คุณสมบัติของชาวพุทธที่ดี

หน้าที่ของชาวพุทธเราคือเราเป็นนักศึกษา ทำหน้าที่ศึกษาตัวเองให้ถ่องแท้ไป สํารวจใจเรา เรามั่นคงกับพระรัตนตรัยแค่ไหน หรือเราเห็นพระรัตนตรัยเป็นบ่อเงินบ่อทอง เป็นที่แสวงหาผลประโยชน์ คนจํานวนมากเอาศาสนาไปแสวงหาผลประโยชน์ เรามีศีลดีงามไหม สํารวจตัวเอง ถ้าศีลเรายังด่างพร้อยอยู่ เราก็ยังไม่ใช่ชาวพุทธที่ดี ไม่ใช่ลูกที่ดีของพระพุทธเจ้า เราไม่เคารพพระพุทธเจ้า ท่านสอนให้เราถือศีลแล้วเราไม่ถือ อีกข้อหนึ่งก็คือเราเชื่อกฎแห่งกรรมไหม หรือเชื่อบ้างไม่เชื่อบ้าง หรือบางวันไม่เชื่อเลยอะไรอย่างนี้ สํารวจตัวเอง คนที่เชื่อกฎแห่งกรรมก็จะเชื่อว่า เราจะต้องพ้นทุกข์ไปด้วยความเพียรของเราเอง

รู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ

ถ้าเรารู้แจ้งแทงตลอดว่าจิตเป็นตัวทุกข์ เรียกว่ารู้ทุกข์แจ่มแจ้ง เราก็ละสมุทัย ละความอยาก เมื่อละความอยากได้ เราก็ละความยึดถือจิตได้ เมื่อเราละความยึดถือจิตได้ ภพคือความดิ้นรนที่จะแสวงหาจิต หรือที่จะปล่อยวางจิต หรือที่จะรักษาจิต มันก็ไม่มี พอเราหมดความยึดถือจิต มันก็ไม่มีการที่จะต้องเที่ยวแสวงหาจิต ไม่มีการรักษาจิต ไม่มีความพยายามจะต้องปล่อยวางจิต เมื่อเราไม่มีความดิ้นรนของจิต คือไม่มีภพ จิตก็จะไม่หยิบฉวยจิตขึ้นมา คือไม่มีชาติ ทันทีที่ไม่มีชาติ ความทุกข์ก็ไม่เกิดขึ้น สิ้นชาติก็สิ้นทุกข์กันตรงนั้นล่ะ เพราะชาติคือการหยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจไม่ใช่ของดีของวิเศษ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจคือตัวทุกข์ ถ้าเราภาวนาจนเราแจ้งตรงนี้ เรียกว่าเราล้างอวิชชาได้แล้ว รู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจแล้ว

เราเดินบนเส้นทางที่เราเดินได้

บางคนชอบสมาธินำปัญญา ก็เรียนวิธีปฏิบัติแบบสมาธินำปัญญาไป บางคนชอบเจริญปัญญาในฌาน ก็ทำสมาธิกับปัญญาควบกัน ส่วนพวกปัญญานำสมาธิ ทำสมาธิเบื้องต้นระดับขณิกสมาธิ ใช้กำลังของขณิกสมาธิ มาเรียนรู้รูปนาม

หลวงพ่อดูพวกเรา คนรุ่นนี้ ให้ไปนั่งเข้าฌานมันเข้าไม่ไหว อย่าว่าแต่โยมเลย พระที่เข้าฌานได้ก็เหลือน้อยเต็มที ไม่ค่อยมีหรอก ส่วนมากก็นั่งสมาธิ ก็เคลิ้มง่อกแง่กๆ ไป ไม่ก็นั่งเพ่งจนเคร่งเครียดไป คนรุ่นหลังทำสมาธิไม่ค่อยเป็น เวลาจะทำสมาธิ มันกลายเป็นมิจฉาสมาธิเสียหมดเลย มันมีหลายเส้นทาง แต่เส้นทางที่เราควรเดิน ก็คือเส้นทางที่เราเดินได้ เส้นทางที่เราเดินได้ ก็คือเส้นทางของปัญญานำสมาธิ คนรุ่นนี้เป็นพวกปัญญาชนเยอะ คนใช้ปัญญา แต่การเดินด้วยปัญญา ต้องมีขณิกสมาธิเสียก่อน สมาธิที่เป็นขณะๆ นั่นล่ะ พอมีสมาธิทีละขณะถี่ๆ ขึ้นมา จิตก็มีกำลัง รู้ตื่นเบิกบานขึ้นมา

อย่ามัวแต่เถลไถล

พรหมจรรย์คือการประพฤติปฏิบัติธรรมจบแล้ว เรียนหนังสือจบแล้ว จบลงที่ไหน จบลงที่จิตมันหลุดพ้นแล้ว มันพ้นแล้ว มันไม่มีงานที่จะต้องทำต่อ เพื่อจะให้จิตหลุดพ้นอะไรอย่างนี้ ไม่ต้องทำแล้ว หลุดแล้วหลุดเลย ฉะนั้นชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้นไม่มีอีกแล้ว มันรู้สึกอย่างนั้น นั่นล่ะที่สุดของทุกข์

ที่สุดของทุกข์มันอยู่ตรงธรรมนั้นเอง ธรรมะ สิ่งที่เรียกว่าธรรมะ ตัวนี้มันเป็นธรรมะเหนือโลก เหนือขันธ์ เหนือวัฏสงสาร ไม่อย่างนั้นยังไม่มีจุดสิ้นสุด ก็ยังเวียนว่ายไปเรื่อยๆ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ยังไม่เห็นจุดสิ้นสุด แค่เข้าใกล้ แล้วปุถุชนอย่างพวกเรา มันจะเห็นไหม ไม่เห็นหรอก ต้องฝึกตัวเองให้มาก อย่าวุ่นวายเถลไถล ที่น่าห่วงเลยก็คือพวกเราชอบเถลไถล ตั้งใจภาวนาเอาจริงเอาจัง ยังไม่ค่อยจะรอดเลย แล้วเถลไถล แล้วมันจะรอดหรือ มันไปไม่รอดหรอก นี่ล่ะกฎแห่งกรรม ใครทำคนนั้นก็ได้ ไม่ทำก็ไม่ได้ หรือทำในทางที่ไม่ดีมันก็ไม่ได้

เคล็ดวิชาการฝึกดูจิตดูใจตนเอง

ถ้าเราภาวนาดูจิตดูใจก็ดูได้ 2 ระดับ ถ้าอย่างง่ายเราก็ดูจิตที่มันเกิดดับ ด้วยการเห็นเกิดดับร่วมกับเจตสิก จิตสุขเกิดพร้อมกับความสุข ดับพร้อมกับความสุข จิตทุกข์เกิดพร้อมกับความทุกข์ ดับพร้อมกับความทุกข์จิตกับเจตสิกนั้นเกิดดับด้วยกัน พร้อมๆ กัน ถ้าเราหัดดูจิตโดยการเห็นเกิดดับทางอายตนะ เราดูที่ตัวจิตไปเลย เดี๋ยวก็เป็นจิตรู้ เดี๋ยวก็เป็นจิตคิด เดี๋ยวก็เป็นจิตเพ่ง เดี๋ยวก็จิตหลง เราเห็นอย่างนี้ก็ได้ แต่อันนี้ละเอียดมันจะดูยาก เพราะฉะนั้นหลวงพ่อแนะนำ ถ้าหัดใหม่ ไปดูจิตสุข จิตทุกข์ จิตดี จิตชั่ว อันนั้นดูง่าย แต่ถ้าจะดูละเอียดขึ้นมา จนเห็นจิตเกิดดับทางอายตนะ ดูยากกว่า เพราะมันเร็วมาก

การจะเห็นจิตเกิดดับทางอายตนะอะไรนั้น มันอยู่ในธัมมานุปัสสนาแล้ว สูงขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง สติ สมาธิ ปัญญาของเรา ต้องแข็งแรงพอ เราถึงจะเห็น ถ้าไม่แข็งแรงพอ ดูแวบเดียวหลงไปนานเลย

จับหลักให้แม่น

ถ้าเรารู้หลักของการปฏิบัติ การปฏิบัติไม่ว่าสมถะหรือวิปัสสนาจะไม่ใช่เรื่องยาก สมถะเราเลือกอารมณ์ที่เราอยู่ด้วยแล้วมีความสุข แล้วก็ต้องมีสติกำกับตลอด สงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง แต่ต้องมีสติไว้ แล้วก็ทำกรรมฐานไปเรื่อยๆ ไม่นานจิตจะสงบ แล้วก็มีเรี่ยวมีแรง แล้วก็ไม่ขาดสติ สะสมไปเรื่อยๆ ทุกครั้งที่สติที่แท้จริงเกิดขึ้นมา สัมมาสมาธิก็จะเกิดด้วย

พอสะสมไปเรื่อยๆ พลังของสมาธิมันจะเพิ่ม จิตมันจะรู้ ตื่น เบิกบานขึ้นมา มีแรง มันจะรู้ด้วยตัวเองเลยว่าจิตมันตื่นแล้ว จิตมันมีแรงแล้ว ถึงจุดนั้นเราถึงจะเดินปัญญาได้ดี ก่อนหน้านั้นยังไม่ได้จริงหรอก ทำวิปัสสนาไม่ได้จริง ถ้าจิตไม่มีกำลัง ไม่ตั้งมั่น

คำสอนหลวงปู่ดูลย์ อตุโล

ที่จริงคำสอนของหลวงปู่ดูลย์ ส่วนหนึ่งก็จะเหมือนๆ กับคำสอนของครูบาอาจารย์ทั่วๆ ไป แต่ส่วนที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของท่าน โดดเด่น ไม่มีองค์ไหนเหมือนก็คือเรื่องของจิต ท่านสอนตัดตรงเข้ามาที่จิตเลย แต่ก็ไม่ได้สอนทุกคนให้เข้ามาที่จิต ไม่ใช่ทุกคนจะเข้ามาได้หรอก จิตมันต้องมีกำลังมากพอ ถึงจะเข้ามาดูจิตได้ ถ้ากำลังยังไม่พอ ท่านก็ให้เริ่มไป บางคนก็พุทโธ บางคนก็พิจารณากาย พอจิตมีกำลังแล้วถึงจะขึ้นมาที่จิตได้

ท่านสอน “จิตส่งออกนอกเป็นสมุทัย ผลที่จิตส่งออกนอกเป็นทุกข์ จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นมรรค ผลที่จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นนิโรธ ธรรมดาของจิตย่อมส่งออกนอก เมื่อส่งออกนอกแล้วกระเพื่อมหวั่นไหว ก็เป็นสมุทัย ผลที่จิตส่งออกนอก แล้วกระเพื่อมหวั่นไหวไม่มีสติอยู่ก็เป็นทุกข์ จิตส่งออกนอกแล้วมีสติอยู่ ก็เป็นการเจริญมรรค ผลก็คือนิโรธ” แล้ววรรคสุดท้ายที่หลวงปู่สอนก็คือ “อนึ่งพระอริยเจ้าทั้งหลาย มีจิตไม่ส่งออกนอก มีจิตไม่กระเพื่อมหวั่นไหว มีสติสมบูรณ์เป็นวิหารธรรมอยู่” พอได้อ่านธรรมะตรงนี้ มันสะเทือนเข้าถึงใจ มันเห็นว่าถ้าจิตมันไม่ทุกข์แล้วใครมันจะทุกข์ เพราะฉะนั้นถ้าเราแก้ปัญหาที่จิตของเราได้ ความทุกข์มันก็ตั้งอยู่ไม่ได้

การปฏิบัติทิ้งจิตไม่ได้

ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งที่เราถนัด แล้วคอยรู้ทันจิตใจของตนเอง จับหลักตรงนี้ให้แม่นๆ แล้วเราจะก้าวหน้าได้ ถ้าเราเอาแต่ทำกรรมฐาน แล้วเราละทิ้งจิตของตนเอง มันจะก้าวมาไม่สู่จุดที่จิตมีสัมมาสติและสัมมาสมาธิเลย ก้าวขึ้นมาไม่ได้ พยายามแทบตาย เหน็ดเหนื่อยแทบตาย แต่ก็ไม่ได้อะไรเท่าไรหรอก เพราะมันทำไม่ถูก ไม่ได้หัวใจของการปฏิบัติ สิ่งที่เป็นต่างหากล่ะ เพราะฉะนั้นทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งแล้วคอยรู้ทันจิตตนเองไปเนืองๆ รู้ไปเรื่อยๆ รู้สบายๆ ถนัดอะไรก็ทำอันนั้นล่ะ แต่ให้ความสำคัญกับการรู้ทันจิตใจตนเอง ภาวนาอย่าทิ้งจิต จิตเป็นใหญ่ เป็นหัวหน้า เป็นประธานของธรรมะทั้งปวง ได้จิตก็ได้ธรรม ไม่ได้จิตก็ไม่ได้ธรรมะ หลวงปู่ดูลย์ก็สอน “จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นอรหัตมรรค” เห็นแจ่มแจ้งก็คือเห็นอะไร เห็นว่าจิตเองก็เป็นตัวทุกข์นั่นล่ะ ทันทีที่เห็นทุกข์ มันก็วาง เรียกเห็นทุกข์ก็ละสมุทัย แจ้งนิโรธ เกิดอริยมรรคขึ้นมา ก็อยู่ที่จิตทั้งหมด

การปฏิบัติต้องลงมือทำ

ตัวที่จะทำให้เราเข้าใจธรรมะได้แท้จริงคือการลงมือภาวนา หรือลงมือปฏิบัติเจริญสติเจริญปัญญา ถ้าเราภาวนา เบื้องต้นก็ฝึกให้ได้สติ เบื้องปลายก็ฝึกให้ได้ปัญญา กระบวนการในการฝึกฝน อยู่ในหลักธรรมคำสอนเรื่องสติปัฏฐาน สติปัฏฐาน 4 เป็นเรื่องใหญ่ พวกเราชาวพุทธต้องรู้จัก มันเป็นธรรมะที่อัศจรรย์มากจริงๆ พระพุทธเจ้าท่านรวบรวมหลักของการปฏิบัติที่สำคัญๆ ลงมาอยู่ในสูตรอันนี้ล่ะที่เราจะปฏิบัติกัน

วิธีฝึกสติปัฏฐาน

เราต้องพยายามฝึกตัวเอง มีวินัยในตัวเอง แล้วก็พยายามฝึกสติปัฏฐาน ทุกวันๆ ต้องฝึก วิธีฝึกสติปัฏฐานก็คือ ต้องมีฐานที่ตั้งของสติเสียก่อน ฐานที่จะทำให้เกิดสติปัฏฐาน พระพุทธเจ้าท่านกำหนดไว้ให้แล้ว คือกาย เวทนา จิต ธรรม พวกเราต้องมีสติไว้ แต่สตินั้นเป็นสติปัฏฐาน ระลึกรู้กาย ก็คือรู้สึกกายอย่างที่กายเป็น ระลึกรู้เวทนาอย่างที่เวทนาเป็น ระลึกรู้จิตอย่างที่จิตเป็น จิตมีราคะ จิตไม่มีราคะ รู้อย่างที่มันเป็น ถ้าเราเจริญสติปัฏฐานเรื่อยๆ มีวิหารธรรมที่เราทำได้ ที่ทำไม่ไหวก็เว้นไปก่อน ไม่ต้องไปทำ อย่างดูกายก็ดูในส่วนที่ทำได้ ดูจิตก็ดูในส่วนที่ทำได้ แล้วดูเนืองๆ ดูเรื่อยๆ ดูบ่อยๆ รู้สึกอยู่ในกายบ่อยๆ รู้สึกอยู่ในจิตบ่อยๆ รู้สึกบ่อยๆ แล้วสติมันจะเข้มแข็งขึ้น

Page 1 of 2
1 2