เรียนปริยัติแล้วต้องลงมือปฏิบัติ

ที่ฟังหลวงพ่อนี่ก็เป็นปริยัติ เอาไปทำ ทำปฏิบัติสมถะให้จิตสงบ ทำสมถะให้จิตตั้งมั่น เจริญวิปัสสนาให้เห็นความจริง คือไตรลักษณ์ของรูปนามกายใจ ถัดจากนั้นมรรคผลจะเกิดเอง นี่เรื่องที่เราจำเป็นต้องเรียน ในขณะที่เราฟังอย่างนี้เราเรียนปริยัติ แล้วเราก็ลงมือปฏิบัติ แล้วตรงที่สำคัญมากเลยตอนที่เจริญปัญญา เราจะเรียนถึงสภาวธรรมจริงๆ รูปธรรมนามธรรม อันนี้ว่าไปก็คือการเรียนอภิธรรม แต่เป็นอภิธรรมภาคปฏิบัติจริงๆ ไม่ใช่อภิธรรมในตำรา อภิธรรมในตำราดีไหม ดี แต่ว่ายังล้างกิเลสไม่ได้ แล้วต้องให้เจออภิธรรมในภาคปฏิบัติ เช่น เห็นราคะเกิดแล้วก็ดับ ราคะเป็นอภิธรรมตัวหนึ่ง เป็นสภาวธรรมตัวหนึ่งก็อยู่ในอภิธรรมล่ะ เห็นโทสะเกิดแล้วดับ เพราะฉะนั้นที่เรากำลังทำวิปัสสนานี่ เรากำลังเรียนอภิธรรมอยู่ แต่เป็นอภิธรรมภาคปฏิบัติ

การทำสมาธิกับการเจริญปัญญา

การทำสมาธิกับการเจริญปัญญาทำได้ตั้งหลายรูปแบบ ใช้ปัญญานำสมาธิ คิดพิจารณาไปก่อน แล้วทำความสงบเป็นระยะๆ ไป แล้วถึงจุดที่กำลังมันพอ สติ สมาธิ ปัญญาพอ ก็จะเกิดอริยมรรคได้ หรือใช้สมาธินำปัญญา ทำความสงบลึกลงไปก่อน พอถอนออกมา ให้ดูกาย อย่าดูจิต ดูจิตมันจะว่างๆ เพราะจิตมันยังทรงกำลังของสมาธิอยู่ พอพิจารณาลงไปในร่างกาย ไม่ต้องพิจารณามากอันนี้ ไม่ต้องคิดเยอะเลย พอจิตทรงสมาธิแล้วพอถอยออกมาปุ๊บ มันเห็นเลยร่างกายไม่ใช่เราหรอก เป็นแค่วัตถุ เป็นแค่ก้อนธาตุ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ มีเวทนาเกิดขึ้นในร่างกายก็รู้ เห็นเวทนาในร่างกายดับไปก็รู้ จิตตั้งมั่น เป็นคนรู้ อันนี้เราใช้สมาธินำปัญญา อีกแบบหนึ่ง แบบที่สาม ใช้ปัญญากับสมาธิควบกัน

จริตเพื่อการทำวิปัสสนา

เวลาจะทำวิปัสสนามี 2 จริต เพราะฉะนั้นอย่างบางคนถาม บอกว่าหนูเป็นโทสจริต หนูจะทำวิปัสสนาอย่างไร อันนั้นถามผิดเรื่อง ถ้าโทสจริต อันนั้นเป็นเรื่องของการแก้ ทำให้จิตสงบ ไม่ตกอยู่ในอำนาจโทสะ เป็นเรื่องของสมถะ จริตเพื่อการทำวิปัสสนานั้นมี 2 จริต คือตัณหาจริตกับทิฏฐิจริต ตัณหาจริตคือพวกรักสุขรักสบาย รักสวยรักงาม ทิฏฐิจริตคือพวกช่างคิด ชอบวิเคราะห์ วิจัย วิจารณ์ มีอะไรหน่อยหนึ่งก็คิดแล้วคิดอีกอยู่นั่น

ค่อยๆ ดู กรรมฐานมันมีเยอะแยะไปหมด ดู เลือกเอาที่เหมาะกับตัวเรา มี 2 กลุ่มใหญ่ๆ ในการทำวิปัสสนา ถ้าเป็นพวกตัณหาจริต พวกรักสุขรักสบาย รักสวยรักงาม ดูกายหรือเวทนาทางกายไป ถ้าเป็นพวกเจ้าความคิดเจ้าความเห็นอะไรนี่ ก็ดูจิตตานุปัสสนา ดูจิตกับเจริญธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน 2 อันนี้เหมาะกับพวกทิฏฐิจริต

อุดมการณ์ของชาววัดสวนสันติธรรม

พวกเรามีสติรู้กายรู้ใจ ตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง ทำไปเรื่อยๆ แล้วถ้าดูกายหรือดูจิตไม่ได้ ก็ทำสมถะสลับไป เพื่อเป็นการชาร์จจิตให้มีพลัง

พอจิตมันมีพลังตั้งมั่น สงบ ตั้งมั่นดีแล้ว เราก็เดินปัญญา ดูกายอย่างที่กายเป็น ดูจิตอย่างที่จิตเป็น โดยใช้หลัก “มีสติ รู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง” ทำไปเรื่อยๆ ถึงวันหนึ่งมันรู้ความจริง กายนี้คือตัวทุกข์ จิตนี้คือตัวทุกข์ พอรู้ความจริงอย่างนี้มันจะหมดสมุทัย มันจะปล่อยวางกาย ปล่อยวางจิต มันจะไปอยากอะไรอีก มันปล่อยทิ้งแล้ว ทันทีที่รู้ทุกข์แจ่มแจ้ง สมุทัยเป็นอันถูกละ ในขณะนั้นนิโรธคือนิพพานปรากฏขึ้นต่อหน้าต่อตาแล้ว

ใช้คำว่า “ปรากฏ” ไม่ใช่ “เกิด” มันมีอยู่แล้วแต่เราไม่เห็น ตอนที่เราหมดตัณหานั่นล่ะ นิพพานคือความสิ้นตัณหา บางทีท่านก็ใช้คำว่า “นิพพาน คือสภาวะที่สิ้นตัณหา” พอสิ้นตัณหาแล้วมันเป็นอย่างไร มันสงบ มันสันติ นิพพานมีสันติลักษณะ คือมันสงบ อย่างวัดนี้ชื่อวัดสวนสันติธรรม สิ่งที่เรียกว่า “สันติธรรม” คือนิพพาน แปลให้ออก ถ้าใครเขาถามว่า ลูกศิษย์วัดสวนสันติธรรม “สันติธรรม” คืออะไร คือพระนิพพาน นี่คืออุดมการณ์ของพวกเราชาววัดสวนสันติธรรม เราจะต้องนิพพานให้ได้ ไม่ชาตินี้ก็ชาติต่อๆ ไป นี่เป็นอุดมการณ์ที่เราตั้งวัดนี้ขึ้นมา

ฝึกให้จิตมีแรงแล้วเดินปัญญา

การฝึกจิตใจมันมี 2 ขั้นตอน ขั้นฝึกให้จิตสงบมีเรี่ยวมีแรง กับฝึกให้จิตตั้งมั่น ฝึกให้จิตสงบก็คือฝึกให้จิตมันรู้จักหยุดเสียบ้าง ธรรมดาจิตเราวิ่งพล่านๆ ทั้งวัน เดี๋ยววิ่งไปคิด เดี๋ยววิ่งไปดู วิ่งไปฟัง วิ่งไปดมกลิ่น วิ่งไปลิ้มรส วิ่งไปรู้สัมผัสทางร่างกาย จิตมันวิ่งตลอดเวลา มันก็เหนื่อย หมดเรี่ยวหมดแรง คล้ายๆ ร่างกาย วิ่งๆ ไปเรื่อยๆ ก็หมดแรง ก็ต้องพัก จิตก็ต้องพักเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเราจะต้องหัดกรรมฐาน ที่เรียกว่าสมถกรรมฐาน พอพักพอสมควรมีเรี่ยวมีแรงแล้ว ก็ต้องออกไปทำมาหากิน

ถ้าร่างกายพักพอสมควรมีแรงแล้ว ออกไปทำมาหากิน หาผลประโยชน์ จิตใจนี้ก็เหมือนกัน เราพักพอสมควรแล้ว ออกไปทำประโยชน์ ออกไปเจริญปัญญา นั่นล่ะหาของดีมาให้จิตใจ ปัญญามันเป็นอาหารชั้นเลิศของใจ

ทาน ศีล ภาวนา

พระพุทธเจ้าท่านสอนเรา ให้รู้จักทำทาน หมายถึงแบ่งปันส่วนที่เกิน ให้ส่วนที่เกินไปกับคนที่เขาจำเป็นกว่าเรา อย่างเรามีเสื้อผ้าเยอะ ช่วงนี้ฤดูหนาว คนที่เขาขาดแคลน เขาจำเป็นต้องใช้เสื้อผ้าอันนี้มากกว่าเรา พวกเราไม่จำเป็นเท่าไร มีมากอะไรอย่างนี้ ท่านสอนให้รู้จักให้ทานเพื่อลดละความเห็นแก่ตัว การฝึกจิตใจที่สูงขึ้นมาคือการรักษาศีล หลวงพ่อแนะนำ พวกเราควรจะถือศีล 5 ให้ได้ ศีล 5 จำเป็นสำหรับความเป็นมนุษย์ ถ้าเรามีความสามารถพิเศษ เราจะรู้เลย สัตว์ในอบายภูมิมากมาย ที่ไปสู่อบายภูมิเพราะไม่มีศีลมาถึงภาวนา ภาวนาเป็นงานของจิตทั้งสิ้นเลยเป็นงานพัฒนาจิตโดยตรง มี 2 งาน งานหนึ่งเป็นการพัฒนาจิตให้สงบและตั้งมั่น งานที่สองเป็นการฝึกจิตให้ฉลาดรอบรู้ เข้าใจความจริงของโลก ของชีวิต พระพุทธเจ้าท่านบอก บุคคลถึงความบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา เพราะฉะนั้นมันต้องผ่านงานที่สองถึงจะเข้าถึงความบริสุทธิ์หลุดพ้นได้ ถ้าลำพังมีแต่แค่งานที่หนึ่ง ทำสมาธิเพื่อความสุขความสงบ ยังไม่บรรลุมรรคผลหรอก ยังไม่พ้นทุกข์หรอก แค่มีความสุขชั่วครั้งชั่วคราวตอนทำสมาธิ

ทุกสิ่งเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

ถ้าใจเราเข้าใจความจริงตรงนี้ ใจจะค่อยๆ คลายออกจากโลก อย่างร่างกายเรามันก็เปลี่ยนแปลงทุกวัน จิตใจเราเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เฝ้ารู้เฝ้าดู โลกข้างนอกก็เหมือนกัน ก็เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เดี๋ยวก็ปีหนึ่งๆ หนึ่งปีผ่านไป โลกข้างนอกก็เปลี่ยนไป ร่างกายเราก็เปลี่ยนไป จิตใจเราก็เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ วุ่นวายไปเรื่อยๆ ถ้าคนไหนทำกรรมฐาน 1 ปีผ่านไป จิตใจเราก็สงบ ตั้งมั่น แข็งแรงมากขึ้น ถ้าตามใจกิเลส 1 ปีผ่านไป จิตใจก็ยิ่งลำบากมากขึ้น ไม่มีอะไรคงที่ ชั่วหรือดีก็ไม่คงที่เหมือนกัน

เรียนรู้ให้เห็นความจริง เราไม่ได้มุ่งไปที่ความดี ความสุข ความสงบอะไรหรอก เพราะความดีไม่เที่ยง ความสุขไม่เที่ยง ความสงบไม่เที่ยง เราทำกรรมฐานเพื่อให้จิตมันเห็นความจริง ป้อนความจริงไว้ให้จิตดู ความจริงของร่างกายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ความจริงของจิตใจก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แม้แต่โลกภายนอกก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ป้อนข้อมูลที่ดีๆ อย่างนี้ ข้อมูลที่ประกอบด้วยไตรลักษณ์ ป้อนเข้าไปให้จิตมันเรียนรู้ไป พอมันรู้ความจริง เดี๋ยวมันก็วางโลกเอง โลกไม่มีอะไรนอกจากทุกข์

ธรรมะช่วยเราได้สารพัด

ธรรมะช่วยเราได้สารพัด แต่เราไม่เข้าใจคำว่า ธรรมะๆ คิดว่าธรรมะคือการนั่งสมาธิ เดินจงกรม อันนั้นตื้นเกินไป การใช้ชีวิตอย่างมีเหตุมีผลก็เป็นธรรมะแล้ว เป็นธรรมะเพื่อการอยู่กับโลก ธรรมะที่อยู่กับโลก พระพุทธเจ้าสอนเอาไว้เยอะแยะ จะดูแลครอบครัวอย่างไร ดูแลลูกน้องอย่างไร จะปฏิบัติต่อพ่อแม่อย่างไร ท่านสอนไว้เยอะแยะ เอาไปทำได้ก็ดี ถ้าง่ายที่สุดก็คือเรียนรู้ทันจิตใจตัวเอง ไม่ว่าจะคิดอะไร จะพูดอะไร จะทำอะไร อย่าให้กิเลสมันครอบงำ

ความเป็นปกติของจิต

พยายามฝึกตัวเองในทุกที่ทุกสถานการณ์ จะต้องฝึกตัวเองให้จิตใจมันตั้งมั่นอยู่กับเนื้อกับตัวให้ได้

ศัตรูสำคัญที่ทำให้เราภาวนาไม่สำเร็จก็คือความฟุ้งซ่าน ในนิวรณ์ 5 ตัว ตัวฟุ้งซ่านมันเกิดบ่อยที่สุด กามฉันทะ นิวรณ์ ความผูกพัน พออกพอใจ ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ก็มีเป็นคราวๆ ความฟุ้งซ่านมีตลอด นิวรณ์ มันเป็นเครื่องกั้นความเจริญ จะทำสมาธิ มีนิวรณ์ มันก็ไม่เจริญ จะเจริญปัญญา เกิดนิวรณ์ก็ทำไม่ได้

ฉะนั้นพวกเราต้องระมัดระวัง เรื่องเล็กๆ น้อยๆ บางอย่างดูไม่น่าจะมีพิษมีภัย อย่างเรื่องฟุ้งซ่าน คุยไม่เป็นเรื่องเป็นราว ดูแล้วไม่ได้เป็นพิษเป็นภัย ไม่ได้ทำชั่วร้ายอะไร คุยทักทาย ปฏิสันถารไม่รู้จักจบจักสิ้น สิ่งที่เสียไปก็คือความเป็นปกติของจิต จิตที่จะเจริญสมาธิได้ก็ต้องเป็นปกติ ถูกกิเลสย้อมอยู่ ก็ไม่ปกติ จิตจะเจริญปัญญา ก็ต้องปกติ

ฝึกจิตให้มีกำลังตั้งมั่น

เป็นนักปฏิบัติ จิตใจต้องตั้งมั่น จิตต้องตั้งมั่น ต้องมีเรี่ยวมีแรง อยู่ที่การฝึกของเรา เราทำกรรมฐานสม่ำเสมอ จิตมันจะมีกำลัง ทำบ้างหยุดบ้าง ไม่ได้เรื่อง จิตใจป้อแป้ๆ ฉะนั้นทุกวันเราต้องทำในรูปแบบ หมดเวลาที่ทำในรูปแบบแล้วก็เจริญสติในชีวิตประจำวันให้ได้ ทำในรูปแบบเก่ง แต่ว่าเจริญสติในชีวิตประจำวันไม่ได้ พลังของจิตมันไม่เต็มหรอก กลางวันมันรั่วหมด ฉะนั้นเราต้องพยายามรู้สึกตัวไว้ รู้สึกตัว ถึงเวลาทำในรูปแบบก็ทำด้วยความรู้สึกตัว หมดเวลาทำในรูปแบบแล้ว อยู่ในชีวิตธรรมดา ก็มีความรู้สึกตัว

ส่วนใหญ่ของฆราวาส กระทั่งพระก็เหมือนกัน ถึงเวลาก็ไปไหว้พระ สวดมนต์ นั่งสมาธิ เดินจงกรม หมดเวลาแล้ว ก็ปล่อยจิตใจล่องลอยไป ฟุ้งซ่าน คิดโน่นคิดนี่ มันเลยรู้สึกทำไมไม่เจริญเสียที ถ้าเราทำตัวเหมือนโอ่งน้ำรั่ว เหมือนโอ่งร้าวโอ่งแตก เติมน้ำลงไปเดี๋ยวก็รั่วไปหมดอีก คืออย่าให้มันมีรูรั่ว ขาดสติเมื่อไรก็รั่วเมื่อนั้น

Page 1 of 2
1 2