การสุ่มตัวอย่างมาเรียน

การที่เราจะเจริญสติปัฏฐานจะด้วยกาย เวทนา จิต หรือธรรม อันใดอันหนึ่ง ก็ทำไปเพื่อให้เกิดสติบ่อยๆ สติปัฏฐานนั้นมีวัตถุประสงค์ 2 อย่าง มี 2 ระดับ เบื้องต้นทำไปเพื่อความมีสติ เบื้องปลายทำไปเพื่อความมีปัญญา หมายถึงเราไม่ต้องเรียนกายทั้งหมด เราไม่ต้องเรียนเวทนาทั้งหมด เราไม่ต้องเรียนจิตทั้งหมด ไม่ต้องเรียนธรรมะทั้งหมด เราเรียนบางอย่างบางข้อ ถ้าเข้าใจแจ่มแจ้งในเรื่องนั้นแล้ว เราจะเข้าใจธรรมะทั้งหมด เป็นการสุ่มตัวอย่างมาเรียน ไม่ได้ผิดอะไรกับการทำงานวิจัยภาคสนามเลย การที่พระพุทธเจ้าสอนสติปัฏฐาน สอนไม่ได้แตกต่างกับหลักที่หลวงพ่อบอกเลย สุ่มตัวอย่างมาเรียน ถ้าเข้าใจในสิ่งที่เรียนแล้วจะเข้าใจทั้งหมด แล้วพระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ให้เราไปสุ่มส่งเดช ท่านกำหนดหัวข้อมาให้แล้ว

รู้ทันสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความคิด

เริ่มตั้งแต่คอยรู้เท่าทันความคิดของตัวเอง อะไรอยู่เบื้องหลังความคิด ถ้าเรารู้ตรงนี้ได้ ความคิดของเราก็จะสะอาด คำพูดของเราก็จะสะอาด การกระทำของเราก็จะสะอาด การเลี้ยงชีวิตทำมาหากินก็จะสะอาด ไม่ฉ้อฉลหลอกลวง เบียดเบียนใคร แล้วก็อกุศลที่เคยมีมันก็จะค่อยๆ ลดลง อกุศลใหม่ก็จะไม่เกิด กุศลที่ไม่เคยมีก็จะเกิดขึ้น กุศลที่มีแล้วก็จะเจริญขึ้น เพราะฉะนั้นตรงที่เรามีสติรู้เท่าทันสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความคิดของตัวเอง หลวงพ่อมอง มันแทบจะเป็นจุดตั้งต้นของการปฏิบัติจริงๆ การปฏิบัติไม่ใช่นั่งสมาธิเดินจงกรมเฉยๆ มันตั้งแต่ว่าขัดเกลาตัวเองด้วยศีล หรือดูแลคำพูด การกระทำ การเลี้ยงชีวิตของตัวเองให้ดี ไม่ทำไปด้วยอำนาจของกิเลส แล้วก็ถัดจากนั้นตัวสมาธิมันก็จะเกิดขึ้น คือจิตใจเราเป็นปกติ ไม่ถูกกิเลสผลักดันให้วิ่งพล่านๆ เหมือนหมาถูกน้ำร้อน พอจิตใจเราเป็นปกติ จิตใจมันก็สงบ เพราะฉะนั้นศีลไม่ใช่เรื่องเล็ก ถ้าศีลของเราเสีย อย่ามาคุยเรื่องสมาธิ ถ้าไม่มีสมาธิที่ถูกต้อง อย่ามาพูดเรื่องเจริญปัญญา ทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นจุดสำคัญบอกแล้วว่าศีลเราจะดี ถ้าเราคอยรู้เท่าทันสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความคิดของเรา

กรรมวาที กิริยวาที วิริยวาที

ธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นเรื่องเรียก กรรมวาที เน้นย้ำเรื่องกรรม การกระทำก็มีผลเป็นกิริยวาที เป็น วิริยวาที วิริยวาทีก็คือต้องมีความเพียร ต้องมีความเพียรต่อสู้กับกิเลส ต่อสู้กับความไม่รู้ของเรา
รู้ ต่อสู้ความอยาก ก็เจริญกุศลให้ถึงพร้อมทั้งศีล ทั้งสมาธิ ทั้งปัญญา ต้องเจริญขึ้นมา เพียร เพียรลดละอกุศลทั้งหลายที่เรามีอยู่ เพียรเจริญกุศลให้ถึงพร้อม ต้องมีความเพียร ต้องอดทน แล้วต้องมีความเชื่อมั่นในเรื่องกรรม เรื่องผลของกรรม ชาวพุทธถ้าไม่เชื่อเรื่องกรรมกับเรื่องผลของกรรม ก็เป็นชาวพุทธไม่ได้ ชาวพุทธเราเชื่อเรื่องกรรม “เราทำกรรมอันใดไว้จะเป็นบุญหรือเป็นบาป เราก็จะต้องรับผลของกรรมนั้นสืบไป” จะเชื่ออย่างนี้ ฉะนั้นอะไรที่งมงายไม่ใช่ชาวพุทธหรอก

ใจที่อยากพ้นโลกจะมีความพากเพียร

พระมหากัสสปะท่านเคยตั้งข้อสังเกต ท่านพูดกับพระพุทธเจ้า ตั้งข้อสังเกตว่าทำไมสมัยต้นพุทธกาลที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ๆ สอนธรรมะ พระอรหันต์มีมาก พระวินัยมีน้อย มาช่วงหลังๆ พระวินัยมีมากขึ้นๆ พระอรหันต์มีน้อยลงๆ ฉะนั้นความเป็นโลกของวัด วัดต่างๆ มีมาตั้งแต่พุทธกาลแล้ว พวกอินทรีย์แก่กล้ามาพบพระพุทธเจ้า ฟังธรรมแล้วก็พวกนี้แสวงหาความพ้นทุกข์อยู่แล้ว อย่างพวกปัญจวัคคีย์ เขาอุตส่าห์บำเพ็ญตบะ บำเพ็ญโน้นบำเพ็ญนี้ เป็นนักบวชอยู่แล้ว อยากพ้นทุกข์ แต่ไม่รู้ทาง พอพระพุทธเจ้าชี้ทางให้ แต่ละองค์ก็ไปลิ่วเลย เพราะท่านเหล่านี้ท่านอยากพ้นทุกข์อยู่แล้ว

ขาดสติเมื่อไรก็คือประมาทเมื่อนั้น

ธรรมะสำคัญที่พระพุทธเจ้าสอนเรานาทีสุดท้ายที่ท่านจะนิพพาน ช่วงเวลาสุดท้ายที่ท่านจะนิพพาน ท่านบอกพวกเราให้ทำประโยชน์ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท คำว่าไม่ประมาทคือเราต้องมีสติอยู่กับปัจจุบันไป ถ้าเราทิ้งปัจจุบันก็เรียกว่าเราประมาท คือเราไปเพ้อฝันถึงอดีตเรียกว่าประมาท เพราะว่าเราทำลายเวลาให้ล่วงไปเปล่าๆ ในความฝัน ถ้าเราไปห่วงไปกังวลถึงอนาคต เครียดทั้งๆ ที่ปัญหายังไม่ได้เกิด โง่ไหม เครียด กลุ้มใจตั้งแต่ปัญหายังไม่เกิดเลย พอปัญหาเกิดแล้วก็ตีโพยตีพายจะให้คนโน้นช่วยจะให้คนนี้ช่วย ใครเขาไม่ช่วยก็โมโหอีกอะไรอย่างนี้ ไม่ได้เรื่อง ฉะนั้นเราใช้ปัจจุบัน มีสติอยู่กับปัจจุบัน ใช้อดีตเป็นบทเรียน วางแผนถึงอนาคต มีชีวิตอยู่กับปัจจุบันไป มีสติไปทุกขณะๆ หายใจออก

จิตคือละครโรงใหญ่

เราดูละครเวที บางทีมีดารามาเล่นทีหนึ่งตั้ง สิบตัว ละครเต็มเวที ดูจิตมันก็เหมือนกัน ในสภาวะอันหนึ่งๆ มีตัวละครประกอบกันจำนวนมาก เวลาดูละครเวทีถึงจะมีตัวละครเป็นสิบตัว ยิ่งถ้าเล่นโขนมีหลายสิบตัวเลย เราจะดูตัวที่เป็นตัวที่กำลังแสดง เป็นตัวเอกขณะนั้น ไม่ใช่ตัวเอกต้องเป็นพระเอก นางเอก ตัวเอกหมายถึงตัวที่มีบทบาทหลักในขณะนั้น ดูละครเดี๋ยวก็ดูตัวนี้ เดี๋ยวก็ดูตัวนี้ แต่ว่าดูได้ทีละตัว สังเกตให้ดีเราดูทีละตัวเท่านั้น ดูจิตนี้ก็เหมือนกัน ในขณะหนึ่งๆ มีองค์ธรรมจำนวนมากเกิดขึ้นด้วยกัน ไม่ใช่จิตมีดวงเดียวแล้วก็มีอยู่ดวงเดียวเท่านั้น มันมีทั้งเวทนาก็มีอยู่ สังขารก็มี สัญญาก็มี ความจงใจ มนสิการ ความใส่ใจที่จะรู้ก็มี ความเป็นหนึ่ง รู้อารมณ์อันเดียวก็มีเรียก เอกัคคตา ความรับรู้เรียกว่าจิต หรือเรียกว่าวิญญาณ ก็มีอยู่ เราดูจิตใจเราเล่นละคร มันเปลี่ยนตลอดเลย เดี๋ยวตัวนี้เล่นๆ เดี๋ยวตัวอิจฉาเล่น เดี๋ยวตัวโกรธเล่น เดี๋ยวตัวรักเล่น เดี๋ยวตัวโลภเล่น เล่นหมุนไปเรื่อยๆ เดี๋ยวตัวเศร้าโศกก็เล่น เดี๋ยวตัวมีความสุขก็เล่นขึ้นมา ดูใจของเราเหมือนดูละคร ตัวไหนเด่นดูตัวนั้น ไม่ต้องหา

โลกเหมือนงูพิษ

พอเราภาวนาเราจะเห็นโลกนี้น่าเบื่อ โลกนี้น่ารังเกียจ โลกนี้สกปรก ใจมันคลายออกจากโลก มันจะยิ่งมีความเด็ดเดี่ยว มีความมุ่งมั่นในการภาวนามากขึ้น แล้วเวลาเราต้องสัมผัสกับโลก สติ สมาธิ มันจะทำงานจี๋ขึ้นมาเลย เพราะมันเหมือนเราเดินเข้าไปในฝูงงูพิษ ถ้าเราภาวนาถึงจุดหนึ่งเราจะรู้ โลกนี้เหมือนงูพิษจริงๆ เลย รูปก็เป็นงูพิษ เสียงก็เป็นงูพิษ มันทำให้จิตเราเสียหายได้ทั้งหมด พอเราภาวนา พอจะอยู่กับโลก เหมือนอยู่ในหมู่งูพิษล้อมตัวเราไว้ทั้งหมดเลย มันจะโดนฉกกัดเมื่อไรก็ได้ จิตมันจะ Alert มีสติ มีสมาธิ คอยระมัดระวังอยู่ อินทรียสังวรเกิดขึ้น ศีลอัตโนมัติของเราเกิดขึ้น จิตเราก็ตั้งมั่นอัตโนมัติขึ้นมา มันจะสำรวม มันจะระวัง พอฝึกมันจะเห็นผล อยู่กับโลกไม่ได้ โลกร้อนเป็นฟืนเป็นไฟเลย มันไร้สาระหาแก่นสารอะไรไม่ได้ จำเป็นต้องอยู่กับมันก็อยู่กับมัน แต่อยู่กับมันเหมือนอยู่ท่ามกลางฝูงงู โลกนี้มีแต่ทุกข์ โลกนี้ไม่มีอะไรหรอก เผลอไปยึดไปถือเข้านิดเดียวก็ทุกข์แล้ว นี่ใจก็จะยิ่งน้อมๆๆ มาหาการปฏิบัติมากขึ้นๆ ช่วงแรกๆ ต้องฝืนใจ ต้องน้อมใจ ต้องชักชวนให้จิตใจปฏิบัติ แต่เมื่อเราปฏิบัติไปถึงช่วงหนึ่ง ไม่ต้องชักชวนแล้ว จิตใจมันเอือมระอาต่อโลกข้างนอก มันอยากปฏิบัติของมันเอง ตรงนี้อัตราเร่งของความก้าวหน้าในการปฏิบัติมันก็จะมากขึ้นๆ ยิ่งภาวนายิ่งไปเร็วขึ้นเรื่อยๆ เร็ว อันนี้ไม่ว่าพระหรือโยมก็ทำได้ ขอให้ตั้งใจเถอะ

ความสุขในโลกเป็นน้ำตาลเคลือบยาพิษ

ยาพิษร้ายแรง คือทำให้เราต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ไม่รอด น้ำตาลหวานๆ คืออะไร คือกามคุณอารมณ์ทั้งหลาย รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสอะไรที่น่าเพลิดเพลินทั้งหลาย ความสุขจอมปลอมทั้งหลายเอาไว้หลอกคนโง่ให้หลงอยู่ แต่ผู้รู้ไม่ติดข้อง สิ่งเหล่านั้นเป็นเครื่องมือของมาร เป็นอาวุธของมารในการที่จะจับพวกเราเอาไว้ในอำนาจ คือกามนี่ล่ะ เครื่องมือของมาร จะจับเราเอาไว้ แล้วสัตว์โลกก็ถูกมารนี้ล่ะจับเอาไว้ ดิ้นรนแสวงหาความสุขทางรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทั้งหลาย ดิ้นแสวงหากันไป สุดท้ายทุกอย่างก็ว่างเปล่า มีเงิน สุดท้ายเงินก็เป็นของคนอื่น มีบ้านสุดท้ายบ้านก็เป็นของคนอื่น มีลูกมีเมีย สุดท้ายก็เป็นของคนอื่น ไม่ใช่ของเราอยู่ดี กระทั่งร่างกายนี้ ของเราๆ สุดท้ายก็ต้องถูกคนเอาไปเผาทิ้ง มันว่างเปล่าไปหมด เรื่องของโลกหาสาระไม่ได้ เมื่อเรามีโอกาสได้ยินได้ฟังธรรมะของพระพุทธเจ้าแล้ว ลงมือแสวงหาความสุขที่ยิ่งใหญ่ขึ้นไปเป็นลำดับๆ ไป ความสุขจากการฝึกจิตให้สงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว ความสุขของสมาธิ ความสุขจากการที่จิตมันเกิดความรู้ถูกเข้าใจถูกอะไรพวกนี้ มีความสุขผุดขึ้นมา เป็นความสุขจากการเจริญปัญญา ถ้าความสุขจากการสัมผัสพระนิพพาน อันนั้นเป็นบรมสุข เป็นความสุขที่ไม่มีเครื่องเสียดแทง

เดินจิตในทางสายกลาง

กิเลสเกิดขึ้นในใจเรา เราต้องไม่ตึงไปแล้วก็ไม่หย่อนไป หย่อนไปคือตามใจกิเลส ตึงไปก็คือพยายามละกิเลส กิเลสนั้นไม่ต้องละ กิเลสอยู่ในสังขารขันธ์อยู่ในกองทุกข์ หน้าที่ต่อทุกข์คือการรู้ไม่ใช่การละ ฉะนั้นจิตมีราคะขึ้นมา ท่านถึงบอกว่า จิตมีราคะให้รู้ว่ามีราคะ ท่านไม่ได้สอนว่าจิตมีราคะให้ละเสีย ท่านไม่ได้สอนอย่างนั้น ถ้าให้ละเสียตึงไป เครียด แต่ท่านให้รู้ แล้วก็ไม่ได้ให้ตามใจ ถ้าตามใจก็คือหย่อนไป ถ้าพยายามไปดับกิเลส ไปละกิเลส อันนี้ตึงไป ถ้ากิเลสเกิดรู้ว่ากิเลสเกิด เห็นว่ากิเลสกับจิตมันก็คนละอันกัน เป็นสิ่งที่แปลกปลอมเข้ามาในจิต อยู่ชั่วคราวแล้วมันก็ดับไป กิเลสเองก็เกิดดับๆ ได้ นี่ทางสายกลาง ตรงที่เราเห็นกิเลสเกิดขึ้นแล้วมันดับปั๊บไป จิตมีสมาธิ แล้วเราก็เห็นไปเนืองๆ เห็นบ่อยๆ กิเลสเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ต่อไปปัญญามันก็เกิด มันจะรู้ว่าสภาวะทั้งหลายทั้งปวง เมื่อเกิดได้มันก็ดับได้ ไม่ต้องไปดับมันหรอก มันดับของมันเอง เมื่อเหตุของมันหมดมันก็ดับ กิเลสมันเป็นอนัตตา ละมันไม่ได้ เพราะฉะนั้นกิเลสเกิดท่านถึงไม่ได้บอกให้ละ แต่ท่านให้เห็น ให้รู้มัน ราคะเกิดรู้ว่ามีราคะ โทสะเกิดรู้ว่ามีโทสะ โมหะเกิดรู้ว่ามีโมหะ รู้ไปเรื่อยๆ ถ้าพยายามละ ตึงไป ถ้าตามใจมัน นี่หย่อนไป ถ้าตามใจมันก็จะไปอบาย ถ้าไปต้านมัน ไปต่อต้านมันก็ไม่ทำชั่วอะไร ไปสุคติได้ แต่ไม่ได้ไปมรรคผลนิพพาน ไม่ถึง ไม่เกิดมรรคผล เพราะไม่ใช่ทางสายกลาง

ความสุขจากการปฏิบัติธรรม

เราปฏิบัติธรรมเราก็จะมีความสุข เราถือศีลเราก็มีความสุข เราทำสมาธิเราก็มีความสุข เราเจริญปัญญาเราก็มีความสุข แต่ความสุขมันของศีล ของสมาธิ ของปัญญา มันก็ยังไม่เหมือนกันทีเดียว อย่างเรารักษาศีลไว้ได้ดี พอเรานึกถึงเรารักษาศีลมาอย่างดี พยายามจะไม่ทำผิดศีล เราจะเกิดความรู้สึกอิ่มอกอิ่มใจขึ้นมา มันก็เป็นความสุขอย่างหนึ่ง ถ้าเราฝึกสมาธิมันก็มีความสุขไปอีกแบบหนึ่ง จิตมันสงบ บางทีรู้สึกตัวอยู่เฉยๆ ความสุขผุดขึ้นมาเอง ถ้าเข้าฌานมันยิ่งสุขมหาศาล มันสุขแบบมันฉ่ำ มันเย็น ความสุขของปัญญามันก็เป็นอีกแบบหนึ่ง
เวลาที่มันเกิดความรู้ถูก ความเข้าใจถูกบางสิ่งบางอย่างขึ้นมา เข้าใจธรรมะเป็นเรื่องๆ ไป ตรงที่มันเข้าใจมันจะมีความสุขเกิดขึ้นด้วย ความสุขของสมาธิมันเป็นคล้ายๆ ความสุขแบบเด็กๆ ส่วนความสุขของการเจริญปัญญานั้น มันคล้ายๆ ความสุขของผู้ใหญ่ที่ทำงานที่ยากๆ สำเร็จ จิตมันก็เบิกบานขึ้นมา มันมีความสุขที่สูงกว่านั้นอีก 2 อัน ความสุขตอนที่เกิดอริยผล ตอนที่เกิดอริยผลจิตมันเบิกบานมหาศาล แล้วก็ความสุขตอนที่เราสัมผัสพระนิพพาน มันมีความสุขที่ไม่รู้จะบอกอย่างไร ความสุขของพระนิพพาน คือความสุขจากการพ้นทุกข์
ไม่ใช่ความสุขจากการสร้างภาวะอันใดอันหนึ่งขึ้นมา ความสุขจากการถือศีล ความสุขจากการทำสมาธิ ความสุขที่เราเกิดปัญญาแต่ละเรื่องๆ เป็นความสุขที่ยังเกิดในภพ อยู่ในภพ
มันเป็นความสุขมหาศาลถ้าเทียบกับชาวโลก ความสุขของศีล ของสมาธิ ของปัญญาเหนือกว่า แต่ยังเป็นโลกียะอยู่ ความสุขของมรรคผลนิพพานเป็นโลกุตตระ โดยเฉพาะความสุขของพระนิพพานนั้นไม่มีอะไรเหมือน

Page 5 of 7
1 2 3 4 5 6 7