แม่บทใหญ่ของการปฏิบัติ

แนวทางของอริยสัจเป็นแนวทางที่เป็นแม่บท ถ้าการปฏิบัติเราพลาดจากหลักอริยสัจ ผิดแน่นอน หลักของอริยสัจก็คือ ทุกข์ก็ให้รู้ สมุทัยให้ละ นิโรธทำให้แจ้ง มรรคทำให้เจริญ ถ้าหลุดออกจากหลักนี้ก็ผิด ถ้าทำตามหลักนี้ได้ มันก็จะเข้าไปสู่องค์ธรรม 12 ตัว

อะไรคือทุกข์ รู้ว่าทุกข์คืออะไร คือรูป คือนาม รู้หน้าที่ต่อทุกข์ว่าต้องรู้รูปรู้นาม หน้าที่ต่อทุกข์คือการรู้ แล้วได้รู้แล้ว 3 ข้อ สมุทัยคือตัวเหตุของทุกข์ ได้แก่ตัณหา หน้าที่ต่อตัณหาคือละเสีย แล้วก็ได้ละแล้ว นิโรธ คือความดับสนิทแห่งทุกข์ หน้าที่ต่อนิโรธไม่ได้ทำนิโรธให้เกิดขึ้น แต่ว่าเข้าไปเห็นนิโรธ เขาเรียกสัจฉิกิริยา เข้าไปประจักษ์เข้าไปเห็นแจ่มแจ้งในความจริงของความพ้นทุกข์ คือไปเห็นพระนิพพานนั้นเอง ฉะนั้นหน้าที่ต่อนิโรธคือการเห็น ถ้าเราปฏิบัติแล้ว เราได้เห็นแล้ว

การปฏิบัติต้องลงมือทำ

ตัวที่จะทำให้เราเข้าใจธรรมะได้แท้จริงคือการลงมือภาวนา หรือลงมือปฏิบัติเจริญสติเจริญปัญญา ถ้าเราภาวนา เบื้องต้นก็ฝึกให้ได้สติ เบื้องปลายก็ฝึกให้ได้ปัญญา กระบวนการในการฝึกฝน อยู่ในหลักธรรมคำสอนเรื่องสติปัฏฐาน สติปัฏฐาน 4 เป็นเรื่องใหญ่ พวกเราชาวพุทธต้องรู้จัก มันเป็นธรรมะที่อัศจรรย์มากจริงๆ พระพุทธเจ้าท่านรวบรวมหลักของการปฏิบัติที่สำคัญๆ ลงมาอยู่ในสูตรอันนี้ล่ะที่เราจะปฏิบัติกัน

อย่าทิ้งการรู้ทุกข์

เราจะภาวนา อย่าทิ้งอริยสัจ อย่าทิ้งการรู้ทุกข์ ดูลงไปขันธ์นั่นล่ะทุกข์ ถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้งเมื่อไร มันจะละสมุทัย จะแจ้งพระนิพพานขึ้นมาเอง ไม่ต้องหา ไม่ต้องหาทำอย่างไรจิตเราจะถึงพระนิพพาน ทำอย่างไรจิตจะถึงพระนิพพาน เห็นไหมมันมีโลภเจตนาอยู่ ดูความจริงของมันเรื่อยๆ ไปจนจิตมันแจ้งขึ้นมา จิตนี้คือทุกข์ ทุกข์เพราะไม่เที่ยง ทุกข์เพราะถูกบีบคั้น ทุกข์เพราะเป็นความว่าง เป็นสุญญตา เป็นอนัตตา แล้วมันก็วางของมันเอง ไม่มีใครวางได้หรอก มันวางของมันเอง พอวางแล้ว พอเวลาเรานึกถึงพระพุทธเจ้า จิตกับพระพุทธเจ้ากลืนเป็นอันเดียวกันเลย จิตกับพระธรรมก็กลืนเป็นอันเดียวกัน จิตกับพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ก็กลืนเป็นอันเดียวกัน

ธรรมะมีหลายระดับ

ธรรมะมีหลายระดับ ระดับต้นๆ ทำให้เราอยู่กับโลกอย่างมีความสุข ระดับสูงขึ้นไปเป็นเรื่องธรรมะเพื่อการพ้นจากโลก เพราะฉะนั้นเราตั้งอกตั้งใจ มีทาน มีศีล มีภาวนา ทำไว้สำหรับฆราวาส สำหรับฆราวาสและพระที่ต้องการพ้นทุกข์ ก็มีศีล มีสมาธิ และเจริญปัญญาด้วย เจริญปัญญาคือการเห็นกายอย่างที่กายเป็น เห็นจิตอย่างที่จิตเป็น มันเป็นอย่างไร มันเป็นไตรลักษณ์ นี่เรียกว่าเจริญปัญญา ไปเลือกเอา ชีวิตเรา อยากสุข อยากสบาย ก็ทาน ศีล ภาวนา อยากพ้นทุกข์ อยากมีความสุขก็ทาน ศีล ภาวนา อยากพ้นทุกข์ก็ ศีล สมาธิ ปัญญา ตัวที่ทำให้พ้นทุกข์ คือปัญญา

อริยสัจเป็นธรรมะที่สำคัญที่สุด

อริยสัจเป็นธรรมะที่สำคัญที่สุด เป็นหัวใจของธรรมะเลย ครอบคลุมธรรมะทั้งหมดเอาไว้ได้ ในเรื่องของอริยสัจ พระพุทธเจ้าท่านเปรียบเทียบ บอกอริยสัจเทียบเหมือนรอยเท้าช้าง ยุคนั้นไม่มีไดโนเสาร์แล้ว ช้างใหญ่ที่สุด ท่านบอกรอยเท้าของสัตว์ทั้งหลาย มันไปบรรจุอยู่ในรอยเท้าช้างได้ เล็กกว่ารอยเท้าช้าง ธรรมะทั้งหมดก็ประมวลลงอยู่ในอริยสัจได้ เจ้าชายสิทธัตถะท่านสาวลงมาจนถึงอวิชชา ความไม่รู้แจ้งอริยสัจ ท่านก็รู้เลย โอ้ ถ้ารู้แจ้งอริยสัจเสียตัวเดียว สังสารวัฏก็ถล่มลงต่อหน้าต่อตาเลย ความเวียนว่ายตายเกิดไม่มีอีกแล้ว นี่คือสิ่งที่ท่านค้นพบในตอนใกล้ๆ สว่างแล้ว ท่านค้นพบแล้วท่านก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ เป็นพระสัมมาสัมพุทธะขึ้นมา

กฎของการดูจิต 3 ข้อ

ข้อที่หนึ่ง อย่าอยากรู้แล้วเที่ยวแสวงหาว่าตอนนี้จิตเป็นอย่างไร ให้ความรู้สึกเกิดขึ้นก่อนแล้วค่อยรู้ว่ามันรู้สึกอะไร กฎข้อที่สอง ระหว่างรู้ อย่าถลำลงไปรู้ จิตต้องเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จิตผู้รู้ก็ต้องอาศัยการฝึกอย่างที่ว่า ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วรู้ทันจิตที่มันหลงไปไหลไป กฎข้อที่สามของการดูจิตก็คือ อย่าเข้าไปแทรกแซงสภาวะ ความสุขเกิด ไม่ต้องไปหลงยินดีมัน ถ้าหลงยินดีให้รู้ทัน ความทุกข์เกิด ไม่ต้องไปยินร้าย ถ้ายินร้ายเกิด ให้รู้ทัน เพราะฉะนั้นหลวงพ่อถึงสรุปการปฏิบัติเอาไว้ในประโยคสั้นๆ ให้เรามีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง

เรียนรู้ความจริงของโลก

เรียนรู้ความจริงของร่างกาย เรียนรู้ความจริงของจิตใจไป วันหนึ่งก็จะรู้ว่า ในโลกนี้อะไรมีคุณค่าบ้าง ในโลกมีแต่ของชั่วคราว สิ่งที่มีคุณค่าคือธรรมะ แล้วยิ่งเราเข้าใกล้ธรรมะเท่าไร จิตใจเรายิ่งเป็นอิสระมากขึ้น ไม่ใช่เป็นทาส
อยู่กับโลกเป็นทาสมันหนักขึ้นทุกที เป็นทาสของเงินทอง ของทรัพย์สิน เป็นทาสของครอบครัว เป็นทาสของหน้าที่การงาน เป็นทาสของชื่อเสียงเกียรติยศ เป็นทาสของความโลภต่างๆ เป็นทาสของกาม หิวตลอดเวลา เราเข้าใจความจริง ร่างกายนี้หาสาระไม่ได้ การที่จะเอาตัวเองให้เป็นทาสมันจะลดลง

พ้นทุกข์ด้วยอริยสัจ 4

เวลาเราภาวนา ถ้าเราไม่มีสติ เราก็ต้องพัฒนาสติ ไม่มีสัมมาสมาธิ เราก็ต้องพัฒนาสัมมาสมาธิ หรือเราไม่มีทฤษฎีชี้นำที่ถูกต้อง เรียกว่าไม่มีสัมมาทิฏฐิ ก็ต้องศึกษา ศึกษาจากพระไตรปิฎกจากอะไรนี่ ให้ได้สัมมาทิฏฐิในเบื้องต้น เป็นทฤษฎีชี้นำว่าเราจะพ้นทุกข์ได้อย่างไร ฉะนั้นไม่ว่าเราจะแก้ปัญหาทางโลก หรือเราจะแก้ปัญหาทุกข์ทางจิตใจของเรา หลักมันก็ตรงกันนั่นล่ะ เพราะสัจจะความจริงก็ต้องเป็นความจริงในทุกที่ทุกเวลา ไม่ใช่เป็นความจริงเฉพาะในวัด ไปแก้ปัญหาชีวิตจริงทำไม่ได้ อันนั้นด้อยเกินไป ศาสนาพุทธไม่ได้ด้อยอย่างนั้น ที่หลวงพ่อสอนพวกเราซ้ำแล้วซ้ำอีก ก็สอนอยู่ในเรื่องของอริยสัจนั่นเอง

วิธีดับเหตุของทุกข์

ธรรมะของพระพุทธเจ้าเต็มไปด้วยเหตุกับผล ทำเหตุอย่างนี้ มีผลอย่างนี้ ทำเหตุดี มีผลดี ทำเหตุชั่วก็มีผลชั่ว ผลชั่วก็เป็นผลของความทุกข์ เวลาเราจะแก้ปัญหาหรือแก้ทุกข์ เราเลยไม่ได้ไปแก้ที่ตัวปัญหาหรือตัวทุกข์ แก้ต้องแก้ที่ต้นเหตุ สิ่งทั้งหลายเกิดจากเหตุ ถ้าเหตุดับ สิ่งนั้นถึงจะดับ ไปแก้ตัวผลไม่ได้

Page 2 of 3
1 2 3