดูลย์ อตุโล

ที่จริงคำสอนของหลวงปู่ดูลย์ ส่วนหนึ่งก็จะเหมือนๆ กับคำสอนของครูบาอาจารย์ทั่วๆ ไป แต่ส่วนที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของท่าน โดดเด่น ไม่มีองค์ไหนเหมือนก็คือเรื่องของจิต ท่านสอนตัดตรงเข้ามาที่จิตเลย แต่ก็ไม่ได้สอนทุกคนให้เข้ามาที่จิต ไม่ใช่ทุกคนจะเข้ามาได้หรอก จิตมันต้องมีกำลังมากพอ ถึงจะเข้ามาดูจิตได้ ถ้ากำลังยังไม่พอ ท่านก็ให้เริ่มไป บางคนก็พุทโธ บางคนก็พิจารณากาย พอจิตมีกำลังแล้วถึงจะขึ้นมาที่จิตได้

ท่านสอน “จิตส่งออกนอกเป็นสมุทัย ผลที่จิตส่งออกนอกเป็นทุกข์ จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นมรรค ผลที่จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นนิโรธ ธรรมดาของจิตย่อมส่งออกนอก เมื่อส่งออกนอกแล้วกระเพื่อมหวั่นไหว ก็เป็นสมุทัย ผลที่จิตส่งออกนอก แล้วกระเพื่อมหวั่นไหวไม่มีสติอยู่ก็เป็นทุกข์ จิตส่งออกนอกแล้วมีสติอยู่ ก็เป็นการเจริญมรรค ผลก็คือนิโรธ” แล้ววรรคสุดท้ายที่หลวงปู่สอนก็คือ “อนึ่งพระอริยเจ้าทั้งหลาย มีจิตไม่ส่งออกนอก มีจิตไม่กระเพื่อมหวั่นไหว มีสติสมบูรณ์เป็นวิหารธรรมอยู่” พอได้อ่านธรรมะตรงนี้ มันสะเทือนเข้าถึงใจ มันเห็นว่าถ้าจิตมันไม่ทุกข์แล้วใครมันจะทุกข์ เพราะฉะนั้นถ้าเราแก้ปัญหาที่จิตของเราได้ ความทุกข์มันก็ตั้งอยู่ไม่ได้

เห็นความหลงคิด ความโกรธ ความหดหู่ แต่ยังมีความไม่เป็นกลาง เมื่อโกรธอาจจะมีผิดศีลทางวาจาออกไปบ้าง

คำถาม: พอจะเห็นความหลงคิด ความโกรธ ความหดหู่ได้อยู่บ้าง …

Read more

มีโรคปวดหัวข้างเดียวมาเป็น 10 ปี ทำให้จิตไปคลุกกับทุกข์ แยกธาตุออกมาเป็นคนดูไม่ได้ กลัวตายแล้วไปทุคติภูมิ

คำถาม: จิตเคยเห็นจิตไม่ใช่เรา 2 ครั้ง ตอนนี้มีอุปสรรค 2 …

Read more

ขาดสติเมื่อไรก็คือประมาทเมื่อนั้น

ธรรมะสำคัญที่พระพุทธเจ้าสอนเรานาทีสุดท้ายที่ท่านจะนิพพาน ช่วงเวลาสุดท้ายที่ท่านจะนิพพาน ท่านบอกพวกเราให้ทำประโยชน์ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท คำว่าไม่ประมาทคือเราต้องมีสติอยู่กับปัจจุบันไป ถ้าเราทิ้งปัจจุบันก็เรียกว่าเราประมาท คือเราไปเพ้อฝันถึงอดีตเรียกว่าประมาท เพราะว่าเราทำลายเวลาให้ล่วงไปเปล่าๆ ในความฝัน ถ้าเราไปห่วงไปกังวลถึงอนาคต เครียดทั้งๆ ที่ปัญหายังไม่ได้เกิด โง่ไหม เครียด กลุ้มใจตั้งแต่ปัญหายังไม่เกิดเลย พอปัญหาเกิดแล้วก็ตีโพยตีพายจะให้คนโน้นช่วยจะให้คนนี้ช่วย ใครเขาไม่ช่วยก็โมโหอีกอะไรอย่างนี้ ไม่ได้เรื่อง ฉะนั้นเราใช้ปัจจุบัน มีสติอยู่กับปัจจุบัน ใช้อดีตเป็นบทเรียน วางแผนถึงอนาคต มีชีวิตอยู่กับปัจจุบันไป มีสติไปทุกขณะๆ หายใจออก

หลักต้องแม่น ศิลปะต้องมี

หลักของการปฏิบัตินั้น พระพุทธเจ้าสอนแต่ละคนมีหลักของการปฏิบัติ หลักของสติปัฏฐาน ของสมถะ ของวิปัสสนา สอนเรื่องไตรลักษณ์ เรื่องขันธ์ 5 อายตนะ 6 ธาตุ 18 อินทรีย์ 22 ปฏิจจสมุปบาท 24 อะไรอย่างนี้ แต่ตอนที่ลงมือปฏิบัติมันมีศิลปะ ศิลปะว่าตอนนี้ควรจะทำสมถะ หรือควรจะทำวิปัสสนา ถ้าจะทำสมถะ สมถะชนิดไหนเหมาะกับเรา ชนิดไหนไม่เหมาะ จะทำวิปัสสนาจะใช้กรรมฐานอะไร แล้วจะมองในมุมของอนิจจัง หรือทุกขัง หรืออนัตตา มันเป็นศิลปะเฉพาะตัวที่เราสังเกตตัวเอง

ติดชั่วก็ทุกข์ ติดดีก็ทุกข์

ท่านพุทธทาสท่านเคยสอน ท่านบอกชั่วกับดีอัปรีย์พอกัน อัปรีย์หมายถึงไม่น่ารัก ติดในความชั่วอันนี้เลวสุด ติดในความดีก็ทุกข์เหมือนกัน ฉะนั้นทำอย่างไรเราจะไม่ทำชั่ว เราทำความดีแต่ไม่ติด จิตมันชั่ว มีสติรู้ทันแล้วก็อย่าทำ จิตมันปรุงดีขึ้นมา มีสติรู้ทัน เราก็ทำ แต่ว่าอย่าไปติดมัน พวกติดดีก็น่าสงสาร แต่พวกติดดีก็ดีกว่าติดชั่ว แต่ไม่ติดอะไรเลยดีที่สุด

มีสติรู้เท่าทันจิตใจตัวเอง

อาศัยมีสติรู้พฤติกรรมของจิตตัวเองเรื่อยๆ ไป เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวดี เดี๋ยวชั่ว รู้ไป จิตไม่เป็นกลาง ยินดียินร้ายขึ้นมา ยินดีต่อความสุข ยินร้ายต่อความทุกข์ ยินดีต่อกุศล ยินร้ายกับอกุศล รู้ทัน จิตจะเป็นกลางด้วยสติ พอรู้เรื่อยๆ ไป ต่อไปก็เป็นกลางด้วยปัญญา รู้ว่าสุขหรือทุกข์ ดีหรือชั่ว เสมอภาคกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ พอเป็นกลางด้วยปัญญา จิตจะหมดความดิ้นรนปรุงแต่ง จิตจะพ้นจากภพ แล้วสัมผัสพระนิพพาน

Page 2 of 2
1 2