ทุกขาปฏิปทา

ภาวนาอย่ากลัวทุกข์ อย่ากลัวลำบาก อดทนเอา แต่ว่าดูตัวเอง ถ้ากิเลสของเราเป็นพวกกิเลสเบาบาง ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติโหดๆ ถ้าพวกกิเลสหนา ราคะแรง โทสะแรง หรือโมหะแรง พวกนี้ต้องทุกขาปฏิปทา อดนอน ผ่อนอาหาร นั่งสมาธิ เดินจงกรม ให้ห้าวหาญ สู้ตาย ถ้ารอดมาก็จะได้ดี แต่บอกให้อย่างหนึ่ง ไม่เคยมีใครนั่งสมาธิแล้วตายหรอก ไม่เคยมีใครปฏิบัติแล้วตายหรอก เพราะฉะนั้นอ่อนแอไม่ได้ ดูตัวเองเลย ถ้าเป็นคนที่กิเลสรุนแรง อดทนไว้ ขยันนั่งสมาธิ ขยันเดินจงกรม

จิตประภัสสร

จิตประภัสสรผ่องใสได้ เพราะไม่มีราคะ โทสะ โมหะ จรเข้ามา แต่เราปฏิบัติธรรมทีไร ราคะ โทสะ โมหะ มาเยอะแยะเลย แล้วยังคิดว่าดีอยู่อีก อันนั้นเข้าใจผิดแล้ว ทำอย่างไรก็ไม่ได้ดี ไม่สงบหรอก เพราะฉะนั้นเราทำกรรมฐาน แล้วก็สังเกตจิตใจของเราไปสบายๆ จิตหลงไปคิด รู้ จิตถลำไปเพ่ง รู้ ไม่ได้ทำกรรมฐานด้วยราคะ ด้วยโทสะ ด้วยโมหะ เมื่อไรไม่มีราคะ โทสะ โมหะ เมื่อนั้นจิตก็ประภัสสร สว่าง ผ่องใส สบาย มีความสุข จิตที่ประภัสสรมันจะมีเวทนา คือความรู้สึกได้ 2 อย่าง คือมีความสุขเรียกว่าโสมนัสเวทนา กับอุเบกขาเวทนา ไม่สุข ไม่ทุกข์ เฉยๆ ตัวจิตที่ประภัสสรนี้ เรียกภาษาที่ครูบาอาจารย์แต่ก่อนท่านเรียก คือจิตผู้รู้ อย่างหลวงตามหาบัวท่านบอก ตัวจิตผู้รู้นั่นล่ะคือจิตประภัสสร แต่เมื่อกี้หลวงพ่อบอกแล้ว จิตที่ประภัสสรผ่องใสเฉยๆ แต่ไม่บริสุทธิ์ คนละเรื่องกัน

สมถกรรมฐานไม่เลือกอารมณ์

การปฏิบัติธรรมถ้าเราทำสมถะ สมถะไม่เลือกอารมณ์ อารมณ์อะไรก็ได้ สิ่งที่เรียกว่าอารมณ์ หมายถึงสิ่งที่ถูกรู้ อารมณ์เป็นของที่คู่กับจิต เมื่อไรมีจิตเมื่อนั้นมีอารมณ์ เมื่อไรมีอารมณ์เมื่อนั้นก็ต้องมีจิต ของคู่กัน

เรื่องของสมถะไม่ใช่มีแค่เรื่องเข้าฌาน ไม่ได้แคบแค่นั้นหรอก สมถกรรมฐานในตำราเขาบอกไว้ว่าใช้อารมณ์อะไรก็ได้ อารมณ์บัญญัติ คือเรื่องราวที่คิดก็ได้ อย่างคิดเรื่องปฏิกูลเรื่องอสุภะ คิดพิจารณาร่างกาย คิดอะไรนี้ เป็นเรื่องคิดทั้งนั้น หรือคิดพิจารณาชีวิต พิจารณาซากศพ เป็นเรื่องคิดเอา ไม่มีสภาวธรรมรองรับ เรียกว่าอารมณ์บัญญัติ ก็ใช้ทำสมถะได้ อารมณ์รูปธรรมก็ใช้ทำสมถะได้ อย่างหายใจออกรู้สึก หายใจเข้ารู้สึก ลมหายใจเป็นรูป เดินจงกรม เห็นร่างกายมันเดินแล้วคอยรู้สึกไว้ จิตไม่วอกแวกไปที่อื่น นี่ก็เป็นสมถะ เห็นท้องพองเห็นท้องยุบจิตไม่หนีไปที่อื่น อันนี้ก็เป็นสมถะ ใช้รูปก็ได้ ใช้นามก็ได้ ทำสมถะ

สิ่งที่เราต้องทำ

สิ่งที่พวกเราต้องทำก็มี 3 อย่าง อันหนึ่งถือศีล 5 ไว้ ตั้งอกตั้งใจรักษาศีล 5 ไว้ให้ดี ให้เด็กเขาเห็น ถือศีล 5 แล้วมันดี ไม่ใช่ถือศีล 5 แล้วลำบาก งานที่ 2 ก็คือแบ่งเวลาไว้ทำในรูปแบบ ไหว้พระ สวดมนต์ นั่งสมาธิ เดินจงกรม ทำให้เขาดู ทำให้เขาเห็น อย่าไปบังคับว่าเขาต้องทำตาม ทำให้เขาเห็นไป ที่เหลืองานที่ 3 คือการเจริญสติในชีวิตประจำวัน ตัวนี้เป็นงานยาก ก็ต้องมีสติกำกับใจของเราอยู่สม่ำเสมอ เวลาตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์ กระทบรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางร่างกาย แล้วก็กระทบอารมณ์ทางใจ จิตมันจะเกิดปฏิกิริยาขึ้นมา เกิดความสุข เกิดความทุกข์ เกิดความไม่สุขไม่ทุกข์ขึ้นมา มันจะเกิดปฏิกิริยาที่เป็นบุญบ้าง เป็นบาปบ้าง โลภ โกรธ หลง เกิดขึ้น นี่เป็นปฏิกิริยาของจิต ไม่ใช่ตัวจิตหรอก

พวกเราก็คอยมีสติไว้ เรื่องการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน มีตาก็ดู มีหูก็ฟัง มีจมูกก็ดมกลิ่น มีลิ้นก็รู้รส มีกายก็กระทบสัมผัสเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหวอะไรมากระทบ มีใจมันก็กระทบความคิดนึกปรุงแต่งทั้งหลาย พอกระทบแล้วจิตมันสะเทือนขึ้นมา มันปรุงสุข ปรุงทุกข์ ปรุงดี ปรุงชั่วขึ้นมา ให้เรามีสติรู้อยู่ที่จิต

ปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรม

เรามีงานที่ยิ่งใหญ่ที่เราจะต้องทำ เราผ่านความยากลำบากมามากมายแล้ว จนกระทั่งได้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มีศรัทธา ได้เข้าใกล้ครูบาอาจารย์ ได้ฟังธรรม ทำชิ้นสุดท้ายของเราให้ดี ปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรม อย่างที่ว่ามาทั้งวันตั้งแต่เช้านี้ ฟังไม่ทันก็ไปดู YouTube เอา สักประเดี๋ยวเขาก็จะเอาไปขึ้นให้ฟังแล้ว ฟังแล้วฟังอีก ปกติสิ่งที่หลวงพ่อสอนแต่ละครั้ง เกือบทั้งหมด ธรรมะแต่ละกัณฑ์เกือบๆ ทุกๆ กัณฑ์ เกือบ ไม่ทั้งหมดหรอก กัณฑ์เดียวเรื่องเดียว พอจะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ เพราะสิ่งที่สอนไม่ได้มีการเก็บออม ซ่อนเร้น เคล็ดวิชาชั้นสูงเอาไว้ ไม่ได้ซ่อนไว้ ให้หมดแล้ว อยู่ที่เรารับได้แค่ไหนต่างหาก ไปทำเอา ชีวิตจะได้ร่มเย็นเป็นสุข

ธรรมะมีหลายระดับ

ธรรมะมีหลายระดับ ระดับต้นๆ ทำให้เราอยู่กับโลกอย่างมีความสุข ระดับสูงขึ้นไปเป็นเรื่องธรรมะเพื่อการพ้นจากโลก เพราะฉะนั้นเราตั้งอกตั้งใจ มีทาน มีศีล มีภาวนา ทำไว้สำหรับฆราวาส สำหรับฆราวาสและพระที่ต้องการพ้นทุกข์ ก็มีศีล มีสมาธิ และเจริญปัญญาด้วย เจริญปัญญาคือการเห็นกายอย่างที่กายเป็น เห็นจิตอย่างที่จิตเป็น มันเป็นอย่างไร มันเป็นไตรลักษณ์ นี่เรียกว่าเจริญปัญญา ไปเลือกเอา ชีวิตเรา อยากสุข อยากสบาย ก็ทาน ศีล ภาวนา อยากพ้นทุกข์ อยากมีความสุขก็ทาน ศีล ภาวนา อยากพ้นทุกข์ก็ ศีล สมาธิ ปัญญา ตัวที่ทำให้พ้นทุกข์ คือปัญญา

โลกเหมือนงูพิษ

พอเราภาวนาเราจะเห็นโลกนี้น่าเบื่อ โลกนี้น่ารังเกียจ โลกนี้สกปรก ใจมันคลายออกจากโลก มันจะยิ่งมีความเด็ดเดี่ยว มีความมุ่งมั่นในการภาวนามากขึ้น แล้วเวลาเราต้องสัมผัสกับโลก สติ สมาธิ มันจะทำงานจี๋ขึ้นมาเลย เพราะมันเหมือนเราเดินเข้าไปในฝูงงูพิษ ถ้าเราภาวนาถึงจุดหนึ่งเราจะรู้ โลกนี้เหมือนงูพิษจริงๆ เลย รูปก็เป็นงูพิษ เสียงก็เป็นงูพิษ มันทำให้จิตเราเสียหายได้ทั้งหมด พอเราภาวนา พอจะอยู่กับโลก เหมือนอยู่ในหมู่งูพิษล้อมตัวเราไว้ทั้งหมดเลย มันจะโดนฉกกัดเมื่อไรก็ได้ จิตมันจะ Alert มีสติ มีสมาธิ คอยระมัดระวังอยู่ อินทรียสังวรเกิดขึ้น ศีลอัตโนมัติของเราเกิดขึ้น จิตเราก็ตั้งมั่นอัตโนมัติขึ้นมา มันจะสำรวม มันจะระวัง พอฝึกมันจะเห็นผล อยู่กับโลกไม่ได้ โลกร้อนเป็นฟืนเป็นไฟเลย มันไร้สาระหาแก่นสารอะไรไม่ได้ จำเป็นต้องอยู่กับมันก็อยู่กับมัน แต่อยู่กับมันเหมือนอยู่ท่ามกลางฝูงงู โลกนี้มีแต่ทุกข์ โลกนี้ไม่มีอะไรหรอก เผลอไปยึดไปถือเข้านิดเดียวก็ทุกข์แล้ว นี่ใจก็จะยิ่งน้อมๆๆ มาหาการปฏิบัติมากขึ้นๆ ช่วงแรกๆ ต้องฝืนใจ ต้องน้อมใจ ต้องชักชวนให้จิตใจปฏิบัติ แต่เมื่อเราปฏิบัติไปถึงช่วงหนึ่ง ไม่ต้องชักชวนแล้ว จิตใจมันเอือมระอาต่อโลกข้างนอก มันอยากปฏิบัติของมันเอง ตรงนี้อัตราเร่งของความก้าวหน้าในการปฏิบัติมันก็จะมากขึ้นๆ ยิ่งภาวนายิ่งไปเร็วขึ้นเรื่อยๆ เร็ว อันนี้ไม่ว่าพระหรือโยมก็ทำได้ ขอให้ตั้งใจเถอะ

โยนิโสมนสิการสำคัญมาก

สังเกตตัวเอง ที่ทำอยู่ตรงนี้หลงอยู่หรือว่าปฏิบัติอยู่ ขั้นหยาบๆ เลย แล้วที่ปฏิบัติอยู่สมถะหรือวิปัสสนา สังเกตไป ตอนทำสมถะอยู่อันนี้นิมิตเกิดขึ้น เรายินดีในนิมิต หรือเราวางนิมิตย้อนเข้ามารู้ทันจิตตนเองได้ ถ้ายินดีในนิมิต นิมิตจริง นิมิตปลอมก็โง่เหมือนกัน หลงออกไปแล้ว ลืมจิตใจตัวเอง สังเกตตัวเองไปเรื่อยๆ หลวงพ่อสู้มาทุกวันนี้ ตั้งแต่เป็นโยม ใช้ความสังเกต ใช้โยนิโสมนสิการมาก ในชีวิตหลวงพ่อเรียนกับครูบาอาจารย์ หลวงพ่อเคยถามกรรมฐานจากครูบาอาจารย์ทั้งหมด 7 ครั้ง จากครูบาอาจารย์ 6 องค์ ที่ถามมีแค่นั้นเองนอกนั้นสังเกตเอา อย่างภาวนาไปช่วงนี้ เกิดสภาวะอย่างนี้มันใช่มันไม่ใช่ หลวงพ่อสังเกตไปเรื่อย ไม่ยินดี ไม่ยินร้ายกับมัน ค่อยรู้ค่อยดูไป เกิดความเข้าใจขึ้นมาแล้ว มีโอกาสเจอครูบาอาจารย์ ส่วนใหญ่จะเป็นแบบนั้น จะเข้าใจก่อนที่จะเจอครูบาอาจารย์ แล้วก็ไปเล่าให้ท่านฟัง บอก “ผมดูแล้วมันเป็นอย่างนี้ๆ มันคืออย่างนี้” ท่านบอก “ใช่แล้ว ถูกแล้ว” ท่านจะชมว่าฉลาด ฉลาด ช่วยตัวเองมาได้ ถ้าเอะอะวิ่งถามครูบาอาจารย์ตลอด ไม่ฉลาดหรอก

โลกวุ่นวาย เราไม่วุ่นวายไปกับโลก

เราฝึกตัวเองทุกวันๆ ศีลต้องรักษา สมาธิคือการทำในรูปแบบ ต้องทำ ต้องมีเครื่องอยู่ของจิต แล้วก็คอยรู้เท่าทันจิตใจของเราเป็นอย่างไร คอยรู้เท่าทัน สติมันจะเกิด สมาธิมันก็เกิด ปัญญามันก็เกิด สุดท้ายวิมุตติมันก็เกิด อยากดูว่ากฎแห่งกรรมมีไหม ดูที่จิตเรานี่ล่ะ เวลาเราโมโหมากๆ โกรธเต็มเหนี่ยวเลย ตอนที่หายโกรธแล้ว มาดูสิ จิตรับวิบาก จิตไม่มีความสุขหรอก หรือเวลามีราคะแรงๆ ประเภท แหม หื่นมากเลยอะไรอย่างนี้ พอราคะนั้นผ่านไปแล้ว มาดูสิ จิตผ่องใสหรือเศร้าหมอง เราจะรู้เลยว่า ทำชั่วไม่ว่าเล็กน้อยแค่ไหนก็มีผลที่ไม่ดี ใจมันจะค่อยๆ ขยาดต่อการทำชั่ว จะขวนขวายที่จะทำดีให้มากขึ้นๆ เพื่อจะได้พ้นจากการเวียนว่าย ไม่ได้ทุกข์แล้วทุกข์อีกอยู่อย่างนี้ ใจมันจะค่อยๆ อยากพ้นไป แล้วจะขยันภาวนา ฝึกทุกวันๆ แล้ววันหนึ่งจะได้ดี โลกเขาก็วุ่นวายอย่างนี้ล่ะ เราไม่ห้ามมัน ห้ามมันไม่ได้ แต่เราไม่วุ่นวายไปกับโลก

นิโรธ 5

ความดับทุกข์เขาเรียกตัวนิโรธมี 5 ระดับ เป็นความดับด้วยสมถกรรมฐาน ดับด้วยวิปัสสนากรรมฐาน ดับด้วยอริยมรรค ดับด้วยอริยผล แล้วก็นิพพาน สมถกรรมฐานดับตัวนิวรณ์ นิวรณ์เป็นตัวกั้นความเจริญทางจิตใจของเรา จิตมันทรงสมาธิขึ้นมา ก็ข่มนิวรณ์ไว้ชั่วคราว วิปัสสนาต้องเห็นไตรลักษณ์ เราเห็นไตรลักษณ์ของรูปของนามไปอย่างนี้ มันก็จะดับความเห็นผิด วิปัสสนามันสร้างให้เกิดตัวปัญญา พอเราเจริญวิปัสสนามากๆ ในที่สุดจิตมีกำลังขึ้นมา เกิดอริยมรรคขึ้นมา มันเกิดเองเมื่อศีล สมาธิ ปัญญาของเราสมบูรณ์ อริยมรรคมันขึ้นมาเพื่อดับกิเลส ถ้าล้างด้วยอริยมรรคจะล้างเด็ดขาด ไม่กลับมาอีกแล้วกิเลสตัวนั้นละสังโยชน์ 3 ตัว สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ตัวที่สี่คืออริยผล อริยผลไม่มีการดับอะไรแล้ว มันดับที่ตัวมรรค อันนี้ตรงที่ดับคือการไม่เกิดขึ้น ไม่ใช่ว่ามันมีขึ้นมาแล้วไปดับมัน มันไม่มีงานอะไรต้องทำ แล้วนิโรธตัวที่ห้าจริงๆ คือนิพพาน จิตที่เราเข้าไปสัมผัส เข้าไปทรงพระนิพพาน มันดับ มันดับความไม่รู้ ความไม่เข้าใจอริยสัจ คือดับอวิชชา ดับตัณหา ดับอุปาทาน ดับภพ ดับชาติ ดับทุกข์ไป สิ่งเหล่านี้เดี๋ยวพวกเราก็เจอ ตอนนี้เรียน 2 ตัวแรกให้แตกฉาน

Page 1 of 2
1 2