เห็นจิตตัวผู้รู้ดูกายอยู่ รู้สึกตัวบ่อยมาก แต่ไม่ค่อยเห็นอารมณ์ที่มากระทบเหมือนกับรู้สึกทรงตัวอยู่เฉยๆ
คำถาม: ตอนบวช หลวงพ่อเคยบอกว่าให้ดูกายเป็นฐานไปเรื่อยๆ …
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ธรรมะเพื่อความพ้นทุกข์
คำถาม: ตอนบวช หลวงพ่อเคยบอกว่าให้ดูกายเป็นฐานไปเรื่อยๆ …
สังเกตตัวเอง ที่ทำอยู่ตรงนี้หลงอยู่หรือว่าปฏิบัติอยู่ ขั้นหยาบๆ เลย แล้วที่ปฏิบัติอยู่สมถะหรือวิปัสสนา สังเกตไป ตอนทำสมถะอยู่อันนี้นิมิตเกิดขึ้น เรายินดีในนิมิต หรือเราวางนิมิตย้อนเข้ามารู้ทันจิตตนเองได้ ถ้ายินดีในนิมิต นิมิตจริง นิมิตปลอมก็โง่เหมือนกัน หลงออกไปแล้ว ลืมจิตใจตัวเอง สังเกตตัวเองไปเรื่อยๆ หลวงพ่อสู้มาทุกวันนี้ ตั้งแต่เป็นโยม ใช้ความสังเกต ใช้โยนิโสมนสิการมาก ในชีวิตหลวงพ่อเรียนกับครูบาอาจารย์ หลวงพ่อเคยถามกรรมฐานจากครูบาอาจารย์ทั้งหมด 7 ครั้ง จากครูบาอาจารย์ 6 องค์ ที่ถามมีแค่นั้นเองนอกนั้นสังเกตเอา อย่างภาวนาไปช่วงนี้ เกิดสภาวะอย่างนี้มันใช่มันไม่ใช่ หลวงพ่อสังเกตไปเรื่อย ไม่ยินดี ไม่ยินร้ายกับมัน ค่อยรู้ค่อยดูไป เกิดความเข้าใจขึ้นมาแล้ว มีโอกาสเจอครูบาอาจารย์ ส่วนใหญ่จะเป็นแบบนั้น จะเข้าใจก่อนที่จะเจอครูบาอาจารย์ แล้วก็ไปเล่าให้ท่านฟัง บอก “ผมดูแล้วมันเป็นอย่างนี้ๆ มันคืออย่างนี้” ท่านบอก “ใช่แล้ว ถูกแล้ว” ท่านจะชมว่าฉลาด ฉลาด ช่วยตัวเองมาได้ ถ้าเอะอะวิ่งถามครูบาอาจารย์ตลอด ไม่ฉลาดหรอก
ถ้าตั้งใจรักษาพระวินัย ธรรมวินัยก็จะรักษาเรา ถ้าไม่รักษาตัวเองก็เอาตัวไม่รอด แล้วจะไปรักษาพระศาสนาได้อย่างไร ตัวเองยังรักษาไม่ได้เลย เรื่องของเรื่องทั้งหมดนั้นก็คือเรื่องของกิเลสนั่นล่ะ ถ้ายังไม่เห็นโทษไม่เห็นภัยของกิเลส ยังลดละกิเลสไม่ได้ มันก็พร้อมจะพลาด ถึงเราเป็นฆราวาสก็เหมือนกัน ต้องรักษาศีล 5 ไว้ ถ้าศีล 5 เรายังรักษาไม่ได้ เราก็เริ่มเบียดเบียนคนอื่น เบียดเบียนตัวเราเองเพราะไม่มีศีล รักษาศีล 5 ไว้ก็ช่วยตัวเองได้เยอะเลย ฉะนั้นศีลเป็นเครื่องป้องกันตัวทั้งพระทั้งโยม ต้องรักษาศีลเอาไว้ ถ้าศีลเราไม่ดีสมาธิเราก็เสื่อม สมาธิเสื่อมปัญญาก็ไม่เกิด
ภาวนา ค่อยๆ เข้าใจไป ทำให้ถูก ไม่ใช่ทำแบบลุกลี้ลุกลน ภาวนาลุกลี้ลุกลนอยากจะได้ผลเร็วๆ มันจะไม่ได้อะไร ความอยากมันทำให้จิตปรุงแต่ง จิตก็ดิ้นรน ความปรุงแต่งของจิตคือภพ มรรค ผล นิพพานมันพ้นจากภพไป เราก็เอาแต่ปรุงแต่ง อยากดีๆ อยากดีจิตก็เลยสร้างภพของคนดี เป็นคนดี เป็นนักปฏิบัติที่ดีอะไรอย่างนี้ มันจอมปลอมทั้งหมดล่ะ ให้รู้ทันเลย ฉะนั้นเวลาเราภาวนา อย่ารีบร้อน อย่ากระโดด อย่าข้ามขั้น ค่อยๆ ภาวนา ค่อยๆ เรียน ค่อยๆ รู้
ถ้าเราภาวนาถูกต้อง อกุศลที่มีอยู่มันจะดับ อกุศลใหม่มันจะไม่เกิด หรือว่าเกิดได้เบาบางลง กุศลที่ยังไม่มีก็เกิดมีขึ้น กุศลที่มีแล้วก็เจริญขึ้น พัฒนาเข้มแข็งมากขึ้น ถ้าวัดด้วยวิธีนี้แล้ว มันจะชี้ได้เลยว่าที่ปฏิบัติอยู่ถูกหรือผิด วัดได้ด้วยตัวเอง สังเกตใจตัวเอง อย่าเข้าข้างตัวเอง เวลาเราจะวัดกิเลสตัวเอง ต้องวัดในสภาวะที่จิตอยู่ในสภาวะปกติ อย่าไปทรงสมาธิอยู่ ไปทรงสมาธิอยู่ แล้วจะให้วัด ไม่มีอะไรให้วัดเลย ต้องเป็นจิตที่ปกติ
เรามีอิสระที่จะทำกรรม เราพอใจที่จะหาความสุขในโลกิยธรรม ความสุขอย่างโลกๆ ก็หาไปเถอะ หลวงพ่อไม่ว่าอะไรหรอก หลวงพ่อแค่บอกว่า มันมีความสุขที่เหนือกว่านี้อีก 2 อย่าง คือความสุขของสมาธิ กับความสุขของการเจริญปัญญาจนเกิดมรรคเกิดผลนิพพานขึ้นมา เป็นความสุขที่ยิ่งใหญ่ เป็นลำดับไป
จิตไม่อยู่กับปัจจุบัน จิตมัวแต่ระลึกชาติ คิดถึงเรื่องเก่าๆ ที่เคยผ่านมาแล้ว หรือจิตคำนึงไปถึงอนาคต กังวลในอนาคตจะทำอย่างไรๆ กลัวความทุกข์ในอนาคต หรืออยากมีความสุขในอนาคต จนลืมกลัวความทุกข์ในปัจจุบัน ลืมที่จะรู้จักความสุขในปัจจุบัน ห่วงอนาคตจนทิ้งปัจจุบัน อนาคตมันเหมือนความฝัน ปัจจุบันมันเป็นความจริง มัวแต่ห่วงความฝันแล้วทิ้งความจริง ไม่จัดว่าฉลาด