พ้นทุกข์เพราะรู้ความจริง

พอจิตตั้งมั่นและเป็นกลาง ก็จะเกิดปัญญาเห็นความจริงของร่างกายของจิตใจ เมื่อเห็นความจริงของร่างกายของจิตใจอย่างถ่องแท้แล้ว จะรู้เลยขันธ์ 5 มันไม่มีอะไรหรอกขันธ์ 5 ก็มีแต่ทุกข์นั่นล่ะ รูปนาม กายใจนี่มีแต่ทุกข์นั่นล่ะ พอใจมันยอมรับความจริงได้ ความอยากก็ไม่เกิด เมื่อความอยากไม่เกิด ความยึดถือ ความดิ้นรนปรุงแต่งของจิตก็ไม่เกิด ความทุกข์ทางใจก็ไม่เกิด จิตใจมันเป็นอิสระขึ้นมา พ้นทุกข์เพราะพ้นจากความปรุงแต่ง

สัจฉิกิริยา

เวลาเราภาวนารู้ทุกข์เข้าไปเถอะ ถ้ารู้พอแล้วมันละสมุทัยเอง ทันทีที่สมุทัยคือตัณหาคือความอยากถูกละไป จิตจะเข้าถึงนิโรธ อันนี้สัจฉิกิริยา วิธีจะเข้าถึงสัจฉิกิริยาก็ไม่มีอะไร ก็รู้ทุกข์นั่นล่ะ พอรู้ทุกข์ จนละสมุทัย แล้วก็แจ้งนิโรธ ไปสัมผัสพระนิพพาน หน้าที่ของเราก็คือรู้ทุกข์จนกระทั่งละสมุทัยได้ ละสมุทัยได้เราก็แจ้งพระนิพพานได้ เรียกว่ามีสัจฉิกิริยาสำเร็จแล้วตรงที่เรารู้ทุกข์นั่นล่ะ จะรู้ได้ดีก็ต้องเจริญมรรค เจริญมรรคตรงรู้ทุกข์มีสัมมาญาณะนั่นล่ะ ก็มีองค์มรรคทั้ง 8 ทำให้เรารู้ทุกข์ได้แจ่มแจ้ง

กฎของการปฏิบัติ

เวลาที่เราจะรู้กายรู้ใจ เรามีสติรู้ถึงความมีอยู่ของร่างกาย รู้ถึงความมีอยู่ของจิตใจ มีสติเห็นร่างกายนี้ มันเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง จิตใจก็เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ แล้วก็มีปัญญาเห็นว่าร่างกายและก็จิต ล้วนแต่ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ สติเป็นตัวรู้สภาวะ สภาวะคือรูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย ปัญญาเป็นตัวเห็นไตรลักษณ์ของรูปธรรมนามธรรม ฉะนั้นต้องเดินให้ถูกหลัก คำว่า ทุกข์ให้รู้ สมุทัยให้ละ” นี่เป็นกฎของการปฏิบัติ เป็นแม่บทใหญ่อยู่ในอริยสัจ 4 อริยสัจ 4 ข้อคือทุกข์ให้รู้ สมุทัยให้ละ นิโรธทำให้แจ้ง มรรคทำให้เจริญ ถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้ง สมุทัยก็ถูกละ นิโรธก็ปรากฏขึ้นมา อริยมรรคก็เกิดขึ้น

รู้ทุกข์จะละสมุทัย

ตรงที่เราสามารถเห็นทุกข์ของกาย กายนี้มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย เราเห็นทุกข์ของจิต ว่าจิตมีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย อันนี้เรียกว่าเห็นตามความเป็นจริง จิตจะเบื่อหน่ายคลายความยึดถือ แล้วก็หลุดพ้นของจิตเอง เส้นทางเดินนี้ไม่มีอะไรมาก รู้ทุกข์ไว้ คำว่าทุกข์ก็คือ รูปนามขันธ์ 5 ที่เรามีอยู่นี่ล่ะ คอยรู้สึกไปเรื่อยๆ รู้สึกไปจนปัญญามันแก่รอบ กายนี้มีแต่ทุกข์ ทุกข์มากกับทุกข์น้อย จิตมีแต่ทุกข์ ทุกข์มากกับทุกข์น้อย เห็นอย่างนี้เรียกว่าเรารู้ทุกข์แล้ว ทันทีที่รู้ทุกข์ สมุทัยคือความอยากก็จะหมดไปทันที ถูกทำลายในขณะที่เรารู้ทุกข์นั่นล่ะ

บุพพภาคมรรค

ต้องเจริญสติ เจริญปัญญาให้มาก ศีล สมาธิ ปัญญา ทำให้มาก ทำให้เจริญขึ้น ก็คือการปฏิบัติตามองค์มรรคนั่นล่ะ เมื่อปฏิบัติมากเข้าๆ ต่อไปเราก็รู้ทุกข์ การที่เราคอยรักษาศีลไว้เป็นพื้นฐาน
ฝึกจิตให้ตั้งมั่น ให้จิตมีกำลัง จิตมีกำลัง จิตต้องสงบแล้วก็ตั้งมั่น แล้วก็เจริญปัญญา เรียนรู้ความจริงของกายของใจ ความจริงของกายของใจคือไตรลักษณ์ ไม่ใช่เรื่องอื่น เราเจริญอยู่ในแนวทางของมรรค ตรงนี้ไม่ใช่อริยมรรค การที่เราปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา ยังไม่ใช่อริยมรรค เรียกบุพพภาคมรรค คือเป็นเบื้องต้นของอริยมรรค เป็นจุดตั้งต้นของอริยมรรค ฉะนั้นเราก็พัฒนาศีล สมาธิ ปัญญาไป ปัญญาคือการเรียนรู้ความจริงของตัวทุกข์ เรียนรู้ความจริงของกาย เรียนรู้ความจริงของจิต ก็เรียนรู้ไปเรื่อยๆ จะเห็นความจริงของกายของจิต

จับหลักให้แม่น

ถ้าเรารู้หลักของการปฏิบัติ การปฏิบัติไม่ว่าสมถะหรือวิปัสสนาจะไม่ใช่เรื่องยาก สมถะเราเลือกอารมณ์ที่เราอยู่ด้วยแล้วมีความสุข แล้วก็ต้องมีสติกำกับตลอด สงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง แต่ต้องมีสติไว้ แล้วก็ทำกรรมฐานไปเรื่อยๆ ไม่นานจิตจะสงบ แล้วก็มีเรี่ยวมีแรง แล้วก็ไม่ขาดสติ สะสมไปเรื่อยๆ ทุกครั้งที่สติที่แท้จริงเกิดขึ้นมา สัมมาสมาธิก็จะเกิดด้วย

พอสะสมไปเรื่อยๆ พลังของสมาธิมันจะเพิ่ม จิตมันจะรู้ ตื่น เบิกบานขึ้นมา มีแรง มันจะรู้ด้วยตัวเองเลยว่าจิตมันตื่นแล้ว จิตมันมีแรงแล้ว ถึงจุดนั้นเราถึงจะเดินปัญญาได้ดี ก่อนหน้านั้นยังไม่ได้จริงหรอก ทำวิปัสสนาไม่ได้จริง ถ้าจิตไม่มีกำลัง ไม่ตั้งมั่น

อย่าทิ้งการรู้ทุกข์

เราจะภาวนา อย่าทิ้งอริยสัจ อย่าทิ้งการรู้ทุกข์ ดูลงไปขันธ์นั่นล่ะทุกข์ ถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้งเมื่อไร มันจะละสมุทัย จะแจ้งพระนิพพานขึ้นมาเอง ไม่ต้องหา ไม่ต้องหาทำอย่างไรจิตเราจะถึงพระนิพพาน ทำอย่างไรจิตจะถึงพระนิพพาน เห็นไหมมันมีโลภเจตนาอยู่ ดูความจริงของมันเรื่อยๆ ไปจนจิตมันแจ้งขึ้นมา จิตนี้คือทุกข์ ทุกข์เพราะไม่เที่ยง ทุกข์เพราะถูกบีบคั้น ทุกข์เพราะเป็นความว่าง เป็นสุญญตา เป็นอนัตตา แล้วมันก็วางของมันเอง ไม่มีใครวางได้หรอก มันวางของมันเอง พอวางแล้ว พอเวลาเรานึกถึงพระพุทธเจ้า จิตกับพระพุทธเจ้ากลืนเป็นอันเดียวกันเลย จิตกับพระธรรมก็กลืนเป็นอันเดียวกัน จิตกับพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ก็กลืนเป็นอันเดียวกัน

ธรรมะมีหลายระดับ

ธรรมะมีหลายระดับ ระดับต้นๆ ทำให้เราอยู่กับโลกอย่างมีความสุข ระดับสูงขึ้นไปเป็นเรื่องธรรมะเพื่อการพ้นจากโลก เพราะฉะนั้นเราตั้งอกตั้งใจ มีทาน มีศีล มีภาวนา ทำไว้สำหรับฆราวาส สำหรับฆราวาสและพระที่ต้องการพ้นทุกข์ ก็มีศีล มีสมาธิ และเจริญปัญญาด้วย เจริญปัญญาคือการเห็นกายอย่างที่กายเป็น เห็นจิตอย่างที่จิตเป็น มันเป็นอย่างไร มันเป็นไตรลักษณ์ นี่เรียกว่าเจริญปัญญา ไปเลือกเอา ชีวิตเรา อยากสุข อยากสบาย ก็ทาน ศีล ภาวนา อยากพ้นทุกข์ อยากมีความสุขก็ทาน ศีล ภาวนา อยากพ้นทุกข์ก็ ศีล สมาธิ ปัญญา ตัวที่ทำให้พ้นทุกข์ คือปัญญา

ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น

เราไม่ยึดเพราะเห็นทุกข์ ไม่เห็นทุกข์ก็ยังยึดอยู่นั่นล่ะ จะเห็นทุกข์ก็ต้องดูกาย มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง รู้ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง คือมีสมาธิที่ดี ตั้งมั่นและเป็นกลาง นี่เรื่องของสมาธิ สติเป็นตัวรู้ทันว่ามีอะไรเกิดขึ้นในกายในใจ แต่รู้ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง คือจิตที่ทรงสมาธิที่ถูกต้องอยู่ ปัญญามันถึงจะเกิด มีปัญญาก็ไม่ใช่เพื่อจะมีปัญญา มีปัญญาเพื่อจะได้เห็นทุกข์ แล้วจิตมันถึงจะปล่อยวางของมันเอง

เรียนรู้ความจริงของโลก

เรียนรู้ความจริงของร่างกาย เรียนรู้ความจริงของจิตใจไป วันหนึ่งก็จะรู้ว่า ในโลกนี้อะไรมีคุณค่าบ้าง ในโลกมีแต่ของชั่วคราว สิ่งที่มีคุณค่าคือธรรมะ แล้วยิ่งเราเข้าใกล้ธรรมะเท่าไร จิตใจเรายิ่งเป็นอิสระมากขึ้น ไม่ใช่เป็นทาส
อยู่กับโลกเป็นทาสมันหนักขึ้นทุกที เป็นทาสของเงินทอง ของทรัพย์สิน เป็นทาสของครอบครัว เป็นทาสของหน้าที่การงาน เป็นทาสของชื่อเสียงเกียรติยศ เป็นทาสของความโลภต่างๆ เป็นทาสของกาม หิวตลอดเวลา เราเข้าใจความจริง ร่างกายนี้หาสาระไม่ได้ การที่จะเอาตัวเองให้เป็นทาสมันจะลดลง