จิตตั้งมั่นแล้วเดินปัญญา

ถ้าจิตเราตั้งมั่น มันจะเริ่มแยกขันธ์ได้ แยกธาตุได้ ค่อยๆ แยกออกไป แล้วเราจะเห็นร่างกายที่ถูกจิตรู้ ไม่ใช่เรา เวทนา ความรู้สึกสุขทุกข์ในร่างกาย ไม่ใช่ร่างกาย แล้วก็ไม่ใช่จิต แล้วก็ไม่ใช่เรา เวทนาทางใจคือความรู้สึกสุขทุกข์ ความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์ ไม่ใช่ร่างกาย ไม่ใช่เวทนาทางกาย แล้วก็ไม่ใช่จิต แล้วก็ไม่ใช่เรา กุศลอกุศลทั้งหลาย ไม่ใช่ร่างกาย ไม่ใช่เวทนา สุขทุกข์ ไม่ใช่จิต กุศลอกุศลทั้งหลายก็ไม่ใช่เรา

คุณสมบัติของชาวพุทธที่ดี

หน้าที่ของชาวพุทธเราคือเราเป็นนักศึกษา ทำหน้าที่ศึกษาตัวเองให้ถ่องแท้ไป สํารวจใจเรา เรามั่นคงกับพระรัตนตรัยแค่ไหน หรือเราเห็นพระรัตนตรัยเป็นบ่อเงินบ่อทอง เป็นที่แสวงหาผลประโยชน์ คนจํานวนมากเอาศาสนาไปแสวงหาผลประโยชน์ เรามีศีลดีงามไหม สํารวจตัวเอง ถ้าศีลเรายังด่างพร้อยอยู่ เราก็ยังไม่ใช่ชาวพุทธที่ดี ไม่ใช่ลูกที่ดีของพระพุทธเจ้า เราไม่เคารพพระพุทธเจ้า ท่านสอนให้เราถือศีลแล้วเราไม่ถือ อีกข้อหนึ่งก็คือเราเชื่อกฎแห่งกรรมไหม หรือเชื่อบ้างไม่เชื่อบ้าง หรือบางวันไม่เชื่อเลยอะไรอย่างนี้ สํารวจตัวเอง คนที่เชื่อกฎแห่งกรรมก็จะเชื่อว่า เราจะต้องพ้นทุกข์ไปด้วยความเพียรของเราเอง

รู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ

ถ้าเรารู้แจ้งแทงตลอดว่าจิตเป็นตัวทุกข์ เรียกว่ารู้ทุกข์แจ่มแจ้ง เราก็ละสมุทัย ละความอยาก เมื่อละความอยากได้ เราก็ละความยึดถือจิตได้ เมื่อเราละความยึดถือจิตได้ ภพคือความดิ้นรนที่จะแสวงหาจิต หรือที่จะปล่อยวางจิต หรือที่จะรักษาจิต มันก็ไม่มี พอเราหมดความยึดถือจิต มันก็ไม่มีการที่จะต้องเที่ยวแสวงหาจิต ไม่มีการรักษาจิต ไม่มีความพยายามจะต้องปล่อยวางจิต เมื่อเราไม่มีความดิ้นรนของจิต คือไม่มีภพ จิตก็จะไม่หยิบฉวยจิตขึ้นมา คือไม่มีชาติ ทันทีที่ไม่มีชาติ ความทุกข์ก็ไม่เกิดขึ้น สิ้นชาติก็สิ้นทุกข์กันตรงนั้นล่ะ เพราะชาติคือการหยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจไม่ใช่ของดีของวิเศษ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจคือตัวทุกข์ ถ้าเราภาวนาจนเราแจ้งตรงนี้ เรียกว่าเราล้างอวิชชาได้แล้ว รู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจแล้ว

เราไม่ได้ภาวนาเพื่อสนองกิเลส

พยายามฝึก มีเครื่องอยู่ให้จิตอยู่เสียก่อน กาย เวทนา จิต ธรรม อะไรก็ได้ที่เราถนัด มีเครื่องอยู่แล้ว มีสติอยู่ แล้วเราก็รู้ว่า เราปฏิบัติธรรมเพื่อสู้กิเลส ไม่ใช่เพื่อเอาดีอะไรหรอก ปฏิบัติธรรมที่เราทำอยู่นี้ มันจะสู้กิเลสหรือมันตามใจกิเลส ไปดูตัวนี้ด้วย ตัวนี้เรียกว่า อาตาปี มีกาเย กายานุปัสสี วิหะระติ ใช้กายในกายเป็นเครื่องอยู่ อาตาปี เป็นเครื่องอยู่เพื่อแผดเผากิเลส ทำให้กิเลสทนอยู่ไม่ได้ ไม่ใช่ภาวนาเพื่อสนองกิเลส ไปภาวนาแล้วเราสังเกตดู ที่เราภาวนานี้สนองกิเลสหรือคิดจะสู้กิเลส ส่วนใหญ่มันก็ภาวนาสนองกิเลส อยากดี อยากเป็นพระอริยะ

ธรรมะเรียนไม่ได้ด้วยการคิด

จุดอ่อนของปัญญาชน ก็คือคิดมาก หลายคนหลวงพ่อสอนให้รู้สึกตัว ให้ดูกายดูใจ เขาบอกเขายังดูไม่ได้ ต้องคิดไว้ก่อน เออ ก็คิดไป ชาตินี้คิด ชาติหน้าก็ไปคิดต่อ ธรรมะเรียนไม่ได้ด้วยการคิดเอา เรียนด้วยการรู้สึก รู้สึกกาย รู้สึกใจ ดูกายหายใจออก หายใจเข้า ก็เห็นร่างกายหายใจออกหายใจเข้า ไม่ใช่เราหายใจออก ไม่ใช่เราหายใจเข้า ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน เราก็เห็นร่างกายมันยืน เดิน นั่ง นอน ไม่ใช่เรายืน เดิน นั่ง นอน

วิธีปลดปล่อยใจให้พ้นจากอาสวะ

วิธีที่เราจะปลดปล่อยใจของเราให้พ้นจากอาสวกิเลสได้ พระพุทธเจ้าสอนว่า ให้ภาวนาไป เจริญสติปัฏฐานนี่ล่ะ จนกระทั่งจิตหลุดพ้นจากอาสวะ เพราะความไม่ถือมั่น คีย์เวิร์ดมันอยู่ตรงที่ไม่ถือมั่น เพราะฉะนั้นคำว่าไม่ถือมั่น ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่น มันจะเป็นหัวใจคำสอนของพระพุทธเจ้า เราจะไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่นในขันธ์ 5 ในกายในใจของเราได้ โดยเฉพาะไม่ยึดมั่นในจิตได้ เราก็ต้องเจริญวิปัสสนากรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน ก็คือการที่เราเห็นความจริงของจิตใจตัวเอง เราเห็นขันธ์ 5 ทั้งกายทั้งใจ ล้วนแต่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เรียกว่าเห็นความจริง เพราะเห็นความจริงก็จะเบื่อหน่าย คลายความยึดถือแล้วก็หลุดพ้น ตรงที่หลุดพ้นก็คือ จิตมันหมดความยึดถือในร่างกาย หมดความยึดถือในจิตใจ ทันทีที่จิตมันรู้แจ้งแทงตลอดตัวนี้ มันหมดความยึดถือ

เรียนรู้อยู่ที่จิตใจตัวเองให้ได้

การปฏิบัติธรรมไม่ใช่เรื่องลึกลับ มันเป็นการเปลี่ยนจุดที่มอง แทนที่จะมองออกไปข้างนอก ก็มองย้อนกลับเข้ามาที่ตัวเอง เรียนรู้อยู่ที่จิตใจตัวเองให้ได้แล้วมันจะไปได้อย่างรวดเร็ว พอเราเรียนรู้ลงที่จิตใจบ่อยๆ เราจะเริ่มเห็นความจริง จิตใจนี้มันเป็นไตรลักษณ์ จิตใจมันเป็นไตรลักษณ์ เวลามันมีความสุข มันมีความทุกข์ หรือมันเป็นกุศล หรือมันโลภ โกรธ หลงก็ตาม ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ชั่วคราว ความสุข จิตใจมีความสุข ก็สุขชั่วคราว จิตใจมีความทุกข์ ก็ทุกข์ชั่วคราว จิตใจเป็นกุศล ก็เป็นกุศลชั่วคราว จิตใจโลภ โกรธ หลง ก็โลภ โกรธ หลงชั่วคราว เราเห็น อย่างนี้เรียกว่าเห็นอนิจจัง

การปฏิบัติเริ่มต้นที่จิตจบลงที่จิต

ค่อยภาวนา อย่าทิ้งจิตตัวเอง เรียนรู้จิตตัวเอง เรียนรู้จิตของเราแต่เบื้องต้น เราจะมีศีลอัตโนมัติ เพราะว่ากิเลสใดๆ เกิดขึ้นที่จิตเรารู้ทัน กิเลสครอบงำจิตไม่ได้ ศีลอัตโนมัติจะเกิด เรียนรู้จิตตัวเอง รู้ทันจิตที่ไหลไปไหลมา จิตก็หยุดการไหล ตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา เราก็ได้สมาธิที่ถูกต้อง เห็นไหมเรื่องของจิตทั้งนั้นเลย แล้วในขั้นเจริญปัญญา จะเริ่มจากกาย เวทนา อะไรก็ตาม สุดท้ายมันก็ลงมาที่จิตจนได้

หลวงปู่อบรมทีมงาน

เราเป็นทีมงานของหลวงพ่อ
จุดสำคัญที่หนึ่งเลย ตัวเองต้องพัฒนาได้
จุดที่สอง อย่าให้กระทบการทำมาหากินของตัวเอง
เป็นฆราวาสต้องทำมาหากินด้วย
ไม่ใช่จะมาทำงานอาสาสมัครจนกระทั่งไม่มีจะกิน
อีกจุดหนึ่ง ครอบครัวสำคัญ
มีลูกมีครอบครัวต้องดูแล
ไม่ใช่ทิ้งครอบครัวทิ้งลูกตามยถากรรม
มาทำงานอาสาสมัครช่วยหลวงพ่อ หลวงพ่อไม่ต้องการ
คือพวกเราทำงานอาสาสมัคร
อย่าให้การปฏิบัติเสีย
อันนี้ข้อที่หนึ่งเลย จำเป็นที่สุดเลย
อย่าให้หน้าที่การงานเสีย อย่าให้ครอบครัวเสีย

รู้ทันความเปลี่ยนแปลงของจิต

ความรู้สึกเปลี่ยนจากการกระทบอารมณ์ แล้วมีการให้ค่า กระทบเฉยๆ ยังไม่เท่าไร กระทบแล้วมันมีการให้ค่า เป็นธรรมชาติก็ต้องมีการตีความ อันนี้ดี อันนี้ไม่ดี แล้วจิตก็จะปรุงต่อ เพราะฉะนั้นเวลาที่จิตมันจะเปลี่ยนแปลง มันเปลี่ยนแปลงตามหลังการกระทบอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย กระทบอารมณ์ เป็นอารมณ์ข้างนอก กระทบแล้วจิตมีความเปลี่ยนแปลง ตีค่า แล้วก็เกิดยินดียินร้าย เกิดพอใจไม่พอใจขึ้นมา แต่ว่าการกระทบอารมณ์มันมีอีกแบบหนึ่ง คือกระทบด้วยใจโดยตรง ไม่ได้กระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่กระทบด้วยจิตโดยตรงก็มี อย่างเวลาเรานั่งอยู่ดีๆ เราไปนึกถึงคนที่เราเกลียด พอนึกถึงปุ๊บโทสะขึ้นเลย เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะมีการกระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วจิตเปลี่ยนแปลง เราก็รู้ทัน มีการกระทบทางใจขึ้นโดยตรง ไม่ผ่านตา หู จมูก ลิ้น กาย จิตก็เกิดการความเปลี่ยนแปลง ให้เรามีสติรู้ทัน ใจมันปรุงต่อ ให้เราตามรู้ความเปลี่ยนแปลงของจิตใจตัวเองไป

Page 1 of 5
1 2 3 4 5