จิตคือหัวโจก

ตัวสำคัญคือตัวจิต จิตนี้เดี๋ยวก็โคจรไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เกิดดับทางอายตนะทั้ง 6 จิตก็ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ฉะนั้นถึงจะเริ่มจากการรู้รูป สุดท้ายมันก็เข้ามาที่จิตจนได้
แต่ถ้าเราลัดเข้ามาที่จิตได้ เข้ามาเลย ไม่ต้องเสียเวลาอ้อมค้อม เข้ามาที่จิต ถ้าเราเห็นว่าจิตไม่ใช่เราอันเดียว ขันธ์ 5 ทั้งหมดจะไม่เป็นเราแล้ว อายตนะทั้งหมดจะไม่เป็นเราแล้ว เล่นมันที่หัวโจกตัวเดียวเลย

ทำผลไม่ได้ ต้องทำเหตุ

กิจต่ออริยสัจจะชัดเจนอยู่ ตัวทุกข์เป็นตัวผลของตัณหา ละไม่ได้ การละไปละที่ผลไม่ได้ ต้องละที่เหตุ ฉะนั้นท่านบอกทุกข์ก็ให้รู้ว่ามันทุกข์ สมุทัยคือตัณหาให้ละเสีย นิโรธก็เหมือนกัน นิโรธเป็นผล อยู่ๆ เราไปทำผลขึ้นมาไม่ได้ เราต้องทำเหตุคือศีล สมาธิ ปัญญา หรือการเจริญอริยมรรคมีองค์ 8 เราเจริญแล้ว ในที่สุดก็ได้ผลคือนิโรธ อยู่ๆ เราไปทำผลไม่ได้ เราต้องทำเหตุ เหตุคือมรรคต้องเจริญ ถ้าฝ่ายชั่ว เหตุคือตัณหา ต้องละคนละแบบกัน

รู้ทันความปรุงแต่งของจิต

ค่อยภาวนาถึงจุดหนึ่ง เราจะพบว่าความปรุงแต่งทั้งหลายคือทุกข์ พอรู้แล้ว ปัญญามันแก่รอบ มันก็ไม่เอาแล้ว ความปรุงแต่ง จะปรุงชั่ว จะปรุงดี หรือพยายามจะไม่ปรุง มันก็คือปรุง ก็คือทุกข์ทั้งหมด พอจิตมันพ้นจากความปรุงแต่ง มันก็เข้าถึงความสุขที่อยู่เหนือความปรุงแต่ง ความสุขของความสงบ ความสุขของการพ้นความเสียดแทงทั้งหลาย ความสุขของการไม่มีภาระของใจ ใจมันมีความสุขขึ้นมา

ธรรมะเป็นเรื่องธรรมดา

ธรรมดาของสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือต้องดับทั้งหมด เรียกว่าเรามีดวงตาเห็นธรรมแล้ว ธรรมะเป็นเรื่องธรรมดา คือเราเห็นว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดดับเป็นธรรมดา” เห็นธรรมดา ใจยอมรับธรรมดาอันนี้ ใจจะค่อยๆ คลายออกจากทุกข์ คลายออกจากโลก คลายออกจากวัฏสงสาร

ทาน ศีล ภาวนาเพื่อพัฒนาจิต

เวลาเราทำทานเรามีความสุข จิตใจที่รู้จักให้มันจะพัฒนา อันแรกเลยมันลดความเห็นแก่ตัว อันที่สอง ใจที่รู้จักเกื้อกูลมันจะอ่อนโยน สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนสุดท้ายมันก็มาลงที่การพัฒนาใจทั้งนั้น เรานึกว่าทำทานไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติ ที่แท้การทำทานเป็นการฝึกจิตขั้นพื้นฐาน ต่อมาเราก็ฝึกให้เข้มข้นขึ้น รักษาศีล การรักษาศีลจะต้องต่อสู้กับกิเลสตัวเอง กิเลสมันจะพาเราผิดศีลตลอดเวลา เราก็พยายามรักษาศีลไว้ ไม่ตามใจกิเลสที่จะทำผิดศีล ศีลเป็นการฝึกลดละความโลภ ความโกรธ ความหลง เห็นไหมว่าทานก็สำคัญ ศีลก็สำคัญ ถัดไปที่ฆราวาสต้องเรียนนั้นคือภาวนา การภาวนามันมี 2 อันคือสมถภาวนากับวิปัสสนาภาวนา มันอยู่ที่ว่าฆราวาสจะเอาแค่ไหน ฆราวาสพอใจที่จะภาวนาให้สงบ ให้จิตมีกำลังเพื่อจะไปสู้กับโลกก็ฝึกไป เป็นสมถภาวนา อีกอันหนึ่งคือวิปัสสนาภาวนา ก็มีหลัก มีสติรู้กายรู้ใจ ตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง เมื่อรู้หลักแล้วก็เดินเอา ช่วยตัวเองพยายามพัฒนาตัวเองไป ฝึกตัวเองอย่างนี้ทุกวัน มันก็จะอยู่ในเรื่องทาน ศีล ภาวนา สุดท้ายมันก็ลดละอกุศลลงไป แล้วก็เจริญกุศลให้ถึงพร้อม

เรามีสิทธิ์เลือกความสุขของตัวเอง

เรามีอิสระที่จะทำกรรม เราพอใจที่จะหาความสุขในโลกิยธรรม ความสุขอย่างโลกๆ ก็หาไปเถอะ หลวงพ่อไม่ว่าอะไรหรอก หลวงพ่อแค่บอกว่า มันมีความสุขที่เหนือกว่านี้อีก 2 อย่าง คือความสุขของสมาธิ กับความสุขของการเจริญปัญญาจนเกิดมรรคเกิดผลนิพพานขึ้นมา เป็นความสุขที่ยิ่งใหญ่ เป็นลำดับไป

อารัมมณูปนิชฌาน – ลักขณูปนิชฌาน

จะดูไตรลักษณ์ของรูปนามได้ จิตต้องมีลักขณูปนิชฌาน คือมีความตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ผู้เห็น เห็นไตรลักษณ์ของรูปนาม ถ้าลำพังเห็นรูปเห็นนามเรียก อารัมมณูปนิชฌาน เพ่งตัวอารมณ์ ใช้รูปเป็นอารมณ์ ใช้นามเป็นอารมณ์ ใช้บัญญัติเป็นอารมณ์ หรือกระทั่งใช้นิพพานเป็นอารมณ์ อันนั้นเป็นอารัมมณูปนิชฌาน แต่ตรงที่เห็นนิพพานจริงๆ มันเป็นลักขณูปนิชณาน

ปัจจัย 4 ของจิต

ศีลเป็นเสื้อผ้าของจิต ถ้าศีลเราดีคล้ายๆ เราแต่งตัวเรียบร้อย ไปเข้าสังคมที่ไหนก็องอาจกล้าหาญ จิตก็ต้องมีบ้านเหมือนกัน เวลาอยู่บ้านเรารู้สึกปลอดภัย จิตที่มีสมาธิมีวิหารธรรม มันจะรู้สึกปลอดภัย ไม่กลัวอะไร ร่างกายยังต้องการยารักษาโรคด้วย จิตก็ต้องการ โรคของจิตก็คือกิเลส สิ่งที่จะล้างกิเลสได้คือตัวปัญญา 

Page 7 of 7
1 2 3 4 5 6 7