ธรรม 10 ประการของนักปฏิบัติ

มักน้อย สันโดษ ฝักใฝ่ในความสงัด ไม่คลุกคลี ปรารภความเพียร 5 ข้อ มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา ถัดจากนั้นคือมีวิมุตติ ตัวที่เก้าคือเกิดอริยมรรคเกิดอริยผล พอเกิดอริยมรรคอริยผลแล้ว มันก็ขึ้นมาถึงตัวสุดท้าย ตัวที่สิบชื่อวิมุตติญาณทัสสนะ วิมุตติญาณทัสสนะไม่ใช่เห็นโน่นเห็นนี่ อันนั้นฟุ้งซ่าน วิมุตติญาณทัสสนะก็คือจิตมันทวนกลับเข้าไปพิจารณาว่าตอนที่เกิดอริยมรรคอริยผลนั้นมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง อริยมรรคได้ทำลายล้างกิเลสชั้นละเอียดคือตัวสังโยชน์ได้กี่ตัวแล้ว ยังเหลือกี่ตัว ทำลายไปกี่ตัว

ความรู้สึกตัวเป็นเรื่องสำคัญ

จุดสำคัญคือทำไปด้วยความรู้เนื้อรู้ตัว มีสติไว้ แล้วเวลาจิตมันรวม มันก็จะรวมลงไปด้วยความมีสติ กระทั่งโลกธาตุดับ ร่างกายหายไป ร่างกายกับโลกนี้จะหายไปพร้อมๆ กัน แล้วก็จิตไปอยู่ในความว่างๆ ก็ยังมีสติ ไม่ขาดสติตลอดสายของการปฏิบัติ นี่วิธีฝึก

ฉะนั้นความรู้สึกตัวเป็นเรื่องสำคัญ จะทำความสงบ ก็ต้องสงบแบบมีสติ ไม่ลืมเนื้อลืมตัว ถ้าจะเจริญปัญญา ก็ต้องไม่ลืมเนื้อลืมตัว ต้องรู้ตัวไว้ รู้สึก รู้ถึงความมีอยู่ของกายของใจตัวเอง อย่างเวลาเรานั่งสมาธิ บางทีร่างกายหายไป เหลือแต่จิตดวงเดียว ไม่คิดไม่นึกอะไร อันนั้นเอาไว้พักผ่อน ไม่ได้เดินปัญญา เดินปัญญา เรามีจิตที่ตั้งมั่นรู้เนื้อรู้ตัวแล้ว ให้จิตมันทำงานไป อย่าไปให้จิตติดนิ่งติดว่างอยู่ ให้จิตมันทำงานไปตามธรรมชาติ

วิมุตติเกิดเมื่อเห็นไตรลักษณ์มากพอ

พอมันยอมรับว่าทุกอย่างเสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ จิตจะยุติการดิ้นรนทันทีเลย เรียกยุติสังขารหรือยุติการสร้างภพ สังขารในใจเราคือภพ เรียกว่าภพ เรียกว่ากรรมภพ พอไม่มีความดิ้นรนอันนี้ จิตก็หมดภาระ จิตก็เป็นอิสระต่อสังขาร จิตที่เป็นอิสระต่อสังขาร เรียกว่าวิสังขาร จิตที่ไม่หลงตามกิเลสตัณหาทั้งหลาย เรียกว่าวิราคะ ตัวตัณหา ตัวราคะ

วิราคะก็ชื่อของนิพพาน วิสังขารก็ชื่อของนิพพาน วิมุตติ จิตหมดความยึดถือในรูปนาม ก็เป็นความหมายของนิพพานนั่นเอง ฉะนั้นเมื่อไรจิตเราสิ้นตัณหาเมื่อนั้นเราก็สัมผัสพระนิพพาน เมื่อไรจิตเราพ้นจากความปรุงแต่ง จิตเราก็สัมผัสพระนิพพาน เมื่อไรจิตปล่อยวางรูปนามขันธ์ 5 ได้หมด ปล่อยวางจิตได้ จิตก็สัมผัสพระนิพพาน ฉะนั้นค่อยๆ ภาวนา เบื้องต้นก็เป็นกลางด้วยสติ ได้สมาธิเกิดขึ้น เบื้องปลายเป็นกลางด้วยปัญญา ก็จะได้วิมุตติ ได้ความหลุดพ้น

สัมมาวายามะ

เราทำต้นทางนี้ให้ดี มีสติอ่านจิตอ่านใจตัวเองไปเรื่อยๆ กุศลเกิดก็รู้ อกุศลเกิดก็รู้ไป ไม่ต้องคาดหวังอะไรหรอก แล้วมันจะรู้ได้เร็วขึ้นๆ เพราะสติเข้มแข็งมากขึ้นเรื่อยๆ มีความเพียรชอบ ทำให้มากเจริญให้มากก็จะทำให้สัมมาสติบริบูรณ์

ฉะนั้นคอยดูจิตดูใจตัวเองที่เป็นกุศลที่เป็นอกุศลไว้ให้มากๆ สติก็จะดี สมาธิก็จะสมบูรณ์ขึ้นมา แล้วต่อไปพอสมาธิเกิดแล้ว จะเห็นไตรลักษณ์ ลำพังสติไม่มีสมาธิหนุนหลังอยู่ ไม่มีสัมมาสมาธิหนุนหลัง ยังไม่เห็นไตรลักษณ์ สติระลึกกาย เห็นอะไร เห็นกาย สติระลึกรู้เวทนา เห็นอะไร ก็เห็นเวทนา สติระลึกรู้กุศลอกุศล เห็นอะไร เห็นกุศล อกุศล แต่ถ้าจิตมีสัมมาสมาธิตั้งมั่น มันจะเห็นเลยว่ากายที่สติระลึกรู้ ไม่ใช่เรา ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่เรา เวทนาที่สติระลึกรู้ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่เรา กุศลอกุศลที่จิตระลึกรู้ คือสังขารทั้งหลายไม่ใช่เราๆ ค่อยดูไป พอปัญญามันแก่รอบแล้วต่อไปวิมุตติมันก็เกิดเอง

เมื่อไรเห็นทุกข์จะวางทุกข์

ถ้าเห็นว่ากามนำความทุกข์มาให้ มันก็วางกาม เห็นกายคือตัวทุกข์ มันก็วางกาย วางกามมันก็วางกายนั่นล่ะ แล้วสุดท้ายมันก็เข้ามาที่จิต วางจิตได้มันก็ที่สุดของการปฏิบัติ มันก็อยู่ตรงนั้นล่ะ แต่วางจิตได้ก็คือเห็นจิตนั้นคือตัวทุกข์ ฉะนั้นไม่เห็นทุกข์ไม่เห็นธรรมหรอก

ถ้าเห็นทุกข์ พอรู้ทุกข์แจ่มแจ้ง ความอยากได้ อยากมี อยากเป็น ในสิ่งนั้นสิ่งนี้ ที่เราเห็นทุกข์แล้ว ไม่เกิดขึ้น อย่างเราเห็นว่ากายเป็นทุกข์อย่างแท้จริง ความอยากให้กายเป็นสุข ไม่เกิดขึ้น ความอยากให้กายไม่ทุกข์ ไม่เกิดขึ้น มันรู้ว่าไร้เดียงสา อยากให้กายมีความสุข มันมีไปได้อย่างไร เพราะมันคือตัวทุกข์ ดูไปเรื่อย อยากให้กายไม่ทุกข์ อันนี้ก็ไร้เดียงสา อยากให้กายสุขก็ไร้เดียงสา อยากให้กายไม่ทุกข์ก็ไร้เดียงสา เพราะจริงๆ มันคือตัวทุกข์ เห็นไหมว่า ถ้าเราเห็นตัวทุกข์ทีเดียว มันตอบโจทย์หมดแล้ว รู้ทุกข์เมื่อไร ก็ละสมุทัยเมื่อนั้น

ธรรมะภาคปฏิบัติ

เราตั้งอกตั้งใจฝึกตัวเอง ถือศีล 5 ทุกวันทำในรูปแบบ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วก็คอยรู้ทันจิตตนเอง อย่าเพ่ง อย่าจ้อง แค่รู้ทันจิต จิตหนีไปคิด รู้ จิตถลำไปเพ่ง รู้ เวลาที่เหลือเจริญสติในชีวิตประจำวัน เจริญสติในชีวิตประจำวันก็คือ มีตาก็ดู มีหูก็ฟัง มีจมูกก็ดมกลิ่น มีลิ้นก็รู้รส มีกายก็รู้สัมผัส มีใจก็คิดนึกได้ ไม่ใช่ห้ามคิด แต่เมื่อกระทบอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้ว จิตใจเรามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เกิดสุขให้รู้ เกิดทุกข์ให้รู้ เกิดกุศลให้รู้ เกิดอกุศลให้รู้ หรือจิตไปทำงานทางตาให้รู้ ไปทำงานทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ให้รู้ รู้เท่าที่รู้ได้ ไม่ต้องรู้เยอะอย่างที่หลวงพ่อบอก เอาเท่าที่เรารู้ได้ นี่ล่ะงาน 3 ตัว ถือศีล 5 ทำในรูปแบบ แล้วคอยสังเกตจิตตนเอง งานที่ 3 คือเจริญสติในชีวิตประจำวัน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์ แล้วมีความเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้นที่จิตให้รู้ทัน ถ้าทำ 3 ประการนี้ได้ มรรคผลนิพพานไม่อยู่ไกลเราหรอก ไม่ได้อยู่ไกลแล้ว ไม่เกินเอื้อม ขอให้ทำให้ต่อเนื่อง อดทน ฟังธรรมะพอเข้าใจ พอรู้หลักแล้ว สิ่งสำคัญมากคืออดทน

วิปัสสนาปัญญา

ไปทำให้นิ่งๆ เฉยๆ อยู่ ไม่ล้างกิเลสหรอก ตกเป็นเครื่องมือของกิเลสอีก ตัวที่จะสู้กิเลสล้างกิเลสได้จริงคือตัวปัญญา ตัวความรู้ถูกความเข้าใจถูก พระพุทธเจ้าบอกบุคคลถึงความบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา ปัญญาก็คือเห็นไตรลักษณ์นั่นล่ะ ถึงจะเป็นปัญญาระดับที่สู้กิเลสได้ เรียกว่าวิปัสสนาปัญญา ถึงจะสู้กิเลสได้จริง วิปัสสนะ แปลว่า การเห็น เห็นอย่างถูกต้อง วิ แปลว่าเห็นแจ้ง แปลว่าแจ่มแจ้ง ปัสสนะ แปลว่าการเห็น เห็นอย่างแจ่มแจ้ง เห็นกายเป็นไตรลักษณ์ เห็นจิตใจเป็นไตรลักษณ์ นั่นล่ะเรียกว่าเห็นแจ่มแจ้ง อันนั้นล่ะถึงจะเป็นวิปัสสนา

เราเดินบนเส้นทางที่เราเดินได้

บางคนชอบสมาธินำปัญญา ก็เรียนวิธีปฏิบัติแบบสมาธินำปัญญาไป บางคนชอบเจริญปัญญาในฌาน ก็ทำสมาธิกับปัญญาควบกัน ส่วนพวกปัญญานำสมาธิ ทำสมาธิเบื้องต้นระดับขณิกสมาธิ ใช้กำลังของขณิกสมาธิ มาเรียนรู้รูปนาม

หลวงพ่อดูพวกเรา คนรุ่นนี้ ให้ไปนั่งเข้าฌานมันเข้าไม่ไหว อย่าว่าแต่โยมเลย พระที่เข้าฌานได้ก็เหลือน้อยเต็มที ไม่ค่อยมีหรอก ส่วนมากก็นั่งสมาธิ ก็เคลิ้มง่อกแง่กๆ ไป ไม่ก็นั่งเพ่งจนเคร่งเครียดไป คนรุ่นหลังทำสมาธิไม่ค่อยเป็น เวลาจะทำสมาธิ มันกลายเป็นมิจฉาสมาธิเสียหมดเลย มันมีหลายเส้นทาง แต่เส้นทางที่เราควรเดิน ก็คือเส้นทางที่เราเดินได้ เส้นทางที่เราเดินได้ ก็คือเส้นทางของปัญญานำสมาธิ คนรุ่นนี้เป็นพวกปัญญาชนเยอะ คนใช้ปัญญา แต่การเดินด้วยปัญญา ต้องมีขณิกสมาธิเสียก่อน สมาธิที่เป็นขณะๆ นั่นล่ะ พอมีสมาธิทีละขณะถี่ๆ ขึ้นมา จิตก็มีกำลัง รู้ตื่นเบิกบานขึ้นมา

รู้เข้ามาที่กายที่ใจของเรา

มีคนจำนวนมากบอกปฏิบัติมาหลายสิบปีเลย มันก็ได้แค่นั้น พอมาฟังหลวงพ่อพูด เรื่องเจริญสติเรื่องอะไร จิตใจก็พัฒนาอย่างรวดเร็ว ธรรมะของพระพุทธเจ้า ถ้าทำถูกจะไม่เนิ่นช้า เพราะธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นธรรมะที่ไม่เนิ่นช้า ถ้าเนิ่นช้า แสดงว่าต้องมีอะไรพลาดแล้ว อันแรกเลย ปฏิบัติไม่ถูก อันที่สอง ปฏิบัติไม่ต่อเนื่อง ทำแล้วก็หยุดๆ พวกตุ่มรั่ว ที่หลวงพ่อเรียก พวกตุ่มรั่ว

พอเขารู้จักการเจริญสติ จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน จะกินอาหาร จะขับถ่าย จะทำอะไร ก็รู้สึกกาย รู้สึกใจไปเรื่อยๆ สติก็ไวขึ้นๆ พอสติมันเกิด สมาธิที่แท้จริงมันก็เกิด เพราะสัมมาสติที่ทำให้มาก เจริญให้มาก จะทำให้สัมมาสมาธิบริบูรณ์ ฉะนั้นเราจะต้องพัฒนาสัมมาสติให้ได้ด้วยการทำสติปัฏฐานนั่นล่ะ มิฉะนั้นเราจะเดินจงกรม นั่งสมาธิ คนอื่นเขาก็เดินจงกรม เขานั่งสมาธิ แต่เขาเดินเพื่อความสุข เพื่อความสงบ เพื่อความดี เราจะเดินจงกรม จะนั่งสมาธิ เพื่อพัฒนาสติและสัมมาสมาธิ

ฝึกจิตให้มีกำลังเพื่อเดินปัญญา

ตรงที่เราสามารถเห็นรูปธรรมร่างกายนี้เป็นไตรลักษณ์ เราก็ขึ้นวิปัสสนาแล้ว ตรงที่เราสามารถเห็นได้ว่าสุขทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เราก็ขึ้นวิปัสสนาแล้ว ตรงที่เห็นกุศลอกุศลทั้งหลายเกิดขึ้น อย่างความโกรธเกิดขึ้น เราก็เห็นมันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อันนั้นเราก็ขึ้นวิปัสสนาแล้ว ลำพังเห็นตัวสภาวธรรมก็เป็นปัญญาขั้นต้น ยังไม่ได้ขึ้นวิปัสสนา จะขึ้นวิปัสสนาต่อเมื่อเห็นความจริงของสภาวธรรมทั้งหลายทั้งปวงว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ทั้งรูปธรรมทั้งนามธรรม เราจะเห็นได้จิตเราต้องมีกำลัง ที่หลวงพ่อจ้ำจี้จ้ำไชพวกเรา สังเกตให้ดีเถอะ สิ่งที่หลวงพ่อสอนเป็นเรื่องของการฝึกจิตให้มีกำลังในเบื้องต้น จิตเรามีกำลังตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมาแล้ว ขั้นต่อไปก็คือเดินปัญญา

Page 2 of 5
1 2 3 4 5