การเจริญสติปัฏฐาน

สติเป็นตัวรู้เท่าทันความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของกายของใจเรา ฉะนั้นสติที่รู้กายรู้ใจ เรียกว่าสติปัฏฐาน สติอย่างอื่นไม่เรียกว่าสติปัฏฐาน เขาเรียกว่าเป็นสติเฉยๆ ไม่ใช่สัมมาสติ สิ่งที่เป็นสัมมาสติ คือสติปัฏฐาน จำไว้เลย พระพุทธเจ้าบอกเลยว่าสัมมาสติ อธิบายด้วยสติปัฏฐาน 4 ก็คือให้เราคอยรู้สึกกายในกายเนืองๆ รู้สึกเวทนาในเวทนาเนืองๆ รู้สึกจิตในจิตเนืองๆ รู้สึกธรรมในธรรมเนืองๆ

เส้นทางของคนจริง

การภาวนาต้องทำสม่ำเสมอ ทำบ้างหยุดบ้าง ไม่ได้ผลหรอก เราหยุดเมื่อไร กิเลสก็ลากเราลงต่ำไป กว่าจะดิ้นรนกลับขึ้นมาอีกรอบหนึ่ง มันใช้แรงเยอะ ถ้าทำแล้วก็หยุดๆ มันก็อยู่ตรงนั้น หรือไม่ก็นานๆ ก็หมดกำลังที่จะปฏิบัติ มันต้องอดทนจริงๆ ตัดสินใจให้เด็ดขาดลงไปเลย จะปฏิบัติ ไม่ใช่ทำเล่นๆ ถ้าเราทำถูกแล้วก็ทำสม่ำเสมอ มันจะมีพัฒนาการที่มองเห็นได้ด้วยตัวเอง

เส้นทางนี้ไม่ได้ยาก แต่เส้นทางนี้เป็นเส้นทางของคนจริง หมายถึงคนที่เข้มแข็ง เอาจริงเอาจังในการที่จะเรียนรู้ตัวเอง เราทำกรรมฐานที่ดีถูกต้อง เราก็ได้รับผล ได้รับผลเป็นความร่มเย็นในจิตใจ การที่เราเจริญศีล สมาธิ ปัญญา นี่เรียกเราเจริญเหตุที่เป็นตัวมรรค ผลคือความพ้นทุกข์ มันก็จะมาถึงในวันหนึ่ง

ทำสัมมาวายามะให้บริบูรณ์

สัมมาวายามะ คือมีความเพียรชอบ อกุศลเกิดขึ้นรู้ทัน อกุศลก็ดับไป ในขณะที่มีสติอยู่ อกุศลใหม่ก็ไม่เกิด ในขณะที่มีสตินั้น กุศลได้เกิดขึ้นแล้ว ในขณะที่สติเกิดบ่อยๆ กุศลก็จะเจริญขึ้น เพราะฉะนั้นเราจะทำสัมมาสติได้บริบูรณ์ ต้องทำสัมมาวายามะให้บริบูรณ์ มีสติรู้ทันจิตตัวเองไป แล้วอกุศลที่มีอยู่จะดับ อกุศลใหม่จะไม่เกิด กุศลที่ยังไม่เกิดก็จะเกิด ที่เกิดแล้วก็จะงอกงามพัฒนาขึ้นไป จนถึงกุศลสูงสุด สิ่งที่เรียกว่ากุศลขั้นสูงสุด คือปัญญา ในบรรดากุศลทั้งหลาย ปัญญาเป็นกุศลสูงสุด พอมีปัญญา เมื่อกี้บอกแล้ว เห็นตามความเป็นจริงจึงเบื่อหน่าย คลายความยึดถือ หลุดพ้น

บางคนไม่สามารถดูจิตดูใจได้ ยังไม่สามารถทำสัมมาวายามะให้บริบูรณ์ได้ อย่างไปนั่งสมาธิ ทำความสงบไป จมอยู่กับกิเลส เผลอเพลิน มีความสุข อันนั้นไม่มีสัมมาวายามะ กิเลสไม่เร่าร้อน เลยไม่ได้แผดเผากิเลส ไม่มีอาตาปี ไม่ได้แผดเผากิเลส แต่เบื้องต้นบางคนก็ต้องดูกาย ดูเวทนาไปก่อน พอทำมากๆ เข้า ชำนิชำนาญขึ้น สติดีขึ้น มันก็เริ่มสังเกตจิตใจออก ตรงที่สังเกตจิตใจออก สัมมาวายามะก็จะเจริญขึ้น สัมมาสติก็จะเจริญ สัมมาสมาธิก็จะเจริญขึ้น

จิตต้องมีกำลังของสมาธิ

การที่เราจะเกิดปัญญาแยกรูปแยกนามได้ จิตต้องมีกำลังของสมาธิ แล้วพอสติระลึกรู้กาย จะเห็นกายกับจิตมันคนละอันกัน ถ้าจิตเรามีกำลังตั้งมั่น มีสัมมาสมาธิอยู่ สติระลึกรู้เวทนา ก็เห็นเวทนากับจิตก็คนละอันกัน แต่จิตตั้งมั่นมีกำลังอยู่ สติระลึกรู้กุศล อกุศล โลภ โกรธ หลง เป็นต้น ก็จะเห็นกุศล อกุศล โลภ โกรธ หลง เป็นต้นนั้นกับจิต คนละอันกัน นี่เรียกว่าเราแยกขันธ์ได้ ไม่ได้แยกด้วยใช้กำลังของจิตเข้าไปแยก แต่ถ้าจิตเรามีสติที่ถูกต้อง มีสมาธิที่ถูกต้อง การแยกขันธ์เป็นเรื่องเบสิกมากเลย มันแยกเองเลย ไม่ต้องทำอะไรหรอก

ความเพียรชอบ

การที่เราคอยสังเกตจิตใจตัวเอง จะทำให้สัมมาวายามะเจริญขึ้น อกุศลใดๆ ที่มันมีอยู่ พอเราสังเกตเห็น อกุศลนั้นจะดับ แล้วขณะที่เรามีสติอยู่ อกุศลใหม่จะเกิดไม่ได้ แล้วอย่างเรากำลังมีกิเลสอยู่ แล้วเราเกิดสติขึ้นมา ตรงที่มีสติ อกุศลดับ กุศลได้เกิดขึ้นแล้ว เพราะสติมันเป็นองค์ธรรมที่เกิดร่วมกับจิตที่เป็นกุศลทุกๆ ดวง เพราะฉะนั้นทันทีที่เราเกิดสติ กุศลได้เกิดขึ้นแล้ว อกุศลได้ดับลงไปแล้ว แล้วถ้าสติเราเกิดบ่อยๆ กุศลเราก็เจริญขึ้น พัฒนางอกงามขึ้นเป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา แก่รอบขึ้นมา สุดท้ายก็เข้าสู่โลกุตตระ

ฉะนั้นคอยมีสติรู้เท่าทันจิตใจของตัวเองไป จิตใจเป็นอกุศลให้รู้ทัน จิตใจเป็นกุศลให้รู้ทัน รู้บ่อยๆ การที่เราคอยรู้บ่อยๆ ทำให้สัมมาวายามะเจริญขึ้น พอมีสัมมาวายามะ เราหัดสังเกตจิตใจของตัวเองไปเรื่อยๆ สติเราก็จะดีขึ้นด้วย สติมันก็จะดีขึ้นด้วย ฉะนั้นการที่เราเจริญสัมมาวายามะให้มาก มันจะทำให้สัมมาสติบริบูรณ์ขึ้นมา บอกแล้ว สัมมาวายามะไม่ใช่นั่งสมาธินาน ไม่ใช่เดินนาน แต่อยู่ที่รู้ทันจิตใจของตัวเอง

อยากเป็นพระโสดาบัน

อยากเป็นพระโสดาบัน ขั้นแรกเลยจิตต้องตั้งมั่นขึ้นมาก่อน พอจิตตั้งมั่นแล้ว สติระลึกรู้กาย มันจะเห็นกายนี้ถูกรู้ ไม่ใช่เรา จิตตั้งมั่นแล้วสติระลึกรู้เวทนา มันก็เห็นเวทนาถูกรู้ ไม่ใช่เรา จิตตั้งมั่น สติระลึกรู้สังขารทั้งหลาย ความดีชั่วทั้งหลายที่ปรุงขึ้นมา ก็จะเห็นสังขารทั้งหลายไม่ใช่เรา จิตตั้งมั่นแล้วก็ดับ เกิดจิตไม่ตั้งมั่น หลงไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ บางทีมีจิตตั้งมั่น แล้วก็หลงไปเกิดราคะ มีความสุข บางทีจิตตั้งมั่นแล้วก็ดับ หลงไป เกิดโทสะ มีความทุกข์ในใจ บางทีจิตตั้งมั่นอยู่ จิตก็มีความสุขอยู่ทั้งๆ ที่ตั้งมั่น บางทีจิตตั้งมั่นอยู่ แล้วก็เป็นอุเบกขาอยู่ก็มี

จับหลักให้แม่น

ถ้าเรารู้หลักของการปฏิบัติ การปฏิบัติไม่ว่าสมถะหรือวิปัสสนาจะไม่ใช่เรื่องยาก สมถะเราเลือกอารมณ์ที่เราอยู่ด้วยแล้วมีความสุข แล้วก็ต้องมีสติกำกับตลอด สงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง แต่ต้องมีสติไว้ แล้วก็ทำกรรมฐานไปเรื่อยๆ ไม่นานจิตจะสงบ แล้วก็มีเรี่ยวมีแรง แล้วก็ไม่ขาดสติ สะสมไปเรื่อยๆ ทุกครั้งที่สติที่แท้จริงเกิดขึ้นมา สัมมาสมาธิก็จะเกิดด้วย

พอสะสมไปเรื่อยๆ พลังของสมาธิมันจะเพิ่ม จิตมันจะรู้ ตื่น เบิกบานขึ้นมา มีแรง มันจะรู้ด้วยตัวเองเลยว่าจิตมันตื่นแล้ว จิตมันมีแรงแล้ว ถึงจุดนั้นเราถึงจะเดินปัญญาได้ดี ก่อนหน้านั้นยังไม่ได้จริงหรอก ทำวิปัสสนาไม่ได้จริง ถ้าจิตไม่มีกำลัง ไม่ตั้งมั่น

แม่บทใหญ่ของการปฏิบัติ

แนวทางของอริยสัจเป็นแนวทางที่เป็นแม่บท ถ้าการปฏิบัติเราพลาดจากหลักอริยสัจ ผิดแน่นอน หลักของอริยสัจก็คือ ทุกข์ก็ให้รู้ สมุทัยให้ละ นิโรธทำให้แจ้ง มรรคทำให้เจริญ ถ้าหลุดออกจากหลักนี้ก็ผิด ถ้าทำตามหลักนี้ได้ มันก็จะเข้าไปสู่องค์ธรรม 12 ตัว

อะไรคือทุกข์ รู้ว่าทุกข์คืออะไร คือรูป คือนาม รู้หน้าที่ต่อทุกข์ว่าต้องรู้รูปรู้นาม หน้าที่ต่อทุกข์คือการรู้ แล้วได้รู้แล้ว 3 ข้อ สมุทัยคือตัวเหตุของทุกข์ ได้แก่ตัณหา หน้าที่ต่อตัณหาคือละเสีย แล้วก็ได้ละแล้ว นิโรธ คือความดับสนิทแห่งทุกข์ หน้าที่ต่อนิโรธไม่ได้ทำนิโรธให้เกิดขึ้น แต่ว่าเข้าไปเห็นนิโรธ เขาเรียกสัจฉิกิริยา เข้าไปประจักษ์เข้าไปเห็นแจ่มแจ้งในความจริงของความพ้นทุกข์ คือไปเห็นพระนิพพานนั้นเอง ฉะนั้นหน้าที่ต่อนิโรธคือการเห็น ถ้าเราปฏิบัติแล้ว เราได้เห็นแล้ว

เราสามารถปฏิบัติธรรมได้ตลอดเวลา

เราสามารถสร้างความดีขึ้นในจิตใจเราได้ในทุกๆ สถานการณ์ ฉะนั้นที่บอกว่าเราไม่มีเวลาจะสร้างความดี ไม่มีเวลาปฏิบัติอะไร เพราะยังไม่เข้าใจคำว่าปฏิบัติ ไปคิดว่าการปฏิบัติคือการนั่งสมาธิ เดินจงกรม หลวงพ่อบอกเลย หลวงพ่อภาวนามา นั่งสมาธิ เดินจงกรมพอประมาณเท่านั้น ทำทุกวันล่ะแต่ว่าไม่ได้ทำเยอะ ทำพอให้จิตใจมีเครื่องอยู่ มีที่อยู่ที่อาศัย มีกำลังขึ้นมา แล้วก็เจริญปัญญา

ตรงที่เราทำงานอยู่นั้น เราสามารถปฏิบัติธรรมได้ อย่างเวลาจะจัดประชุม เราต้องเตรียมข้อมูล เตรียมอะไรมากมาย หัวหมุนติ้วๆ เลย เราก็ดูใจไป ใจมันเบื่อ ใจมันร้อนรน กลัวจะทำไม่ทันอย่างนี้ ดูลงไปเลย เราได้ปฏิบัติอยู่แล้ว พองานเราเสร็จ เราก็รอเวลาประชุม เมมเบอร์มาไม่ครบเสียที ยืดเยื้อ เย็นนี้เราก็จะต้องมีธุระไปโน่นไปนี่ การประชุมก็ล่าช้า เลท เพราะว่าบางคนมันไม่มาง่ายๆ เถลไถล ไม่เคารพเวลาของคนอื่นอะไรอย่างนี้ ใจเรากลุ้มใจ รู้ ใจเราโมโห รู้ หลวงพ่อปฏิบัติธรรม ปฏิบัติอย่างนี้ ปฏิบัติอยู่ในชีวิตจริงๆ นี้ล่ะ

การได้สมาธิไม่ใช่แค่นั่งสมาธิเดินจงกรมหรอก เรารู้จักวางจิตใจให้ถูกในทุกๆ สถานการณ์ นั้นล่ะ เราสามารถทำกุศลให้เกิดได้

ถ้าจิตตั้งมั่นจะเห็นไตรลักษณ์

ต้องมาฝึกจิตให้มันตั้งมั่นจริงๆ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง จิตเคลื่อนไปไหนก็รู้ จิตหลงไปคิดก็รู้ จิตถลำลงไปเพ่งก็รู้ รู้อย่างนี้เยอะๆ จิตมันจะค่อยตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา คราวนี้ไม่ได้เจตนาเลย แล้วพอจิตมันตั้งมั่น สติระลึกรู้กาย เห็นเลยกายไม่ใช่เรา ระลึกรู้เวทนา เวทนาไม่ใช่เรา ระลึกรู้สังขาร สังขารไม่ใช่เรา สุดท้ายก็ระลึกรู้จิต จิตก็ไม่ใช่เรา หรือถ้าชำนาญจริง สมาธิพอ ดูโลกข้างนอก จักรวาลข้างนอก โลกข้างนอก คนอื่นๆ ตัว ร่างกาย จิตใจนี้ มันอันเดียวกัน มันก็คือวัตถุ มันคือก้อนธาตุอันเดียวกันนั่นล่ะ เหมือนกันหมด เสมอกันหมด มีความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เสมอกันหมด

Page 3 of 5
1 2 3 4 5