วิมุตติเกิดเมื่อเห็นไตรลักษณ์มากพอ

พอมันยอมรับว่าทุกอย่างเสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ จิตจะยุติการดิ้นรนทันทีเลย เรียกยุติสังขารหรือยุติการสร้างภพ สังขารในใจเราคือภพ เรียกว่าภพ เรียกว่ากรรมภพ พอไม่มีความดิ้นรนอันนี้ จิตก็หมดภาระ จิตก็เป็นอิสระต่อสังขาร จิตที่เป็นอิสระต่อสังขาร เรียกว่าวิสังขาร จิตที่ไม่หลงตามกิเลสตัณหาทั้งหลาย เรียกว่าวิราคะ ตัวตัณหา ตัวราคะ

วิราคะก็ชื่อของนิพพาน วิสังขารก็ชื่อของนิพพาน วิมุตติ จิตหมดความยึดถือในรูปนาม ก็เป็นความหมายของนิพพานนั่นเอง ฉะนั้นเมื่อไรจิตเราสิ้นตัณหาเมื่อนั้นเราก็สัมผัสพระนิพพาน เมื่อไรจิตเราพ้นจากความปรุงแต่ง จิตเราก็สัมผัสพระนิพพาน เมื่อไรจิตปล่อยวางรูปนามขันธ์ 5 ได้หมด ปล่อยวางจิตได้ จิตก็สัมผัสพระนิพพาน ฉะนั้นค่อยๆ ภาวนา เบื้องต้นก็เป็นกลางด้วยสติ ได้สมาธิเกิดขึ้น เบื้องปลายเป็นกลางด้วยปัญญา ก็จะได้วิมุตติ ได้ความหลุดพ้น

ฝึกจนเป็นอัตโนมัติ

โลภเจตนา อย่างเราถือศีล มีความโลภซ่อนอยู่ อยากได้เป็นคนดี อยากเป็นเทวดา ทำสมาธิก็มีความโลภซ่อนอยู่ อยากมีฤทธิ์มีเดช อยากไปเป็นพระพรหม เจริญปัญญาก็อยากรอบรู้ อยากแตกฉาน อย่างนี้กิเลสแทรกอยู่ ถ้ากิเลสแทรกอยู่ จิตใจก็ยังจะดิ้นรน สร้างภพสร้างชาติต่อไป แต่ถ้าเราภาวนาจนกระทั่งศีลอัตโนมัติ สมาธิอัตโนมัติ ปัญญาอัตโนมัติ คือเห็นไตรลักษณ์โดยไม่ได้เจตนาจะเห็น ตรงนี้เราไม่มีเจตนา ไม่มีความโลภ เมื่อขาดเจตนาที่เจือด้วยโลภะตัวนี้ จิตก็จะไม่ดิ้นรน ไม่ปรุงแต่งต่อ จิตจะเข้าถึงความเป็นกลาง จิตจะสักว่ารู้ สักว่าเห็น

GPS เส้นทางการปฏิบัติ

หลวงพ่อจะต่างกับครูบาอาจารย์ทั่วไป ส่วนใหญ่ท่านจะสอนให้เดินทีละก้าว เอ้า ไปพุทโธ พอสัก 3 ปีก็ค่อยมาว่ากันต่อ ซึ่งคนรุ่นนี้มันทำไม่ได้ ที่หลวงพ่อสอนมันเลยเป็นภาพทั้งกระดานเลย เหมือนเราดู GPS เราไม่ได้ดูเฉพาะหน้านี้ใช่ไหม เริ่มต้นเราก็ดูภาพรวมก่อน จากกรุงเทพฯ จะไปเชียงใหม่ มันจะไปทางทิศทางไหน มันจะเห็นภาพรวมก่อน แล้วค่อยลงรายละเอียด ฉะนั้นเวลาที่หลวงพ่อสอน หลวงพ่อจะสอนในระบบ GPS เห็นภาพกว้างๆ ก่อน แล้วก็มาลงรายละเอียดเป็นช็อตๆ ไป

ฝึกจิตให้มีกำลังตั้งมั่น

เป็นนักปฏิบัติ จิตใจต้องตั้งมั่น จิตต้องตั้งมั่น ต้องมีเรี่ยวมีแรง อยู่ที่การฝึกของเรา เราทำกรรมฐานสม่ำเสมอ จิตมันจะมีกำลัง ทำบ้างหยุดบ้าง ไม่ได้เรื่อง จิตใจป้อแป้ๆ ฉะนั้นทุกวันเราต้องทำในรูปแบบ หมดเวลาที่ทำในรูปแบบแล้วก็เจริญสติในชีวิตประจำวันให้ได้ ทำในรูปแบบเก่ง แต่ว่าเจริญสติในชีวิตประจำวันไม่ได้ พลังของจิตมันไม่เต็มหรอก กลางวันมันรั่วหมด ฉะนั้นเราต้องพยายามรู้สึกตัวไว้ รู้สึกตัว ถึงเวลาทำในรูปแบบก็ทำด้วยความรู้สึกตัว หมดเวลาทำในรูปแบบแล้ว อยู่ในชีวิตธรรมดา ก็มีความรู้สึกตัว

ส่วนใหญ่ของฆราวาส กระทั่งพระก็เหมือนกัน ถึงเวลาก็ไปไหว้พระ สวดมนต์ นั่งสมาธิ เดินจงกรม หมดเวลาแล้ว ก็ปล่อยจิตใจล่องลอยไป ฟุ้งซ่าน คิดโน่นคิดนี่ มันเลยรู้สึกทำไมไม่เจริญเสียที ถ้าเราทำตัวเหมือนโอ่งน้ำรั่ว เหมือนโอ่งร้าวโอ่งแตก เติมน้ำลงไปเดี๋ยวก็รั่วไปหมดอีก คืออย่าให้มันมีรูรั่ว ขาดสติเมื่อไรก็รั่วเมื่อนั้น

รู้จักคำว่าหยุดเสียบ้าง

มาถึงวันนี้พวกเราจะได้ยินคำว่าไม่มีเวลาบ่อย เวลาเราก็เท่าๆ กับคนโบราณ แต่ทำไมเรารู้สึกมันไม่พอทั้งๆ ที่เราพยายามทำทุกอย่างให้เร็วขึ้นๆ เวลากลับรู้สึกว่าสั้นลงเรื่อยๆ ไม่พอ มันไม่พอใจที่มันดิ้นรน ใจที่มันหิว ใจที่มันอยาก การที่ต้องเคลื่อนที่เร็วตลอดเวลา เหนื่อย บางทีเหนื่อยจนกระทั่งไม่มีเวลาหยุดคิดทบทวนว่าเราวิ่งไปเพื่ออะไร วิ่งตามๆ กันไปเท่านั้นเอง ถ้าเรารู้จักคำว่าหยุดเสียบ้าง ชีวิตเราจะมีคุณค่ามากขึ้น เราจะรู้สึกชีวิตมีเวลามากขึ้น ยิ่งทำอะไรเร็วขึ้นเรื่อยๆ เวลายิ่งน้อยลง แต่ว่าเรารู้จักหยุด เราก็จะมีเวลาอยู่กับตัวเองได้เยอะขึ้น เวลาเราต้องทำมาหากินอยู่กับโลก ต้องแข่งขัน ต้องอะไรมากมาย ก็รู้จักเบรกตัวเองเป็นช่วงๆ แบ่งเวลาแต่ละวัน หรือแต่ละช่วงเวลา หัดแบ่งเวลาไว้เป็นเวลาของการหยุดอยู่กับตัวเอง ไม่ใช่วิ่งตามโลกไปเรื่อยๆ

การปฏิบัติ 3 อย่างที่ต้องทำทุกวัน

อันแรกก็ถือศีล 5 อันที่สองทำในรูปแบบให้จิตใจได้พักผ่อน ฝึกตัวเองไป อันที่สามคือการเจริญสติในชีวิตประจำวัน พอใจมีกำลังแล้ว ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์มีสติไว้ เกิดความเปลี่ยนแปลงในจิต รู้ เกิดความเปลี่ยนแปลงในกาย รู้ รู้ไปเรื่อยๆ เห็นกายไป เห็นจิตไปว่ามันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ แล้วจะเห็นไตรลักษณ์ของกาย เห็นไตรลักษณ์ของจิต

แนวรุกแนวรับในการภาวนา

การภาวนา ไม่ทำสมถะก็ทำวิปัสสนา มีศิลปะประจำตัว รู้จักผ่อนหนักผ่อนเบา จิตเราเหนื่อยเกินไปก็ไม่ตะบี้ตะบัน ไปนั่งจะให้สงบ มันไม่สงบ หาอะไรที่ผ่อนคลายให้มันเสียหน่อยหนึ่ง ทำงานมาทั้งวัน เหนื่อยทั้งกาย เหนื่อยทั้งใจ จะมาทำกรรมฐานต่อก็เหนื่อยกาย เหนื่อยใจหนักเข้าไปอีก เวลานี้ควรทำให้จิตใจผ่อนคลายก็ทำ เวลานี้ควรทำสมถะก็ทำ เวลานี้ควรเจริญปัญญาก็เจริญปัญญา รู้จักแนวรุกแนวรับของเรา