จิตประภัสสร

จิตประภัสสรผ่องใสได้ เพราะไม่มีราคะ โทสะ โมหะ จรเข้ามา แต่เราปฏิบัติธรรมทีไร ราคะ โทสะ โมหะ มาเยอะแยะเลย แล้วยังคิดว่าดีอยู่อีก อันนั้นเข้าใจผิดแล้ว ทำอย่างไรก็ไม่ได้ดี ไม่สงบหรอก เพราะฉะนั้นเราทำกรรมฐาน แล้วก็สังเกตจิตใจของเราไปสบายๆ จิตหลงไปคิด รู้ จิตถลำไปเพ่ง รู้ ไม่ได้ทำกรรมฐานด้วยราคะ ด้วยโทสะ ด้วยโมหะ เมื่อไรไม่มีราคะ โทสะ โมหะ เมื่อนั้นจิตก็ประภัสสร สว่าง ผ่องใส สบาย มีความสุข จิตที่ประภัสสรมันจะมีเวทนา คือความรู้สึกได้ 2 อย่าง คือมีความสุขเรียกว่าโสมนัสเวทนา กับอุเบกขาเวทนา ไม่สุข ไม่ทุกข์ เฉยๆ ตัวจิตที่ประภัสสรนี้ เรียกภาษาที่ครูบาอาจารย์แต่ก่อนท่านเรียก คือจิตผู้รู้ อย่างหลวงตามหาบัวท่านบอก ตัวจิตผู้รู้นั่นล่ะคือจิตประภัสสร แต่เมื่อกี้หลวงพ่อบอกแล้ว จิตที่ประภัสสรผ่องใสเฉยๆ แต่ไม่บริสุทธิ์ คนละเรื่องกัน

สิ่งที่เรียกว่าทุกข์ก็คือขันธ์ 5

พอมีจิตที่ตั้งมั่นมากพอแล้วก็เดินปัญญา เดินปัญญาขั้นแรกก็คือการแยกขันธ์ เห็นร่างกายมันนั่งอยู่ จิตเป็นคนรู้ เห็นสุขทุกข์เกิดขึ้น จิตเป็นคนรู้ เห็นดีชั่วเกิดขึ้น จิตเป็นคนรู้ หัดแยกไป พอแยกขันธ์ชำนาญแล้ว ต่อไปมันจะเห็นแต่ละขันธ์นั้น ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ เห็นซ้ำแล้วซ้ำอีก ถึงวันหนึ่งก็แจ่มแจ้ง ขันธ์ทั้งหมดเกิดแล้วดับทั้งสิ้น นี่คือภูมิธรรมของพระโสดาบัน และพระสกทาคามี

ขันธ์ทั้งหลายในส่วนของรูปนี้เป็นตัวทุกข์ เอาเป็นที่พึ่งที่อาศัยไม่ได้ มีแต่จิตเท่านั้น ยังเป็นที่พึ่งที่อาศัยได้ นี่เป็นภูมิธรรมของพระอนาคามี แล้วขั้นสุดท้าย ขันธ์ทั้งหมดนั่นล่ะคือตัวทุกข์ พอภาวนามาถึงจุดนี้ มันจะตรงกับที่พระพุทธเจ้าสอนแล้ว สิ่งที่เรียกว่าทุกข์ก็คือขันธ์ 5 นั่นล่ะคือตัวทุกข์ ฉะนั้นค่อยๆ เรียน ค่อยๆ ฝึกไปจนกระทั่งวางขันธ์ได้

อดทนให้เด็ดเดี่ยวลงไป

เรียนธรรมะต้องสู้ ต้องอดทน ต้องเด็ดเดี่ยว ทนอะไรบ้าง อันแรกเลยทนต่อการสั่งสอนของครูบาอาจารย์ บางทีสิ่งที่ท่านสอนมันกระเทือนกิเลสเรา มันทรมานใจของเรา สิ่งที่ท่านบอกแต่ละอย่าง คือท่านไม่มาประคบประหงมเชียร์ไปเรื่อยๆ ให้เราสบายใจ อย่างนั้นไม่ใช่ ครูบาอาจารย์จริงๆ จะขัดเรา ถ้ากิเลสเราหยาบหนามาก ก็ลงตะไบ รู้จักตะไบไหม อย่างนี้ หรือถ้าหนากว่านั้นก็เอาขวานถากๆ มันหนามาก พอภาวนาไปเรื่อย จิตใจละเอียดประณีต ครูบาอาจารย์ก็เอาตะไบ เอากระดาษทรายแต่งนิดๆ หน่อยๆ แต่งๆ นิดหนึ่ง ตรงนี้นิดหนึ่งๆ มันอยู่ที่เรานั่นล่ะจะได้ธรรมะระดับไหน อยู่ที่ตัวเราเอง แต่ว่าสิ่งที่ได้จากครูบาอาจารย์มีประโยชน์ทั้งนั้นล่ะ อย่ามัวแต่น้อยอกน้อยใจ มาขอกำลังใจขออะไร เสียเวลา หลวงพ่อไม่ชอบคนขี้อ้อน เพราะหลวงพ่อไม่เคยอ้อนครูบาอาจารย์ มีแต่สู้เอา ฉะนั้นเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อก็ต้องต่อสู้ ความอ่อนแอท้อถอยอะไร ไม่มีใครห้ามได้หรอกถ้ามันจะท้อ แต่ท้อแล้วก็ไม่เลิก สู้มัน ขี้เกียจก็ได้ แต่ขี้เกียจแล้วก็สู้มัน ไม่มาคร่ำครวญ

อริยสัจเป็นธรรมะที่สำคัญที่สุด

อริยสัจเป็นธรรมะที่สำคัญที่สุด เป็นหัวใจของธรรมะเลย ครอบคลุมธรรมะทั้งหมดเอาไว้ได้ ในเรื่องของอริยสัจ พระพุทธเจ้าท่านเปรียบเทียบ บอกอริยสัจเทียบเหมือนรอยเท้าช้าง ยุคนั้นไม่มีไดโนเสาร์แล้ว ช้างใหญ่ที่สุด ท่านบอกรอยเท้าของสัตว์ทั้งหลาย มันไปบรรจุอยู่ในรอยเท้าช้างได้ เล็กกว่ารอยเท้าช้าง ธรรมะทั้งหมดก็ประมวลลงอยู่ในอริยสัจได้ เจ้าชายสิทธัตถะท่านสาวลงมาจนถึงอวิชชา ความไม่รู้แจ้งอริยสัจ ท่านก็รู้เลย โอ้ ถ้ารู้แจ้งอริยสัจเสียตัวเดียว สังสารวัฏก็ถล่มลงต่อหน้าต่อตาเลย ความเวียนว่ายตายเกิดไม่มีอีกแล้ว นี่คือสิ่งที่ท่านค้นพบในตอนใกล้ๆ สว่างแล้ว ท่านค้นพบแล้วท่านก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ เป็นพระสัมมาสัมพุทธะขึ้นมา

กฎของการดูจิต 3 ข้อ

ข้อที่หนึ่ง อย่าอยากรู้แล้วเที่ยวแสวงหาว่าตอนนี้จิตเป็นอย่างไร ให้ความรู้สึกเกิดขึ้นก่อนแล้วค่อยรู้ว่ามันรู้สึกอะไร กฎข้อที่สอง ระหว่างรู้ อย่าถลำลงไปรู้ จิตต้องเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จิตผู้รู้ก็ต้องอาศัยการฝึกอย่างที่ว่า ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วรู้ทันจิตที่มันหลงไปไหลไป กฎข้อที่สามของการดูจิตก็คือ อย่าเข้าไปแทรกแซงสภาวะ ความสุขเกิด ไม่ต้องไปหลงยินดีมัน ถ้าหลงยินดีให้รู้ทัน ความทุกข์เกิด ไม่ต้องไปยินร้าย ถ้ายินร้ายเกิด ให้รู้ทัน เพราะฉะนั้นหลวงพ่อถึงสรุปการปฏิบัติเอาไว้ในประโยคสั้นๆ ให้เรามีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง

เรียนรู้อายตนะเพื่อละตัณหา

ภาวนาเรื่อยๆ ตามสังเกตของจริงไป จะรู้เลย ทุกอย่างเกิดแล้วดับหมดเลย จะอายตนะภายนอก เกิดแล้วก็ดับ อายตนะภายในเกิดแล้วก็ดับ จิตวิญญาณที่เกิดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เกิดแล้วก็ดับ ไม่มีอะไรยั่งยืนสักอย่างเดียว ถ้าอย่างนี้ ดูอย่างนี้เรื่อยๆ มันจะละตัณหา แล้วมันละเด็ดขาด ละแล้วไม่เกิดอีก ละทีเดียวแล้วเลิกกันไปเลย ถ้ายังไม่เห็นแจ้งในสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด ก็ละด้วยสติ ด้วยสมาธิได้ชั่วคราว แต่เจริญปัญญาจะละได้เด็ดขาด พระพุทธเจ้าถึงสอน “บุคคลถึงความบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา”

เข้าใจปฏิจจสมุปบาท

ภาวนาใหม่ๆ รู้สึกจิตผู้รู้มันเป็นตัวสุข จิตผู้หลงมันเป็นตัวทุกข์ จิตยังมี 2 อัน ตัวสุขกับตัวทุกข์ ภาวนาจนถึงจุดหนึ่งจะแจ้งเลย จิตนั้นล่ะคือตัวทุกข์ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย กายนี้คือตัวทุกข์ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย ไม่มีตัวสุข อันนั้นเรียกว่าเรารู้ทุกข์จริงๆ แล้ว พอรู้ทุกข์จริงๆ มันจะวางเลย จะวางจริงๆ วางวัฏฏะลงไป วัฏสงสารถล่มลงตรงนั้น ตรงที่รู้แจ้งในกองทุกข์ของขันธ์ 5 นั้น หรือของอายตนะ 6 หรือของธาตุ 18 ของอินทรีย์ 22 ก็จะเข้าใจปฏิจจสมุปบาท สิ่งที่เรานึกว่ามี มันแค่การประชุมกันขององค์ธรรมจำนวนมาก อยู่ชั่วคราวก็แตกสลายออกไป ทุกสิ่งทุกอย่างชั่วคราวไปหมดเลย

พ้นทุกข์ด้วยอริยสัจ 4

เวลาเราภาวนา ถ้าเราไม่มีสติ เราก็ต้องพัฒนาสติ ไม่มีสัมมาสมาธิ เราก็ต้องพัฒนาสัมมาสมาธิ หรือเราไม่มีทฤษฎีชี้นำที่ถูกต้อง เรียกว่าไม่มีสัมมาทิฏฐิ ก็ต้องศึกษา ศึกษาจากพระไตรปิฎกจากอะไรนี่ ให้ได้สัมมาทิฏฐิในเบื้องต้น เป็นทฤษฎีชี้นำว่าเราจะพ้นทุกข์ได้อย่างไร ฉะนั้นไม่ว่าเราจะแก้ปัญหาทางโลก หรือเราจะแก้ปัญหาทุกข์ทางจิตใจของเรา หลักมันก็ตรงกันนั่นล่ะ เพราะสัจจะความจริงก็ต้องเป็นความจริงในทุกที่ทุกเวลา ไม่ใช่เป็นความจริงเฉพาะในวัด ไปแก้ปัญหาชีวิตจริงทำไม่ได้ อันนั้นด้อยเกินไป ศาสนาพุทธไม่ได้ด้อยอย่างนั้น ที่หลวงพ่อสอนพวกเราซ้ำแล้วซ้ำอีก ก็สอนอยู่ในเรื่องของอริยสัจนั่นเอง

เรามีสิทธิ์เลือกความสุขของตัวเอง

เรามีอิสระที่จะทำกรรม เราพอใจที่จะหาความสุขในโลกิยธรรม ความสุขอย่างโลกๆ ก็หาไปเถอะ หลวงพ่อไม่ว่าอะไรหรอก หลวงพ่อแค่บอกว่า มันมีความสุขที่เหนือกว่านี้อีก 2 อย่าง คือความสุขของสมาธิ กับความสุขของการเจริญปัญญาจนเกิดมรรคเกิดผลนิพพานขึ้นมา เป็นความสุขที่ยิ่งใหญ่ เป็นลำดับไป

มีสติอยู่กับปัจจุบัน

จิตไม่อยู่กับปัจจุบัน จิตมัวแต่ระลึกชาติ คิดถึงเรื่องเก่าๆ ที่เคยผ่านมาแล้ว หรือจิตคำนึงไปถึงอนาคต กังวลในอนาคตจะทำอย่างไรๆ กลัวความทุกข์ในอนาคต หรืออยากมีความสุขในอนาคต จนลืมกลัวความทุกข์ในปัจจุบัน ลืมที่จะรู้จักความสุขในปัจจุบัน ห่วงอนาคตจนทิ้งปัจจุบัน อนาคตมันเหมือนความฝัน ปัจจุบันมันเป็นความจริง มัวแต่ห่วงความฝันแล้วทิ้งความจริง ไม่จัดว่าฉลาด

Page 2 of 3
1 2 3