วิปัสสนาไม่ดัดแปลงจิต

เราค่อยๆ ฝึก ฝึกตัวเอง ในขั้นวิปัสสนาไม่ต้องแก้ไขอะไร รู้ทุกอย่าง อย่างที่มันมี อย่างที่มันเป็น ยกเว้นตอนเริ่มต้น ถ้ามันไม่ยอมเดินปัญญา ต้องช่วยมันแก้ แก้ไขที่จิตติดนิ่ง ติดเฉย ก็พิจารณา พิจารณากาย พิจารณาจิตอะไรไป สมถะต้องทำ ต้องแก้ไข ส่วนมากอารมณ์กรรมฐานที่ใช้ทำสมถะ ก็จะเป็นอารมณ์ตรงข้าม เป็นปฏิปักษ์กับกิเลสหลักของเรา อย่างเราพวกโทสะเยอะ เจริญเมตตาไป ให้ใจร่มๆ ใจเย็นๆ ใจก็สงบ มีราคะพิจารณาปฏิกูลอสุภะไป ก็เห็นราคะไม่มี วัตถุกามไม่มีสาระแก่นสาร ราคะก็สงบ ใจก็ร่มเย็น

หน้าที่ของเราคือแหกคุกให้ได้

จิตเหมือนคนติดคุก มันถูกขังอยู่ในคุก แล้วมันก็เป็นคุกที่ป่าเถื่อน ตัณหาเป็นผู้คุมเราอีกที แล้วสั่งงานเราอยู่ในคุกตลอดเวลา คุกที่ขังจิตมันเคลือบครอบคลุมจิตอยู่ ตัวนี้คือตัวอาสวกิเลส มันครอบคลุมจิตใจเราไว้ ห่อหุ้มจิตใจเราไว้ แทรกซึมเข้าไปในจิตใจ แล้วก็ผลักดันให้เกิดตัณหาบงการบังคับจิตใจทั้งวันทั้งคืน พอภาวนามาเห็นตรงนี้ หลวงพ่อยอมไม่ได้แล้ว แต่เดิมคิดว่าเราอิสระ แต่ตอนนี้รู้ความจริงแล้วว่าจิตใจเราไม่ได้อิสระ จิตใจเราเกิดมาก็เป็นทาสแล้ว ยอมไม่ได้ ต้องแหกคุกนี้ให้ได้ ถ้ายังทำลายคุกอันนี้ไม่ได้ จะไม่เลิกปฏิบัติหรอก คล้ายๆ หน้าที่ของเราคือแหกคุก แหกคุกก็คืออาสวกิเลสมันห่อหุ้มจิตใจเราไว้ แล้วตัณหามันก็บงการจิตใจเรา

เฝ้ารู้เฝ้าดูลงไป เรียนรู้ลงไป ในที่สุดก็ทำลายนายทาสตัวนี้ลงไป แต่มันทำลายเป็นระดับๆ ไป อยู่ๆ ไปทำลายตัณหา ทำไม่ได้ จะทำลายตัณหาได้ต้องทำลายอวิชชาได้ ความไม่รู้ ของเราตอนนี้ยังไม่ถึงจุดนั้น ของเราภาวนาไป เห็นไปร่างกายไม่ใช่ตัวเราที่แท้จริง จิตใจไม่ใช่ตัวเราที่แท้จริง เพราะจิตใจเป็นของที่เราสั่งอะไรก็ไม่ได้ ดูอย่างนี้ก่อน แล้วขั้นปลายค่อยไปดูว่าร่างกายคือตัวทุกข์ จิตใจคือตัวทุกข์

จริตเพื่อการทำวิปัสสนา

เวลาจะทำวิปัสสนามี 2 จริต เพราะฉะนั้นอย่างบางคนถาม บอกว่าหนูเป็นโทสจริต หนูจะทำวิปัสสนาอย่างไร อันนั้นถามผิดเรื่อง ถ้าโทสจริต อันนั้นเป็นเรื่องของการแก้ ทำให้จิตสงบ ไม่ตกอยู่ในอำนาจโทสะ เป็นเรื่องของสมถะ จริตเพื่อการทำวิปัสสนานั้นมี 2 จริต คือตัณหาจริตกับทิฏฐิจริต ตัณหาจริตคือพวกรักสุขรักสบาย รักสวยรักงาม ทิฏฐิจริตคือพวกช่างคิด ชอบวิเคราะห์ วิจัย วิจารณ์ มีอะไรหน่อยหนึ่งก็คิดแล้วคิดอีกอยู่นั่น

ค่อยๆ ดู กรรมฐานมันมีเยอะแยะไปหมด ดู เลือกเอาที่เหมาะกับตัวเรา มี 2 กลุ่มใหญ่ๆ ในการทำวิปัสสนา ถ้าเป็นพวกตัณหาจริต พวกรักสุขรักสบาย รักสวยรักงาม ดูกายหรือเวทนาทางกายไป ถ้าเป็นพวกเจ้าความคิดเจ้าความเห็นอะไรนี่ ก็ดูจิตตานุปัสสนา ดูจิตกับเจริญธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน 2 อันนี้เหมาะกับพวกทิฏฐิจริต

ไม่เห็นจิตที่ไหลไปแช่ในความว่าง จึงติดอารมณ์ละเอียด มาเดินจงกรมและเคลื่อนไหวกายมากๆ เดินรู้สึกตัว ตอนนี้กำลังความรู้สึกตัวน้อย สมาธิน้อย ฟุ้งซ่านมาก โทสะมาก ขอวิธีภาวนาเพื่อเพิ่มความรู้สึกตัวครับ

คำถาม: นั่งสมาธิใช้อานาปานสติ สมาธิลงลึก ไม่เห็นจิตที่ไ …

Read more

เคล็ดวิชาการฝึกดูจิตดูใจตนเอง

ถ้าเราภาวนาดูจิตดูใจก็ดูได้ 2 ระดับ ถ้าอย่างง่ายเราก็ดูจิตที่มันเกิดดับ ด้วยการเห็นเกิดดับร่วมกับเจตสิก จิตสุขเกิดพร้อมกับความสุข ดับพร้อมกับความสุข จิตทุกข์เกิดพร้อมกับความทุกข์ ดับพร้อมกับความทุกข์จิตกับเจตสิกนั้นเกิดดับด้วยกัน พร้อมๆ กัน ถ้าเราหัดดูจิตโดยการเห็นเกิดดับทางอายตนะ เราดูที่ตัวจิตไปเลย เดี๋ยวก็เป็นจิตรู้ เดี๋ยวก็เป็นจิตคิด เดี๋ยวก็เป็นจิตเพ่ง เดี๋ยวก็จิตหลง เราเห็นอย่างนี้ก็ได้ แต่อันนี้ละเอียดมันจะดูยาก เพราะฉะนั้นหลวงพ่อแนะนำ ถ้าหัดใหม่ ไปดูจิตสุข จิตทุกข์ จิตดี จิตชั่ว อันนั้นดูง่าย แต่ถ้าจะดูละเอียดขึ้นมา จนเห็นจิตเกิดดับทางอายตนะ ดูยากกว่า เพราะมันเร็วมาก

การจะเห็นจิตเกิดดับทางอายตนะอะไรนั้น มันอยู่ในธัมมานุปัสสนาแล้ว สูงขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง สติ สมาธิ ปัญญาของเรา ต้องแข็งแรงพอ เราถึงจะเห็น ถ้าไม่แข็งแรงพอ ดูแวบเดียวหลงไปนานเลย

หลวงปู่ดูลย์สอนหลวงพ่อให้ดูจิต

สิ่งที่หลวงปู่ดูลย์สอน เป็นทางที่ลัดสั้นที่สุดแล้ว ถ้าเราสามารถตัดตรงเข้ามาที่จิตเรา การปฏิบัติจะเหลือนิดเดียวเลย แต่ถ้าเรายังเข้ามาที่จิตไม่ได้ เราก็อ้อมๆ ไปก่อน ไปดูกาย ดูเวทนา ดูสังขารอะไรไป แต่ถ้าตัดตรงเข้ามาเห็นจิตได้ เห็นจิตสุขเกิดแล้วดับ จิตทุกข์เกิดแล้วดับ จิตดีเกิดแล้วดับ จิตโลภ โกรธ หลงเกิดแล้วดับ อย่างนี้ดูจิตไปเลย วันไหนดูไม่ไหว จิตไม่มีกำลัง ไปดูกาย หายใจเข้าพุท หายใจออกโธอะไรก็ทำไป จิตมันมีกำลังขึ้นมา มันก็จะเข้ามาดูจิตได้เอง นี่เส้นทางที่ครูบาอาจารย์ท่านสอนหลวงพ่อมา แล้วหลวงพ่อก็เอามาทำ ใช้เวลาไม่มาก

ภาวนาพุทโธเห็นจิตผู้รู้ มองจิตที่กำลังจะคิด เห็นจิตอีกดวงมองจิตผู้รู้ เห็นการเกิดดับของจิต เกิดความรู้ว่าความเข้าใจมาจากปฏิบัติ ไม่ใช่จากการฟังหรือการคิด

คำถาม: ภาวนาพุทโธเห็นจิตผู้รู้ มองจิตที่กำลังจะคิด เห็น …

Read more

ทำสมาธิด้วยความมีสติ

วิปัสสนาคือการเห็น ปัสสนะ แปลว่าการเห็น ตรงตัวเลย วิ แปลว่าแจ้ง คือเห็นถูกต้องตามความเป็นจริง เราเห็นกายถูกต้องตามความเป็นจริง คือเห็นกายเป็นไตรลักษณ์ เห็นจิตถูกต้องตามความเป็นจริง ก็คือเห็นจิตเป็นไตรลักษณ์ เราจะเห็นตามความเป็นจริงได้ จิตต้องไม่หลงไปอยู่ในโลกของความคิด มิฉะนั้นผิดทันที จิตต้องตื่น ตื่นขึ้นมาให้ได้

เพราะฉะนั้นเรื่องภาวะที่จิตเราตื่นขึ้นมา มีสมาธิที่ถูกต้องขึ้นมา เป็นเรื่องใหญ่ ตรงนี้เป็นสิ่งที่พวกเราขาดมากที่สุดเลย ฆราวาสทั้งหลายขาดสัมมาสมาธิ ขาดสมาธิที่ถูกต้อง มีสมาธิเคลิ้มๆ สมาธิเห็นโน่นเห็นนี่ อันนั้นไม่ได้เรื่องอะไร ไปทำสมาธิแล้วก็มีสติคอยรู้ทันจิตเอาไว้ แล้วเราจะได้สมาธิที่ถูกต้อง สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาๆ ทั้ง 8 ประกอบด้วยสติทั้งสิ้น ขาดสติตัวเดียว สัมมาทั้งหลายหายหมด กลายเป็นมิจฉาหมดเลย ฉะนั้นสติจำเป็น จำเป็นในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ

GPS เส้นทางการปฏิบัติ

หลวงพ่อจะต่างกับครูบาอาจารย์ทั่วไป ส่วนใหญ่ท่านจะสอนให้เดินทีละก้าว เอ้า ไปพุทโธ พอสัก 3 ปีก็ค่อยมาว่ากันต่อ ซึ่งคนรุ่นนี้มันทำไม่ได้ ที่หลวงพ่อสอนมันเลยเป็นภาพทั้งกระดานเลย เหมือนเราดู GPS เราไม่ได้ดูเฉพาะหน้านี้ใช่ไหม เริ่มต้นเราก็ดูภาพรวมก่อน จากกรุงเทพฯ จะไปเชียงใหม่ มันจะไปทางทิศทางไหน มันจะเห็นภาพรวมก่อน แล้วค่อยลงรายละเอียด ฉะนั้นเวลาที่หลวงพ่อสอน หลวงพ่อจะสอนในระบบ GPS เห็นภาพกว้างๆ ก่อน แล้วก็มาลงรายละเอียดเป็นช็อตๆ ไป

ถนัดอะไรก็เอาอันนั้นก่อน

การปฏิบัติ ไม่ต้องมานั่งเถียงกันหรอก สายไหนดีกว่าสายไหน ถ้าถูกหลักแล้วก็ดีหมด ถ้าผิดหลักก็ไม่ดีหรอก ไม่ว่าเริ่มต้น เราจะดูกาย หรือดูเวทนา หรือดูจิต สุดท้ายมันก็ลงมาที่จิตทั้งหมด ลงที่เดียวกันหมด ไม่ต้องเถียงกัน เพียงแต่บางคนลัดเข้ามาที่จิตเลย บางคนอ้อมไปทางกายก่อน ไปทางเวทนาก่อน ฉะนั้นเราจะเริ่มอย่างไรก็ได้ สุดท้ายก็ไปที่เดียวกัน ถ้าเราถนัดมาทางกาย เราก็เห็นกายเคลื่อนไหว จิตเป็นคนรู้ ถ้าเราเดินมาทางเวทนา เราก็เห็นเวทนาเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไป จิตเป็นคนรู้ ถ้าเราเดินมาทางจิตตานุปัสสนา เราก็เห็นกุศล อกุศลทั้งหลายเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไป จิตเป็นคนรู้ แล้วสุดท้ายมันก็เข้าไปที่ธัมมานุปัสสนา ทั้งรูปธรรม ทั้งนามธรรม ทั้งกุศล ทั้งอกุศล ล้วนแต่ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ทั้งนั้น

Page 2 of 5
1 2 3 4 5