รู้ทันความปรุงแต่งจนหลุดพ้น

หลวงพ่อนั่งดูพวกเรา แต่ละคนก็พยายามภาวนา อยากภาวนากัน ป …

Read more

ธรรมะเรียนไม่ได้ด้วยการคิด

จุดอ่อนของปัญญาชน ก็คือคิดมาก หลายคนหลวงพ่อสอนให้รู้สึกตัว ให้ดูกายดูใจ เขาบอกเขายังดูไม่ได้ ต้องคิดไว้ก่อน เออ ก็คิดไป ชาตินี้คิด ชาติหน้าก็ไปคิดต่อ ธรรมะเรียนไม่ได้ด้วยการคิดเอา เรียนด้วยการรู้สึก รู้สึกกาย รู้สึกใจ ดูกายหายใจออก หายใจเข้า ก็เห็นร่างกายหายใจออกหายใจเข้า ไม่ใช่เราหายใจออก ไม่ใช่เราหายใจเข้า ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน เราก็เห็นร่างกายมันยืน เดิน นั่ง นอน ไม่ใช่เรายืน เดิน นั่ง นอน

การดูสภาวธรรม

สภาวธรรมทั้งหลายมีลักษณะ 2 ประการ คือลักษณะเฉพาะตัว ทำให้ตัวมันแตกต่างกับสภาวะอันอื่น ทำให้เราเห็นได้ว่า ตอนนี้ตัวนี้เกิด ตอนนี้ตัวนี้ดับ มันจะเห็นได้ อีกอันหนึ่งคือลักษณะร่วมคือไตรลักษณ์ อันนั้นเป็นปัญญารวบยอดแล้ว เกิดจากการเห็นแต่ละตัวๆ เกิดดับ สุดท้ายจิตมันสรุป จิตสรุปไม่ใช่เราสรุป ถ้าให้เราสรุป เราสรุปกันตอนนี้เลยว่า สิ่งใดเกิด สิ่งนั้นดับ แล้วเราก็เป็นปุถุชนเหมือนเดิม ต้องให้จิตมันสรุปเอง ถ้าไปคิดนำ มันก็ไม่ได้เรื่องหรอก

ใช้รูปธรรมนามธรรมเป็นอารมณ์กรรมฐาน

เราจะปฏิบัติธรรมเราต้องรู้หลักให้ดี งานที่เราจะทำ งานหลักคือการทำวิปัสสนากรรมฐาน อารมณ์ของวิปัสสนากรรมฐานคือรูปธรรมนามธรรม อย่างร่างกายเราเป็นรูปธรรม ความรู้สึกนึกคิด ความรับรู้ทั้งหลายเป็นนามธรรม ร่างกายเป็นตัวรูปธรรม เจริญปัญญานี้ก็ต้องรู้รูปธรรมรู้นามธรรม ทีแรกรู้ถึงความมีอยู่ของรูปธรรม ถัดจากนั้นรู้ถึงความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของรูปธรรม หรือเบื้องต้นรู้ความมีอยู่ของนามธรรม ถัดจากนั้นก็รู้ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของนามธรรม ทีแรกรู้ถึงความมีอยู่ของกายของใจ แล้วต่อไปก็เห็นความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของกายของใจ ร่างกายนี้เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไป ถูกความทุกข์บีบคั้น เปลี่ยนไปเรื่อยๆ เปลี่ยนอิริยาบถไปเรื่อยๆ จิตใจมีแต่ความไม่เที่ยง แปรปรวนตลอดเวลา แล้วก็บังคับไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ เห็นความจริงของร่างกาย เห็นความจริงของจิตใจไป อย่างนี้ถึงจะเรียกว่าการเจริญปัญญา

ธาตุกรรมฐาน

การปฏิบัติต้องดูให้ถึงกายถึงใจของตัวเอง ถ้าดูรูปไม่ต้องคำนึงหรอก ว่าเป็นมหาภูตรูปหรือเปล่าอะไรอย่างนี้ ดูรูปที่เราดูได้ พระพุทธเจ้าสอนไว้แล้วในกายานุปัสสนา มีส่วนที่เป็นมหาภูตรูป รูปดิน น้ำ ไฟ ลม คือเรื่องธาตุ รูปหายใจออก รูปหายใจเข้า รู้สึกไว้ แล้วต่อไปเราเห็น รูปที่หายใจออกไม่ใช่เรา รูปที่หายใจเข้าไม่ใช่เรา ร่างกายทั้งหมดนี้จะไม่ใช่เรา มันจะเห็นว่าร่างกายทั้งหมดไม่ใช่เรา ถ้าเห็นรูปมันยืน ไม่ใช่เรา รูปเดิน รูปนั่ง รูปนอน ไม่ใช่เรา ต่อไปปัญญาความรู้รวบยอดมันก็เกิด รูปทั้งหมดไม่ใช่เรา ตัวนี้ไม่เป็นเรา ที่เรามาหัดดูรูป ดูนาม ดูกาย ดูใจ เพื่อจะได้เห็นความจริงว่ามันไม่ใช่เรา มันก็แค่รูปธรรมที่ประกอบด้วยธาตุ 4 ธาตุ 4 เป็นสมบัติของโลก ร่างกายเราที่มีดินอยู่นี้ ก็ดินของโลก น้ำที่เรามีอยู่นี้ ก็เป็นน้ำของโลก ฉะนั้นตัวธาตุจริงๆ ไม่ใช่ของเรา

ภาวนาไปตามลำดับ

ค่อยๆ ภาวนา ทำไปตามลำดับ ฟังแล้วเหมือนยาก มันยากก็เพราะว่า เราต้องทำมาตามขั้นตอนแล้วมันไม่ยาก ถ้าทำข้ามขั้นตอนมันยาก เรายังไม่ถึงขั้นจะข้ามภพข้ามชาติ ภาวนาค่อยๆ ดูเท่าที่เราดูได้ สิ่งที่เราดูเห็น อะไรที่ยังไม่เห็นไม่ต้องคิดมาก เจริญสติ เจริญสมาธิ เจริญปัญญาไป เดี๋ยววันหนึ่งก็เห็นเอง วันนี้ไม่เห็นไม่เป็นไร

ตอนนี้สิ่งที่เราหัดเห็น หัดเห็นสภาวธรรม สภาวะของรูปธรรม สภาวะของนามธรรม หัดรู้หัดเห็นตัวนี้ สภาวธรรมมีอีกอย่างหนึ่งคือพระนิพพาน พวกเรายังไม่สามารถรู้เห็นได้ คนที่เห็นพระนิพพานได้ ต้องพระโสดาบันขึ้นไป อย่างได้โสดาบัน บางทีจะให้จิตไปอยู่กับพระนิพพาน ก็พิจารณาขันธ์ 5 ลงเป็นไตรลักษณ์ แล้วพอมันวางขันธ์ 5 มันจะทวนกระแสเข้ามาที่จิต จะสัมผัสพระนิพพาน เพราะมันวางกระแสของโลกไป แต่อย่างเราเป็นปุถุชน ยังไม่เห็นนิพพาน เราก็แขวนเอาไว้ก่อน ไม่ต้องไปหา หาเท่าไรก็ไม่เจอ มันไม่มีร่องรอยให้เห็นหรอก เราดูสิ่งที่เราดูได้

ธรรมะช่วยเราได้สารพัด

ธรรมะช่วยเราได้สารพัด แต่เราไม่เข้าใจคำว่า ธรรมะๆ คิดว่าธรรมะคือการนั่งสมาธิ เดินจงกรม อันนั้นตื้นเกินไป การใช้ชีวิตอย่างมีเหตุมีผลก็เป็นธรรมะแล้ว เป็นธรรมะเพื่อการอยู่กับโลก ธรรมะที่อยู่กับโลก พระพุทธเจ้าสอนเอาไว้เยอะแยะ จะดูแลครอบครัวอย่างไร ดูแลลูกน้องอย่างไร จะปฏิบัติต่อพ่อแม่อย่างไร ท่านสอนไว้เยอะแยะ เอาไปทำได้ก็ดี ถ้าง่ายที่สุดก็คือเรียนรู้ทันจิตใจตัวเอง ไม่ว่าจะคิดอะไร จะพูดอะไร จะทำอะไร อย่าให้กิเลสมันครอบงำ

รู้สภาวะที่เรารู้ได้

พวกเราต้องหัดรู้สภาวะให้ได้ แล้วสภาวะที่เราต้องหัดรู้ คือสภาวะที่เรารู้ได้ เราเห็นได้ อะไรที่เราไม่รู้ไม่เห็น ไม่ต้องหรอก ค่อยๆ ดูไป แล้วใช้จิตเป็นวิหารธรรม สิ่งที่เกิดกับจิตนั้นก็เวทนาเกิดร่วมกับจิต สัญญาเกิดร่วมกับจิต สังขารเกิดร่วมกับจิต แล้วก็จิตก็ทำงานทางอายตนะ ตรงที่เห็นจิตทำงานทางอายตนะ มันขึ้นสู่ธัมมานุปัสสนาแล้ว เราดูสิ่งที่เราดูได้ อันไหนเราทำไม่ได้ อย่าไปทำ ทำที่ทำได้

โยนิโสมนสิการสำคัญมาก

สังเกตตัวเอง ที่ทำอยู่ตรงนี้หลงอยู่หรือว่าปฏิบัติอยู่ ขั้นหยาบๆ เลย แล้วที่ปฏิบัติอยู่สมถะหรือวิปัสสนา สังเกตไป ตอนทำสมถะอยู่อันนี้นิมิตเกิดขึ้น เรายินดีในนิมิต หรือเราวางนิมิตย้อนเข้ามารู้ทันจิตตนเองได้ ถ้ายินดีในนิมิต นิมิตจริง นิมิตปลอมก็โง่เหมือนกัน หลงออกไปแล้ว ลืมจิตใจตัวเอง สังเกตตัวเองไปเรื่อยๆ หลวงพ่อสู้มาทุกวันนี้ ตั้งแต่เป็นโยม ใช้ความสังเกต ใช้โยนิโสมนสิการมาก ในชีวิตหลวงพ่อเรียนกับครูบาอาจารย์ หลวงพ่อเคยถามกรรมฐานจากครูบาอาจารย์ทั้งหมด 7 ครั้ง จากครูบาอาจารย์ 6 องค์ ที่ถามมีแค่นั้นเองนอกนั้นสังเกตเอา อย่างภาวนาไปช่วงนี้ เกิดสภาวะอย่างนี้มันใช่มันไม่ใช่ หลวงพ่อสังเกตไปเรื่อย ไม่ยินดี ไม่ยินร้ายกับมัน ค่อยรู้ค่อยดูไป เกิดความเข้าใจขึ้นมาแล้ว มีโอกาสเจอครูบาอาจารย์ ส่วนใหญ่จะเป็นแบบนั้น จะเข้าใจก่อนที่จะเจอครูบาอาจารย์ แล้วก็ไปเล่าให้ท่านฟัง บอก “ผมดูแล้วมันเป็นอย่างนี้ๆ มันคืออย่างนี้” ท่านบอก “ใช่แล้ว ถูกแล้ว” ท่านจะชมว่าฉลาด ฉลาด ช่วยตัวเองมาได้ ถ้าเอะอะวิ่งถามครูบาอาจารย์ตลอด ไม่ฉลาดหรอก

มีศีลเป็นเครื่องป้องกันตัว

ถ้าตั้งใจรักษาพระวินัย ธรรมวินัยก็จะรักษาเรา ถ้าไม่รักษาตัวเองก็เอาตัวไม่รอด แล้วจะไปรักษาพระศาสนาได้อย่างไร ตัวเองยังรักษาไม่ได้เลย เรื่องของเรื่องทั้งหมดนั้นก็คือเรื่องของกิเลสนั่นล่ะ ถ้ายังไม่เห็นโทษไม่เห็นภัยของกิเลส ยังลดละกิเลสไม่ได้ มันก็พร้อมจะพลาด ถึงเราเป็นฆราวาสก็เหมือนกัน ต้องรักษาศีล 5 ไว้ ถ้าศีล 5 เรายังรักษาไม่ได้ เราก็เริ่มเบียดเบียนคนอื่น เบียดเบียนตัวเราเองเพราะไม่มีศีล รักษาศีล 5 ไว้ก็ช่วยตัวเองได้เยอะเลย ฉะนั้นศีลเป็นเครื่องป้องกันตัวทั้งพระทั้งโยม ต้องรักษาศีลเอาไว้ ถ้าศีลเราไม่ดีสมาธิเราก็เสื่อม สมาธิเสื่อมปัญญาก็ไม่เกิด

Page 1 of 2
1 2