ฝึกจิตให้มีกำลังตั้งมั่น

เป็นนักปฏิบัติ จิตใจต้องตั้งมั่น จิตต้องตั้งมั่น ต้องมีเรี่ยวมีแรง อยู่ที่การฝึกของเรา เราทำกรรมฐานสม่ำเสมอ จิตมันจะมีกำลัง ทำบ้างหยุดบ้าง ไม่ได้เรื่อง จิตใจป้อแป้ๆ ฉะนั้นทุกวันเราต้องทำในรูปแบบ หมดเวลาที่ทำในรูปแบบแล้วก็เจริญสติในชีวิตประจำวันให้ได้ ทำในรูปแบบเก่ง แต่ว่าเจริญสติในชีวิตประจำวันไม่ได้ พลังของจิตมันไม่เต็มหรอก กลางวันมันรั่วหมด ฉะนั้นเราต้องพยายามรู้สึกตัวไว้ รู้สึกตัว ถึงเวลาทำในรูปแบบก็ทำด้วยความรู้สึกตัว หมดเวลาทำในรูปแบบแล้ว อยู่ในชีวิตธรรมดา ก็มีความรู้สึกตัว

ส่วนใหญ่ของฆราวาส กระทั่งพระก็เหมือนกัน ถึงเวลาก็ไปไหว้พระ สวดมนต์ นั่งสมาธิ เดินจงกรม หมดเวลาแล้ว ก็ปล่อยจิตใจล่องลอยไป ฟุ้งซ่าน คิดโน่นคิดนี่ มันเลยรู้สึกทำไมไม่เจริญเสียที ถ้าเราทำตัวเหมือนโอ่งน้ำรั่ว เหมือนโอ่งร้าวโอ่งแตก เติมน้ำลงไปเดี๋ยวก็รั่วไปหมดอีก คืออย่าให้มันมีรูรั่ว ขาดสติเมื่อไรก็รั่วเมื่อนั้น

สิ่งที่เราต้องทำ

สิ่งที่พวกเราต้องทำก็มี 3 อย่าง อันหนึ่งถือศีล 5 ไว้ ตั้งอกตั้งใจรักษาศีล 5 ไว้ให้ดี ให้เด็กเขาเห็น ถือศีล 5 แล้วมันดี ไม่ใช่ถือศีล 5 แล้วลำบาก งานที่ 2 ก็คือแบ่งเวลาไว้ทำในรูปแบบ ไหว้พระ สวดมนต์ นั่งสมาธิ เดินจงกรม ทำให้เขาดู ทำให้เขาเห็น อย่าไปบังคับว่าเขาต้องทำตาม ทำให้เขาเห็นไป ที่เหลืองานที่ 3 คือการเจริญสติในชีวิตประจำวัน ตัวนี้เป็นงานยาก ก็ต้องมีสติกำกับใจของเราอยู่สม่ำเสมอ เวลาตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์ กระทบรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางร่างกาย แล้วก็กระทบอารมณ์ทางใจ จิตมันจะเกิดปฏิกิริยาขึ้นมา เกิดความสุข เกิดความทุกข์ เกิดความไม่สุขไม่ทุกข์ขึ้นมา มันจะเกิดปฏิกิริยาที่เป็นบุญบ้าง เป็นบาปบ้าง โลภ โกรธ หลง เกิดขึ้น นี่เป็นปฏิกิริยาของจิต ไม่ใช่ตัวจิตหรอก

พวกเราก็คอยมีสติไว้ เรื่องการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน มีตาก็ดู มีหูก็ฟัง มีจมูกก็ดมกลิ่น มีลิ้นก็รู้รส มีกายก็กระทบสัมผัสเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหวอะไรมากระทบ มีใจมันก็กระทบความคิดนึกปรุงแต่งทั้งหลาย พอกระทบแล้วจิตมันสะเทือนขึ้นมา มันปรุงสุข ปรุงทุกข์ ปรุงดี ปรุงชั่วขึ้นมา ให้เรามีสติรู้อยู่ที่จิต

คำสอนหลวงปู่ดูลย์ อตุโล

ที่จริงคำสอนของหลวงปู่ดูลย์ ส่วนหนึ่งก็จะเหมือนๆ กับคำสอนของครูบาอาจารย์ทั่วๆ ไป แต่ส่วนที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของท่าน โดดเด่น ไม่มีองค์ไหนเหมือนก็คือเรื่องของจิต ท่านสอนตัดตรงเข้ามาที่จิตเลย แต่ก็ไม่ได้สอนทุกคนให้เข้ามาที่จิต ไม่ใช่ทุกคนจะเข้ามาได้หรอก จิตมันต้องมีกำลังมากพอ ถึงจะเข้ามาดูจิตได้ ถ้ากำลังยังไม่พอ ท่านก็ให้เริ่มไป บางคนก็พุทโธ บางคนก็พิจารณากาย พอจิตมีกำลังแล้วถึงจะขึ้นมาที่จิตได้

ท่านสอน “จิตส่งออกนอกเป็นสมุทัย ผลที่จิตส่งออกนอกเป็นทุกข์ จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นมรรค ผลที่จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นนิโรธ ธรรมดาของจิตย่อมส่งออกนอก เมื่อส่งออกนอกแล้วกระเพื่อมหวั่นไหว ก็เป็นสมุทัย ผลที่จิตส่งออกนอก แล้วกระเพื่อมหวั่นไหวไม่มีสติอยู่ก็เป็นทุกข์ จิตส่งออกนอกแล้วมีสติอยู่ ก็เป็นการเจริญมรรค ผลก็คือนิโรธ” แล้ววรรคสุดท้ายที่หลวงปู่สอนก็คือ “อนึ่งพระอริยเจ้าทั้งหลาย มีจิตไม่ส่งออกนอก มีจิตไม่กระเพื่อมหวั่นไหว มีสติสมบูรณ์เป็นวิหารธรรมอยู่” พอได้อ่านธรรมะตรงนี้ มันสะเทือนเข้าถึงใจ มันเห็นว่าถ้าจิตมันไม่ทุกข์แล้วใครมันจะทุกข์ เพราะฉะนั้นถ้าเราแก้ปัญหาที่จิตของเราได้ ความทุกข์มันก็ตั้งอยู่ไม่ได้

การปฏิบัติทิ้งจิตไม่ได้

ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งที่เราถนัด แล้วคอยรู้ทันจิตใจของตนเอง จับหลักตรงนี้ให้แม่นๆ แล้วเราจะก้าวหน้าได้ ถ้าเราเอาแต่ทำกรรมฐาน แล้วเราละทิ้งจิตของตนเอง มันจะก้าวมาไม่สู่จุดที่จิตมีสัมมาสติและสัมมาสมาธิเลย ก้าวขึ้นมาไม่ได้ พยายามแทบตาย เหน็ดเหนื่อยแทบตาย แต่ก็ไม่ได้อะไรเท่าไรหรอก เพราะมันทำไม่ถูก ไม่ได้หัวใจของการปฏิบัติ สิ่งที่เป็นต่างหากล่ะ เพราะฉะนั้นทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งแล้วคอยรู้ทันจิตตนเองไปเนืองๆ รู้ไปเรื่อยๆ รู้สบายๆ ถนัดอะไรก็ทำอันนั้นล่ะ แต่ให้ความสำคัญกับการรู้ทันจิตใจตนเอง ภาวนาอย่าทิ้งจิต จิตเป็นใหญ่ เป็นหัวหน้า เป็นประธานของธรรมะทั้งปวง ได้จิตก็ได้ธรรม ไม่ได้จิตก็ไม่ได้ธรรมะ หลวงปู่ดูลย์ก็สอน “จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นอรหัตมรรค” เห็นแจ่มแจ้งก็คือเห็นอะไร เห็นว่าจิตเองก็เป็นตัวทุกข์นั่นล่ะ ทันทีที่เห็นทุกข์ มันก็วาง เรียกเห็นทุกข์ก็ละสมุทัย แจ้งนิโรธ เกิดอริยมรรคขึ้นมา ก็อยู่ที่จิตทั้งหมด

จิตคือกุญแจไขตู้พระไตรปิฎก

เราก็ปฏิบัติที่จิต จนมารู้แจ้งในจิต แล้วก็ปล่อยวางที่จิต ฉะนั้นตัวจิตนั้นล่ะ เป็นกุญแจที่จะไขตู้พระไตรปิฎกให้เรา ตู้พระไตรปิฎกไม่ได้อยู่ที่ในตู้หรอก อันนั้นเป็นความจำ ไปอ่านเท่าไรก็ได้ความจำ แต่ธรรมะตัวจริงอยู่ที่จิตเรา ตู้พระไตรปิฎกที่แท้จริงอยู่ที่จิตของเราเอง หัดไขกุญแจเข้าไป กุญแจก็คือมีสติ มีสมาธิ รู้เท่าทันจิตใจของตนเองให้มากๆ ไว้ เบื้องต้นเราจะได้สติ แล้วก็จะได้สมาธิ แล้วก็จะได้ปัญญา สุดท้ายก็จะเกิดวิมุตติ นี้คือเส้นทางที่เราจะฝึก ถ้าเราตัดตรงเข้ามาที่จิตได้จะเร็วที่สุดเลย

วิธีฝึกสติปัฏฐาน

เราต้องพยายามฝึกตัวเอง มีวินัยในตัวเอง แล้วก็พยายามฝึกสติปัฏฐาน ทุกวันๆ ต้องฝึก วิธีฝึกสติปัฏฐานก็คือ ต้องมีฐานที่ตั้งของสติเสียก่อน ฐานที่จะทำให้เกิดสติปัฏฐาน พระพุทธเจ้าท่านกำหนดไว้ให้แล้ว คือกาย เวทนา จิต ธรรม พวกเราต้องมีสติไว้ แต่สตินั้นเป็นสติปัฏฐาน ระลึกรู้กาย ก็คือรู้สึกกายอย่างที่กายเป็น ระลึกรู้เวทนาอย่างที่เวทนาเป็น ระลึกรู้จิตอย่างที่จิตเป็น จิตมีราคะ จิตไม่มีราคะ รู้อย่างที่มันเป็น ถ้าเราเจริญสติปัฏฐานเรื่อยๆ มีวิหารธรรมที่เราทำได้ ที่ทำไม่ไหวก็เว้นไปก่อน ไม่ต้องไปทำ อย่างดูกายก็ดูในส่วนที่ทำได้ ดูจิตก็ดูในส่วนที่ทำได้ แล้วดูเนืองๆ ดูเรื่อยๆ ดูบ่อยๆ รู้สึกอยู่ในกายบ่อยๆ รู้สึกอยู่ในจิตบ่อยๆ รู้สึกบ่อยๆ แล้วสติมันจะเข้มแข็งขึ้น

งานพัฒนาจิต

การที่เราทำจิตตสิกขา คือการทำกรรมฐานอย่างหนึ่ง แล้วรู้ทันจิตที่เคลื่อนไป แล้วเราจะได้จิตที่ตั้งมั่นขึ้นมา จิตที่ตั้งมั่นมีทั้งสมาธิที่ถูกต้อง มีทั้งสติที่ถูกต้อง จิตดวงนี้พร้อมที่จะเจริญปัญญาแล้ว บางคนพอมีจิตที่ตั้งมั่นแล้ว ไม่ไปต่อก็ตั้งอยู่อย่างนั้นล่ะ อันนี้ก็น่าเสียดาย เหมือนเราชาร์จแบตเตอรี่เอาไว้เต็มแล้วเราก็ไม่ได้ใช้ วางทิ้งไว้ให้แบตเตอรี่เสื่อม เพราะฉะนั้นเราทำสมาธิเสร็จแล้ว เราก็ต้องมาเดินปัญญาต่อ นี่คืองานที่สอง งานฝึกจิตให้เกิดปัญญา

จิตคือละครโรงใหญ่

เราดูละครเวที บางทีมีดารามาเล่นทีหนึ่งตั้ง สิบตัว ละครเต็มเวที ดูจิตมันก็เหมือนกัน ในสภาวะอันหนึ่งๆ มีตัวละครประกอบกันจำนวนมาก เวลาดูละครเวทีถึงจะมีตัวละครเป็นสิบตัว ยิ่งถ้าเล่นโขนมีหลายสิบตัวเลย เราจะดูตัวที่เป็นตัวที่กำลังแสดง เป็นตัวเอกขณะนั้น ไม่ใช่ตัวเอกต้องเป็นพระเอก นางเอก ตัวเอกหมายถึงตัวที่มีบทบาทหลักในขณะนั้น ดูละครเดี๋ยวก็ดูตัวนี้ เดี๋ยวก็ดูตัวนี้ แต่ว่าดูได้ทีละตัว สังเกตให้ดีเราดูทีละตัวเท่านั้น ดูจิตนี้ก็เหมือนกัน ในขณะหนึ่งๆ มีองค์ธรรมจำนวนมากเกิดขึ้นด้วยกัน ไม่ใช่จิตมีดวงเดียวแล้วก็มีอยู่ดวงเดียวเท่านั้น มันมีทั้งเวทนาก็มีอยู่ สังขารก็มี สัญญาก็มี ความจงใจ มนสิการ ความใส่ใจที่จะรู้ก็มี ความเป็นหนึ่ง รู้อารมณ์อันเดียวก็มีเรียก เอกัคคตา ความรับรู้เรียกว่าจิต หรือเรียกว่าวิญญาณ ก็มีอยู่ เราดูจิตใจเราเล่นละคร มันเปลี่ยนตลอดเลย เดี๋ยวตัวนี้เล่นๆ เดี๋ยวตัวอิจฉาเล่น เดี๋ยวตัวโกรธเล่น เดี๋ยวตัวรักเล่น เดี๋ยวตัวโลภเล่น เล่นหมุนไปเรื่อยๆ เดี๋ยวตัวเศร้าโศกก็เล่น เดี๋ยวตัวมีความสุขก็เล่นขึ้นมา ดูใจของเราเหมือนดูละคร ตัวไหนเด่นดูตัวนั้น ไม่ต้องหา

การพัฒนาองค์มรรค

พัฒนาองค์มรรคทั้งหลาย เพื่อวันหนึ่งเราจะได้รู้ทันสภาวะทั้งหลายตามความเป็นจริง เราจะเห็นเลยว่ารูปธรรมทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับบังคับไม่ได้ นามธรรมทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับบังคับไม่ได้เหมือนกัน เฝ้ารู้เฝ้าดูลงไปเรื่อยๆ ในที่สุดจิตจะค่อยๆ พัฒนาเข้าไปสู่ความเป็นกลาง พอเราตามรู้ตามเห็นเนืองๆ ไป ความรู้ถูกความเข้าใจถูกก็จะมากขึ้นๆ สุดท้ายมันจะเข้าสู่ความเป็นกลาง จิตจะไม่กระเพื่อมหวั่นไหว ไม่แกว่งขึ้นแกว่งลง เดี๋ยวชอบใจ เดี๋ยวไม่ชอบใจ พอจิตมันเป็นกลางจิตก็จะหมดความดิ้นรน ตรงที่จิตมันเข้าสู่ความเป็นกลางด้วยปัญญานี้ เป็นประตูของอริยมรรค ถ้าที่เราสะสมของเรามา ศีล สมาธิ ปัญญามันแก่กล้าพอแล้ว อริยมรรคจะเกิดขึ้นเอง

กฎของการดูจิต 3 ข้อ

ข้อที่หนึ่ง อย่าอยากรู้แล้วเที่ยวแสวงหาว่าตอนนี้จิตเป็นอย่างไร ให้ความรู้สึกเกิดขึ้นก่อนแล้วค่อยรู้ว่ามันรู้สึกอะไร กฎข้อที่สอง ระหว่างรู้ อย่าถลำลงไปรู้ จิตต้องเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จิตผู้รู้ก็ต้องอาศัยการฝึกอย่างที่ว่า ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วรู้ทันจิตที่มันหลงไปไหลไป กฎข้อที่สามของการดูจิตก็คือ อย่าเข้าไปแทรกแซงสภาวะ ความสุขเกิด ไม่ต้องไปหลงยินดีมัน ถ้าหลงยินดีให้รู้ทัน ความทุกข์เกิด ไม่ต้องไปยินร้าย ถ้ายินร้ายเกิด ให้รู้ทัน เพราะฉะนั้นหลวงพ่อถึงสรุปการปฏิบัติเอาไว้ในประโยคสั้นๆ ให้เรามีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง

Page 3 of 5
1 2 3 4 5