สติปัฏฐาน

ไปดูตัวเอง ถนัดรู้กาย เราก็รู้กาย ถนัดรู้เวทนา ก็รู้เวทนา ถนัดดูจิตที่เป็นกุศลอกุศล เราก็รู้จิตไป รู้ไปเรื่อยๆ แล้วต่อมาเราก็จะเห็นทุกอย่างที่เรารู้มันเป็นของถูกรู้ถูกดู ร่างกายก็ถูกรู้ เวทนาก็ถูกรู้ จิตที่เป็นกุศลอกุศลก็ถูกรู้ เราเริ่มเดินปัญญาแล้ว แล้วต่อมาเราเห็นความเป็นไตรลักษณ์ ร่ายกายก็อยู่ใต้ไตรลักษณ์ เวทนาก็อยู่ใต้ไตรลักษณ์ จิตก็อยู่ใต้ไตรลักษณ์ อันนี้เราขึ้นวิปัสสนาแล้ว เราเดินไปในเส้นทางอันนี้ เส้นทางของสติปัฏฐาน เรียกว่าเอกายนมรรค คําว่าเอกายนมรรค หรือทางเอก เป็นทางสายเดียวเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้น

ทิ้งการมีเครื่องอยู่ของจิตไม่ได้

การปฏิบัติ จิตจะต้องมีเครื่องอยู่ ถ้าจิตไม่มีเครื่องอยู่ จิตก็ร่อนเร่ไป ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติในขั้นไหนก็ต้องมีเครื่องอยู่ให้จิตอยู่ อย่าว่าแต่พวกเราเลย กระทั่งพระอรหันต์ ท่านก็ยังมีการเจริญสติปัฏฐานเป็นเครื่องอยู่ ใช้กาย เวทนา จิต ธรรม ให้ใจมีบ้านอยู่ แต่พวกเราต่างกับพระอรหันต์ ตรงที่ เรายังยึดถือกายใจขันธ์ 5 อยู่ เราเจริญสติปัฏฐานเป็นเครื่องอยู่ เพื่อให้เกิดปัญญารู้ถูกเข้าใจถูก แล้วปล่อยวาง ในขณะที่พระอรหันต์ท่านมีกาย เวทนา จิต ธรรมเป็นเครื่องอยู่ แล้วจิตท่านพรากออกไป แยกออกไปจากขันธ์ ไม่เกาะเกี่ยว มองเห็นขันธ์เป็นความว่าง ในขณะที่พวกเรามองเห็นขันธ์เป็นตัวเรา ปุถุชน เพราะฉะนั้นจะทิ้งการมีเครื่องอยู่ของจิตไม่ได้ สังเกตตัวเอง อยู่กับเครื่องอยู่ชนิดไหนแล้วสติเกิดบ่อย เอาอันนั้นล่ะดี

ต้องปฏิบัติให้ครบทั้งศีล สมาธิ ปัญญา

การปฏิบัติเราต้องทำให้ครบ ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าขาดอันใดอันหนึ่ง การภาวนาก็จะล้มเหลว ศีลก็ฝึกตัวเอง ไม่ตามใจกิเลส สมาธิก็ฝึกให้จิตใจสงบจากกิเลสชั่วครั้งชั่วคราว แล้วอาศัยช่วงเวลานั้นมาเจริญปัญญา ถ้าเราเอาใจที่ปนเปื้อนกิเลสไปเจริญปัญญา มันทำไม่ได้จริง ฉะนั้นศีล สมาธิ ปัญญา เป็นของสำคัญ ขาดไม่ได้

ศีลเป็นเครื่องข่มใจ ไม่ให้ไหลตามกิเลส สมาธิเป็นเครื่องข่มกิเลส ไม่ให้มีอำนาจเหนือใจ ปัญญาเป็นเครื่องล้างผลาญทำลาย ขุดรากถอนโคนกิเลส 3 สิ่งนี้ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ขาดอันใดอันหนึ่งก็สู้ยาก สู้ไม่ไหว

การทำสมาธิกับการเจริญปัญญา

การทำสมาธิกับการเจริญปัญญาทำได้ตั้งหลายรูปแบบ ใช้ปัญญานำสมาธิ คิดพิจารณาไปก่อน แล้วทำความสงบเป็นระยะๆ ไป แล้วถึงจุดที่กำลังมันพอ สติ สมาธิ ปัญญาพอ ก็จะเกิดอริยมรรคได้ หรือใช้สมาธินำปัญญา ทำความสงบลึกลงไปก่อน พอถอนออกมา ให้ดูกาย อย่าดูจิต ดูจิตมันจะว่างๆ เพราะจิตมันยังทรงกำลังของสมาธิอยู่ พอพิจารณาลงไปในร่างกาย ไม่ต้องพิจารณามากอันนี้ ไม่ต้องคิดเยอะเลย พอจิตทรงสมาธิแล้วพอถอยออกมาปุ๊บ มันเห็นเลยร่างกายไม่ใช่เราหรอก เป็นแค่วัตถุ เป็นแค่ก้อนธาตุ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ มีเวทนาเกิดขึ้นในร่างกายก็รู้ เห็นเวทนาในร่างกายดับไปก็รู้ จิตตั้งมั่น เป็นคนรู้ อันนี้เราใช้สมาธินำปัญญา อีกแบบหนึ่ง แบบที่สาม ใช้ปัญญากับสมาธิควบกัน

เลิกหาความสุขแบบหมาขี้เรื้อน

พระนิพพานเป็นบรมสุข สุขอื่นเสมอด้วยความสงบไม่มี แล้วสิ่งที่เรียกว่าสงบคือพระนิพพาน พระนิพพานคือสุดยอดของความสงบ ถ้าเราต้องการมีชีวิตที่มีความสุข อย่าทำตัวเหมือนหมาขี้เรื้อน หมาขี้เรื้อนอยู่ตรงนี้ก็คัน ต้องวิ่งไปอยู่ที่อื่น แล้วก็ประเดี๋ยวก็คันอีกก็วิ่งอีก การที่เราต้องวิ่งพล่านๆ เที่ยวหาความสุขจากโลกภายนอก มันคือกิริยาอาการแบบเดียวกับหมาขี้เรื้อนนั่นล่ะ คนในโลกไม่มีโอกาสได้ฟังธรรม ไม่มีโอกาสได้ปฏิบัติธรรม ไม่มีโอกาสได้สัมผัสพระธรรม เขายังจำเป็นต้องวิ่งพล่านไป เพราะคิดว่านั่นดีที่สุดสำหรับเขาแล้ว เราก็อย่าว่าเขา เพราะเมื่อก่อนเราก็เป็นแบบนั้นล่ะ พวกเราสะสมบุญบารมี เราได้ฟังธรรม เราได้ลงมือปฏิบัติธรรม เราได้เข้าใจธรรมะ ชีวิตเราก็เข้าถึงสันติสุขที่แท้จริงมากขึ้นๆ

การยกระดับความสุข

ฝึกแล้วเราจะได้ความสุขที่ประณีตมากขึ้น ความสุขของสมาธิชนิดสงบ มันความสุขของเด็กๆ ได้ของเล่นที่พอใจแล้วก็ไม่ไปซนที่อื่น ความสุขของจิตที่ตั้งมั่น เป็นความสุขแบบผู้ใหญ่ พร้อมที่จะรับสถานการณ์ทั้งหลายทั้งปวง ด้วยจิตที่เข้มแข็ง อะไรก็ได้ที่ผ่านมา จิตมันตั้งมั่นเป็นคนเห็นเท่านั้นเอง ไม่อิน นี่ก็เป็นความสุขของสมาธิ 2 ชนิด ความสุขที่ประณีตขึ้นไปอีก คือความสุขจากการเจริญปัญญา เราเกิดความรู้ความเข้าใจ จิตใจมันอิ่มเอิบ มีปัญญา แล้วก็ถัดจากนั้น ถ้ามันเกิดอริยมรรค เกิดอริยผล มันมีความสุขยกระดับขึ้นไปอีก พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง นิพพานัง ปรมัง สุขัง เพราะนิพพานสงบอย่างยิ่ง สงบจากกิเลส สงบจากตัณหา สงบจากความปรุงแต่ง สงบจากความยึดถือทั้งปวง เพราะฉะนั้นมันมีความสุขอย่างยิ่ง ความสุขอย่างนี้พวกเรามีโอกาสเข้าถึง เพราะเราได้ยินได้ฟังธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอนแล้ว คือเรื่องของสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน

กฎของการปฏิบัติ

เวลาที่เราจะรู้กายรู้ใจ เรามีสติรู้ถึงความมีอยู่ของร่างกาย รู้ถึงความมีอยู่ของจิตใจ มีสติเห็นร่างกายนี้ มันเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง จิตใจก็เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ แล้วก็มีปัญญาเห็นว่าร่างกายและก็จิต ล้วนแต่ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ สติเป็นตัวรู้สภาวะ สภาวะคือรูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย ปัญญาเป็นตัวเห็นไตรลักษณ์ของรูปธรรมนามธรรม ฉะนั้นต้องเดินให้ถูกหลัก คำว่า ทุกข์ให้รู้ สมุทัยให้ละ” นี่เป็นกฎของการปฏิบัติ เป็นแม่บทใหญ่อยู่ในอริยสัจ 4 อริยสัจ 4 ข้อคือทุกข์ให้รู้ สมุทัยให้ละ นิโรธทำให้แจ้ง มรรคทำให้เจริญ ถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้ง สมุทัยก็ถูกละ นิโรธก็ปรากฏขึ้นมา อริยมรรคก็เกิดขึ้น

ธรรมะเรียนไม่ได้ด้วยการคิด

จุดอ่อนของปัญญาชน ก็คือคิดมาก หลายคนหลวงพ่อสอนให้รู้สึกตัว ให้ดูกายดูใจ เขาบอกเขายังดูไม่ได้ ต้องคิดไว้ก่อน เออ ก็คิดไป ชาตินี้คิด ชาติหน้าก็ไปคิดต่อ ธรรมะเรียนไม่ได้ด้วยการคิดเอา เรียนด้วยการรู้สึก รู้สึกกาย รู้สึกใจ ดูกายหายใจออก หายใจเข้า ก็เห็นร่างกายหายใจออกหายใจเข้า ไม่ใช่เราหายใจออก ไม่ใช่เราหายใจเข้า ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน เราก็เห็นร่างกายมันยืน เดิน นั่ง นอน ไม่ใช่เรายืน เดิน นั่ง นอน

อย่าให้นิวรณ์ครอบงำจิต

เราต้องปฏิบัติตลอดชีวิต ไม่มีคำว่ายอมแพ้ บางครั้งเบื่อ เบื่อรู้ว่าเบื่อแล้วก็ภาวนาต่อ ปฏิบัติต่อ บางครั้งขี้เกียจ รู้ว่าขี้เกียจแล้วก็ปฏิบัติต่อ ใจมันจะเบื่อ ห้ามมันไม่ได้ ใจมันจะขี้เกียจ ห้ามมันไม่ได้ ความเบื่อความขี้เกียจอะไรนี่นิวรณ์ทั้งนั้นล่ะ เพราะฉะนั้นตัวนิวรณ์อย่ามองข้ามมัน ที่เราไม่เจริญก็เพราะตัวนิวรณ์นั่นล่ะ ในทางโลกนิวรณ์มาก งานการทางโลกก็เสีย ในทางธรรมนิวรณ์มาขวางกั้น ธรรมะก็ไม่เจริญ ฉะนั้นสังเกตจิตใจตัวเอง อย่าปล่อยให้นิวรณ์ครอบงำจิต

หลักการปฏิบัติ

ถ้าจะทำสมถะ จะให้จิตได้พักผ่อน จะให้จิตมีเรี่ยวมีแรง เราก็ดูเราอยู่กับอารมณ์กรรมฐานอะไรแล้วมีความสุข เราก็อยู่กับอารมณ์อันนั้นล่ะ สงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง แต่ระลึกถึงอารมณ์อันนั้นไป ให้จิตใจเคล้าเคลียอยู่กับอารมณ์อันนั้นไป เดี๋ยวเดียวจิตก็จะสงบตั้งมั่น มีเรี่ยวมีแรงขึ้นมาได้ ค่อยๆ ฝึก หรือถ้าจะทำวิปัสสนาให้จิตรู้ความจริงเพื่อจะได้ปล่อยวางได้ ก็หลักมีนิดเดียวนั่นล่ะ มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง (ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง) ไม่หนีหลักนี้หรอก ใช้วิธีไหนก็เหมือนกัน

Page 1 of 3
1 2 3