เรียนปริยัติแล้วต้องลงมือปฏิบัติ

ที่ฟังหลวงพ่อนี่ก็เป็นปริยัติ เอาไปทำ ทำปฏิบัติสมถะให้จิตสงบ ทำสมถะให้จิตตั้งมั่น เจริญวิปัสสนาให้เห็นความจริง คือไตรลักษณ์ของรูปนามกายใจ ถัดจากนั้นมรรคผลจะเกิดเอง นี่เรื่องที่เราจำเป็นต้องเรียน ในขณะที่เราฟังอย่างนี้เราเรียนปริยัติ แล้วเราก็ลงมือปฏิบัติ แล้วตรงที่สำคัญมากเลยตอนที่เจริญปัญญา เราจะเรียนถึงสภาวธรรมจริงๆ รูปธรรมนามธรรม อันนี้ว่าไปก็คือการเรียนอภิธรรม แต่เป็นอภิธรรมภาคปฏิบัติจริงๆ ไม่ใช่อภิธรรมในตำรา อภิธรรมในตำราดีไหม ดี แต่ว่ายังล้างกิเลสไม่ได้ แล้วต้องให้เจออภิธรรมในภาคปฏิบัติ เช่น เห็นราคะเกิดแล้วก็ดับ ราคะเป็นอภิธรรมตัวหนึ่ง เป็นสภาวธรรมตัวหนึ่งก็อยู่ในอภิธรรมล่ะ เห็นโทสะเกิดแล้วดับ เพราะฉะนั้นที่เรากำลังทำวิปัสสนานี่ เรากำลังเรียนอภิธรรมอยู่ แต่เป็นอภิธรรมภาคปฏิบัติ

จิตตั้งมั่นแล้วเดินปัญญา

ถ้าจิตเราตั้งมั่น มันจะเริ่มแยกขันธ์ได้ แยกธาตุได้ ค่อยๆ แยกออกไป แล้วเราจะเห็นร่างกายที่ถูกจิตรู้ ไม่ใช่เรา เวทนา ความรู้สึกสุขทุกข์ในร่างกาย ไม่ใช่ร่างกาย แล้วก็ไม่ใช่จิต แล้วก็ไม่ใช่เรา เวทนาทางใจคือความรู้สึกสุขทุกข์ ความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์ ไม่ใช่ร่างกาย ไม่ใช่เวทนาทางกาย แล้วก็ไม่ใช่จิต แล้วก็ไม่ใช่เรา กุศลอกุศลทั้งหลาย ไม่ใช่ร่างกาย ไม่ใช่เวทนา สุขทุกข์ ไม่ใช่จิต กุศลอกุศลทั้งหลายก็ไม่ใช่เรา

สติปัฏฐาน

ไปดูตัวเอง ถนัดรู้กาย เราก็รู้กาย ถนัดรู้เวทนา ก็รู้เวทนา ถนัดดูจิตที่เป็นกุศลอกุศล เราก็รู้จิตไป รู้ไปเรื่อยๆ แล้วต่อมาเราก็จะเห็นทุกอย่างที่เรารู้มันเป็นของถูกรู้ถูกดู ร่างกายก็ถูกรู้ เวทนาก็ถูกรู้ จิตที่เป็นกุศลอกุศลก็ถูกรู้ เราเริ่มเดินปัญญาแล้ว แล้วต่อมาเราเห็นความเป็นไตรลักษณ์ ร่ายกายก็อยู่ใต้ไตรลักษณ์ เวทนาก็อยู่ใต้ไตรลักษณ์ จิตก็อยู่ใต้ไตรลักษณ์ อันนี้เราขึ้นวิปัสสนาแล้ว เราเดินไปในเส้นทางอันนี้ เส้นทางของสติปัฏฐาน เรียกว่าเอกายนมรรค คําว่าเอกายนมรรค หรือทางเอก เป็นทางสายเดียวเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้น

ของถูกรู้ถูกดูไม่ใช่ตัวเรา

จุดสำคัญก็คือ เราจะต้องฝึกจิตให้ตั้งมั่นขึ้นมาให้ได้ ถ้าจิตเราตั้งมั่นแล้ว สติระลึกรู้ร่างกาย ก็จะเห็นว่าร่างกายถูกรู้ถูกดูไม่ใช่ตัวเรา ถ้าจิตเราตั้งมั่นแล้วสติระลึกรู้เวทนาคือความรู้สึกสุขทุกข์ ก็จะเห็นว่าความสุขความทุกข์ไม่ใช่ตัวเราของเรา ถ้าจิตเราตั้งมั่นอยู่ สติระลึกรู้กุศลอกุศล อย่างโลภโกรธหลง มันก็จะเห็น กุศลอกุศลโลภโกรธหลงอะไรไม่ใช่ตัวเรา นี่เราฝึกมากเข้ามากเข้า เราก็จะเห็นว่าบางครั้งจิตก็เป็นผู้รู้ บางครั้งจิตก็เป็นผู้หลง จิตที่เป็นผู้รู้มันก็ถูกรู้ จิตที่เป็นผู้หลงมันก็ถูกรู้ สุดท้ายกระทั่งจิตก็ไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเรา

เห็นทุกข์ด้วยสติปัฏฐาน

ค่อยภาวนา เริ่มจากกายก็ได้ เวทนาก็ได้ จิตก็ได้ แล้วสุดท้ายมันจะลงมาที่ปฏิจจสมุปบาท ลงมาที่อริยสัจทุกคน เพราะถ้ายังไม่ถึงรู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ ยังไม่จบกิจในพระพุทธศาสนา เรียกว่ายังไม่รู้ทุกข์ ยังไม่ได้รู้ทุกข์ ฉะนั้นเราดูกายก็ได้ แล้วต่อไปเราก็เข้ามาเห็นทุกข์ได้ ดูเวทนา ดูจิตแล้วก็เข้ามาเห็นทุกข์ได้ เห็นทุกข์ก็เห็นธรรมนั่นล่ะ พอเรารู้ความจริงแจ่มแจ้ง กาย เวทนา จิต ธรรมไม่มีอะไร มีแต่ทุกข์ล้วนๆ มีแต่ของไม่เที่ยง มีแต่ของถูกบีบคั้น มีแต่ของที่อยู่นอกเหนืออำนาจบังคับ พอเห็นอย่างนี้จิตมันจะวาง พอจิตมันปล่อยวางได้ รู้ทุกข์จนมันละสมุทัยแล้ว มันก็แจ้งนิโรธ

หลักสูตรการฝึกสติคือสติปัฏฐาน

หลักสูตรในการฝึกสติก็คือสติปัฏฐานนั่นเอง ฉะนั้นสติปัฏฐานเลยเป็นเรื่องใหญ่ ตราบใดที่ยังมีผู้เจริญสติปัฏฐานอยู่ แล้วต้องทำให้ถูกด้วย การที่จะบรรลุมรรคผล ไม่เหลือวิสัย มีความเป็นไปได้ แต่ถ้าเราทิ้งเรื่องของสติปัฏฐาน ให้เรานั่งสมาธิตั้งแต่หัวค่ำยันสว่าง หรือเดินจงกรมหามรุ่งหามค่ำ มันก็ไม่ได้มรรคผลอะไรหรอก เพราะฉะนั้นเราชาวพุทธต้องรู้จักหัดเจริญสติปัฏฐานให้ได้ การเจริญสติปัฏฐานมันมี 2 อย่างซ้อนกันอยู่ เบื้องต้น เราฝึกเพื่อให้เกิดสติ เบื้องปลายเราฝึกเพื่อให้เกิดปัญญา 2 อย่างนี้ได้มาด้วยการเจริญสติปัฏฐาน สติ ทำอย่างไรมันจะเกิด สติเป็นเรื่องใหญ่ ไม่มีสติก็ไม่มีศีล ไม่มีสติ ไม่มีสมาธิ ไม่มีสติก็ไม่มีปัญญา สติเป็นองค์ธรรมฝ่ายกุศล จิตที่เป็นกุศลทุกดวงต้องมีสติ อกุศลไม่มีสติหรอก ฉะนั้นสติไม่ใช่เรื่องเล็กๆ

สมบัติ 4 – วิบัติ 4

ฝึกตัวเอง อย่าเกี่ยง อย่าอ้างโน่นอ้างนี่ มีธรรมะอยู่หมวดหนึ่ง ที่ว่ากฎแห่งกรรมมันจะทำงานได้ดีไม่ดี คือ เรื่องของสมบัติ 4 ข้อ และก็วิบัติ 4 ข้อ พวกเราทั้งหมด เกิดในภูมิมนุษย์ ก็ถือว่าเป็นสุคติ ขณะนี้เราก็มีคติสมบัติ อันแรกเราได้เกิดเป็นมนุษย์ อันที่ 2 เรายังอยู่ในสภาพแวดล้อม ที่เราสามารถภาวนาได้ เรามีอุปธิสมบัติ คือสภาพร่างกายเราแข็งแรง ยังมีสุขภาพที่พอไปได้ อีกอันหนึ่งเขาเรียกกาลสมบัติ หรือกาลวิบัติ คือเวลา ช่วงเวลา อย่างบางช่วงบ้านเมืองสงบเรียบร้อย ภาวนาดี ภาวนาง่าย ก็มีกาลสมบัติ เกิดในยุคที่บ้านเมืองวุ่นวาย เป็นกาลวิบัติ สมบัติอีกอันหนึ่งเรียกว่า ปโยคสมบัติหรือปโยควิบัติ มีความเพียรพยายาม มุ่งมั่นจะทำในสิ่งที่ดีแค่ไหน ตัวนี้เป็นตัวที่พวกเราขาดเยอะ อย่างคติสมบัติของเรามี เราเป็นมนุษย์ อุปธิสมบัติของเรามี ร่างกายเรายังแข็งแรง เวลาของเรายังมี ยังไม่ตาย ยังมีเวลาเหลืออยู่ มันอยู่ที่ปโยคสมบัติของเรามีไหม มีความเพียรไหม มีความพากเพียรที่จะภาวนาไหม ถ้าเรามีความเพียรที่จะภาวนา ตัวอื่นๆ สำคัญน้อย อยู่ตรงไหนก็ภาวนาได้ ไม่เลือกเวลา ไม่เลือกสถานที่

ธรรมะเป็นของตรงไปตรงมา

ท่านสอนง่ายๆ ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตมีราคะรู้ว่ามีราคะ จิตไม่มีราคะรู้ว่าไม่มีราคะ เห็นไหม คำพูดนี้ตรงไปตรงมา ไม่ได้มีอะไรที่พิสดาร จิตเรามีราคะเราก็รู้ จิตไม่มีราคะเราก็รู้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตมีโทสะรู้ว่ามีโทสะ จิตไม่มีโทสะรู้ว่าไม่มีโทสะ ไม่เห็นจะมีอะไรยุ่งยากเลย ของง่ายๆ ธรรมะเป็นของง่ายๆ เรียบง่าย เปิดเผยตรงไปตรงมา กิเลสของเราทำให้เราคิดว่าธรรมะพิสดารผิดธรรมชาติธรรมดา การภาวนาจริงๆ ไม่ใช่เรื่องลึกลับอะไรเลย ให้จิตใจอยู่ที่ตัวเอง รู้เนื้อรู้ตัวอยู่ ศัตรูมี 2 อัน ไม่หย่อนก็ตึง หย่อนไปนี่ภาษาพระเรียกว่า กามสุขัลลิกานุโยค ตึงนี่เรียก อัตตกิลมถานุโยค ทำตัวเองให้ลำบาก ทางสายกลางคือรู้อย่างที่กายมันเป็น รู้อย่างที่ใจมันเป็นไป นี่เป็นหลักของการปฏิบัติ

ชาวพุทธต้องศึกษาปฏิบัติ

ชาวพุทธเราร่อยหรอเต็มทีแล้ว ชาวพุทธเราไม่ได้เชื่อฟังพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่ได้ใส่ใจในการศึกษา ชาวพุทธเรายังตกอยู่ในความประมาท ใช้ชีวิตร่อนเร่ไปวันๆ หนึ่ง แล้วก็หวังพึ่งคนอื่น หวังพึ่งสิ่งอื่น ไม่เชื่อกรรม ไม่เชื่อผลของกรรม ไม่ใช่ชาวพุทธหรอก มันเป็นพุทธแต่ชื่อหรอก ไม่มีการศึกษาอย่างยิ่งเลย เชื่องมงาย หวังแต่จะพึ่งปาฏิหาริย์ ไม่ใช่ชาวพุทธหรอก ชาวพุทธเชื่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เชื่อในการศึกษาปฏิบัติ ไม่ประมาทในการดำรงชีวิตของเรา ถ้าทำอย่างนี้ได้ เราก็จะเป็นชาวพุทธที่แท้จริงได้ ถ้าหวังพึ่งปาฏิหาริย์ หวังพึ่งคนอื่นให้มาช่วยเรา ต้องรู้ว่ามันเป็นไปไม่ได้หรอก

กฎของการปฏิบัติ

เวลาที่เราจะรู้กายรู้ใจ เรามีสติรู้ถึงความมีอยู่ของร่างกาย รู้ถึงความมีอยู่ของจิตใจ มีสติเห็นร่างกายนี้ มันเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง จิตใจก็เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ แล้วก็มีปัญญาเห็นว่าร่างกายและก็จิต ล้วนแต่ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ สติเป็นตัวรู้สภาวะ สภาวะคือรูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย ปัญญาเป็นตัวเห็นไตรลักษณ์ของรูปธรรมนามธรรม ฉะนั้นต้องเดินให้ถูกหลัก คำว่า ทุกข์ให้รู้ สมุทัยให้ละ” นี่เป็นกฎของการปฏิบัติ เป็นแม่บทใหญ่อยู่ในอริยสัจ 4 อริยสัจ 4 ข้อคือทุกข์ให้รู้ สมุทัยให้ละ นิโรธทำให้แจ้ง มรรคทำให้เจริญ ถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้ง สมุทัยก็ถูกละ นิโรธก็ปรากฏขึ้นมา อริยมรรคก็เกิดขึ้น

Page 1 of 5
1 2 3 4 5